เริ่มต้นปี 64 อก. เผยดัชนีอุตฯ ม.ค. ขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับ ธ.ค.63 ร้อยละ 6.03 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 29 เดือน
กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผยดัชนีอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2564 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนธันวาคม 2563 ร้อยละ 6.03 โดยระดับการผลิตอยู่ที่ 101.82 และอัตราการใช้กำลังการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 66.41 สะท้อนภาพเศรษฐกิจเดือนแรกปี 2564 มีแนวโน้มการขยายตัวดีขึ้น จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐและการบริหารจัดการโควิด-19 ซึ่งเกิดความเชื่อมั่นในการผลิต ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหักทองและรายการพิเศษในเดือน ม.ค.64 ขยายตัวร้อยละ 8.22 โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 29 เดือน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมกราคม 2564 ดัชนีเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 101.82 และอัตราการใช้กำลังการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 66.41 ทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนแรกของปี 2564 กลับมามีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากความเชื่อมั่นในการจัดหาและบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ที่ล็อตแรกได้จัดส่งถึงประเทศไทยแล้วเมื่อวานนี้ (24 ก.พ.64) และจะเริ่มฉีดเข็มแรกโดยเร็วที่สุด ตามแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราชนะ และโครงการเรารักกัน จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2564 หดตัวร้อยละ 2.80 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 ส่งผลต่อเนื่องมายังเดือนมกราคม 2564 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การจับจ่ายใช้สอย รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศลดลง ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวในระยะสั้น นายทองชัยกล่าวต่อว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยจะปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการกระจายวัคซีนโควิค-19 ทั้งในและต่างประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จำนวนการแพร่ระบาดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามามีแนวโน้มที่ดีขึ้น อีกทั้งรัฐบาลได้ผ่อนคลายกิจกรรมในพื้นที่ควบคุม อาทิเช่น ร้านอาหารเปิดบริการได้ตามปกติ สถานบันเทิง ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา สถาบันกวดวิชา และสถานที่ออกกำลังกาย เป็นต้น สำหรับในมุมเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ จากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการผลิตและการบริโภค ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหักทองและรายการพิเศษเดือนมกราคม 2564 ขยายตัวร้อยละ 8.22 โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือน ที่ 2 และเป็นการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 29 เดือน ซึ่งจากที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นสภาวะเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ อุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนมกราคม 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนได้แก่ เม็ดพลาสติก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.86 จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เพิ่มขึ้น เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อีกทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 ที่หลายสถานประกอบการมีนโยบายให้พนักงาน work from home ประกอบกับการลดการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ จึงส่งผลให้กลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์ ถุงอาหาร ขวด และเครื่องใช้ในครัวเรือนขยายตัวมากกว่า ปีก่อน เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.44 จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และบรรจุภัณฑ์อาหาร นอกจากนี้ สถานการณ์ราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากจีนมีการนำเข้าสินค้าเหล็กเพิ่มสูงขึ้นมากจนเกิดภาวะ ขาดแคลนสินค้า (Short Supply) ผู้ผลิตจึงเร่งผลิตเพื่อขายทำกำไรในช่วงนี้ เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.63 จากเฟอร์นิเจอร์ทำด้วยไม้เป็นหลัก จากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา รวมถึงสามารถกลับมาส่งสินค้าได้ตามปกติหลังมีปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในช่วงก่อนหน้า อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.21 จากอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปและอาหารปลาเป็นหลัก โดยเพิ่มขึ้นจากการผลิตอาหารแมวเพื่อส่งออกไปสหรัฐอเมริกา เนื่องจากผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกาเลิกการผลิตและหันมาสั่งซื้อสินค้าจากไทยเพื่อจำหน่ายแทน คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.74 จาก สินค้า Printer เป็นหลัก ซึ่งผู้ผลิตได้รับคำสั่งซื้อต่อเนื่องในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากผู้ผลิตจากอินโดนีเซีย จีน และฟิลิปปินส์ ไม่สามารถผลิตและส่งมอบสินค้าได้ รวมถึงความต้องการใช้เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการทำงาน work from home ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและการใช้กำลังการผลิต (รายเดือน) Index 2563 2564 ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ม.ค. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 104.75 100.77 103.47 77.57 79.84 83.11 86.95 91.50 94.93 95.22 96.71 96.03 101.82 อัตราการเปลี่ยนแปลง (MOM) % 6.01 -3.79 2.67 -25.04 2.94 4.10 4.62 5.23 3.75 0.30 1.56 -0.70 6.03 อัตราการเปลี่ยนแปลง (YOY) % -3.75 -4.86 -11.06 -19.11 -24.07 -17.86 -13.56 -9.28 -2.56 -1.31 -0.64 -2.81 -2.80 อัตราการใช้กำลังการผลิต 67.58 65.57 67.66 50.90 52.10 55.42 57.25 60.55 63.44 63.35 64.81 63.16 66.41
ที่มา : กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ข้อมูล ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม