จับตา กุ้ง - ไก่ 2 หัวหอก หนุนส่งออก ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 17, 2008 11:40 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

หากจะยกให้ไทยเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของโลกก็คงไม่ใช่คำกล่าวที่ผิดนัก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ผลิตอาหารกระจายไปยังประเทศต่างๆ ได้ทั่วโลก และด้วยมาตรฐานอาหารปลอดภัย หรือ Food safety ที่ได้รับการการันตีในระดับสากล ต่างเรียกความเชื่อมั่นเปิดโอกาสและช่องทางให้สินค้าอาหารไทยป้อนเข้าสู่แทบทุกมุมโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารกลายเป็นอุตสาหกรรมส่งออกระดับแนวหน้า สามารถสร้างเม็ดเงินไหลเข้าสู่ประเทศได้อย่างมหาศาล ปีละไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท แม้เศรษฐกิจโลกจะกำลังเผชิญในภาวะชะลอตัวอยู่ก็ตาม และด้วยสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงและดุเดือด เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด ดังนั้น การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศคู่แข่ง จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระทบต่อการส่งออกอาหารของไทย ที่กำลังสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในสินค้าอาหารสำคัญหลายรายการ

ในขณะที่ความต้องการของตลาดกลับเพิ่มสูงขึ้น ประเทศคู่แข่งขันเพิ่มจำนวนมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้น และมีความได้เปรียบทางต้นทุนที่ต่ำกว่าไทย ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานเชื้อเพลิง และภาวะโลกร้อน ยังคงส่งผลต่อเนื่องทำให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยขยายตัวยากขึ้น หรือขยายตัวแบบชะลอตัว

ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาภาคการผลิตและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อให้เกิดการพัฒนาในเชิงบูรณาการมาโดยตลอด สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ร่วมกับ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จัดทำแนวทางเพื่อที่จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ภายใต้ “โครงการพัฒนาฐานข้อมูลอุตสาหกรรมเชิงเปรียบเทียบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Benchmarking) สาขาอุตสาหกรรมอาหาร” ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ

การดำเนินการศึกษาในครั้งนี้ ได้คัดเลือกผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นตัวแทนในภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหาร 2 กลุ่มสินค้า ได้แก่ กุ้งแช่แข็งและแปรรูป และไก่แช่แข็งและแปรรูป ซึ่งสินค้าทั้ง 2 กลุ่มนี้ ประเทศไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกอยู่ในอันดับต้นๆ และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทยทั้งภาคการผลิตและส่งออก โดยจากการศึกษาพบว่า

อุตสาหกรรมกุ้ง ตัวชี้วัดที่ผู้ประกอบการไทยเห็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะใช้ชี้วัดประสิทธิภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมกุ้งไทย คือ ปัจจัยภายใน ได้แก่ ต้นทุนการผลิต รองลงมาได้แก่ การได้รับรองระบบ HACCP คุณภาพผลิตภัณฑ์ ประสิทธิภาพการผลิต ความสามารถในการจัดหาวัตถุดิบ ความพึงพอใจของลูกค้า ยอดขายหรือส่วนแบ่งตลาด การตรวจสอบย้อนกลับ ความสามารถของพนักงาน (ผลิตและขาย) ความสามารถในการทำกำไร และการมีพันธมิตรทางการค้า ซึ่งขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการจะมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปัจจัยกระทบที่มีทั้งบวกและลบ โดยอุตสาหกรรมกุ้งจะมีปัจจัยที่ก่อให้เกิดโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพียงไม่กี่ปัจจัย ซึ่งปัจจัยที่สร้างโอกาสในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทยมากที่สุด คือ การสนับสนุนของภาครัฐ ส่วนปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย คือ การแข็งค่าของเงินบาท

อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์เปรียบเทียบขีดความสามารถของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกุ้งด้านความสามารถทางการเงิน ในช่วงปี 2541 - 2543 ปี 2544 - 2546 และปี 2547 - 2549 พบว่า มีการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ในอุตสาหกรรมขนาดเล็ก — กลาง มีการพัฒนาขีดความสามารถเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเกือบทุกด้าน แต่ในด้านการทำกำไรเติบโตไม่มากนัก ซึ่งปัจจัยสำคัญประการหนึ่งมาจากราคาของสินค้าที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง และต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ทำให้อัตรากำไรต่อหน่วยเพิ่มขึ้นไม่มาก และมีการขยายตลาดใหม่มากขึ้น จึงไม่ต้องแข่งขันด้านราคามากนัก ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีความสามารถในด้านการทำกำไรปรับลดลงมาก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาต่างมุ่งเน้นตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่มีการแข่งขันด้านราคาสูงกว่าตลาดอื่นๆ ราคาสินค้าจึงปรับตัวลดลง

ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งอย่าง เวียดนาม และจีน ประเทศไทยถือว่าได้เปรียบในเรื่องของประสบการณ์และการพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งได้รับการฝึกอบรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปจากญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีประสิทธิภาพในการผลิตวัตถุดิบสูงและเป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ส่งผลให้ไทยมีส่วนแบ่งตลาดโลกในเชิงมูลค่าซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ในประเด็นอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมกุ้งในจีนพบว่า มีอัตราการเติบโตทะยานสูงขึ้นกว่าไทย ซึ่งมีข้อได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำ โดยเฉพาะค่าจ้างแรงงาน ประกอบกับการใช้กลยุทธ์การจำหน่ายสินค้าราคาต่ำกว่า ทำให้ส่วนแบ่งตลาดโลกของไทยปรับตัวลดลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ดังนั้น ไทยจึงต้องหันกลับมามองตนเองว่าควรจะปรับยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาขีดความสามารถอย่างไร ซึ่งสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งดำเนินการคือ การบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และมุ่งเน้น

การบริหารจัดการด้านการตลาดในเชิงรุกมากขึ้น โดยในอนาคตประเทศคู่ค้าจะเข้มงวดในมาตรการด้านสุขอนามัยมากขึ้น ดังนั้น คุณภาพมาตรฐานของสินค้า จึงถือว่าสำคัญยิ่งและไทยยังคงได้เปรียบคู่แข่ง ซึ่งจะทำให้เราสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดได้ในระยะยาว

อุตสาหกรรมไก่ ตัวชี้วัดที่ผู้ประกอบการไทยเห็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ชี้วัดประสิทธิภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไก่ของไทยส่วนใหญ่จะเป็นปัจจัยภายใน ได้แก่ ต้นทุนการผลิต คุณภาพผลิตภัณฑ์ ประสิทธิภาพการผลิต รองลงมาได้แก่ ความพึงพอใจของลูกค้า การตรวจสอบย้อนกลับ การได้รับรองคุณภาพมาตรฐาน และการมีพันธมิตรทางการค้า ซึ่งจากการศึกษาพบว่า มีปัจจัยที่ส่งผลต่อการสร้างโอกาสในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทยมากที่สุด คือ ทักษะความรู้ ความชำนาญของแรงงาน และการอยู่ในอุตสาหกรรมมายาวนาน ทำให้ขีดความสามารถในการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มและความเพียงพอของวัตถุดิบมีมากกว่าคู่แข่ง ซึ่งไทยมีการทำธุรกิจแบบครบวงจร มีระบบการบริหารจัดการที่ดี และมีระบบควบคุมการผลิตระดับฟาร์มทำให้สามารถผลิตวัตถุดิบได้ในปริมาณที่เพียงพอและมีคุณภาพสูง

สำหรับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันมากที่สุด คือ ราคาวัตถุดิบ และอาหารสัตว์มี ราคาปรับตัวสูงขึ้นมากโดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ไทยยังคงพึ่งการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ค่อนข้างมาก นอกจากนี้การกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non — Tariff Barrier) เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลต่อการขยายตลาดของไทย และยังส่งผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้นจากการจัดทำระบบคุณภาพมาตรฐานที่ประเทศคู่ค้ากำหนดขึ้นมา

เมื่อเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันของไทยกับคู่แข่งระดับโลก จีน และบราซิลพบว่า มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะบราซิลเป็นประเทศที่ได้เปรียบในด้านการส่งออกไก่แช่แข็งติดอันดับต้นๆ และขยายตลาดได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความเชื่อมั่นในความปลอดภัยจากไข้หวัดนก ขณะที่จีน ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา สามารถส่งออกไก่ได้ในอัตราที่เพิ่มขึ้นรวดเร็ว เนื่องจากข้อได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำ จึงสามารถใช้กลยุทธ์ด้านราคาในการทำตลาดได้ต่ำกว่า ส่วนไทยมีต้นทุนการจัดการสูง และเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง จึงส่งผลให้สินค้าไทยมีราคาสูงตามไปด้วย ทว่าในปี 2551 จีนต้องสะดุดปัญหา Food Safety โดยเฉพาะกรณี เกี้ยวซ่า ทำให้การส่งออกชะลอตัว สินค้าไทยจึงได้เริ่มเข้าไปทดแทนตลาดส่งออกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จีนเริ่มตื่นตัวด้านความปลอดภัยอาหารมากขึ้น โดยได้มีการปรับระบบ Food Safety ครั้งใหญ่เพื่อแก้สถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือ การบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และด้านคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้เปรียบคู่แข่งมาโดยตลอดและเร่งพัฒนาสินค้ามูลค่าเพิ่มให้มีมากขึ้น

เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดใหม่ให้มากขึ้น เพื่อประกันความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ โดยอุตสาหกรรมอาหารของไทย ถือได้ว่าเป็นเหมือนหัวหอกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการส่งออก และนำรายได้เข้าประเทศปีละหลายแสนล้าน

ดังนั้น การรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขัน จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ซึ่งกุ้ง — ไก่ ก็ยังถือว่าสามารถส่งออกได้ดีมีขีดความสามารถที่สูง แต่ผู้ประกอบการก็จะต้องพัฒนาขีดความสามารถอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพื่อให้คงความได้เปรียบคู่แข่ง อันจะนำมาซึ่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืนสืบไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ