รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนสิงหาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 21, 2008 14:07 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนกรกฎาคม 2551
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) = 183.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2551 (182.5) ร้อยละ 0.7 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (167.3) ร้อยละ 9.8
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2551 ได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม การผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard disk drive) การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ทำจากขนสัตว์ การผลิตผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย = 65.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2551 (64.4) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (66.3)
ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนสิงหาคม 2551
  • อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
  • คาดว่าปริมาณการผลิตและการจำหน่ายจะขยายตัวต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ เนื่องจากราคาน้ำมันและค่าเงินบาทเริ่มปรับตัวลง ส่งผลให้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นและการปิดกิจการของสิ่งทอไทยเริ่มลดลง และยังมีการขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นด้วย ขณะที่สินค้าของจีนมีปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพและไม่ทันสมัย
  • ผู้ประกอบการยังเป็นห่วงเรื่องปัญหาการเมืองที่ยังขาดความชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามหลายประเทศเริ่มหันมาสนใจสิ่งทอจากอาเซียนแทนสินค้าจีน
  • อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าเดือนสิงหาคมโดยการประมาณการจากแบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการว่า อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าค่อนข้างทรงตัวเนื่องจากการปรับตัวลดลงของเครื่องรับโทรทัศน์ประเภท CRT และการปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่ในอัตราชะลอลงของเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และส่วนประกอบเครื่องคอมแพรสเซอร์
  • ขณะที่ แนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.0 เนื่องจากการปรับตัวของชิ้นส่วน HDD IC และ Semiconductor ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.2 20.84 และ 3.38 ตามลำดับ ตามภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลก

สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม

  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(มูลค่าเพิ่ม)

มิ.ย. 51 = 182.5

ก.ค. 51 = 183.7 (ขึ้น)

โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม
  • การผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard disk drive)
  • การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

มิ.ย. 51 = 64.4

ก.ค. 51 = 65.1 (ขึ้น)

โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม
  • การผลิตอื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น
  • การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ
1.อุตสาหกรรมอาหาร

เดือนสิงหาคมภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารจะชะลอตัวจากเดือนก่อนเล็กน้อย ส่วนมูลค่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นตามระดับราคาในตลาดโลก สำหรับการจำหน่ายในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นจากผู้บริโภคคาดการณ์ค่าใช้จ่ายในอนาคตจะลดลง และจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น

1. การผลิต

เดือนกรกฎาคมภาวะการผลิตโดยรวม (ไม่รวมน้ำตาล) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 14.4 และ 0.4 ตามลำดับ แบ่งเป็นกลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออกเป็นหลักเช่น ทูน่ากระป๋อง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 20.7 จากวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น แต่ด้วยราคาที่เพิ่มขึ้นทำให้การผลิตชะลอตัวลงจากเดือนก่อนร้อยละ 9.8 สำหรับสับปะรดกระป๋องและกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง มีการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.6 และ 10.4

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีปริมาณการกลั่นเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 16.9 เนื่องจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดมาก แต่ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 9.5 ส่วนน้ำมันถั่วเหลืองมีการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 2.3และ 19.3 ตามลำดับ เนื่องจากคาดว่าราคาน้ำมันถั่วเหลืองจะปรับตัวสูงขึ้น

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ สินค้าอาหารและเกษตรเดือนกรกฎาคม มีปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 5.9 เนื่องจากราคาน้ำมันชะลอตัวต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลประกาศ 6 มาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชน ส่งผลให้ผู้บริโภคเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

2) ตลาดต่างประเทศ มูลค่าการส่งออกโดยรวมของอุตสาหกรรมอาหารเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 44.7 และ 12.0 เนื่องจากราคาได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกสินค้า เช่น ทูน่ากระป๋อง ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าว สับปะรดกระป๋องและกุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง ทำให้มูลค่าในแต่ละสินค้าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 101.4 95.9 38.4 29.8 และ 10.3 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

เดือนสิงหาคมคาดว่าการผลิตจะชะลอตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนสำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศจะมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือประชาชนของภาครัฐ มีผลกระตุ้นให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ในส่วนมูลค่าการส่งออก คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามระดับราคาสินค้าอาหารของตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

...การผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเนื่องจากแรงงานไทยมีทักษะฝีมือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นไม่มีปัญหาการลอกเลียนแบบเหมือนกับสินค้าจีน และการปิดกิจการในไทยเริ่มน้อยลง...

1. การผลิต

ภาวะการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอในเดือนกรกฎาคม ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ (+ 2.9%)ผ้าทอ (+2.3%) ผ้าลูกไม้ (+15.3%) เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถัก(+3.4%) และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ (+5.0%) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ ลดลงร้อยละ (-3.9%) ผ้าทอ(-7.4%) ผ้าลูกไม้ (-8.7%) แต่การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถัก และที่ผลิตจากผ้าทอ ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ(+21.8%) และ (+10.7%) ตามลำดับ เนื่องจากแรงงานไทยมีทักษะฝีมือดี ไม่มีปัญหาการลอกเลียนแบบเหมือนกับสินค้าจีน และการปิดกิจการในไทยเริ่มน้อยลง

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอฯ เดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่เสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งที่ผลิตจากผ้าถักและผ้าทอ ปรับตัวลดลงเล็กน้อย ร้อยละ (-1.4%) และ (-0.8%)ตามลำดับ เนื่องจากเสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย รวมทั้งต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นเกือบทุกชนิด ส่งผลให้การบริโภคเสื้อผ้าสำเร็จรูปชะลอตัวลงการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอหลักๆ เดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 5.7 ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป (+8.0%)ผ้าผืน (+1.9%) ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ (+10.6%) เคหะสิ่งทอ (+13.1%)และเส้นใยฯ (+1.4%) อื่นๆ (+6.3%) แต่การส่งออกเครื่องนุ่งห่มโดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูป ส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนในทุกๆ ตลาดส่งออก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา ร้อยละ (+15.0%) และญี่ปุ่น และ (+10.5%)

3. แนวโน้ม

คาดว่าปริมาณการผลิตและการจำหน่ายจะขยายตัวต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศเนื่องจากราคาน้ำ มันและค่าเงินบาทเริ่มปรับตัวลง ส่งผลให้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นและการปิดกิจการของสิ่งทอไทยเริ่มลดลง และยังมีการขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นด้วยขณะที่สินค้าของจีนมีปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพและไม่ทันสมัย แต่ผู้ประกอบการยังเป็นห่วงเรื่องปัญหาการเมืองที่ยังขาดความชัดเจนแต่อย่างไรก็ตามหลายประเทศเริ่มหันมาสนใจสิ่งทอจากอาเซียนแทนสินค้าจีน และคาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ต่ำกว่าร้อยละ 12.0 จากปีก่อน

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนรายใหญ่ของประเทศได้เปิดเผยว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี บริษัทอาจจะปรับราคาเหล็กขึ้นอีก 10% เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบคือเหล็กแท่งแบนที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากโรงถลุงเหล็กของบริษัท Nippon Steel ในเมืองยาวาตะซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นเกิดเพลิงไหม้ 2 โรง ทำให้กำลังการผลิตหายไปประมาณ 2 แสนตัน ทำให้ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนต้องหาแหล่งวัตถุดิบใหม่

1.การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนกรกฎาคม 2551 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง ร้อยละ 0.10 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 150.95 เมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว พบว่า ดัชนีผลผลิตชะลอตัวลง ร้อยละ 7.65 โดยเป็นผลมาจากการลดลงของเหล็กเส้นกลม ลดลง ร้อยละ 28.91 และเหล็กลวดลดลง ร้อยละ 9.10 โดยเป็นผลมาจากเมื่อช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาราคาเหล็กได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้พ่อค้าคนกลางเร่งสั่งซื้อไว้เพื่อเก็บเป็นสต๊อกเนื่องจากเกรงว่าราคาเหล็กจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความต้องการใช้ในประเทศกลับลดลงจากภาวะธุรกิจก่อสร้างที่ชะลอลง ซึ่งมีผลทำให้สต๊อกในช่วงนี้เพิ่มสูงขึ้น จึงมีผลทำให้ผู้ผลิตลดการผลิตลง

สำหรับเหล็กทรงแบน พบว่า ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.21 โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.99 เนื่องจากเมื่อเดือนที่ผ่านมาผู้ผลิตประสบปัญหาเรื่องวัตถุดิบ จึงทำให้การผลิตลดลง แต่เดือนนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายจึงทำให้มีผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีมีการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.50 โดยเหล็กทรงยาว มีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.80 ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เหล็กเส้นข้ออ้อย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 31.44 และ ลวดเหล็กแรงดึงสูง เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.80 สำหรับเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.70 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน มีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.44 และเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.49

2.ราคาเหล็ก

การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาดCIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนสิงหาคม 2551 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ราคาโดยเฉลี่ยของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์เหล็กในกลุ่มเหล็กทรงยาวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดย เหล็กแท่งเหล็กบิลเล็ต ลดลง จาก 1,188 เป็น 925 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 22.14 เหล็กเส้น ลดลงจาก 1,209 เป็น 1,095 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 9.43 เนื่องจากความต้องการในธุรกิจก่อสร้างของตลาดหลักที่สำคัญ เช่น ตะวันออกกลางและ ยุโรปใต้ ที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้เป็นผลมาจากความไม่มั่นใจของผู้ซื้อว่าแนวโน้มราคาอาจจะลดลงอีกในอนาคต จึงมีผลทำให้ลดการสั่งซื้อเหล็กเส้นลง แต่ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนกลับมีราคาที่เพิ่มขึ้น คือเหล็กแท่งแบน เพิ่มขึ้นจาก 1,012 เป็น 1,085 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.27 เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้นจาก 1,068 เป็น 1,130 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.81 เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นจาก 1,122 เป็น 1,168 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.15

3. แนวโน้ม

สถานการณ์เหล็กในเดือนสิงหาคม 2551 คาดว่าในส่วนของการผลิตเหล็กทรงยาวจะลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนทำให้การก่อสร้างลดลง ส่งผลให้ผู้ผลิตลดการผลิตลง สำหรับเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าการผลิตจะทรงตัว

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2551 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 เนื่องจากการส่งออกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การจำหน่ายในประเทศชะลอตัว โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกรกฎาคมดังนี้

  • การผลิตรถยนต์ จำนวน 121,672 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2550 ซึ่งมีการผลิต 107,213 คัน ร้อยละ 13.49 โดยเป็นการผลิตรถยนต์นั่งขยายตัวร้อยละ 24.97 รถยนต์กระบะ 1 ตันและอนุพันธ์ขยายตัวร้อยละ 9.49 แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2551 ร้อยละ 6.80
  • การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 45,539 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2550 ซึ่งมีการจำหน่าย 51,158 คัน ร้อยละ 10.98 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำหน่ายรถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ของรถกระบะชะลอตัว ปัจจัยด้านลบที่สำคัญได้แก่ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อ ซึ่งเป็นผลจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดีเซลและเบนซิน ทำให้มีราคาแตกต่างจากพลังงานทดแทนประเภทอื่น เช่น LPG และ NGV มากขึ้น และมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2551 ร้อยละ 9.12
  • การส่งออกรถยนต์ จำนวน 71,232 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2550 ซึ่งมีการส่งออก 56,042 คัน ร้อยละ 27.10 และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2551 มีปริมาณการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.60 ซึ่งการส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศแถบแอฟริกา และยุโรปมีการขยายตัวสูงกว่าประเทศอื่น
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนสิงหาคม 2551 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2551 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนสิงหาคมประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 40 และส่งออกร้อยละ 60

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2551 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 ซึ่งสอดคล้องกับการจำหน่ายในประเทศและการส่งออกที่มีการขยายตัว โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคมดังนี้

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 174,545 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2550 ซึ่งมีการผลิต 138,687 คัน ร้อยละ 25.86 ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากผู้ประกอบการรายใหญ่รายหนึ่งได้มีการผลิตรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด และมีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2551 ร้อยละ 2.78
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 160,357 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2550 ซึ่งมีการจำหน่าย 137,972 คันร้อยละ 16.22 แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2551 ร้อยละ 1.92
  • การส่งออกรถจักรยานยนต์ (CBU) จำนวน 10,281 คันเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2550 ซึ่งมีการส่งออก 8,480 คันร้อยละ 21.24 แต่มีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2551 ร้อยละ 19.41
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนสิงหาคม 2551 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2551 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์(CBU) ในเดือนกรกฎาคมประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 96 และส่งออกร้อยละ 4
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงซบเซา เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัว รวมทั้งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจน สำหรับแนวโน้มการส่งออกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดใหม่ เช่น บังคลาเทศ ประเทศในแถบตะวันออกกลางยุโรป และ แอฟริกา ยังคงเติบโตขึ้น เนื่องจากภาคการก่อสร้างยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ ในเดือนกรกฎาคม 2551 ลดลงร้อยละ 5.49 ขณะที่การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศอยู่ในระดับทรงตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.49 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศลดลงร้อยละ 11.50 และ 9.73 ตามลำดับ

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องเนื่องจากราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตปูนซีเมนต์และราคาวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ก็ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วยนอกจากนี้เสถียรภาพทางการเมืองก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน และความคืบหน้าในการดำเนินโครงการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานของรัฐบาลด้วย

2.การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เดือนกรกฎาคม 2551 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.95 และ 8.57 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการของตลาดใหม่ๆ เช่น บังคลาเทศ ประเทศในแถบตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา ยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากภาคการก่อสร้างของหลายประเทศในแถบภูมิภาคนี้ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

3.แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในเดือนสิงหาคม และเดือนกันยายน 2551 คาดว่าชะลอตัวลง เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูฝน เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง ประกอบกับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นตามต้นทุนพลังงาน รวมทั้งปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ซึ่งรัฐบาลออกมาตรการเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์เมื่อต้นปีที่ผ่านมาเช่น การลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะ และการลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์ แต่ก็ไม่สามารถกระตุ้นการบริโภคได้มากนัก อีกทั้งเสถียรภาพทางการเมืองที่ยังไม่มั่นคงทำให้การลงทุนของภาคเอกชนยังคงชะลอตัว และการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคของภาครัฐก็ยังไม่มีความชัดเจน

สำหรับการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะความต้องการของตลาดใหม่ๆ เช่น บังคลาเทศ ประเทศในแถบตะวันออกกลาง และ แอฟริกา ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกรกฎาคม 2551 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 343.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.53 เป็นผลเนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ HDD/Other IC
  • มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนกรกฎาคม 2551 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.25 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 4,107.23 ล้านเหรียญสหรัฐ

ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ก.ค. 2551

          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์          มูลค่า          %MoM          %YoY
          อุปกรณ์คอมพิวเตอร์              1,492.13          4.07         16.38
          IC                            590.72         -8.50        -16.40
          เครื่องปรับอากาศ                 233.51        -12.29         -3.96
          เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า                160.84        -13.38         54.50
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 4,107.23          1.58         12.25

ที่มา กรมศุลกากร

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกรกฎาคม 2551 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 343.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.53 ขณะที่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนทรงตัวร้อยละ 0.79 เป็นผลเนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ HDD/Other IC สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 5.39 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 115.35 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวลดลง ร้อยละ 7.21สินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องรับโทรทัศน์แบบ CRT ที่มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ทำให้ความต้องการลดลงจากการเข้าแทนที่ของสินค้าลักษณะเดียวกันประเภทLCD/Plasma TV ส่งผลกระทบต่อยอดการผลิตที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องส่วนสายไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลงนั้นจากปัจจัยที่เป็นผลกระทบของอุตสาหกรรมอื่นเช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น เนื่องจากงานโครงการบ้านและที่ดินชะลอลงเล็กน้อย

2. การตลาด

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนกรกฎาคม 2551 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 1.58 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.25 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 4,107.23 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สูงที่สุดได้แก่ เครื่องปรับอากาศสำหรับที่พักอาศัย โรงงานมีมูลค่า 233.51 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูงที่สุดคือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่า 1,492.13 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมูลค่าการส่งออกเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า เดือนกรกฎาคม 2551 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 3.38 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.08 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมของเครื่องใช้ไฟฟ้าคือ 1,596.62 ล้านเหรียญสหรัฐ

เป็นที่น่าสังเกตว่า เครื่องรับโทรทัศน์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 101.67 หลังปรับตัวลดลงหลายเดือน โดยการปรับเพิ่มขึ้นในเดือนนี้เนื่องจากการปรับเพิ่มขึ้นของตลาดรัสเซีย แอฟฟริกาใต้ และอินเดีย ทั้งนี้ตลาดดังกล่าวยังคงมีความต้องการเครื่องรับโทรทัศน์แบบ CRT และมีกำลังซื้อสูงในตลาดดังกล่าว

3. แนวโน้ม

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าเดือนสิงหาคมโดยการประมาณการจากแบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการว่า อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากการปรับตัวลดลงของเครื่องรับโทรทัศน์ประเภท CRT และการปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่ในอัตราชะลอลงของเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และส่วนประกอบเครื่องคอมแพรสเซอร์

ขณะที่ แนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.02 เนื่องจากการปรับตัวของชิ้นส่วน HDD IC และSemiconductor ปรับตัวเพิ่มขึ้น 34.20% 20.84% 3.38% ตามลำดับ ตามภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลก

  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) ในเดือนกรกฎาคม 2551 มีค่า 183.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2551 (182.5) ร้อยละ 0.7 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (167.3) ร้อยละ 9.8
  • อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2551 ได้แก่อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard disk drive) อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกายยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ทำจากขนสัตว์ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard disk drive) อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ทำจากขนสัตว์ อุตสาหกรรมการผลิตผ้าและสิ่งของที่ได้จากการถักนิตติ้งและโครเชท์ เป็นต้น
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนกรกฎาคม 2551 มีค่า 65.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2551 (64.4) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (66.3)
  • อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2551 ได้แก่อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่อุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ยกเว้นปุ๋ยและสารประกอบไนโตรเจน อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบ อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ เป็นต้น

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2551

  • ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2551 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2551 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 350 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนมิถุนายน 2551 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 451 รายหรือน้อยกว่าร้อยละ -22.39 แต่มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 15,369.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2551 ซึ่งมีการลงทุน 12,615.30 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.84 ในส่วนของการจ้างงานรวมมีจำนวน 9,057 คน ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2551 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 9,387 คน หรือลดลงร้อยละ -3.52
  • ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2551 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนกรกฎาคม 2550 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 364 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ -3.85 แต่มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2550 ซึ่งมีการลงทุน 10,519.09 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.11 ในส่วนการจ้างงานลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2550 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 9,304 คน ร้อยละ -2.65
  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม 2551 คือ อุตสาหกรรมทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือนจากไม้ จำนวน 32 โรงงาน รองลงมาคืออุตสาหกรรม คัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว จำนวน 27 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2551 คืออุตสาหกรรมผลิตน้ำยาทำความสะอาด 5,530 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตเอทานอล จำนวนเงินลงทุน 790 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2551 คืออุตสาหกรรมทอผ้า จำนวนคนงาน 895 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตแผงวงจรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จำนวนคนงาน 829 คน
  • ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2551 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2551 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 177 ราย น้อยกว่าเดือนมิถุนายน 2551 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 235 ราย คิดเป็นร้อยละ -24.68 ในส่วนของเงินทุนมีจำนวน 2,137.36 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนมิถุนายน 2551 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 3,994.48 ล้านบาท และการเลิกจ้างงานมีจำนวน 4,229 คน น้อยกว่าเดือนมิถุนายน 2551 ซึ่งเลิกจ้างงานจำนวน 6,067 คน
  • ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2551 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนกรกฎาคม 2550 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 168 รายคิดเป็นร้อยละ 5.36 มีเงินทุนของการเลิกกิจการมากกว่าเดือนกรกฎาคม 2550 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 2,011.61 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานมากกว่าเดือนกรกฎาคม 2550 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 1,820 คน
  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม 2551 คืออุตสาหกรรมซ่อมและพ่นสีรถยนต์ จำนวน 19 ราย รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต จำนวน 12 ราย
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2551 คืออุตสาหกรรมทำ แอสฟัลต์ หรือน้ำ มันดิน เงินทุน 524 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องเคลือบ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องดินเผา เงินทุน 250 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2551 คือ อุตสาหกรรมทำยางแผ่นรมควัน ยางเครป ยางแท่ง ยางน้ำ ยางให้เป็นรูปแบบอื่นคนงาน 446 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องเคลือบ เครื่องปั้นดินเผาเครื่องดินเผา คนงาน 376 คน
  • ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนกรกฎาคม 2551 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2551 มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 110 โครงการ มากกว่าเดือนมิถุนายน 2551 ที่มีจำนวน 89 โครงการร้อยละ 23.6 และมีเงินลงทุน 76,500 ล้านบาท มากกว่าเดือนมิถุนายน 2551 ที่มีเงินลงทุน 22,200 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 244.59
  • ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนกรกฎาคม 2551 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท.มากกว่าเดือนกรกฎาคม 2550 ที่มีจำนวน 109 โครงการ ร้อยละ 0.92 และมีเงินลงทุนมากกว่าเดือนกรกฎาคม 2550 ที่มีเงินลงทุน 49,700 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 53.92
  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2551
          การร่วมทุน                    จำนวน(โครงการ)         มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%             197                     74,600
          2.โครงการต่างชาติ 100%            281                     83,200
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ      187                    101,400
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2551 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 121,600 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 42,400 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ