สศอ. เผยดัชนี MPI เดือน พ.ค. 2566 หดตัวร้อยละ 3.14 ส่งสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า อานิสงส์ท่องเที่ยวขยาย แนะอุตฯ สิ่งทอชูผ้าคุณสมบัติพิเศษ เพิ่มศักยภาพการส่งออก
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 94.80 ลดลงร้อยละ 3.14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชี้การหดตัวเริ่มมีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อน หลังการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวเล็กน้อย รับการท่องเที่ยวฟื้น หนุนความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่ม และการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.54 พร้อมแนะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มหันมาผลิตผ้าคุณสมบัติพิเศษ หวังเพิ่มศักยภาพการส่งออก
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 94.80 ลดลงร้อยละ 3.14 โดยเป็นการปรับลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ขยายตัวร้อยละ 14.23 ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 60.20 และช่วง 5 เดือนแรก ปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 61.04 ส่งผลให้ดัชนี MPI 5 เดือนแรก ปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 96.36 ลดลงร้อยละ 4.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลต่อความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ น้ำตาล เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และเนื้อสัตว์ปีก เครื่องปรุงรส น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์นม สุรา ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และกาแฟ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากการผลิตรถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1 และรถยนต์กระบะ 1 ตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.9 จากการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นในรถยนต์ทุกประเภท
สศอ. ได้คาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนมิถุนายน ปี 2566 ?ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง? โดยมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงเศรษฐกิจของคู่ค้าหลักอย่างประเทศจีนและญี่ปุ่นมีแนวโน้มการฟื้นตัว ขณะที่ การส่งออกที่หดตัวเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ประกอบกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและงบประมาณปี 2567 อีกทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีโอกาสรุนแรงขึ้น ยังคงเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ ต้องติดตามปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะส่งผลทำให้ปริมาณฝนของประเทศไทยมีแนวโน้มจะต่ำกว่าค่าปกติ และมีผลต่อวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร
?สำหรับประเด็นที่น่าติดตามในช่วงนี้ คือ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งได้รับโอกาสจากวิกฤติโควิด-19 แม้ภาพรวมของการผลิตและการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะซบเซา แต่อุตสาหกรรมสิ่งทอ ชนิดพิเศษกลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการจะปรับเปลี่ยนการดำเนินงาน
โดยเจาะกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าสูงและมีโอกาสเติบโต เพื่อผลักดันให้ "ผ้าคุณสมบัติพิเศษ" ที่เป็นด้าย หรือผ้าที่มีคุณสมบัติกันน้ำ ทนไฟ และกรองเชื้อโรค เป็น "Product Champion" สามารถต่อยอดเป็นวัสดุและชิ้นส่วนประกอบที่สำคัญในอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพอื่น ๆ ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้า เน้นการใช้วัตถุดิบหรือสินค้าที่ผลิตในประเทศ และส่งเสริมนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม New S-Curve ทางด้าน Medical Technology ของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นและผลักดันการผลิตสิ่งทอเทคนิคที่มีคุณสมบัติพิเศษตลอด Supply Chain เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มศักยภาพในการส่งออกให้กับอุตสาหกรรม สิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มไทย? นางวรวรรณ กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนพฤษภาคม 2566 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.54 จากรถปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็กและขนาดกลาง เป็นหลัก ตามการขยายตัวของตลาดส่งออก
เครื่องจักรอื่นๆ ที่ใช้งานทั่วไป (เครื่องปรับอากาศ) ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.57 เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดต่อเนื่องทั้งในประเทศและประเทศคู่ค้า ส่งผลให้มีความต้องการใช้สินค้ามากขึ้น
น้ำตาล ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31.14 จากผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ เป็นหลัก เนื่องจากมีการทยอยปิดหีบตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา จึงทำให้สามารถละลายน้ำตาลทรายดิบได้เร็วขึ้น ประกอบกับผลผลิตน้ำตาลปีนี้มากกว่าปีก่อน
จักรยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.11 เนื่องจากการขยายตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก โดยตลาดในประเทศได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจในประเทศที่ขยายตัวตามอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการส่งออกเพิ่มขึ้นตามคำสั่งของประเทศคู่ค้า
พลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.98 จากผลิตภัณฑ์ Polyethylene resin, Ethylene และ Polypropylene resin เป็นหลัก เนื่องจากในปีก่อนมีการหยุดซ่อมบำรุงของผู้ผลิตบางราย และมีการขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตบางรายในปีนี้
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต (รายเดือน)
Index
2565
2566
พ.ค.
มิ.ย.
ก.ค.
ส.ค.
ก.ย.
ต.ค.
พ.ย.
ธ.ค.
ม.ค.
ก.พ.
มี.ค.
เม.ย. พ.ค.
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
97.87
97.64
95.36
99.34
97.50
93.39
95.32
93.63
99.34
99.22
105.42
82.99 94.80
อัตราการเปลี่ยนแปลง (MOM) %
7.66
-0.23
-2.34
4.17
-1.85
-4.22
2.07
-1.77
6.10
-0.12
6.25
-21.28 14.23
อัตราการเปลี่ยนแปลง (YOY) %
-2.28
-0.49
6.00
14.60
3.01
-4.27
-5.30
-8.45
-4.81
-2.38
-3.86
-8.71 -3.14
อัตราการใช้กำลังการผลิต
62.48
62.64
60.84
63.87
63.57
60.07
61.34
59.56
62.16
62.77
66.49
53.55 60.20
ที่มา : กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม