สศอ. เผย MPI ต.ค. 2567 หดตัวร้อยละ 0.91 คาดทั้งปี 67 หดตัวร้อยละ 1.6
ประมาณการปี 68 ศก.ภาคอุตฯ กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนตุลาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 93.41 หดตัวร้อยละ 0.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ภาพรวม 10 เดือนแรก ปี 2567 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.63 พร้อมปรับประมาณการดัชนี MPI ปีนี้ หดตัวร้อยละ 1.6 และ GDP ภาคอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 1.0 คาดปี 2568 ดัชนี MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรมจะกลับมาขยายตัว ร้อยละ 1.5 - 2.5 หลังการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง
นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ตุลาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 93.41 หดตัวร้อยละ 0.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 57.75 ส่งผลให้ภาพรวม 10 เดือนแรกปี 2567 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.63 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 58.72 โดยปัจจัยที่ส่งผลลบต่อภาคการผลิต ได้แก่ ปัญหา ขาดกำลังซื้อภายในประเทศ หนี้ครัวเรือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในระดับสูง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ รวมถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศทะลักเข้าไทย ผู้บริโภคมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้านำเข้ามากขึ้นเนื่องจากราคาถูกกว่า และความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งสหรัฐ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยบวก จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเงิน 10,000 บาท เฟสแรก การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว และภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคบริการและการผลิตรองรับสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขยายตัวเพิ่มขึ้น
ด้านระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนพฤศจิกายน 2567 ?ส่งสัญญาณ เฝ้าระวังต่อเนื่อง? โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง เนื่องจากยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์และพื้นที่การก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ด้านความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจาก ความคาดหวังถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่องเช่นเดียวกัน จากภาคการผลิตในสหภาพยุโรปที่ซบเซาและญี่ปุ่นที่เริ่มชะลอตัว ส่วนในสหรัฐอเมริกามาจากความกังวลต่อนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าของรัฐบาลชุดใหม่
?จากตัวเลขดัชนี MPI 10 เดือนปี 2567 หดตัวร้อยละ 1.63 ส่งผลให้ สศอ. ปรับประมาณการปี 2567 โดยคาดว่าดัชนี MPI หดตัวร้อยละ 1.6 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 1.0 และได้ประมาณการ ปี 2568 โดยคาดว่าดัชนี MPI จะกลับมาขยายตัวร้อยละ 1.5 - 2.5 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวร้อยละ 1.5 - 2.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าระหว่างประเทศของไทยกับคู่ค้าหลักมีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่อง และการขยายการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่นเดียวกันกับภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการยังคงมีทิศทางขยายตัว การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐผ่าน การลงทุนขนาดใหญ่ แต่ทั้งนี้ยังต้องเฝ้าระวังความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค ซึ่งอาจจะกระทบต่อ ทั้งห่วงโซ่อุปทานการผลิต ราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ และกำลังซื้อ โดยเฉพาะตลาดในสหภาพยุโรป ความไม่แน่นอนของนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ รวมถึงต้นทุนการผลิต ค่าครองชีพ หนี้สินภาคธุรกิจและครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง อาจจะกระทบต่อการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและความต้องการซื้อในสินค้าต่าง ๆ ที่สำคัญได้? นายภาสกร กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนตุลาคม 2567 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
เครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28.98 จากผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ เป็นหลัก ตามอุณหภูมิเฉลี่ยโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงผู้ผลิตทำการตลาดเพิ่มทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และสามารถส่งออกสินค้าที่ผ่านมาตรฐานการรับรองได้หลังติดปัญหาในปีก่อน
คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 39.18 จากผลิตภัณฑ์ Hard Disk Drive เป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ Printer ขยายตัวจากผู้ผลิตจีนบางราย ย้ายฐานผลิตมาไทย หลังเผชิญปัญหาด้านการขนส่งจากสงครามทางการค้าระหว่างจีนและอเมริกา
สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 39.24 จากผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า และปลาซาดีนกระป๋อง เป็นหลัก ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก การสต๊อกสินค้าไว้รองรับความต้องการช่วงปลายปี ประกอบกับสหรัฐอเมริกาและตะวันออกกลางต้องการกักตุนอาหารจากสถานการณ์ความไม่สงบ
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนตุลาคม 2567 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 22.19 จากรถบรรทุกปิคอัพ และรถยนต์นั่ง ขนาดเล็ก เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของตลาดในประเทศ จากสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ หนี้ครัวเรือนสูง และกำลังซื้อผู้บริโภคอ่อนแอ ขณะที่ตลาดส่งออกชะลอตัวตามความต้องการที่ลดลงของประเทศคู่ค้า
น้ำมันปาล์ม หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 32.60 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เนื่องจากฤดูเก็บเกี่ยวสิ้นสุดเร็วกว่าปีก่อน ตามสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้ผลปาล์มสุกเร็วกว่าปีก่อน สำหรับตลาดส่งออกหดตัวหลังภาครัฐขอความร่วมมือลดปริมาณการส่งออก
ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 13.02 จาก Integrated circuits (IC) และ PCBA เป็นหลัก โดยเป็นไปตามการชะลอตัวของตลาดโลกจากความไม่แน่นอนด้านการค้าและการลงทุน
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต (รายเดือน)
Index
2566
2567
พ.ค.
มิ.ย.
ก.ค.
ส.ค.
ก.ย.
ต.ค.
พ.ค.
มิ.ย.
ก.ค.
ส.ค.
ก.ย. ต.ค.
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
99.88
97.75
95.04
96.94
95.80
94.26
98.43
96.16
96.59
95.20
92.76 93.41
อัตราการเปลี่ยนแปลง (MOM) %
14.34
-2.13
-2.78
2.00
-1.17
-1.61
9.73
-2.30
0.44
-1.43
-2.57 0.70
อัตราการเปลี่ยนแปลง (YOY) %
-2.83
-4.20
-3.89
-5.93
-5.88
-2.49
-1.45
-1.63
1.63
-1.79
-3.18 -0.91
อัตราการใช้กำลังการผลิต
61.04
60.07
58.23
58.61
58.21
57.21
59.50
58.28
58.84
58.56
57.56 57.75
ที่มา : กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ข้อมูล ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม