สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่3(กรกฎาคม-กันยายน)พ.ศ.2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 24, 2008 14:33 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 3 ปี 2551 ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า จากปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในช่วงต้นของไตรมาสที่ 3 และปัญหาอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ปัญหาวิกฤตการณ์การเงินของสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาสินเชื่อตึงตัวไปทั่วโลก โดยเศรษฐกิจของกลุ่ม Euro Zone ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าอันเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นและยังคงทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น สืบเนื่องมาจากราคาพลังงานโลกและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นมาก เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 3 ปี 2551 ชะลอตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากจีนต้องเผชิญปัจจัยลบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา อีกทั้งภาคการส่งออกชะลอตัวและตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ตกต่ำ

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 3 ปี 2551 อยู่ที่ 113.47 USD/Barrel อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกำลังอ่อนตัวลง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบในเดือนตุลาคม 2551เฉลี่ยอยู่ในระดับ 71.39 USD/Barrel ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป หากวิกฤตเศรษฐกิจยืดเยื้อจะส่งผลให้ความต้องการน้ำมันโลกชะลอตัว แนวโน้มราคาน้ำมันยังคงผันผวนตามปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางจิตวิทยา เช่น วิกฤตการณ์ทางการเงินที่ลุกลามจากสหรัฐฯ ไปสู่ยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง ปัญหาตลาดทุนและตลาดเงิน อีกทั้ง ยุโรป อเมริกา และเอเชียเหนือ กำลังเข้าสู่ฤดูหนาวอาจส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันสูงขึ้น

ในส่วนของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 5.3 ชะลอลงจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 (ร้อยละ 6.1) แต่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 (ร้อยละ 4.3) โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ชะลอลงจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 ได้แก่ การใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัว การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของครัวเรือน การลงทุนที่ชะลอตัว โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2551 จะขยายตัวร้อยละ 5.2-5.7

สำหรับภาคอุตสาหกรรมไทย ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ตัวชี้วัดต่าง ๆ ส่วนใหญ่มีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 เช่น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 185.3 ขยายตัวร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากทั้งในไตรมาสที่ 3 ปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.1 และในไตรมาสที่ 2 ปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.4เช่นเดียวกับการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคของภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้น แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคและผู้ประกอบการยังคงมีความวิตกกังวล ในหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

สถานการณ์การค้าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 มีทิศทางเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 โดยในไตรมาสที่ 3 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 99,102.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 48,713.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 50,388.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.07 และการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.03 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.24 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 39.86 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ดุลการค้าขาดดุล 1,675.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯโดยปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 เริ่มขยายตัวในทิศทางที่ชะลอลง โดยในส่วนของปริมาณการส่งออกในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.9 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว ร้อยละ 11.3 โดยเป็นการลดลงของสินค้าหมวดอิเลคทรอนิกส์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณามูลค่าการส่งออกแล้วจะพบว่ายังขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 25.2 เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 15.0 ในไตรมาสที่ 3 เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.5 ในไตรมาสที่ 2 โดยเฉพาะราคาสินค้าส่งออกหมวดเกษตรกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 52.2 ในไตรมาสที่ 3 ขณะที่เมื่อพิจารณาจากมิติคู่ค้าแล้วจะพบว่าตลาดส่งออกใหม่ เช่น ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย ยังคงขยายตัวได้ดี แต่ตลาดหลักในสหรัฐ ยุโรป และจีน เริ่มมีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง

ในขณะที่การนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ยังคงขยายตัวในระดับสูงโดยมีการขยายตัวร้อยละ 39.9 จากไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 29.7 โดยเป็นการขยายตัวในแง่ของปริมาณสินค้านำเข้าเป็นหลักโดยในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 20.5 เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 10.2 โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบที่ปริมาณนำเข้ายังขยายตัวในระดับสูงในไตรมาสที่ 3 ขณะที่ราคาสินค้านำเข้าโดยรวมเริ่มขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 16.0 ต่อปี โดยเป็นการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันเป็นหลัก ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่ต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้าทำให้ดุลการค้าในไตรมาสที่ 3 ของไทยกลับมาขาดดุลอีกครั้ง

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม มีมูลค่ารวม 61,125.8 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.93 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในปี 2551 เดือนกรกฎาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 37,686.0 ล้านบาท และเดือนสิงหาคม 23,439.8 ล้านบาท สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 244 โครงการ ลดลงร้อยละ 31.84 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีเงินลงทุน 83,100 ล้านบาท ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 54.84 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 102 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 17,000 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 59 โครงการ เป็นเงินลงทุน 16,800 ล้านบาท เมื่อพิจารณาในหมวดของการเข้ามาลงทุน พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีเงินลงทุน 53,900 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะและอุปกรณ์ มีเงินลงทุน 10,600 ล้านบาท และหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีเงินลงทุน 5,900 ล้านบาท

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 3 ปี 2551 มีดัชนีผลผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 109.76 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงเช่นกันร้อยละ 13.46 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการผลิตลดลงได้แก่ เครื่องรับโทรทัศน์สี (ขนาดจอเล็กกว่า 20 นิ้ว) สายไฟฟ้าและเครื่องรับโทรทัศน์สี (ขนาดจอ 21 นิ้ว หรือมากกว่า) ปรับตัวลดลงร้อยละ 46.50 27.89 และ 25.99 ตามลำดับ สำหรับภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.22 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 36.97 โดยสินค้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คือ Other IC และ Hard Disk Drive เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.24 และ 28.15 ตามลำดับ

แนวโน้มภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วงไตรมาสที่ 4 ปี2551 โดยดูจากดัชนีการส่งสินค้าของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ประมาณการว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 1.37 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศปรับตัวลดลงร้อยละ 3.78 ซึ่งโดยปกติแล้ว เครื่องปรับอากาศในช่วงไตรมาส 4 เป็นการชะลอลงตามฤดูกาลอยู่แล้วด้วย และการปรับตัวลดลงของดัชนีการส่งสินค้าเครื่องรับโทรทัศน์ (ไม่รวม LCD/Plasma) โดยประมาณการว่าจะชะลอตัวโดยปรับตัวลดลง 19.63%YoY สำหรับแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.54 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งปรับเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงเนื่องจากตัวแปรดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐส่งสัญญาณชะลอลงซึ่งตัวแปรดังกล่าวนำมาพิจารณาในการประมาณการไตรมาส 4/2551

เคมีภัณฑ์ ในไตรมาส 3 ปี 2551 การส่งออกเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.23 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 78.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.97 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนเครื่องสำอางหรือสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกายมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.84 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.11 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มในไตรมาสที่ 4 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์น่าจะอยู่ในภาวะชะลอตัวลง ทั้งนี้เนื่องจาก อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์โดยส่วนใหญ่จะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศ ดังนั้นจากผลของวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐอเมริกา กับสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอน น่าจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจหดตัว รวมทั้งอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ด้วย

ปิโตรเคมี ในไตรมาส 3 ปี 2551 การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 49.59 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 69.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 8.48 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และลดลงถึงร้อยละ 21.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.36 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การขยายกำลังการผลิตของประเทศในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบ ทำให้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ออกสู่ตลาดมีราคาที่ต่ำ ในขณะที่ตลาดเอเซียมีการเติบโตด้านความต้องการผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขัน คาดว่า ราคาปิโตรเคมีจะปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวในทิศทางขาลง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหาการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และปัญหาวิกฤตของสถาบันการเงินในยุโรป

เหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.14 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนและเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 31.21 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.51 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และเหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.12 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลง มากที่สุด คือ เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 11.38

แนวโน้มสถานการณ์เหล็กโดยรวมในประเทศในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2551 คาดการณ์ว่าการผลิตของเหล็กทรงยาวจะลดลงเนื่องจากสถานการณ์ความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ยังคงชะลอตัวอยู่ จึงทำให้ปริมาณสินค้าคงคลังที่ทั้งผู้ผลิตและพ่อค้าคนกลางสะสมไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงกลางปียังคงมีอยู่ ส่งผลให้ผู้ผลิตลดการผลิตลง สำหรับการผลิตของเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าจะขยายตัวตามอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สำหรับแนวโน้มการส่งออกคาดการณ์ว่าจะทรงตัวอันเป็นผลมาจากความต้องการใช้ในตลาดของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญของประเทศไทยได้ชะลอตัวลงจากปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ ขณะที่แนวโน้มการนำเข้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในส่วนของเหล็กคุณภาพสูงซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ยานยนต์ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 มีการผลิตรถยนต์ จำนวน 349,243 คัน เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.60 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.64 แต่มีการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ และรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน ลดลงร้อยละ 32.11, 0.01 ตามลำดับ สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 ซึ่งได้รับผลดีจากภาคการส่งออกที่สามารถขยายตัวได้ในตลาดหลัก เช่น ออสเตรเลีย และอาเซียน ในขณะที่ตลาดภายในประเทศขยายตัวเล็กน้อย เนื่องจากผู้บริโภคนิยมเลือกซื้อรถยนต์นั่งที่มีขนาดเล็ก และตรงตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาสที่ 4 ปี คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่สาม ปี 2551 เนื่องจากเป็นฤดูกาลจำหน่าย บริษัทรถยนต์ค่ายต่างๆ มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย และมีการจัดงาน Motor Expo 2008 ที่กำหนดจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ ในขณะที่การส่งออกคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลก อันเป็นผลจากวิกฤตการณ์ทางการเงินของสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลก

พลาสติก ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในไตรมาสที่ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.53 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.28 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยพลาสติกแผ่น และแผ่นฟิล์มพลาสติกมีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.57 และ 19.34 ตามลำดับ ในขณะที่ กระสอบพลาสติก ถุงพลาสติก และเครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ ดัชนีผลผลิตลดลงเล็กน้อยร้อยละ 3.92 0.58 และ 3.87 ตามลำดับ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากผู้ประกอบการจะต้องผลิตเพิ่มเพื่อสต๊อกสินค้าสำหรับเอาไว้ขายในช่วงปีใหม่ซึ่งมีวันหยุดยาว ประกอบกับประเทศคู่ค้ามียอดการสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้นด้วย

แนวโน้มในไตรมาสที่ 4 ผลิตภัณฑ์พลาสติกน่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากภาวะวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งจะทำให้ยอดการส่งออกลดลง ประกอบกับ สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน จากเหตุผลดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลักต่าง ๆ ในประเทศ รวมทั้งอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกด้วย

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง รองเท้าและชิ้นส่วน ในไตรมาสที่ 3 ปี 2551 มูลค่าการส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วน และเครื่องใช้สำหรับเดินทาง เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้ว ลดลงร้อยละ 1.3 และ 1.3 ตามลำดับ แต่มูลค่าการส่งออกของหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอก มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.9 ตลาดส่งออกหลักของสินค้ารองเท้าในปี 2551 คือ สหรัฐอเมริกา เบลเยียม และเดนมาร์ก ส่วนตลาดส่งออกสำคัญของสินค้าหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอก คือ ฮ่องกง จีน และเวียดนาม

ส่วนแนวโน้มของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง ในปี 2551 คาดว่าจะมีอัตราที่ลดลงสำหรับตลาดคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่โดยรวมคาดว่าอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังจะมีอัตราที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการขยายตัวของตลาดอื่นๆ โดยการเปิดตลาดกับประเทศใหม่ๆ มากขึ้น และประเทศไทยมีศักยภาพในด้านการออกแบบ และเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าในเรื่องของคุณภาพ อีกทั้งการที่ EU ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) รองเท้าจากประเทศจีน และเตรียมการตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) สำหรับอุตสาหกรรมรองเท้าของประเทศเวียดนาม โดยจะเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้มากยิ่งขึ้น

อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมผลิตภัณฑ์ น้ำตาลทราย) ลดลงร้อยละ 0.7 จากไตรมาสที่ 2 ปี 2551 เนื่องจากการผลิตในกลุ่มผักผลไม้ ผลิตภัณฑ์นม และน้ำมันพืช ลดลงร้อยละ 41.7 5.1 และ 3.8 ตามลำดับ เป็นผลจากวัตถุดิบมีปริมาณลดลง และได้มีการประกาศปรับราคาผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้น และหากพิจารณารวมการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายจะทำให้ภาพรวมของภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 14.3 เนื่องจากเป็นช่วงปิดหีบการผลิต สำหรับภาวะการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย เมื่อเทียบกับปี 2550 (ม.ค.-ก.ย.) พบว่า ปริมาณการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตอ้อย

สำหรับแนวโน้มของการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 คาดว่า จะมีทิศทางการผลิต การจำหน่ายในประเทศ และการส่งออกที่ชะลอตัวตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลก จากความไม่แน่นอนทางการเมืองและการก่อการร้ายในหลายประเทศ การถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคที่ยังชะลอการจับจ่ายใช้สอย ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ และมาตรการกีดกันการค้ารูปแบบต่างๆ ที่ประเทศผู้นำเข้าจะประกาศใช้ในอนาคต

ไม้และเครื่องเรือน ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2551 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.42 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 37.32 ทั้งนี้ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากต้นทุนการผลิต เช่น ราคาน้ำมัน ที่ปรับตัวลดลง ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่กระเตื้องตามมาตรการลดหย่อนภาษีของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงการคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้า หรือโครงการที่อยู่อาศัยประเภทต่าง ๆ ส่งผลให้ความต้องการเครื่องเรือนสูงขึ้นตามไปด้วย

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 คาดว่าจะทรงตัว จากวิกฤติการเงินโลกที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ทำให้อุปสงค์เครื่องเรือนจากไทยชะลอตัว ซึ่งน่าจะเห็นภาพของผลกระทบที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ต่อเนื่องถึงต้นปีหน้า อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวก คือ เครื่องเรือนของไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ ตลาดใหม่ของไทยมีศักยภาพ กำลังซื้อสูง และยังขยายตัวได้ดี

ยางและผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนการผลิตยางแท่งและยางแผ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.68 และ 83.30 ตามลำดับ เนื่องจากภาวะอากาศในภาคใต้เอื้อต่อการกรีดยาง ส่งผลให้ปริมาณยางพาราออกสู่ตลาดมากขึ้นซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนการผลิตยางแท่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.65 แต่การผลิตยางแผ่นลดลงร้อยละ 16.36

แนวโน้มของอุตสาหกรรมยาง และผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาส 4 ปี 2551 คาดว่าจะชะลอตัวลง ราคายางพารามีแนวโน้มปรับตัวลดลงรุนแรง ในขณะที่ความต้องการยางพาราจะชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินของสหรัฐอเมริกา ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐอเมริกาซบเซาและยอดจำหน่ายลดลงมาก ทำให้มีสต๊อกยางล้อเหลือเป็นจำนวนมาก สหรัฐอเมริกาจึงชะลอการสั่งซื้อยางรถยนต์จากจีน มีผลให้จีนชะลอการสั่งซื้อวัตถุดิบยางพาราจากไทย

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2551 มีค่าดัชนีผลผลิต 141.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 0.8 และ 3.9 ตามลำดับ เนื่องจากในไตรมาสนี้มีปัจจัยสนับสนุนสำคัญเพียงปัจจัยเดียว คือ การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ลดงบประมาณในการหาเสียงของผู้สมัคร ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศชะลอตัว ทำให้ผู้ผลิตไม่เก็บสินค้าไว้เป็นจำนวนมาก ส่วนภาวะการผลิตกระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษแข็ง มีค่าดัชนีผลผลิต 126.8 และ 135.9 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 1.0 และ 4.7 ตามลำดับ เนื่องจากเตรียมรองรับการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ สำหรับค่าดัชนีผลผลิตของ กระดาษคราฟท์และกระดาษลูกฟูกเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง คิดเป็นร้อยละ 9.1 และ 2.1 ตามลำดับ เป็นผลมาจากเศษกระดาษซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับใช้ผลิตกระดาษดังกล่าวมีราคาสูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตชะลอการผลิตไว้ก่อน

สำหรับแนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และกระดาษ ในไตรมาสหน้าคาดว่า จะลดลง เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงในประเทศ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่วนปัจจัยเสี่ยงในต่างประเทศ ได้แก่ ปัญหาวิกฤตการเงินสหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบไปยังสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น อาจทำให้คำสั่งซื้อเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ แม้จะอยู่ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและ ปีใหม่ มีแนวโน้มลดลงได้

ยา การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 มีปริมาณลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อยเพียง ร้อยละ 0.6 อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.5 และใน 9 เดือนแรกของปี 2551 มีปริมาณการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.5

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยาบางรายการปรับราคาสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบและค่าขนส่ง ประกอบกับมีการย้ายฐานการผลิตของผู้ว่าจ้างไปยังประเทศอื่น รวมถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

สำหรับในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 คาดว่าการผลิต และการจำหน่ายยาในประเทศ รวมถึงการนำเข้า และการส่งออกยา จะชะลอตัวจากไตรมาสที่ 3 เล็กน้อยตามวัฏจักรของอุตสาหกรรม ซึ่งขยายตัวดีในช่วงไตรมาสที่ 2 และที่ 3 และชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากผู้ผลิต รวมถึงผู้สั่งซื้อ จะบริหารสินค้าคงคลังไม่ให้เหลือสูงมากในปลายปี ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากความวิตกกับวิกฤติการเงินโลก และปัญหาการเมืองในประเทศ ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค จึงคาดว่าจะทำให้อุตสาหกรรมยาชะลอตัวลงในไตรมาสสุดท้ายแต่ไม่มากนัก

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอในไตรมาสที่ 3 ปี 2551 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม การผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 1.4 และ 9.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สำหรับการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ทั้งที่ผลิตจากผ้าถักและผลิตจากผ้าทอ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2551 การผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนร้อยละ 22.3 และ 9.7 ตามลำดับ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.9 และ 8.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 คาดว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะขยายตัวทั้งภาคการผลิต การนำเข้า และการส่งออก แม้ว่าไทยจะประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว เนื่องจากคำสั่งซื้อเพื่อส่งมอบถึงต้นปีหน้าได้มีการสั่งซื้อไว้ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤติการเงิน และยังไม่มีปัญหาการส่งมอบ รวมถึงการปิดกิจการของผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สำหรับสถานการณ์ในปี 2552 หากวิกฤตการเงินยังลุกลามและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยอาจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากปีนี้ เนื่องจากสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นในการดำรงชีพ ความต้องการบริโภคจึงยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

ปูนซีเมนต์ การผลิตปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 3 ปี 2551 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.56 ส่วนการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงร้อยละ 6.78 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ด และการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงร้อยละ 9.43 และ 12.89 ตามลำดับ

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงอีก แม้ว่าจะเลยช่วงฤดูฝนไปแล้วแต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซา และยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญหลายประการ เช่น ความไม่แน่นอนของต้นทุนพลังงาน และปัญหาค่าครองชีพที่ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพ กระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนภาคเอกชน และความคืบหน้าในการดำเนินโครงการสาธารณูปโภคของภาครัฐ

เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาสที่ 3 ปี 2551 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และระยะเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณลดลง ร้อยละ 9.64 และ 0.68 ตามลำดับ ในขณะที่การผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และระยะเดียวกันของ ปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.86 และ 8.64 ตามลำดับ ซึ่งการผลิตเซรามิกยังคงได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ แต่การผลิตที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2551 แม้ว่าไตรมาสนี้จะเริ่มเข้าสู่ฤดูการขายก็ตาม แต่การผลิตและจำหน่ายเซรามิก จะไม่สามารถขยายตัวได้มากนัก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลง

อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ด้านการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.51 แต่การจำหน่ายลดลงร้อยละ 9.90 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จะเห็นว่าด้านการผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนด้านการจำหน่ายหดตัวพอสมควร ทำให้สินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกมีการขยายตัวร้อยละ 30.50 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากภาวะตลาดผู้บริโภคยังตอบรับดีอยู่ ทั้งนี้เครื่องประดับแท้ยังคงสัดส่วนการส่งออกสูงถึงร้อยละ 35.54 โดยเครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทองยังคงนำตลาดเนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกซึ่งได้ลดลงตั้งแต่ราวกลางเดือนกรกฎาคม

แนวโน้มภาพรวมการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ปัจจัยด้านลบ คือ วิกฤติการณ์สถาบันการเงินของสหรัฐอเมริกา เช่น การประกาศล้มละลายของ เลห์แมน บราเธอร์ส สถาบันการเงินใหญ่อันดับ 4 ซึ่งเป็นผลจากปัญหาซัพไพร์ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาหดตัว และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ซึ่งอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศไทยมีตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหลัก อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการบางส่วนได้หาตลาดอื่นบ้างแล้ว ปัจจัยด้านบวก คือ แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงจะส่งผลบวกให้เศรษฐกิจโลกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น และแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาทจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 จากปัจจัยทั้งหลายดังกล่าว คาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2551

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ