เศรษฐกิจโลกในปี 2551 คาดว่าขยายตัวร้อยละ 3.7 เนื่องจากประเทศอุตสาหกรรมหลาย ประเทศกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเยอรมัน และอีกหลาย ประเทศต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เช่น จีน ในส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มลดลง โดยราคาน้ำมันดิบ (Dubai) เฉลี่ย 11 เดือนอยู่ที่ 100 USD:Barrel และล่าสุดช่วงต้นเดือนธันวาคม 2551อยู่ที่ 44.13 USD:Barrel และมีแนวโน้มลดลงอีก เนื่องจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของหลาย ๆ ประเทศอยู่ในภาวะถดถอย ทำให้ความต้องการใช้พลังงานลดลง ถึงแม้ว่ากลุ่ม OPEC ตัดสินใจคงกำลังการผลิตในการประชุมเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2551 แต่ตลาดคาดว่า OPEC จะลดกำลังการผลิตในการประชุม 17 ธันวาคม 2551
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2551 จากการประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประชาชาติรายไตรมาสของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 4.0 เทียบกับร้อยละ 5.3 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 และร้อยละ 5.1 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 สำหรับเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2551 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ร้อยละ 4.5 เนื่องจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากจะมีผลให้การส่งออกชะลอลงชัดเจน
ในภาคอุตสาหกรรม จากรายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ( Manufacturing Production Index : MPI) ที่จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2551 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน ของปี 2550 ประมาณร้อยละ 7.8 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือน ในปี 2551 มีค่า 183.0 และในปี 2550 มีค่า 169.7 โดยมีอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชี และเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2551 มีค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550 และคาดว่าในปี 2551 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะขยายตัวร้อยละ 6-7 สำหรับแนวโน้มปี 2552 คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะชะลอตัวลงจากปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 3 เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง ประกอบกับการส่งออกที่จะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงมาก
สถานการณ์การค้าต่างประเทศของปี 2551 การค้าของไทยในเดือน ม.ค.-ต.ค. 2551 มีมูลค่าทั้งสิ้น 305,685.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.7 โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 151,192.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 154,493.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.2 ส่งผลให้ ดุลการค้าขาดดุล 3,301.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกในปี 2551จะขยายตัวร้อยละ 15-20 ด้วยมูลค่า 1.75-1.83 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับในปี 2552 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการส่งออก ได้จัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมการส่งออกปี 2552 หลังเกิดวิกฤติการเงินโลก โดยมุ่งเน้นผลักดันส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร พร้อมหนุนส่งออกไปยังตลาดอาเซียน และตลาดใหม่ๆ ที่ได้รับผลกระทบน้อยจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งตามแผนกระตุ้นการส่งออกปีหน้าดังกล่าว ประกอบด้วย การผลักดันส่งออกสินค้า เกษตรและอาหาร ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในตลาดหลักและตลาดใหม่ๆ รวมทั้งมีมาตรการพัฒนาสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า และการจัดคณะผู้แทนการค้า ตลอดจนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า นอกจากนี้ ยังให้เร่งส่งเสริมการส่งออกเป็นกรณีพิเศษ ในตลาดที่จะได้รับผล กระทบน้อยจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ประกอบด้วย ในกลุ่มอาเซียน 9 ประเทศ และยังรวมถึง ในจีน อินเดีย แถบตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก และอาฟริกา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65.3 ของการส่งออกรวม และตามแผนการนี้ ยังสนับสนุนให้มีการลดต้นทุนสินค้า เช่น การสนับสนุนให้ภาคเอกชน ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และกระตุ้นการลงทุนด้านสาธารณูปโภค รวมถึงรัฐบาลยังจะมุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย ไปรุกธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น โดยได้ดำเนินการร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) ซึ่งขณะนี้ มีธุรกิจที่มีศักยภาพ เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ เกษตร อุตสาหกรรมเกษตร ก่อสร้าง พลังงาน และการทำคอนแทคฟาร์มมิ่ง โดยตลาดที่คาดว่าจะมีโอกาสขยายการส่งออก เช่น อาเซียน จีน และตะวันออกกลาง
สรุปภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา
เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ภาวะการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปี 2551 ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการเร่งตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2551 และกลับชะลอลงตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 ซึ่งเกิดจากคำสั่งซื้อที่ชะลอลงจากตลาดส่งออกหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา อียู และญี่ปุ่น โดยที่มีการหาตลาดใหม่เพื่อช่วยเพิ่มยอดการสั่งซื้อที่ลดลงของตลาดหลัก
แนวโน้มของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปี 2552 ประมาณว่าจะปรับตัวลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 12 ทั้งนี้เนื่องจากการปรับตัวลดลงของการส่งออกที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในตลาดหลักเช่น สหรัฐอเมริกา ตลาดอียู และญี่ปุ่น นอกจากนี้ ประมาณการว่าตลาดในประเทศจะทรงตัวอีกด้วย อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจมหภาคโดยรวมปรับตัวลดลง การจ้างงานลดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอลง ทำให้การบริโภคโดยรวมลดง ส่งผลให้ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลง สำหรับภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปี 2552 การผลิตคาดว่าจะทรงตัวปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณร้อยละ 1 จากการปรับตัวลดลงของชิ้นส่วน IC ที่ปรับตัวลดลงประมาณการว่าจะปรับตัวลดลง 6% ส่วน Semiconductor ปรับตัวลดลง 1% สอดคล้องกับสถานการณ์ชิ้นส่วน Semiconductor ในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงประมาณ 2% เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่ชะลอลงในตลาดหลัก ขณะที่ตลาดเอชียแปซิฟิกปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลง ขณะที่ ส่วนประกอบหลักของเครื่องคอมพิวเตอร์ ได้แก่ HDD ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เท่านั้น เนื่องจากผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวลดลง ซึ่งส่งสัญญาณลดลงตั้งแต่เดือนกันยายน 2551
เคมีภัณฑ์
ในปี 2551 การส่งออกเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.57 เมื่อเทียบกับปีก่อน เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ดมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.71 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนเครื่องสำอางหรือสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกายมีมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 6.62 เมื่อเทียบกับปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.06เมื่อเทียบกับปีก่อน และอุตสาหกรรมสี มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.83 เมื่อเทียบกับปีก่อน
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในปี 2552 น่าจะอยู่ในภาวะชะลอตัวลง ทั้งนี้เนื่องจาก อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์โดยส่วนใหญ่จะใช้เป็นวัตถุดิบเบื้องต้นในการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมหลักต่าง ๆ ภายในประเทศ ซึ่งจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐอเมริกา กับสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอน น่าจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจหดตัว รวมทั้งอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ด้วย ประกอบกับ ระเบียบว่าด้วยการควบคุมเคมีภัณฑ์ที่ออกโดยสหภาพยุโรป (REACH) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่มิถุนายนปีนี้ ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ได้ตามกฎระเบียบดังกล่าวและมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นในการปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ปิโตรเคมี
สถานการณ์ปี 2551 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ในช่วงที่มีความผันผวนอย่างมาก ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีการปรับตัวตามราคาน้ำมันดิบ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ราคาอยู่ในทิศทางขาขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก มีสาเหตุหลักจากปัจจัยด้านอุปทาน และปัจจัยด้านการเมือง ได้แก่ สภาพอากาศแปรปรวนในแหล่งผลิต การเกิดเพลิงไหม้โรงกลั่นน้ำมันในสก็อตแลนด์ การก่อการร้ายท่อส่งน้ำมันในไนจีเรีย และความไม่สงบทางการเมืองของประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลาง รวมถึงค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเกิดการชะลอตัวลง ทำให้ราคาปิโตรเคมีปรับมาอยู่ในทิศทางขาลง
สำหรับแนวโน้มในปี 2552 จะมีการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันด้านการตลาดที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศอาจเกิดการชะลอตัวลง นอกจากนี้ ผู้ผลิตจะต้องเผชิญกับปัญหาความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ตามสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยลง
เหล็กและเหล็กกล้า
สถานการณ์เหล็กโดยรวมใน ปี 2551 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตโดยรวมขยายตัวขึ้น ร้อยละ 4.32 ความต้องการใช้ในประเทศ ขยายตัวขึ้น ร้อยละ 13.16 แต่ความต้องการใช้ในประเทศที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการสต๊อกสินค้าของพ่อค้าคนกลาง สำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 59.86 และ 21.18 ตามลำดับ โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าเหล็กแท่งแบน (Slab) และผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 173.96 และ 100.34 ตามลำดับ สำหรับมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.14 แต่ปริมาณการส่งออก ลดลง ร้อยละ 11.12 เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปลดลง ตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ
แนวโน้มสถานการณ์เหล็กโดยรวมในประเทศในปี 2552 เมื่อเทียบกับปี 2551 คาดการณ์ว่าการผลิตในกลุ่มเหล็กทรงยาว จะลดลงประมาณ ร้อยละ 10-20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 หลายโรงงานได้หยุดการผลิตลงจึงทำให้สต๊อกที่มีอยู่ได้ลดลงไปมาก แต่จากปัญหาสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองในประเทศส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กทรงยาวยังคงชะลอตัว สำหรับในกลุ่มเหล็กทรงแบน คาดการณ์ว่าการผลิตจะลดลง โดยเป็นผลมาจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศที่ลดลง
ยานยนต์
ปริมาณการผลิตรถยนต์ในปี 2551 (ม.ค.-ต.ค.) 1,193,413 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ร้อยละ 12.88 และในปี 2551 ประมาณว่า มีการผลิตรถยนต์ 1,428,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.93 จากปี 2550 ที่มีการผลิตรถยนต์ 1,287,346 คัน โดยเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ประมาณร้อยละ 29, 70 และ 1 ตามลำดับ อุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2551 การผลิตรถยนต์มีการขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากการส่งออกรถยนต์ทุกประเภทสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องทั้งในตลาดหลัก และตลาดใหม่ เช่น ออสเตรเลีย อาเซียน และตะวันออกกลาง ส่วนการจำหน่ายในประเทศชะลอตัวเล็กน้อย สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะการจำหน่ายรถปิกอัพ 1 ตัน ลดลง ซึ่งเป็นผลจากที่ผู้บริโภคเผชิญกับราคาน้ำมันดีเซลที่สูงอย่างรวดเร็วในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 ทำให้เกิดความตื่นตระหนกและชะลอการซื้อ
สำหรับภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในปี 2552 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งการผลิต การจำหน่ายในประเทศ และการส่งออก อันเป็นผลจากวิกฤตการณ์ทางการเงินของสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลก ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่มีความเปราะบาง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในด้านการลงทุน และการบริโภค
ผลิตภัณฑ์พลาสติก
ปี 2551 ผลิตภัณฑ์พลาสติกมีมูลค่าการส่งออกรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ผลิตภัณฑ์หลักที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ แผ่นฟิล์ม ฟอยล์ และแถบ ถุงและกระสอบพลาสติก และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารพลาสติก โดยมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.71 8.21 และ 6.59 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ
แนวโน้มในปี 2552 การผลิต การนำเข้า และการส่งออกน่าจะลดลง ทั้งนี้เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศชะลอตัวลงอย่างมาก เนื่องจากภาวะวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งจะทำให้ยอดการส่งออกลดลง ประกอบกับ สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน และนโยบายการผลักดันโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐยังไม่ชัดเจน ส่งผลต่อการตัดสินใจในการลงทุนของภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ
รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง
ในปี 2551 สถานการณ์การผลิตเมื่อเทียบกับปีก่อนคาดว่าจะลดลงใน 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์ คือ ดัชนีผลผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก และดัชนีผลผลิตรองเท้าลดลงร้อยละ 78.82 และ 6.14 ตามลำดับ การผลิตภายในประเทศลดลง อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการบริโภคภายในประเทศลดลง เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออกของรองเท้าและชิ้นส่วนในปี 2551* ที่คาดว่าจะชะลอตัวลดลงจากปี 2550 ร้อยละ 0.1 เนื่องจากประเทศคู่ค้าสำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ
สำหรับในปี 2552 คาดว่ามูลค่าการส่งออกรวมรองเท้าและเครื่องหนังจะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมีการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีน และเวียดนาม ยังทำให้ประเทศไทยยังสามารถส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ได้ ในกลุ่มสินค้าหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด แต่สำหรับสินค้ากลุ่มปลายน้ำ เช่น สินค้ากระเป๋าฯ และรองเท้าหนัง คาดว่ายังมีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากสินค้าของไทยมีการออกแบบตรงตามต้องการของตลาดและมีคุณภาพ ยกเว้นรองเท้ากีฬาที่คาดว่ามีแนวโน้มลดลง
อาหาร
ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 2551 คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.7 เนื่องจากการผลิตในหลายสินค้า ได้รับผลดีจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาในตลาดโลกในช่วงไตรมาสที่ 2-3 โดยมาจากการที่ประเทศผู้ผลิตสำคัญหลายประเทศประสบปัญหาทั้งวัตถุดิบและจากภาวะภัยธรรมชาติ ประกอบกับประเทศผู้ผลิตรายสำคัญอย่างจีน ประสบปัญหาความปลอดภัยของอาหารที่ประเทศนำเข้าตรวจสอบพบสารตกค้างและสิ่งปลอมปนในอาหารจนเกิดวิกฤตความปลอดภัยทั้งในสินค้าประเภทประมง และปศุสัตว์ ทำให้ประเทศนำเข้าหันมานำเข้าสินค้าอาหารจากไทยทดแทนเพิ่มขึ้น
แนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 2552 คาดว่าจะขยายตัวจากปี 2551 ร้อยละ 3.6 ขณะที่การคาดการณ์การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 2552 ในเชิงปริมาณจะขยายตัวร้อยละ 1.5 น้อยกว่าในปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 ส่วนเชิงมูลค่าในรูปเงินบาทจะลดลงร้อยละ 4.8 และในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8 โดยมีปัจจัยภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐอเมริกา และประเทศผู้นำเข้าทั้งสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การผลิตและการส่งออกของไทยในสินค้าอาหารชะลอตัวลง และยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคที่ยังชะลอการจับจ่ายใช้สอย การแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกรอบใหม่ ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ และมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบต่างๆ ที่ประเทศ ผู้นำเข้าจะประกาศใช้ในอนาคต
ไม้และเครื่องเรือน
ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน ปี 2551 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตรวม เมื่อเทียบกับปีก่อนลดลงร้อยละ 39.76 เนื่องจากวิกฤติสถาบันการเงินของสหรัฐอเมริกาที่ลุกลามเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลก ทำให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆอยู่ในภาวะชะลอตัวและกำลังซื้อลดลง โดยเฉพาะในตลาดหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ส่งผลอย่างมากต่ออุปสงค์ของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน อีกทั้งความไม่สงบทางการเมือง และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลดปริมาณการผลิตลง
สำหรับแนวโน้มการส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนใน ปี 2552 คาดว่าจะอยู่ในภาวะชะลอตัว จากการที่ตลาดส่งออกหลักของไทยอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่ออุปสงค์และการส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกคือ ตลาดส่งออกอื่นๆ โดยฉพาะประเทศแถบตะวันออกกลางยังมีความต้องการ และกำลังซื้อสูง
ผลิตภัณฑ์ยาง
การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในปี 2551 เมื่อเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7.38 โดยเพิ่มขึ้นในส่วนของยางแท่ง เนื่องจากความต้องการยางพาราในตลาดต่างประเทศยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะจากจีน ส่งผลให้ราคายางพาราสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ แต่ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ราคายางพาราปรับลดลงรุนแรงมาอยู่ที่ระดับกิโลกรัมละ 40 บาท และมีแนวโน้มว่าราคายางจะยังคงตกต่ำต่อเนื่องไปถึงปี 2552 เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินของสหรัฐอเมริกาส่งผลกระทบต่อความต้องการยางพาราจากไทยลดลง ทั้งนี้เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาซบเซา ยอดการจำหน่ายลดลงร้อยละ 20 -30 ส่งผลกระทบถึงอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ซึ่งใช้ยางพาราในการผลิต โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตยางล้อรถยนต์รายใหญ่ และมีผลให้สหรัฐอเมริกาชะลอการซื้อยางรถยนต์จากจีน จึงทำให้จีนต้องชะลอการสั่งซื้อวัตถุดิบยางพาราจากไทย
แนวโน้มของอุตสาหกรรมยาง และผลิตภัณฑ์ยางใน ปี 2552 คาดว่าจะชะลอตัวลง ราคายางพารามีแนวโน้มปรับตัวลดลงรุนแรง ในขณะที่ความต้องการยางและผลิตภัณฑ์ยางจะชะลอตัวลง อันเป็นผลกระทบมาจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินของสหรัฐอเมริกาที่ลุกลามเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลก อุตสาหกรรมยานยนต์และยางล้อ ตลอดจนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆต่างได้รับผลกระทบ เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคชะลอลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางของไทย นอกจากนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคายางสังเคราะห์ถูกลง เมื่อยางสังเคราะห์ถูกลง ผู้บริโภคจะหันไปใช้ยางสังเคราะห์แทนยางพารามากขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้การส่งออกยางพาราลดลงอย่างรวดเร็ว
เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์
ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ ในปี 2551 คาดว่า จะมีค่าดัชนีผลผลิต เมื่อเทียบกับปีก่อนลดลงร้อยละ 1.7 สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษที่ลดลง เนื่องจากปีก่อนมีปัจจัยบวกหลายประการ คือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ งานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ทำให้มีการสั่งพิมพ์หนังสือ สิ่งพิมพ์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับงานดังกล่าว นอกจากนี้ประเทศจีน มีความต้องการใช้เยื่อกระดาษสูง ทั้งนี้ ในปี 2551 มีปัจจัยลบอันเนื่องมาจากภาวะราคาน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นด้วย อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการ เยื่อกระดาษลดลง
สำหรับแนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในปี 2552 คาดว่า จะปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ในตลาดโลกและตลาดในประเทศลดลง ด้วยสาเหตุจากปัจจัยเสี่ยงในประเทศ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่วนปัจจัยเสี่ยงในต่างประเทศ ได้แก่ ปัญหาวิกฤตการเงินสหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบไปยังสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว กำลังซื้อลดลง ส่งผลต่อการสั่งซื้อเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ มีแนวโน้มลดลงด้วย
ยา
การผลิตและการจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในปี 2551 คาดว่าจะมีปริมาณลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 2.2 และ 1.1 ตามลำดับ สินค้าที่มีการผลิตและจำหน่ายลดลงมาก ได้แก่ ยาครีม และยาผง ทั้งนี้เนื่องจาก ผู้ผลิตยาครีมที่รับจ้างผลิตได้รับคำสั่งซื้อจากผู้ว่าจ้างลดลง โดยผู้ว่าจ้างได้ย้ายฐานการผลิตยาครีมบางชนิดไปยังประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้การที่ต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งสูงขึ้น ทำให้มีการปรับราคายาบางรายการเพิ่มขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ชะลอตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน จากความวิตกเรื่องวิกฤติการเงินโลกและปัญหาการเมืองในประเทศ ซึ่งมีผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ส่งผลให้การผลิตและการจำหน่ายยาโดยรวมลดลงด้วย แต่เนื่องจากยาถือว่าเป็นปัจจัย 4 ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต จึงได้รับผลกระทบไม่มากนัก
สำหรับแนวโน้มในปี 2552 คาดว่าปริมาณการผลิตและการจำหน่ายยาในประเทศจะทรงตัวหรือขยายตัวจากปีก่อนเล็กน้อย แม้จะมีการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากความวิตกกับวิกฤติการเงินโลก ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค แต่เพราะยาเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ประกอบกับโครงการหลักประกันสุขภาพยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง และค่าเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนี้หากเศรษฐกิจมีการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องอาจจะเป็นโอกาสในการเติบโตของตลาด Generic Drugs เนื่องจากความต้องการยาราคาถูกจะมีมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาในประเทศ สำหรับการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวดี โดยตลาดหลักยังคงเป็นอาเซียน นอกจากนี้ตลาดใหม่ ๆ เช่น รัสเซีย และแอฟริกา ยังเติบโตดี ประกอบกับผู้ผลิตมีการทำการตลาดเชิงรุก
สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
การผลิตและการจำหน่ายเส้นใยสิ่งทอปี 2551 เมื่อพิจารณาจากดัชนีอุตสาหกรรม การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ ดัชนีผลผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 6.3 ส่งผลให้การจำหน่ายปรับตัวลดลงร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากความไม่มั่นใจของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังซบเซาเมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อีกทั้งผู้ประกอบการได้มีการนำเข้าเส้นใยฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.0 เนื่องจากราคาถูกกว่าที่จะผลิตในประเทศ สำหรับการผลิตผ้าฯ ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 แต่การจำหน่ายชะลอตัวเล็กน้อย การผลิตเครื่องแต่งกายยกเว้นเครื่องแต่งกายจากขนสัตว์ ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 การจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้คาดว่าในปี 2552 การผลิตและการจำหน่ายจะขยายตัวมากขึ้นกว่าปี 2551 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5
สำหรับแนวโน้มการผลิตสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปในปี 2552 คาดว่าจะมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น หลังจากที่ข้อตกลงความร่วมมือหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) มีผลบังคับใช้ ซึ่งคาดว่ายอดคำสั่งซื้อและการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมทั้งการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอจะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8.0 และเครื่องนุ่งห่มจะขยายตัวไม่น้อยกว่าร้อยละ 3.0 ซึ่งจะเน้นในตลาดอาเซียนและญี่ปุ่นมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากตลาดสหรัฐ อเมริกาและสหภาพยุโรปชะลอตัว
ปูนซีเมนต์
การผลิตปูนซีเมนต์ ปี 2551 คาดว่าจะมีการผลิตปูนเม็ด 39.26 ล้านตัน ส่วนการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณ 35.29 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.63 และ 4.85 ตามลำดับ เนื่องจากราคาของถ่านหินซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักที่ใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศลดลง ซึ่งสาเหตุที่สำคัญ
คือ ธุรกิจการก่อสร้างและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซบเซา เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน อีกทั้งการดำเนินโครงการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐก็ล่าช้าไปด้วย
สำหรับหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในปี 2552 ขึ้นอยู่กับการขยายตัวของธุรกิจการก่อสร้างและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ซึ่งคาดว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 จะยังชะลอตัวอยู่ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่มีความแน่นอน ส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ลงทุน และความคืบหน้าในการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล อย่างไรก็ตามถ้าสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง ภาคอสังหาริมทรัพย์อาจมีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ในขณะที่โครงการของภาครัฐน่าจะมีความชัดเจนขึ้นบ้าง
ผลิตภัณฑ์เซรามิก
การผลิตเซรามิกที่ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างทั้งกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ ในปี 2551 มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอสังหาริมทรัพย์ ในประเทศ แต่ยังสามารถขยายตลาดส่งออกได้ จึงมีการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2551 การผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ในอัตรา ร้อยละ 4.79 และ 4.81 ตามลำดับ
สำหรับการผลิตและจำหน่ายเซรามิก ในปี 2552 มีแนวโน้มลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมือง ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น นอกจากนี้ การจำหน่ายเซรามิกยังมีการแข่งขันอย่างรุนแรง ทั้งจากสินค้าที่ผลิตในประเทศ และสินค้านำเข้าจากจีน โดยผู้ผลิตหันมาเน้นตลาดในประเทศมากขึ้น หลังจากตลาดหลักในการส่งออกหดตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลก
อัญมณีและเครื่องประดับ
โดยสรุปภาพรวมการผลิตของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2551 เมื่อเทียบกับปี 2550 จะหดตัวลงร้อยละ 21.54 การขยายตัวของการส่งออกจะมีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 38.49 เนื่องจากมูลค่าการส่งออกโดยรวมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก อันเป็นผลจากราคาสินค้าต่อหน่วยนั้นเพิ่มสูงขึ้น โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ฮ่องกง ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งนี้การส่งออกไปสหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติการณ์สถาบันการเงิน และจากการประกาศห้ามการนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ใช้วัตถุดิบหยกและทับทิมจากพม่ามาผลิตสินค้าเครื่องประดับสำหรับส่งออกไปสหรัฐฯ [Tom Lantos Block Burmese JADE (Junta’s Anti-Democratic Efforts) Act of 2008] เพื่อกดดันให้รัฐบาลทหารพม่าเร่งฟื้นฟูประชาธิปไตย และปรับปรุงด้านสิทธิมนุษยชน
สำหรับแนวโน้มการผลิต ในปี 2552 ปัจจัยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปีก่อน แนวโน้มราคาน้ำมันที่ต่ำกว่า 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาเรล จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การผลิตขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2 — 5 สำหรับแนวโน้มด้านการส่งออก ในปี 2552 ปัจจัยสนับสนุน สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก ผู้ประกอบการได้ลดสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาซึ่งกำลังซื้อลดลงจากวิกฤติการณ์สถาบันการเงิน โดยมุ่งไปที่ตลาดจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และรัสเซีย
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--