สรุปสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2564

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 20, 2021 15:39 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

          การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2564 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 4.1         สรุปสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน และอุตสาหกรรม การผลิตน้ำตาล อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 69.6
          ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญ  ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2564 ขยายตัวร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน                 สาขาอุตสาหกรรมการผลิตสำคัญที่ขยายตัว อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน และอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล

อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นจากรถบรรทุกปิคอัพ เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์นั่งขนาดเล็กเป็นหลัก เนื่องจากฐานต่ำในปีก่อนจากภาวะเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการใช้มาตรการล็อกดาวน์ประเทศ อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 19.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากเหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กเคลือบสังกะสี เหล็กลวด เหล็กรูปพรรณรีดร้อน และเหล็กเส้นกลม เป็นหลัก เนื่องจากฐานต่ำในปีก่อนจากความต้องการที่ลดลงและการชะลอคำสั่งซื้อหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงขึ้น ในขณะที่ปีนี้ได้รับอานิสงส์จากปริมาณเหล็กในตลาดโลกลดลง ทำให้ราคาเหล็กโลกปรับตัวสูงจึงมีการเร่งผลิตเพื่อขายทำกำไรในช่วงที่ยังมีภาวะขาดแคลนสินค้า (Short Supply)

อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 26.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก มีการปิดหีบช้ากว่าปีก่อน รวมทั้งผลผลิตอ้อยสดปีนี้มีคุณภาพสามารถหีบสกัดเป็นน้ำตาลได้สูงกว่า ทำให้ผลิตน้ำตาลได้มากขึ้น

สาขาอุตสาหกรรมการผลิตสำคัญที่หดตัว อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมการผลิตเภสัชภัณฑ์

อุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันปิโตรเลียม ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 12.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากน้ำมันเครื่องบิน น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันก๊าด เป็นหลัก เนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงบางหน่วยกลั่นของโรงกลั่นน้ำมัน รวมทั้งความต้องการใช้น้ำมันเครื่องบินยังอยู่ในระดับต่ำจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก ความต้องการซื้อในประเทศที่ลดลงจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 และคำสั่งซื้อจากคู่ค้าหลักที่ลดลง เช่น สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และอินโดนีเซีย ส่งผลให้การผลิตลดลง

อุตสาหกรรมการผลิตเภสัชภัณฑ์ ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 9.3เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากยาน้ำ ยาแคปซูล และยาครีม เป็นหลัก เนื่องจากลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา และร้านขายยาหลายแห่งต้องปิดชั่วคราว โดยเฉพาะในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากไม่มีลูกค้า

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ