การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2565 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการหดตัวของอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ อุตสาหกรรม Hard Disk Drive อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก และอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 62.4
ในขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมครึ่งปีแรกของปี 2565 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สาขาอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว
อุตสาหกรรม Hard Disk Drive ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 30.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน เนื่องจากการปรับลดวันทำงานของผู้ผลิตบางรายจากความต้องการที่ลดลงและการยกเลิกผลิตสินค้าเก่าบางรุ่น รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กระทบต่อความต้องการสินค้าที่ลดลง ส่งผลให้การผลิตลดลง
อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 15.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จาก Polyethylene resin (PE) และ Ethylene เป็นหลัก เนื่องจากการขาดวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต และผู้ผลิตบางรายหยุดผลิตชั่วคราว เพื่อปรับเปลี่ยนอุปกรณ์สำหรับรองรับการเปลี่ยนวัตถุดิบชนิดใหม่ ส่งผลให้ผลิตได้ลดลง อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 16.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการลดลงเกือบทุกรายการสินค้า (ยกเว้นเหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและท่อเหล็ก) เนื่องจากความต้องการสินค้าลดลงหลังราคาวัสดุก่อสร้างในตลาดปรับตัวสูงตามต้นทุนการผลิต ที่สูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ลูกค้าต่างประเทศชะลอคำสั่งซื้อ
อุตสาหกรรมการกลั่นปิโตรเลียม ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 18.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว แก๊สโซฮอล์ 95 เบนซิน 95 และน้ำมันเครื่องบิน เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทำให้มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันขนส่งและเดินทางมากขึ้น
อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 21.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของตลาดส่งออกเป็นหลัก ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐอเมริกา ยูโรโซน ประกอบกับภูมิอากาศแปรปรวนและมีอุณหภูมิสูงขึ้นในหลายประเทศ ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมยานยนต์ ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากการผลิตเพื่อขายในประเทศ โดยเฉพาะรถบรรทุกปิคอัพน้ำหนักบรรทุก 1 ตัน เนื่องจากการคลายล็อกดาวน์และการเปิดประเทศส่งผลให้เดินทางและทำกิจกรรมธุรกิจต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้น รวมถึงเร่งผลิตเพื่อส่งมอบตามคำสั่งซื้อ
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม