สศอ. เผยวิกฤตสหรัฐฯ ผสมโรงการเมืองป่วน ฉุดดัชนีอุตฯ ก.ย. 51 ซบ แนะผู้ประกอบการอย่าตื่นตระหนก เตรียมพร้อมตั้งรับ
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า จากวิกฤตการณ์การล่มสลายของสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาหรือที่เรียกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ได้เริ่มส่งสัญญาณอันตรายมาถึงภาพรวมอุตสาหกรรมของประเทศไทยแล้ว ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนก.ย. ที่ผ่านมา พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.95 โดยมีแนวโน้มลดลงจากทั้งไตรมาสที่ 3 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 6.1 ซึ่งลดลงจากอัตราการขยายตัวของปีก่อนร้อยละ 11.6 และ 9.4 ในไตรมาสที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดผลกระทบดังกล่าวมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความผันผวนทางการเมืองก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีอุตสาหกรรมขยายตัวลดลง ซึ่งอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรวม ได้แก่ ปิโตรเลียม เครื่องประดับเพชรพลอย อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ปูนซีเมนต์ เหล็ก
โดย อุตสาหกรรมปิโตรเลียม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตมีปริมาณลดลงมากเช่นกัน โดยลดลงร้อยละ 21 ขณะที่การจำหน่ายลดลงร้อยละ 20 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในเดือนกันยายนยังอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่งผลต่อระดับราคาขายปลีก เมื่อเปรียบเทียบราคาขายปลีกเฉลี่ย พบว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วมีราคาสูงกว่าปีก่อน 3.4 บาทต่อลิตร และ น้ำมันเบนซินออกเทน 91 มีราคาสูงกว่าปีก่อน 6 บาทต่อลิตร
เครื่องประดับเพชรพลอย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตและการจำหน่ายมีทิศทางลดลงร้อยละ 23.7 และ 35.2 โดยเป็นผลมาจากตลาดส่งออกสำคัญ คือสหรัฐอเมริกามีภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวตั้งแต่ต้นปี ตามมาด้วยวิกฤตปัญหาราคาน้ำมันแพง และล่าสุดวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ ทำให้สินค้ากลุ่มนี้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ผู้บริโภคต้องรัดเข็มขัด ยอดขายจึงลดลงค่อนข้างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ปัจจัยความผันผวนของราคาทองคำ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จึงเป็นเหตุให้สินค้าในกลุ่มนี้ซบเซา
อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิต และการจำหน่าย ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 7.4 และ 8.9 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของสินค้ากุ้งแช่แข็งที่ในปีก่อนสามารถผลิตและจำหน่ายได้มากกว่าปัจจุบัน ส่วนสินค้าปลาซาร์ดีนกระป๋องมีปัญหาเรื่องขาดแคลนวัตถุดิบมากกว่าปีก่อน
การผลิตปูนซีเมนต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ภาวการณ์ผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ปรับตัวลดลงร้อยละ 16.3 และร้อยละ 15.6 ตามลำดับ โดยเป็นการลดลงในทุกผลิตภัณฑ์ จากสภาพเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในสภาวะชะลอตัว การลงทุนโครงการ เมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐที่ล่าช้า อันเนื่องจากความผันผวนทางการเมือง ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์อยู่ในสภาวะชะลอตัว
การผลิตเหล็ก จากการคำนวณสัดส่วนสินค้าสำเร็จรูปคงคลังต่อการจำหน่ายในผลิตภัณฑ์เหล็กเทียบกับราคาวัตถุดิบกึ่งสำเร็จ พบว่าในเดือนกันยายนระดับสินค้าสำเร็จรูปคงคลังในมือผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ทรงยาวที่ได้รับผลกระทบจากความต้องการใช้ในประเทศที่ชะลอลงมาก่อนแล้ว และคาดว่าระดับราคาวัตถุดิบที่ลดลงอย่างรวดเร็วทำให้พ่อค้าคนกลางและผู้ใช้ต่างลดการสั่งซื้อและใช้สต๊อกในมือให้เหลือน้อยลงก่อนที่จะทำการสั่งซื้อใหม่ คาดว่าทำให้ภาวการณ์ผลิตและจำหน่ายในประเทศในช่วงที่เหลือของปีมีทิศทางที่ลดลงต่อไป หรือจนกว่าราคาเหล็กจะมีเสถียรภาพมากขึ้น
นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า แม้สถานการณ์เศรษฐกิจจะชะลอตัว จากปัจจัยลบทั้งภายในและนอกประเทศ แต่ยังมีอุตสาหกรรมสำคัญที่เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนให้ภาพรวมดัชนีอุตสาหกรรมขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะขยายตัวในอัตราที่ลดลงบ้าง ก็คือ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (Hard Disk Drive) เสื้อผ้าสำเร็จรูป อุตสาหกรรมยานยนต์ และ อุตสาหกรรมแปรรูปผักและผลไม้ อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ผู้ประกอบการไทยมีพื้นฐานที่เข้มแข็ง ดังนั้น ขอให้อย่าตื่นตระหนกกับวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น แต่ให้นำมาเป็นโอกาสในการปรับปรุงประสิทธิภาพการประกอบการและพัฒนาทักษะของบุคลากรให้เข้มแข็ง พร้อมสู้กับทุกปัญหาต่อไป
สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกันยายนที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 186.17 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.95 จาก 180.83 ดัชนีผลิต (มูลค่าผลผลิต) อยู่ที่ระดับ 187.21 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.58 จาก 184.31 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 187.99 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.41 จาก 185.36 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 210.86 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.45 จาก 185.86 ดัชนีอัตราส่วนสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 365.20 เพิ่มขึ้นร้อยละ 74.53 จาก 209.25
ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 117.34 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.64 จาก 114.33 ดัชนีผลิตภาพแรงงานอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 137.77 ลดลงร้อยละ 0.55 จาก 138.53 ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 61.38
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--