สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่3(กรกฎาคม-กันยายน)พ.ศ.2551(อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 26, 2008 15:03 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2551 มีปริมาณการผลิต 2.62 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส ก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.42 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 37.32 ทั้งนี้ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากต้นทุนการผลิต เช่น ราคาน้ำมัน ที่ปรับตัวลดลง ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่กระเตื้องตามมาตรการลดหย่อนภาษีของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ คอนโดมิเนียม โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้า หรือโครงการที่อยู่อาศัยประเภทต่าง ๆ ส่งผลให้ความต้องการเครื่องเรือนสูงขึ้นตามไปด้วย

2. การตลาด

2.1 การจำหน่ายในประเทศ

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 3 ปี2551 มีปริมาณการจำหน่าย 1.02 ล้านชิ้น เมื่อ เทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.51 และ 85.45 ตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณการจำหน่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้น เนื่อง จากอุปสงค์ของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนยังมีอยู่ โดยเฉพาะตลาดกลางและตลาดบน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการกระตุ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ตลอดจนการปรับลดลงของราคาน้ำมัน ต่างเป็นปัจจัยที่แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้บริโภค อีกทั้ง งานมหกรรมที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมากก็เป็นปัจจัยกระตุ้นการบริโภค

2.2 การส่งออก

การส่งออกของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 621.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.21 และ 4.37 ตามลำดับ จากการที่ปัญหาสินเชื่อด้อย คุณภาพในสหรัฐฯ ลุกลามจนกลายเป็นวิกฤติของภาคการเงินที่ขยายวงกว้างไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ เป็นวิกฤติการเงินโลกโดยรวมไปถึงสหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการส่งออกไม้และเครื่องเรือนของไทย เนื่องจากประเทศเหล่านี้เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกอื่น ๆ ของไทย โดยเฉพาะออสเตรเลีย ประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศแถบเอเซียใต้ และตะวันออกกลาง ต่างเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีกำลังซื้อและยังขยายตัวได้ดี

สำหรับรายละเอียดการส่งออกในแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์ของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภทสินค้า ดังนี้

1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน ประกอบด้วย เครื่องเรือนไม้ เครื่องเรือนอื่นๆ และชิ้นส่วนเครื่องเรือน ในไตรมาสนี้ มีมูลค่าการส่งออก 281.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 45 ของมูลค่าการส่งออกในสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.17 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออก ลดลงร้อยละ 5.18 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ สินค้าประเภทเครื่องเรือนไม้ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องเรือน และชิ้นส่วนเครื่องเรือน คือ ประเทศสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วยเครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ กรอบรูปไม้ และ รูปแกะสลักไม้ ในไตรมาสนี้มีมูลค่าการส่ง ออก 89.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกร้อยละ 14 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.03 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออก ลดลงร้อยละ 10.86 โดยผลิตภัณฑ์ ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ไม้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราช อาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์

3) กลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป แผ่นไม้ วีเนียร์ ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board) และ ผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ โดยไตรมาสนี้มีมูลค่าการส่งออก 250.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 41 ของมูลค่าการส่งออกสินค้า ประเภทไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด มูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 2.17 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.37 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือไม้แปรรูป รองลงมาคือ ไม้อัดและไฟเบอร์บอร์ด สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญ ของกลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ได้แก่ ประเทศจีน มาเลเซีย เวียดนามและอินโดนีเซีย

2.3 การนำเข้า

มูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ปี 2551 มีจำนวน 180.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เท่ากันคือร้อยละ 0 แต่เมื่อ เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.58 การนำเข้าสินค้าประเภทไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ท่อนประเภท ไม้เนื้อแข็ง ได้แก่ ไม้แปรรูปและไม้ซุง ซึ่งนำเข้ามาผลิตสินค้าต่อเนื่อง เช่น เครื่องเรือนประเภทต่าง ๆ โดยไม้แปรรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศ มาเลเซีย ลาว และสหรัฐอเมริกา สำหรับไม้ซุงส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์และมาเลเซีย และในส่วนของผลิตภัณฑ์ไม้อัดและไม้วีเนียร์นำเข้า จากประเทศจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

3. สรุปและแนวโน้ม

การผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2551เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นจากปัจจัยบวกต่างๆ เช่น ราคาน้ำมันที่ปรับลดและค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ตลอดจนมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ส่งผลให้ความต้องการไม้และเครื่องเรือน เพิ่มขึ้น

การจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 3ปี 2551 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ บริโภคเริ่มผ่อนคลายจากภาระค่าใช้จ่าย อันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ รวมทั้งการปรับลดลงมา ของราคาน้ำมัน เป็นการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้บริโภค ตลอดจนรายการส่งเสริมการขายที่ออกมาเป็นจำนวนมาก เป็นการกระตุ้นอุปสงค์

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 คาดว่าจะทรง ตัว เนื่องจากความไม่มีเสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศ และความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะ วิกฤติการเงินโลกที่คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานของไทย ตลอดจนส่งผลต่อการตัดสินใจในการขยายการลงทุนของผู้ ประกอบการ และการบริโภคของประชาชน ทั้งนี้คาดว่าผลกระทบของวิกฤติการเงินโลกน่าจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ต่อเนื่องไป จนถึงต้นปีหน้า อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวก ได้แก่ ตลาดที่อยู่อาศัยภายในประเทศ โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียม และตลาดบน ที่ยังขยายตัวได้ดี และ การที่ผู้บริโภคยังได้รับประโยชน์ตามมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และมาตรการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจากภาครัฐ

การส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 3 ปี 2551 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากผลกระทบ ของปัญหา Sub-prime ในสหรัฐฯ ที่ลุกลามจนกลายเป็นวิกฤติการเงินโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจและกำลังซื้อของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร อยู่ในภาวะชะลอตัว กระทบเป็นอย่างมากต่อการส่งออกของไทย อย่างไรก็ตาม การส่งออกไป ตลาดใหม่ของไทย โดยเฉพาะออสเตรเลีย ประเทศในกลุ่มอาเซียน ประเทศแถบเอเซียใต้และตะวันออกกลาง ยังขยายตัวได้ดี

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 คาดว่าจะทรงตัว จากวิกฤติการเงินโลกที่ส่งผล กระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ทำให้อุปสงค์เครื่องเรือนจากไทยชะลอตัว ซึ่ง น่าจะเห็นภาพของผลกระทบที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ต่อเนื่องถึงต้นปีหน้า อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวก คือ เครื่องเรือนของไทยยังเป็นที่ต้องการ ของตลาดต่างประเทศ ตลาดใหม่ของไทยมีศักยภาพ กำลังซื้อสูง และยังขยายตัวได้ดี อีกทั้งประเทศคู่แข่งของไทย เช่น จีน ประสบปัญหาคุณภาพสินค้า เครื่องเรือนในตลาดโลก และการที่บริษัทเครื่องเรือนยักษ์ใหญ่ IKEA ของสวีเดน เข้ามาบรรลุข้อตกลงทำธุรกิจในไทย คาดว่าจะทำให้การส่งออกของ ไทยเพิ่มขึ้น

ดังนั้น ในสภาวะของความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ และความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศและ วิกฤติการเงินโลก ผู้ประกอบการไม่สามารถพึ่งตลาดสหรัฐฯ แต่เพียงตลาดเดียว จึงควรต้องเร่งขยายฐานตลาดภายในประเทศ โดยเฉพาะตลาดกลาง และตลาดบนที่ยังมีกำลังซื้อ และเร่งศึกษาและขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศที่มีกำลังซื้อสูงและได้รับผลกระทบจากวิกฤติสถาบันการเงินโลกน้อย เช่น ประเทศแถบตะวันออกกลาง อีกทั้งควรต้องเร่งรัดการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต ลดต้นทุนต่าง ๆ เช่น ค่าขนส่ง และค่าสาธารณูปโภค ตลอดจนผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกระแสโลก ที่สำคัญ คือ ควรพลิกปัญหาที่ประเทศคู่ แข่งของไทยกำลังประสบเกี่ยวกับคุณภาพสินค้าในตลาดโลกให้เป็นโอกาสของไทย

ตารางที่ 1 การผลิตของเครื่องเรือนทำด้วยไม้

หน่วย : ล้านชิ้น

          ผลิตภัณฑ์                    ไตรมาส                               ปี 2550         ปี 2551
                                  3/1/2550    2/1/2551    3/1/2551    (ม.ค.-ก.ย.)    (ม.ค.-ก.ย.)
เครื่องเรือนทำด้วยไม้                      4.18        2.31        2.62          13.27           7.49
%    เทียบกับไตรมาสก่อน                                         13.42
%    เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน                              -37.32                        -43.56

ที่มา : ศูนย์สารสนเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

หมายเหตุ : จากการสำรวจโรงงาน 43 โรงงาน

ตารางที่ 2 การจำหน่ายในประเทศของเครื่องเรือนทำด้วย ไม้

หน่วย : ล้านชิ้น

          ผลิตภัณฑ์                    ไตรมาส                               ปี 2550         ปี 2551
                                  3/1/2550    2/1/2551    3/1/2551    (ม.ค.-ก.ย.)    (ม.ค.-ก.ย.)
เครื่องเรือนทำด้วยไม้                      0.55        0.94        1.02           1.81           2.47
%  เทียบกับไตรมาสก่อน                                            8.51
%  เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน                                 85.45                         36.46

ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกไม้และเครื่องเรือน

หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐฯ

  รายการ                             ไตรมาส             เทียบกับ   เทียบกับไตรมาส    ปี 2550     ปี 2551   เทียบกับช่วงเดียวกัน

3/1/2550 2/1/2551 3/1/2551 ไตรมาสก่อน เดียวกันของปีก่อน (ม.ค.-ก.ย.) (ม.ค.-ก.ย.) ของปีก่อน

  1.เครื่องเรือนและชิ้นส่วน       296.8    275.4    281.4       2.17     -5.18         850.77      825.62       -2.96
1.1 เครื่องเรือนไม้               155    136.6    144.2       5.53     -6.98         447.01       416.6        -6.8
1.2 เครื่องเรือนอื่น ๆ           72.07    60.87    61.78       1.49    -14.28         212.33      183.24       -13.7
1.3 ชิ้นส่วนเครื่องเรือน          69.76    77.96    75.49      -3.17      8.21         191.43      225.78       17.94
  2. ผลิตภัณฑ์ไม้               100.3    88.53    89.44       1.03    -10.86         279.68      266.41       -4.74
2.1 เครื่องใช้ทำด้วยไม้          24.96     23.5    22.48      -4.34     -9.94          67.16       67.68        0.77
2.2 อุปกรณ์ก่อสร้างไม้           34.83    29.15    28.23      -3.16    -18.95         105.44       89.33       -15.3
2.3 กรอบรูปไม้                24.23    18.34    22.76       24.1     -6.07          66.67       59.98         -10
2.4 รูปแกะสลักไม้              16.32    17.54    15.97      -8.95     -2.14          40.41       49.42        22.3
  3.ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น        198.4    256.3    250.7      -2.17     26.37         583.69      734.53       25.84
3.1 ไม้แปรรูป                  69.8    75.24    69.89      -7.11      0.13         206.97      210.12        1.52
3.2 แผ่นไม้วีเนียร์               3.03      1.6     1.52         -5    -49.83           6.57        5.19         -21
3.3 ไม้อัด                    54.95    76.31    69.82       -8.5     27.06         169.78      214.58       26.39
3.4 Fiber Board             56.19    72.24    68.24      -5.54     21.45         156.69      205.23       30.98
3.5 ผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ            14.41    30.88    41.23       33.5     186.1          43.68       99.41       12.76
  รวม                       595.5    620.2    621.6       0.21      4.37       1,714.14    1,826.56        6.56

ที่มา : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

ตารางที่ 4 มูลค่าการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน

หน่วย : ล้านเหรียญ

  รายการ                   ไตรมาส              เทียบกับ   เทียบกับไตรมาส      ปี 2550       ปี 2551       เทียบกับ

3/1/2550 2/1/2551 3/1/2551 ไตรมาสก่อน เดียวกันของปีก่อน (ม.ค.-ก.ย.) (ม.ค.-ก.ย.) ช่วงเดียวกันของปีก่อน

ไม้ซุง               25.52    33.31    37.04       11.2      45.1             72         92.42         28.4
ไม้แปรรูป            96.24    101.1    96.27       -4.8      0.03            279         280.9         0.63
ไม้อัด วีเนียร์         29.73    31.72    33.26       4.85      11.9           78.9         96.99         22.9
ผลิตภัณฑ์ไม้อื่นๆ        12.12    14.79    14.35         -3      18.4           37.1         43.39         17.1
         รวม       163.6    180.9    180.9          0      10.6            467         513.7         9.97

ที่มา : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ