สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่3(กรกฎาคม-กันยายน)พ.ศ.2551(เศรษฐกิจโลก)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 24, 2008 14:44 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจโลก

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 3 ปี 2551 ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า จากปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และปัญหาอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ปัญหาวิกฤตการณ์การเงินของสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาสินเชื่อตึงตัวไปทั่วโลก

เศรษฐกิจของกลุ่ม Euro Zone ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าอันเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นและยังคงทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น สืบเนื่องมาจากราคาพลังงานโลกและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นมาก

เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 3 ปี 2551 ชะลอตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากจีนต้องเผชิญปัจจัยลบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา อีกทั้งภาคการส่งออกชะลอตัวและตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ตกต่ำ

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 3 ปี 2551 อยู่ที่ 113.47 USD/Barrel อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกำลังอ่อนตัวลง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบในเดือนตุลาคม 2551เฉลี่ยอยู่ในระดับ 71.39 USD/Barrel ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป หากวิกฤตเศรษฐกิจยืดเยื้อจะส่งผลให้ความต้องการน้ำมันโลกชะลอตัว แนวโน้มราคาน้ำมันยังคงผันผวนตามปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางจิตวิทยา เช่น วิกฤตการณ์ทางการเงินที่ลุกลามจากสหรัฐฯ ไปสู่ยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง ปัญหาตลาดทุนและตลาดเงิน อีกทั้ง ยุโรป อเมริกา และเอเชียเหนือ กำลังเข้าสู่ฤดูหนาวอาจส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันสูงขึ้น

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา

ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาส 3 ปี 2551 GDP หดตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับ ไตรมาส 3 ปี 2550 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.8 เนื่องจากวิกฤตการเงินที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง เพราะการว่างงานที่สูงขึ้น การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3 ปี 2551 หดตัวร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2550 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.0 การลงทุน (Fixed investment) ในไตรมาส 3 ปี 2551 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2550 ซึ่งหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.9 และการส่งออกสินค้าในไตรมาส 3 ปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 7.5 ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2550 อยู่ที่ร้อยละ 21.8 การนำเข้าสินค้าในไตรมาส 3 ปี 2551 หดตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2550 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.4 อัตราการว่างงานไตรมาส 3 ปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 6.0 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2550 อยู่ที่ร้อยละ 4.7

อัตราเงินเฟ้อไตรมาส 3 ปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 5.4 สูงกว่าไตรมาส 3 ปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.7 อันเนื่องมาจากราคาพลังงาน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น

ทางด้านสถานการณ์การเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ(Fed) (เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2551)ให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 1 เพื่อช่วยผ่อนคลายภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อและช่วยสกัดกั้นเศรษฐกิจไม่ให้เข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 3 ปี 2551 มีการหดตัว เนื่องจากปัญหาในภาคการเงินที่รุนแรงมากขึ้น

เศรษฐกิจจีน

เศรษฐกิจประเทศจีนในไตรมาส 3 ปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 9.0 ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2550 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 12.2 เนื่องจากภาคการส่งออกชะลอตัวและตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ตกต่ำ ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในไตรมาสที่ 3 ปี 2551ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 27.4 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2550 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 26.6 การส่งออกใน ไตรมาส 3 ปี 2551 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 23.1 ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2550 ที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 26.2 อันเป็นผลมาจากการส่งออกไปตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ลดลง

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาส 3 ปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 5.3 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.8 เนื่องจากราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ชะลอตัวลงตามภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลก

ทางด้านสถานการณ์การเงิน ธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือร้อยละ 6.93 (ตุลาคม 2551) เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินในประเทศ

เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น

เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นในไตรมาส 2 ปี 2551 GDP ขยายตัวร้อยละ 0.8 ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2550 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.8 เศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นชะลอตัวลงเนื่องจากการบริโภคและการผลิตของญี่ปุ่นลดลง การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 2 ปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.2 การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคครัวเรือนในไตรมาส 2 ปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.2 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงส่งผลให้ผู้บริโภคมีความกังวลในการใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวและอาหาร การลงทุนในภาคก่อสร้างไตรมาส 2 ปี 2551 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ 15.9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2550 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.2 อัตราการว่างงานไตรมาส 3 ปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ร้อยละ 4.0

ภาวะเงินเฟ้อของประเทศญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ปี 2551 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ซึ่งเป็นผลมาจากราคาพลังงานและวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นมาก

ทางด้านสถานการณ์การเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2551 ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.2 เหลือร้อยละ 0.3 เพื่อรองรับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก

เศรษฐกิจสหภาพยุโรป

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยุโรปในไตรมาส 2 ปี 2551 GDP ขยายตัวร้อยละ 1.4 ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2550 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.4 เนื่องจากปัญหาวิกฤตทางการเงินและการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลาย ๆ ประเทศในกลุ่มยุโรปชะลอตัวลง เช่น เยอรมัน การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคครัวเรือนในไตรมาส 2 ปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 0.3 การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 2 ปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 0.4 ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2550 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.6 การส่งออกขยายตัวในไตรมาส 2 ปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 3.6 ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2550 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.8 ภาคอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และพลังงาน ในไตรมาส 2 ปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 1 ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2550 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2551 อยู่ที่ระดับ 110.9 จุด ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2551 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 111.3 จุด ดัชนีผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนสิงหาคม 2551 อยู่ที่ระดับ 88.8 จุด ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2551 อยู่ที่ระดับ 89.5 อัตราการว่างงานในไตรมาส 2 ปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 7.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.2

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของกลุ่มประเทศยุโรป ไตรมาส 3 ปี 2551 ร้อยละ 3.8 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.0 การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ เป็นผลมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและอาหาร

ทางด้านสถานการณ์การเงิน ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.5 เหลือร้อยละ 3.25(เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2551) เพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจที่อยู่ในวิกฤตในขณะนี้

เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในเอเซีย

เศรษฐกิจฮ่องกง

ภาวะเศรษฐกิจของฮ่องกง ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 GDP ขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 ซึ่งลดลงจาก ร้อยละ 7.3 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 เมื่อเทียบแล้วถือว่าลดลงร้อยละ 1.4 โดยมีการบริโภคของภาคเอกชนเติบโตขึ้นร้อยละ 3.1 ซึ่งถือว่าลดลงจากร้อยละ 7.9 ในไตรมาที่ 1 ของปี 2551 ทางด้านการใช้จ่ายของภาครัฐขยายตัวขึ้นร้อยละ 3.5 ในขณะที่ไตรมาสที่ผ่านมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 ทางด้านดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน ของปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 6.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมที่อยู่ที่ร้อยละ 5.7

การส่งออกของฮ่องกงในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.36 ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 8.49 โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 มีมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 98,794 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกถึง 40,590 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ซึ่งการส่งออกกว่าร้อยละ 50 ของการส่งออกทั้งหมด ส่งไปยังประเทศจีน รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและเยอรมัน ในขณะที่ฮ่องกงมีมูลค่าการนำเข้าจากทั่วโลกทั้งหมด 104,694 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 7.38 การนำเข้าส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน 49,618 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

เกาหลีใต้

เศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้ในไตรมาส 2 ของปี 2551 GDP ขยายตัวร้อยละ 4.8 ซึ่งขยายตัวน้อยที่สุดในรอบ 1 ปี นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 โดยต่ำกว่าไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 ที่มี GDP ขยายตัวร้อยละ 5.8 เป็นผลมาจากการใช้จ่ายส่วนบุคคลลดลงอันเนื่องมาจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนลง ทั้งนี้ภาคการก่อสร้างหดตัวลงร้อยละ 1.4 หลังจากไตรมาสที่ผ่านมาขยายตัวร้อยละ 0.4 ภาคบริการขยายตัวร้อยละ 3.3 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 ทางด้านภาคการผลิตขยายตัวร้อยละ 8.5 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 9.3

ทางด้านการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ในเดือนสิงหาคม ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 1.9 โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหนักด้านเคมีขยายตัวร้อยละ 3.4 และ Light Industry หดตัวลงร้อยละ 4.7

ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนกันยายน ปี 2551 อยู่ที่ระดับ 111.1 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 จากเดือนที่แล้ว โดยราคาสินค้าอาหาร(ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) อยู่ที่ 111.6 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่วนน้ำและเชื้อเพลิงอยู่ที่ 110.6 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2

การส่งออกของเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 27.31 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 23.23 โดยไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 มีมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 115,202 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกถึง 26,517 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ อุตสาหกรรมประเภท Mineral Fuel, Oil และ Machinery; Reactors, Boilers ตามลำดับ ซึ่งมีการส่งออกไปยังประเทศจีนกว่า 25,642 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและฮ่องกง ตามลำดับ ขณะที่การนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 43.11 โดยมีมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ทั้งสิ้น 123,099 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

เศรษฐกิจอาเซียน

สิงค์โปร์

เศรษฐกิจประเทศสิงค์โปร์ในไตรมาส 3 ของปี 2551 หดตัวลงร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และหดตัวลงร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 5.7 ทั้งนี้เป็นผลมาจากปริมาณความต้องการสินค้าที่ลดลงจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป รวมทั้งการหดตัวของอุตสาหกรรมทางด้านเคมีชีวภาพ

ด้านการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงที่ร้อยละ 11.5 ขณะที่ภาคการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 7.8 และภาคบริการขยายตัวร้อยละ 6.1 โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม ของปี 2551 ลดลงร้อยละ 12.2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 7.1 กลุ่มวิศวกรรมลดลงร้อยละ 8.9 กลุ่มเคมีภัณฑ์ลดลงร้อยละ 6.0 กลุ่มไบโอเมดิคอลลดลงร้อยละ 33.8 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.9 ในขณะที่กลุ่มยานพาหนะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ส่งผลให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมใน 8 เดือนแรก(มกราคม — สิงหาคม) ของปี 2551 ลดลงร้อยละ 2.0

ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ได้ปรับตัวลดลงจากร้อยละ 7.5 ในไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 6.5 ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกันยายน ปี 2551 ใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ราคาที่สูงส่วนใหญ่จะเป็นราคาค่าอาหาร ค่าบ้าน ค่าขนส่งและการสื่อสาร ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคใน 9 เดือนแรกของปี 2551 สูงขึ้นร้อยละ 6.9

การส่งออกของสิงค์โปร์ในเดือนกันยายน ปี 2551 ดัชนีราคาการส่งออกอยู่ที่ 100.00 จุด ขยายตัวร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่หดตัวลงร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ในขณะที่เดือนที่ผ่านมาขยายตัวร้อยละ 2.2 เป็นผลมาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลง ส่วนดัชนีราคาการนำเข้าเดือนตุลาคม ปี 2551 อยู่ที่ 104.1 จุด ขยายตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่หดตัวร้อยละ 2.5 จากเดือนที่ผ่านมา โดยในเดือนสิงหาคม ของปี 2551 การส่งออกขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 16.66 ส่งผลให้การส่งออก 8 เดือนแรก(มกราคม — สิงหาคม) ของปี 2551 มีมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 238,609 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 23.54 เมื่อเทียบกับ 8 เดือนแรกของปี 2550 โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกถึง 75,768 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ อุตสาหกรรมประเภท Mineral Fuel, Oil และ Machinery; Reactors, Boilers ที่มีมูลค่าการส่งออก 47,230 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 38,717 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฮ่องกงและจีน ขณะที่การนำเข้า 8 เดือนแรกของปี 2551 ขยายตัวที่ร้อยละ 33.48 โดยมีมูลค่าการนำเข้า 223,730 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อินโดนีเซีย

เศรษฐกิจอินโดนีเซียในไตรมาส 3 ของปี 2551 GDP ขยายตัวร้อยละ 6.2 ขยายตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัวที่ร้อยละ 6.39 โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งภาคการส่งออกที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง

ด้านภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีการขยายตัวเล็กน้อยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 โดยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ซึ่งถือว่าขยายตัวลดลงร้อยละ 3.3 จากไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 และลดลงร้อยละ 5.85 จากไตรมาสแรก โดยทางด้านกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีการหดตัวลงในช่วง 3 เดือนนี้ โดยหดตัวลงถึงร้อยละ 30.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน ทางด้านกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์ก็ลดลงถึงร้อยละ 17.30 ในขณะที่อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และเคมีพื้นฐานก็หดตัวลงเช่นกันที่ร้อยละ 12.96

ด้านอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.05 โดยในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.14 เมื่อเทียบกับปีก่อน

การส่งออกของอินโดนีเซียในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 29.61 ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 ที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 31.91 โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 มีมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 36,650 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งการส่งออกส่วนใหญ่เป็นการส่งออกของอุตสาหกรรม Mineral Fuel, Oil , Fats and Oils, Electrical Machinery, Etc. และ Rubber โดยมีมูลค่าการส่งออก 11,255 , 4,673, 2,044 และ 2,038 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ โดยมีตลาดส่งออกหลักคือ ญี่ปุ่น สิงค์โปร์ สหรัฐอเมริกา และ จีน ในขณะที่การนำเข้ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ผ่านมา โดยขยายตัวถึงร้อยละ 95.55 โดยมีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 35,421 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงนั้น มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของอินโดนีเซีย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศที่สูงขึ้นจะส่งผลให้การบริโภคในประเทศลดลง ซึ่งรัฐบาลจะต้องปกป้องความสามารถในการซื้อของประชาชนจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงดังกล่าว นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ปรับลดมูลค่าพันธบัตรรัฐบาลสำหรับปีหน้าจาก 103.5 ล้านล้านรูเปีย เหลือเพียง 54.7 ล้านล้านรูเปีย จากภาวะเศรษฐกิจและความต้องการพันธบัตรหรือหุ้นของนักลงทุนที่คาดว่าจะลดต่ำลง

มาเลเซีย

ภาวะเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซียใน ไตรมาส 2 ปี 2551 เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 6.34 ขยายตัวลดลงจากร้อยละ 7.1 ในไตรมาส 1 ปี 2551 ซึ่งเป็นผลมาจากการภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง

ทางด้านการเงินการคลังธนาคารกลางมาเลเซียประกาศค้ำประกันเงินฝากธนาคารทุกแห่งจนถึงเดือนธันวาคม ปี 2553 เพื่อเตรียมการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงิน โดยธนาคารกลางจะรับประกันเงินฝากทั้งหมด ซึ่งเป็นมาตรการที่เป็นแนวทางเพื่อปกป้องระบบธนาคารหลังประสบปัญหาวิกฤติการเงินจากสหรัฐอเมริกา

การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 28.94 ขายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19.21 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 มีมูลค่าการส่งออก 54,565 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกในกลุ่มของ Electrical Machinery, Etc. , Mineral Fuel, Oil และ Machinery; Reactors, Boilers โดยมีมูลค่าการส่งออก 14,720 , 9,623 และ 8,913 ตามลำดับ ในขณะที่ประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้แก่ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา จีน และ ญี่ปุ่น ส่วนการนำเข้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 17.33 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 15.82 และมีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 41,905 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนสิงหาคม ของปี 2551 อยู่ที่ 114.9 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 จากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 จากเดือนที่ผ่านมา โดยดัชนีราคาผู้บริโภคในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 จากเดือนก่อน ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่อาหารลดลงร้อยละ 0.1 ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภค 8 เดือนแรกของปี 2551 อยู่ที่ระดับ 110.4 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีของกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 จากเดือนที่ผ่านมา ส่วนกลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่อาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6

ฟิลิปปินส์

เศรษฐกิจของประเทศฟิลิปปินส์ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวลดลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.3 และในไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 มีการขยายตัวร้อยละ 6.2 โดยการขยายตัวที่ลดลงเป็นผลมาจากการเติบโตของการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและภาคเอกชนที่ชะลอตัวลง

ด้านอัตราเงินเฟ้อ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 จากร้อยละ 9.7 ในไตรมาสที่ผ่านมา โดยในเดือนกันยายน 2551 อยู่ที่ร้อยละ 11.9 เมื่อเทียบต่อปี ลดลงจากเดือนสิงหาคมที่เป็นระดับสูงสุดในรอบ 17 ปี ที่ร้อยละ 12.5 นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2534 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตามแม้อัตราเงินเฟ้อจะลดลงจากเดือนที่ผ่านมา แต่ราคาสินค้าโดยเฉลี่ยของเดือนกันยายนยังคงอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี และเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบต่อปี ซึ่งอัตราราคาสินค้าไม่รวมอาหารและพลังงานอยู่ที่ร้อยละ 7.5

ด้านการเงินการคลัง ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ฟิลิปปินส์ขาดดุล 53.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขาดดุลเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 จากช่วงเดียวกันของปี 2550 ที่ขาดดุล 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากรายได้ของรัฐบาลที่ลดลง

ทางด้านการส่งออกของฟิลิปปินส์ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 5.72 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.91 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 และมีมูลค่าการส่งออก 13,062 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้าที่ส่งออกมาก ได้แก่ Special Classification Provisions, Nesoi, Electrical Machinery, Etc. และ Machinery; Reactors, Boilers โดยการส่งออก Special Classification Provisions, Nesoi หดตัวลงร้อยละ 9.42 และการส่งออกส่วนใหญ่ส่งออกไปยัง อเมริกา ญี่ปุ่น จีน และ ฮ่องกง ส่วนทางด้านการนำเข้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 11.84 โดยขยายตัวลดลงจากร้อยละ 22.01 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 ซึ่งในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 มีมูลค่าการนำเข้า 14,925 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ