รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนตุลาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 15, 2008 13:55 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนกันยายน 2551
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) = 186.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2551 (185.4) ร้อยละ 0.4 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (180.8) ร้อยละ 3.0
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2551 ได้แก่ การผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) การผลิตยานยนต์ การผลิตผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรคการผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ทำจากขนสัตว์ การผลิตการแปรรูปผลไม้และผัก เป็นต้น
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย = 61.4 ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2551 (61.8) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (67.4)

ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนตุลาคม 2551

อุตสาหกรรมอาหาร

  • เดือนตุลาคม คาดว่าการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารจะชะลอตัวจากเดือนก่อน ส่วนการส่งออกคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเพียงเล็กน้อย ตามระดับราคาสินค้าอาหารของตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการส่งออกในผลิตภัณฑ์หลักๆ ที่อิงตลาดสหรัฐอเมริกาอาจเริ่มชะลอตัวลง จากการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการชะลอตัวของตลาดอื่นๆ ทั่วโลก สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศจะมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากประชาชนวิตกกังวลกับภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ จึงชะลอการจับจ่ายใช้สอยลง

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

  • อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป ประเภทแบรนด์เนมคาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินทั่วโลกที่ตึงตัวโดยเฉพาะ ตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักอาจจะลดการนำเข้า แต่ในส่วนของเสื้อผ้ากีฬาและเสื้อผ้าเด็ก พบว่าตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการบริโภคอยู่ แต่อาจจะปรับลดลงบ้าง แต่ยังมีช่องทางทำตลาดแนวใหม่ที่ต้องเจาะกลุ่มตลาดทั่วไปแทนห้างสรรพสินค้า อย่างไรก็ตามคำสั่งซื้อยังมีล่วงหน้าถึงต้นปีหน้าและยังได้อานิสงค์ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงที่บาทละ 34- 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

  • แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนตุลาคม 2551 ประมาณการว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 8.76 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัจจัยต่างๆที่มากระทบทำให้สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงนี้ปรับตัวลดลงหลายตัวปัจจัยที่มีผลกระทบได้แก่ ตลาดคู่ค้าส่งออกชะลอลง ตลาดในประเทศทรงตัว งานโครงการที่มียอดสั่งซื้อจำนวนมากค่อนข้างชะลอลง ทำให้สินค้าบางชนิด เช่น เครื่องปรับอากาศ ประมาณการว่าจะปรับลดลงร้อยละ 10.1 ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ดังปรากฎในอุปกรณ์ประเภท HDD ที่ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงตามแนวโน้มของอุตสาหกรรมโดยรวม โดยคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.89 ซึ่งตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐอเมริกาชะลอลง

ดัชนีอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2551

  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรวมอยู่ที่ระดับ 185.3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (177.5) ร้อยละ 4.4 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2550 (174.7)ร้อยละ 6.1

อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ทำจากขนสัตว์ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2550 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ทำจากขนสัตว์ เป็นต้น

  • ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ร้อยละ 9.0 โดยอุตสาหกรรมหลักที่สงผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive)อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมโดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตที่ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 62.8 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (63.7) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2550 (66.9)

อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ(Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2550 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เป็นต้น

  • ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2550 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เป็นต้น
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(มูลค่าเพิ่ม)

ส.ค. 51 = 185.4

ก.ย. 51 = 186.2

โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนี เพิ่มขึ้น ได้แก่

  • การผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive)
  • การผลิตยานยนต์
  • การผลิตผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมเคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

ส.ค. 51 = 61.8

ก.ย. 51 = 61.4

โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่

  • การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม
  • การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน
  • การผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ยกเว้นปุ๋ยและสารประกอบไนโตรเจน
1.อุตสาหกรรมอาหาร

เดือนตุลาคม ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารจะชะลอตัวจากเดือนก่อน มูลค่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย สำหรับการจำหน่ายในประเทศชะลอตัวลง จากความวิตกกังวลในภาวะเศรษฐกิจและการเมืองที่ทำให้ประชาชนชะลอการจับจ่ายใช้สอย

1. การผลิต

ภาวะการผลิตโดยรวม (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกันยายน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.7 แต่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 4.6 แบ่งเป็นกลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออกเป็นหลัก เช่น ทูน่ากระป๋อง และสับปะรดกระป๋อง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 27.7 และ 157.4 จากวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ส่วนกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง และข้าวโพดฝักอ่อนกระป๋อง มีการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.1 และ 72.9 เนื่องจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดน้อย

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีปริมาณการกลั่นลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 12.7 และ 18.9 เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับลดราคาจำหน่ายลงส่วนน้ำมันถั่วเหลืองมีการผลิตลดลงเช่นกัน เมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 25.3 และ 7.8 เนื่องจากราคาจำหน่ายได้ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ความต้องการลดลง

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนกันยายน สินค้าอาหารและเกษตร มีปริมาณจำหน่ายลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 4.3 เนื่องจากผู้บริโภคไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จึงลดปริมาณการอุปโภคและบริโภคลง

2) ตลาดต่างประเทศ เดือนกันยายน มูลค่าการส่งออกโดยรวมของอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 34.4 เนื่องจากราคาได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกสินค้า เช่น ทูน่ากระป๋อง ไก่แปรรูป สับปะรดกระป๋องและกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ทำให้มูลค่าในแต่ละสินค้าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.7 42.4 99.5 และ 10.4 ตามลำดับ แต่หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนมูลค่าการส่งออกรวมลดลงร้อยละ 7.9 จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าหลักของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา

3. แนวโน้ม

เดือนตุลาคม คาดว่าการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารจะชะลอตัวจากเดือนก่อน ส่วนการส่งออกคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเพียงเล็กน้อย ตามระดับราคาสินค้าอาหารของตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างไรก็ตามการส่งออกในผลิตภัณฑ์หลักๆ ที่อิงตลาดสหรัฐอเมริกาอาจเริ่มชะลอตัวลง จากการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการชะลอตัวของตลาดอื่นๆ ทั่วโลก สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศจะมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากประชาชนวิตกกังวลกับภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ จึงชะลอการจับจ่ายใช้สอยลงประชาชนจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

...อานิสงค์ค่าเงินบาทอ่อนตัว สิ่งทอไทยยังมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าถึงต้นปีหน้ากลบกระแสการเมืองในประเทศ ข่าวการปลดพนักงาน...

1. การผลิต

ภาวะการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอในเดือนกันยายน ส่วนใหญ่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ได้แก่ ผ้าทอ (-0.7%) เครื่องนอน (-0.3%)ผ้าลูกไม้ (-5.2%) และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถัก (-8.7%) แต่เส้นใยสิ่งทอฯ และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ มีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ (+5.4%) และ (+2.5%) ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ ลดลงร้อยละ (-6.9%) ผ้าทอ(-15.0 %) ผ้าลูกไม้ (-10.4%) ในขณะที่การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งที่ผลิตจากผ้าถัก และผลิตจากผ้าทอ ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ (+23.6%) และ (+7.3%) ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อล่วงหน้า

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ เดือนกันยายน ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอฯ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งที่ผลิตจากผ้าถักและผ้าทอมีปริมาณจำหน่ายลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการชะลอการบริโภคภาคประชาชน จากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย

การส่งออก ผลิตภัณฑ์สิ่งทอหลักๆ เดือนกันยายนลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 7.2 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป (+3.2%) ผ้าผืน(+11.5%) เคหะสิ่งทอ (+6.7%) ผ้าปักและผ้าลูกไม้ (+8.5%) และสิ่งทออื่นๆ (+4.8%) โดยเฉพาะตลาดอาเซียนและตลาดญี่ปุ่น ที่การส่งออกยังคงเพิ่มขึ้น แต่ลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกา

3. แนวโน้ม

คาดว่าปริมาณการผลิตจะทรงตัวหรือขยายตัวเพียงเล็กน้อยเนื่องจากการบริโภคในประเทศมีการชะลอตัว การวิตกเรื่องการเมืองและ กระแสข่าวการปลดคนงานตลอดเวลา ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อการบริโภคลดลง

ในส่วนของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป ประเภทแบรนด์เนมคาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินทั่วโลกที่ตึงตัวโดยเฉพาะ ตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักอาจจะลดการนำ เข้า แต่ในส่วนของเสื้อผ้ากีฬาและเสื้อผ้าเด็ก พบว่าตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการบริโภคอยู่ แต่อาจจะปรับลดลงบ้าง แต่ยังมีช่องทางทำ ตลาดแนวใหม่ที่ต้องเจาะกลุ่มตลาดทั่วไปแทนห้างสรรพสินค้า อย่างไรก็ตามคำสั่งซื้อยังมีล่วงหน้าถึงต้นปีหน้าและยังได้อานิสงค์ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงที่บาทละ 34- 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

การผลิตเหล็กดิบ ( crude steel) ของโลกในช่วงเดือนกันยายนมีปริมาณ 108.4 ล้านตัน (ข้อมูลจาก 66 ประเทศ)ลดลงร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุมาจากการลดลงของการผลิตประเทศจีน ที่ลดลงร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และประเทศในแถบเอเชียที่ลดลงเหลือ 60.4 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 5.1 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในเก้าเดือนแรกของปีนี้ พบว่าปริมาณการผลิตเหล็กดิบโลกมีการขยายตัวขึ้นร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

1.การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนกันยายน 2551มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง ร้อยละ 17.77 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 107.48 เมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว พบว่า ดัชนีผลผลิตชะลอตัวถึง ร้อยละ 25.26 โดยเป็นผลมาจากการลดลงของเหล็กเส้นกลมที่ลดลง ร้อยละ 59.46 รองลงมาคือ ลวดเหล็กแรงดึงสูง ลดลง ร้อยละ 25.75 และ เหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ 23.02เนื่องจากสถานการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศที่ซบเซาจึงทำให้ความต้องการใช้ของเหล็กทรงยาวลดลงไปด้วย ประกอบกับพ่อค้าคนกลางยังคงมีสินค้าคงคลังที่สูงอยู่ จึงทำให้ปริมาณคำสั่งซื้อลดลงมีผลให้ผู้ผลิตต้องลดการผลิตลง

สำหรับเหล็กทรงแบน พบว่า ดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 14.30 โดยเป็นผลมาจากการลดลงของเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีที่ลดลง ร้อยละ 31.00 รองลงมาคือเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลงร้อยละ 19.96 ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลง ร้อยละ 19.04 โดยเหล็กทรงยาว มีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 30.27 ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เหล็กเส้นกลม ลดลง ร้อยละ 71.02 และเหล็กลวด ลดลง ร้อยละ 33.39 สำหรับเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 14.85 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน มีการผลิตที่ลดลงร้อยละ 38.20

2.ราคาเหล็ก

การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนตุลาคม 2551 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ราคาโดยเฉลี่ยของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์เหล็กลดลงทุกตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนยกเว้นเหล็กแผ่นรีดเย็นที่มีราคาทรงตัว คือร้อยละ 1,168 เหรียญสหรัฐต่อตัน โดยเหล็กแท่งเหล็กบิลเล็ต ลดลง จาก 690 เป็น 464 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 32.79 เหล็กเส้น ลดลง จาก 806 เป็น 563 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 30.23 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง จาก 1,130 เป็น 920 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 18.58 เหล็กแท่งแบนลดลง จาก 1,085 เป็น 950 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 12.44 เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กของประเทศต่างๆ ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมถึงประเทศในกลุ่มอาเซียนลดลง

3. แนวโน้ม

สถานการณ์เหล็กในเดือนตุลาคม 2551 คาดว่าในส่วนของการผลิตเหล็กทรงยาวจะลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนทำให้การก่อสร้างซึ่งชะลอตัวอยู่ในช่วงนี้ลดลง นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งเป็นผู้ใช้ที่สำคัญมีสถานการณ์ที่ซบเซา จึงทำให้ปริมาณสินค้าคงคลังที่ยังคงมีอยู่และส่งผลให้ผู้ผลิตต้องปรับลดการผลิตลงด้วย สำหรับสถานการณ์เหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าการผลิตยังคงทรงตัวอยู่

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกันยายน 2551 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 อันเนื่องมาจากการส่งออกที่มีการขยายตัว แต่การจำหน่ายในประเทศชะลอตัว โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกันยายน ดังนี้

  • การผลิตรถยนต์ จำนวน 123,834 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2550 ซึ่งมีการผลิต 117,171 คัน ร้อยละ 5.69 และมีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2551 ร้อยละ 19.37 เนื่องจากมีการผลิตรถยนต์กระบะ 1 ตัน รุ่นใหม่
  • การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 47,881 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2550 ซึ่งมีการจำหน่าย 53,491 คัน ร้อยละ 10.49 เนื่องจากมีการจำหน่ายรถยนต์กระบะ 1 ตัน ลดลงอย่างต่อเนื่องอย่างไรก็ดี การจำหน่ายรถยนต์นั่งยังสามารถขยายตัวได้ ซึ่งปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2551 ร้อยละ 1.59
  • การส่งออกรถยนต์ จำนวน 74,738 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2550 ซึ่งมีการส่งออก 64,563 คัน ร้อยละ 15.76 และมีปริมาณการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2551 ร้อยละ10.57 ซึ่งการส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศแถบเอเชีย และยุโรปมีการขยายตัวสูงเมื่อเปรียบเทียบประเทศอื่น
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนตุลาคม 2551 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน 2551 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนตุลาคมประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 47 และส่งออกร้อยละ 53

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกันยายน 2551 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 ทั้งการจำหน่ายในประเทศ และการส่งออก โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกันยายน ดังนี้

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 171,860 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2550 ซึ่งมีการผลิต 124,347 คัน ร้อยละ 38.21 โดยมีการผลิตรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้เครื่องยนต์แบบหัวฉีดที่มีคุณสมบัติเด่นด้านการประหยัดน้ำมัน และมีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2551 ร้อยละ 11.53
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 147,510 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2550 ซึ่งมีการจำหน่าย 117,210 คัน ร้อยละ 25.85 แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2551 ร้อยละ 3.09
  • การส่งออกรถจักรยานยนต์ จำนวน 11,374 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2550 ซึ่งมีการส่งออก 7,145 คัน ร้อยละ 59.19 และมีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2551 ร้อยละ 5.91
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนตุลาคม 2551 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน 2551 สำ หรับการผลิตรถจักรยานยนต์(CBU)ในเดือนตุลาคมประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 92 และส่งออกร้อยละ 8
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงซบเซา เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัว รวมทั้งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจน สำหรับแนวโน้มการส่งออกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดใหม่ เช่น บังคลาเทศ ประเทศในแถบตะวันออกกลางและ แอฟริกา ยังคงเติบโตขึ้น เนื่องจากภาคการก่อสร้างยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในเดือนกันยายน 2551 ลดลงร้อยละ 14.26 และ 6.42 ตามลำดับแต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศลดลงร้อยละ 14.80 และ 8.31 ตามลำดับ เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตามต้นทุนการผลิตปูนซีเมนต์และราคาวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้เสถียรภาพทางการเมืองก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน และความคืบหน้าในการดำเนินโครงการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานของรัฐบาลด้วย

2.การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เดือนกันยายน 2551 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.91 และ 8.31 ตามลำดับ เนื่องจากมีการขยายการส่งออกเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยกำลังซื้อในประเทศที่ลดลง ประกอบกับความต้องการใช้ในตลาดส่งออกหลักยังคงขยายตัวได้ดี

สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยคือ บังคลาเทศ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย รองลงมาคือเวียดนามและ กัมพูชา

3.แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในเดือนตุลาคม และเดือนพฤศจิกายน 2551 คาดว่าจะยังคงชะลอตัวตามธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่าจะเลยช่วงฤดูฝนไปแล้วแต่สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มั่นคง ทำให้การลงทุนของภาคเอกชนยังคงชะลอตัว และการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคของภาครัฐก็ยังไม่มีความชัดเจน

สำหรับการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี เนื่องจากการส่งออกไปยังประเทศในแถบอาเซียนและเอเชียใต้ยังขยายตัวได้ดีอีกทั้ง ความต้องการของตลาดใหม่ๆ เช่น บังคลาเทศ ประเทศในแถบตะวันออกกลาง และ แอฟริกา ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนตุลาคม 2551 ประมาณการว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 8.76 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัจจัยต่างๆที่มากระทบทำให้สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงนี้ปรับตัวลดลงหลายตัว ปัจจัยที่มีผลกระทบได้แก่ ตลาดคู่ค้าส่งออกชะลอลง ตลาดในประเทศค่อนข้างทรงตัวงานโครงการที่มียอดสั่งซื้อจำนวนมากค่อนข้างชะลอลง
  • แนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ดังปรากฎในอุปกรณ์ประเภท HDD ที่ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงตามแนวโน้มของอุตสาหกรรมโดยรวม โดยคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.89 ซึ่งตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐอเมริกาชะลอลง
ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ก.ย. 2551
          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์          มูลค่า            %MoM           %YoY
          อุปกรณ์คอมพิวเตอร์               1,605.53           5.03           4.39
          IC                             642.68           6.40          -8.45
          เครื่องปรับอากาศ                  197.06           1.74           3.54
          เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า                 151.86          -8.34          20.10
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  4,363.57           6.63           9.04

ที่มา กรมศุลกากร

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกันยายน 2551 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 395.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.94 ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.10 เป็นผลเนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงของ Hard Disk Drive ซึ่งมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ 995.98 ในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 18.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 105.93 และเมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัว ลดลง ร้อยละ 1.91 อุตสาหกรรมครื่องใช้ไฟฟ้าเดือนกันยายน 2551 นั้นโดยรวมปรับตัวลดลงเนื่องจากการปรับตัวลดลงของสินค้าหลัก อาทิ เครื่องปรับอากาศทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากตลาดส่งออกที่ค่อนข้างชะลอตัว อย่างไรก็ตามเครื่องคอมเพรสเซอร์ยังคงขยายตัวได้ดี ซึ่งคาดว่าการชะลอลงของเครื่องปรับอากาศเป็นเพียงช่วงฤดูกาลสั้นๆเท่านั้น

2. การตลาด

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนกันยายน 2551 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 6.63 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.04 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 4,363.57 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในส่วนมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 9.37 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.05 ผลิต ภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สูงที่สุดได้แก่เครื่องปรับอากาศสำหรับที่พักอาศัยโรงงาน และเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม สำ หรับมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เดือน กันยายน 2551 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.09 และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.02

3. แนวโน้ม

แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนตุลาคม 2551 ประมาณการว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 8.76 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัจจัยต่างๆที่มากระทบทำให้สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงนี้ปรับตัวลดลงหลายตัว ปัจจัยที่มีผลกระทบได้แก่ ตลาดคู่ค้าส่งออกชะลอลง ตลาดในประเทศทรงตัว งานโครงการที่มียอดสั่งซื้อจำนวนมากค่อนข้างชะลอลง ทำให้สินค้าบางชนิด เช่น เครื่องปรับอากาศ ประมาณการว่าจะปรับลดลงร้อยละ 10.10 ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ดังปรากฎในอุปกรณ์ประเภท HDD ที่ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงตามแนวโน้มของอุตสาหกรรมโดยรวม โดยคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.89 ซึ่งตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐอเมริกาชะลอลง

  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) ในเดือนกันยายน 2551 มีค่า 186.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2551 (185.4) ร้อยละ 0.4 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (180.8) ร้อยละ 3.0
  • อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2551 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ทำจากขนสัตว์อุตสาหกรรมการแปรรูปผลไม้และผัก เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณอุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ทำจากขนสัตว์ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตยาสูบ เป็นต้น
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนกันยายน 2551 มีค่า 61.4 ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2551 (61.8) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (67.4)
  • อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนสิงหาคม 2551 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน อุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ยกเว้นปุ๋ยและสารประกอบไนดตรเจน อุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ อุตสาหกรรมการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ รวมถึงการทอสิ่งทอ เป็นต้น

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2551

  • ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2551 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2551 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 519 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนสิงหาคม 2551 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 349 รายหรือมากกว่าร้อยละ 48.71 และการจ้างงานรวมมีจำนวน 13,551 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2551 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 12,477 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.61 แต่ในส่วนของจำนวนเงินลงทุนมียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 11,526.91 ล้านบาท ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2551 ซึ่งมีการลงทุน 11,800.33 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ -2.32
  • ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2551 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนกันยายน 2550 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 399 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 30.08 และมียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2550 ซึ่งมีการลงทุน 10,024.81 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.98 และในส่วนการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2550 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 8,061 คน ร้อยละ 68.11
  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนกันยายน 2551 คืออุตสาหกรรมกลึง เจาะ คว้าน ไส หรือเชื่อมโลหะทั่วไป จำนวน 42 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมซ่อมและพ่นสีรถยนต์ จำนวน 34 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนกันยายน 2551 คืออุตสาหกรรมผลิตพลาสติก เงินทุน 736.69 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมเครื่องมือเครื่องใช้ สำหรับการประกอบรถยนต์ เงินลงทุน 711.67 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนกันยายน 2551 คืออุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์โลหะใช้ในการก่อสร้าง ฯลฯ จำนวนคนงาน 1,104 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมกลึง เจาะ คว้าน ไส หรือเชื่อมโลหะทั่วไป จำนวนคนงาน 959 คน
  • ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2551 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2551 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 229 ราย มากกว่าเดือนสิงหาคม 2551 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 184 ราย คิดเป็นร้อยละ 24.46 และการเลิกจ้างงานมีจำนวน 8,465 คน มากกว่าเดือนสิงหาคม 2551 ซึ่งเลิกจ้างงานจำนวน 4,508 คน ในส่วนของเงินทุนของการเลิกกิจการมีจำนวน 8,205.13 ล้านบาท มากกว่าเดือนสิงหาคม 2551 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,837.69 ล้านบาท
  • ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2551 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนกันยายน 2550 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 133 รายคิดเป็นร้อยละ 72.18 มีการเลิกจ้างงานมากกว่าเดือนกันยายน 2550 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 2,739 คน และมีเงินทุนของการเลิกกิจการมากกว่าเดือนกันยายน 2550 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 2,393.76 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนกันยายน 2551 คืออุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต คอนกรีตผสม ผลิตภัณฑ์ยิบซั่ม ปูนปลาสเตอร์จำนวน 24 ราย รองลงมาคือ อุตสาหกรรมซ่อมยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์หรือส่วนประกอบ จำนวน 21 ราย
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนกันยายน 2551 คืออุตสาหกรรมผลิต ส่ง หรือจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า เงินทุน 3,394 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมผลิต ซ่อมเครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องเรดาร์ คาปาซิเตอร์ เงินทุน 2,380 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนกันยายน 2551 คือ อุตสาหกรรมผลิต ซ่อมเครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องเรดาร์ คาปาซิเตอร์คนงาน 3,466 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ คนงาน 917 คน
  • ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนกันยายน 2551 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2551 มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 77 โครงการ มากกว่าเดือนสิงหาคม 2551 ที่มีจำนวน 57 โครงการ ร้อยละ 35.09 และมีเงินลงทุน 3,700 ล้านบาท มากกว่าเดือนสิงหาคม 2551 ที่มีเงินลงทุน 2,900 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 27.59
  • ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนกันยายน 2551 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท.น้อยกว่าเดือนกันยายน 2550 ที่มีจำนวน 100 โครงการ ร้อยละ -23.0 และมีเงินลงทุนน้อยกว่าเดือนกันยายน 2550 ที่มีเงินลงทุน 47,600 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ -92.23
  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม-กันยายน 2551
          การร่วมทุน                    จำนวน(โครงการ)        มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%              243                     77,300
          2.โครงการต่างชาติ 100%             340                     88,600
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ       216                    102,900
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม-กันยายน 2551 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 124,000 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 43,00 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ