สศอ. เผย MPI พ.ย. 2567 หดตัวร้อยละ 3.58 คาดปีหน้ากลับมาคึกคัก
รับมาตรการรัฐ กระตุ้นใช้จ่ายในประเทศ หนุนอุตฯ ท่องเที่ยวดาวเด่น ปี 68
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤศจิกายน 2567 อยู่ที่ระดับ 93.41 หดตัวร้อยละ 3.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ภาพรวม 11 เดือนแรก ปี 2567 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.78 คาดแนวโน้มปี 2568 การผลิตภาคอุตสาหกรรมจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขยายตัวเป็นอุตสาหกรรมดาวเด่นประจำปีหน้า
นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) พฤศจิกายน 2567 อยู่ที่ระดับ 93.41 หดตัวร้อยละ 3.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 57.60 ส่งผลให้ภาพรวม 11 เดือนแรกปี 2567 อยู่ที่ระดับ 96.25 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.78 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 58.64 โดยปัจจัยที่ส่งผลลบต่อภาคการผลิต ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่หดตัวต่อเนื่อง ตลาดภายในประเทศชะลอตัว กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และผลกระทบจากการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาที่มีนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน อาจทำให้สินค้าเข้ามาสู่ไทยและอาเซียนมากขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยบวก จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐ เช่น โครงการเงิน 10,000 บาท โครงการแจกเงินผู้สูงอายุ โครงการช่วยเหลือเกษตรกร การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัวร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขยายตัวเพิ่มขึ้น
ด้านระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนธันวาคม 2567 ?ส่งสัญญาณ ปกติเบื้องต้น? โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณปกติเบื้องต้น เนื่องจากปริมาณสินค้านำเข้าขยายตัว ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการส่งเสริมการท่องเที่ยว ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังลดลง จากภาคการผลิตในสหภาพยุโรปที่ขยายตัว เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเติบโตได้ แต่ยังมีความกังวลต่อนโยบายทางการค้าในอนาคต รวมถึงภาคการผลิตของประเทศญี่ปุ่น ยังซบเซา
?แนวโน้มปี 2568 อุตสาหกรรมดาวเด่นมีแนวโน้มเติบโตจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. การท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง 2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น ภาครัฐให้เงินอุดหนุนค่าครองชีพ Easy E-Receipt 2.0 และ 3. การขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทย สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี ซึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์ ประกอบด้วย อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม บรรจุภัณฑ์ ทั้งพลาสติก กระดาษ และโลหะ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ และ Hard Disk Drive ที่ผู้บริโภคมีความต้องการกลับมาอีกครั้ง ซึ่งเป็นไปตามโครงสร้างวัฏจักรของสินค้าที่เริ่มหมดอายุรับประกัน อีกทั้ง มีความต้องการเพิ่มขึ้นในกลุ่ม Data Centers ทำให้คำสั่งซื้อปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ส่งผลให้ภาพรวมช่วง 11 เดือนแรกที่ผ่านมา ในปี 2567 ขยายตัวมากกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน? นายภาสกร กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนพฤศจิกายน 2567 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
เครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24.56 จากผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ เป็นหลัก ตามอุณหภูมิเฉลี่ยโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงผู้ผลิตบางรายสามารถส่งออกสินค้าที่ผ่านมาตรฐานการรับรองได้หลังติดปัญหาในปีก่อน ประกอบกับทำการพัฒนาสินค้าเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น
สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31.43 จากผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า กระป๋อง เป็นหลัก ตามความต้องการของคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลียที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงการขยายตัวของตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา และลาตินอเมริกา เป็นต้น
เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (ยกเว้นร้านตัดเย็บเสื้อผ้า) ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.58 จากผลิตภัณฑ์ เครื่องแต่งกายชั้นนอกและเครื่องแต่งกายชั้นในสตรีและเด็กหญิงทำจากผ้าทอ เป็นหลัก ตามการขยายตัวของตลาดส่งออก หลังมีคำสั่งซื้อจากอเมริกาและยุโรปเพิ่มขึ้นจากมาตรการปกป้องตลาดภายในประเทศของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนตัว
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนพฤศจิกายน 2567 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 27.21 จากรถบรรทุกปิคอัพ และรถยนต์นั่ง ขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งไฮบริด เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของตลาดในประเทศ จากสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ตลาดส่งออกชะลอตัวตามความต้องการที่ลดลงของประเทศคู่ค้า
น้ำมันปาล์ม หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 34.54 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์และน้ำมันปาล์มดิบ เนื่องจากปริมาณผลปาล์มที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง การจำหน่ายหดตัวทั้งในประเทศและการส่งออกหลังภาครัฐขอความร่วมมือลดปริมาณการส่งออกและปรับสัดส่วนผสมน้ำมันจาก B7 เป็น B5
ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.63 จาก Integrated circuits (IC) และ PCBA เป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต (รายเดือน)
Index
2566
2567
มิ.ย.
ก.ค.
ส.ค.
ก.ย.
ต.ค.
พ.ย.
มิ.ย.
ก.ค.
ส.ค.
ก.ย.
ต.ค. พ.ย.
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
97.75
95.04
96.94
95.80
94.26
96.87
96.16
96.59
95.20
92.76
93.68 93.41
อัตราการเปลี่ยนแปลง (MOM) %
-2.13
-2.78
2.00
-1.17
-1.61
2.77
-2.30
0.44
-1.43
-2.57
1.00 -0.29
อัตราการเปลี่ยนแปลง (YOY) %
-4.20
-3.89
-5.93
-5.88
-2.49
-1.51
-1.63
1.63
-1.79
-3.18
-0.61 -3.58
อัตราการใช้กำลังการผลิต
60.07
58.23
58.61
58.21
57.21
58.95
58.28
58.84
58.56
57.56
57.97 57.60
ที่มา : กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ข้อมูล ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2567
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม