สศอ. มองยุคเศรษฐกิจโลกซึม ทางออกอุตฯ ยังไม่ถูกปิดประตู ยันต้องเร่งใช้กลไกรัฐช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ มั่นใจศักยภาพอุตฯ ยังแกร่ง ชี้เติมเต็มความรู้ พยุงผู้ประกอบการ สร้างสมดุลต้นทุน-กำไรอย่างพอเพียง
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า มิอาจปฏิเสธได้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวได้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งหลายฝ่ายฟันธงตรงกันว่าการกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวได้อาจถึงขั้นหืดจับ ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับพยุงเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปได้ ต้องมีการใช้กลไกรัฐมาเป็นเครื่องมือและมีความเป็นเอกภาพสามารถทำงานอย่างเชื่อมโยงกันได้ ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม แม้จะไม่ค่อยมีเครื่องมือมากนักในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ สศอ. จะนำเสนอมาตรการต่อผู้บริหาร ในการช่วยพยุงผู้ประกอบการในภาวะวิกฤตเช่นนี้ 2-3 ประเด็นหลักๆ เช่น การลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม เสนอให้หน่วยงานและสถาบันเฉพาะทางในกำกับปรับลดราคาหรือให้เครดิตแก่ผู้ประกอบการ สำหรับบริการตรวจวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ และเสนอรัฐสนับสนุนงบประมาณกลางปีในการพัฒนาและรักษาบุคลากรเพื่อชะลอการเลิกจ้าง ซึ่งมาตรการเหล่านี้มีความเกี่ยวโยงกับหลายหน่วยงานในกระทรวง
“ปี 2552 หลายฝ่ายกล่าวว่าเป็นปีเผาจริงสำหรับเศรษฐกิจทั่วโลก อย่างไรก็ตาม สศอ.มองไกลออกไปว่าในท่ามกลางวิกฤตย่อมมีโอกาส เศรษฐกิจมิได้ตกต่ำอยู่ตลอดไป สักระยะจะสามารถพลิกสถานการณ์ได้ ฉะนั้น จึงไม่ควรมองข้ามมาตรการพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการเพื่อเป็นการบรรเทา ชะลอผลกระทบ พร้อมกับเตรียมความพร้อมสำหรับการฟื้นตัวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แม้ว่าปี 2552 สศอ. จะมองอัตราการขยายตัวภาคอุตสาหกรรม (จีดีพีอุตฯ)ไว้ที่ 2-3 เปอร์เซ็นต์ และการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ทั้งปี 2551 จะมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 6.6 เปอร์เซ็นต์ และ 6-7 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ แต่ยังมั่นใจว่าหากการเมืองภาครัฐนิ่ง การใช้กลไกของรัฐก็จะเกิดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาภาคอุตสาหกรรมไทยก็จะผ่านวิกฤตไปได้ เนื่องจากเคยมีประสบการณ์จากวิกฤตการณ์ครั้งก่อนจึงมีความระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ได้พยายามปรับตัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด”
นายอาทิตย์ กล่าวว่า หัวจักรสำคัญสำหรับในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำหรับปี 2552 คือ การใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นอำนาจซื้อภายในประเทศ โดยรัฐบาลชุดใหม่จะต้องเร่งงบกลางปี 100,000 ล้านบาท ให้ออกมาใช้โดยเร็ว และอาจจะต้องเพิ่มงบส่วนนี้มากกว่า 100,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็ต้องรีบเร่งรัดโครงการเมกะโปรเจกค์ เช่น รถไฟขนส่งมวลชน ซึ่งสศอ. ขอเสนอแนะให้รัฐบาลให้ความสำคัญและชี้นำให้ผู้ได้รับสัมปทานต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ ชิ้นส่วนร่วม ชิ้นส่วนประกอบภายในประเทศให้มากทีสุด เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับสาขาอุตสาหกรรมของประเทศ เนื่องจากสินค้าที่เกี่ยวข้องดังกล่าวหลายชนิดผลิตได้โดยฝีมือผู้ประกอบการไทยและมีมาตรฐานคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ถือเป็นโอกาสอันดีที่ภาครัฐจะได้ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมไทย ให้ได้มีส่วนร่วมในโครงการขนาดใหญ่ของประเทศอย่างจริงจัง
นอกจากนี้การปรับลดภาษีรายได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ก็จะมีผลทั้งในเชิงจิตวิทยาและลดภาระของประชาชนและภาคธุรกิจ แต่หากติดขัดต่อรายได้ภาครัฐไม่สามารถทำได้ทั้งระบบ ก็ขอให้ปรับลดสำหรับกลุ่ม SMEs ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด ในส่วนของผู้ประกอบการควรใช้โอกาสในช่วงขาลงสร้างภูมิคุ้มกันโดยการเติมเต็มความรู้และปรับปรุงประสิทธิภาพขององค์กร รวมทั้งพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้กับแรงงาน และเมื่อความเชื่อมั่นเริ่มพลิกฟื้นเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณสดใสเมื่อนั้นภาคอุตสาหกรรมของไทยก็จะเดินเครื่องได้เร็วกว่าคู่แข่งในที่สุด
สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายปี 2551 และแนวโน้มปี 2552
อัตราการขยายตัว (ร้อยละต่อปี)
2550 2551 (e) 2552 (f) Real GDP(1) 4.9 3.5 — 4.0 0 — 2.0 GDP ภาคอุตสาหกรรม(2) 6.2 6.6 2.0 — 3.0 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI)(2) 8.1 6.0 — 7.0 1.0 — 2.0
หมายเหตุ
(1) ประมวลจากประมาณการของหน่วยงานต่างๆ
(2) ประมาณการโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--