สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2551 และแนวโน้มปี 2552(อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 12, 2009 13:36 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ของประเทศไทยมีผู้ประกอบเป็นจำนวนมาก และมีความหลากหลายของประเภทผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อระบบ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากเคมีภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์เคมีพื้น ฐานก่อให้เกิดการผลิตต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย อื่น ๆ

โครงสร้างการผลิต

ผู้ประกอบการ

ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 75 สำหรับอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขั้นปลายเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนต่ำ ในขณะที่อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐานเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้เงินลง ทุนสูง

โครงสร้างต้นทุนการผลิต

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐานใช้วัตถุดิบและพลังงานค่อนข้างสูง แต่มีการใช้แรงงานต่ำ เช่น ในการผลิตโซเดียมไฮดรอกไซด์ และ คลอรีนเหลว มีสัดส่วนต้นทุนวัตถุดิบร้อยละ 45 พลังงานร้อยละ 50 และแรงงานร้อยละ 5 เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขั้นปลายมีการใช้วัตถุดิบค่อนข้างสูง เช่นในการผลิต สี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี ผงซักฟอก และ เครื่องสำอาง มีสัดส่วนต้นทุนวัตถุดิบร้อยละ 82, 80-90, 85, 73 และ 70 ตามลำดับ

ทั้งนี้ วัตถุดิบส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และการผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐานเป็นกิจการที่ต้องผลิตตลอด 24 ชั่วโมง

การตลาด

ในปี 2551 การนำเข้าเคมีภัณฑ์ (พิกัด 28-38 ยกเว้น 30 35 และ 36) มีมูลค่ารวมประมาณ 3.86 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับการส่งออกเคมีภัณฑ์ (พิกัด 28-38 ยกเว้น 30 35 และ 36) มีมูลค่ารวม 1.24 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน ดุลการค้าเคมีภัณฑ์ขาดดุล 2.62 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน

การส่งออก

ในปี 2551 การส่งออกเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าประมาณ 21,247 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.57 เมื่อเทียบกับปีก่อน เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ดมี มูลค่าส่งออกประมาณ 17,362 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.71 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนเครื่องสำอางหรือสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกายมีมูลค่า ส่งออกประมาณ 29,936 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.62 เมื่อเทียบกับปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 2,504 ล้านบาทเพิ่ม ขึ้นร้อยละ 32.06เมื่อเทียบกับปีก่อน และอุตสาหกรรมสี มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 9,172 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.83 เมื่อเทียบกับ ปีก่อน

ประเภท                            พิกัด                               มูลค่าการส่งออก(ล้านบาท)            เปลี่ยนแปลง(ร้อยละ)
                                                             2548      2549      2550       2551*       2551/2550
1. เคมีภัณฑ์พื้นฐาน
  1.1 อนินทรีย์                       28                       6,515     9,120     11,356     12,382         9.03
  1.2 อินทรีย์ C                      29                      19,294    17,841     21,809     21,247        -2.57
2. เคมีภัณฑ์ขั้นปลาย
  2.1 ปุ๋ย                           31                       2,754     2,079      1,896      2,504        32.06
  2.2 สี                            32                       8,222     8,893      9,096      9,172         0.83
  2.3 เครื่องสำอาง                   33                      26,395    27,678     32,060     29,936        -6.62
  2.4 สารลดแรงตึงผิว                 34                       9,561    11,131     12,183     31,994       162.61
  2.5 เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด                38                       8,968    12,344     15,541     17,362        11.71
รวมทั้งสิ้น              28-38(ยกเว้น พิกัด 30 35 และ 36 )        81,709    89,086    103,941    124,597         19.8

ที่มา : ข้อมูลจากกรมศุลกากร

C เคมีภัณฑ์อินทรีย์ไม่รวมปิโตรเคมีขั้นต้นและขั้นกลาง

  • ตัวเลขใน ปี 2551 เป็นตัวเลขประมาณการ

การนำเข้า

การนำเข้าเคมีภัณฑ์อนินทรีย์ในปี 2551 มีมูลค่าประมาณ 65,127 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.02 เมื่อเทียบกับปีก่อน เคมีภัณฑ์เบ็ด เตล็ดมีมูลค่านำเข้าประมาณ 76,387 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนปุ๋ยมีมูลค่านำเข้าประมาณ 79,761 ล้านบาท เพิ่ม ขึ้นร้อยละ 73.75 เมื่อเทียบกับปีก่อน อุตสาหกรรมเครื่องสำอางมูลค่านำเข้าประมาณ 19,881 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.04 เมื่อเทียบกับปีก่อน และอุตสาหกรรมสีมูลค่านำเข้าประมาณ 34,840 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.36

          ประเภท                  พิกัด                                                            เปลี่ยนแปลง
                                                              มูลค่าการนำเข้า(ล้านบาท)                 (ร้อยละ)
                                                     2548        2549       2550       2551*     2551 / 2550
1. เคมีภัณฑ์พื้นฐาน
  1.1 อนินทรีย์                       28               35,755     39,180     46,846     65,127          39.02
  1.2 อินทรีย์ C                      29               79,757     87,719     90,757     94,764           4.41
2. เคมีภัณฑ์ขั้นปลาย
  2.1 ปุ๋ย                           31               35,946     35,378     45,903     79,761          73.75
  2.2 สี                            32                32918     32,669     34,713     34,840           0.36
  2.3 เครื่องสำอาง                   33               17,194     17,402     18,926     19,881           5.04
  2.4 สารลดแรงตึงผิว                 34               15,115     15,248     15,378     16,185           5.24
  2.5 เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด                38               54,110     60,133     63,864     76,387           19.6
         รวมทั้งสิ้น     28-38(ยกเว้น พิกัด 30 35 และ 36) 270,795    287,729    316,387    386,945           22.3

ที่มา : ข้อมูลจากกรมศุลกากร

C เคมีภัณฑ์อินทรีย์ไม่รวมปิโตรเคมีขั้นต้นและขั้นกลาง

  • ตัวเลขใน ปี 2551 เป็นตัวเลขประมาณการ

สรุปภาวะอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ปี 2551 และแนวโน้มปี 2552

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ : อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในปี 2552 น่าจะอยู่ในภาวะชะลอตัวลง ทั้งนี้เนื่องจาก อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์โดยส่วนใหญ่ จะใช้เป็นวัตถุดิบเบื้องต้นในการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมหลักต่าง ๆ ภายในประเทศ ซึ่งจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐอเมริกา กับสถานการณ์ทาง การเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอน น่าจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจหดตัว รวมทั้งอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ด้วย ประกอบกับ ระเบียบว่าด้วยการควบคุมเคมีภัณฑ์ที่ ออกโดยสหภาพยุโรป (REACH) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่มิถุนายนปีนี้ ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ได้ตามกฎระเบียบดังกล่าวและมีความรับผิดชอบเพิ่ม ขึ้นในการปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจะต้องแสดงผลวิเคราะห์สารอันตรายที่ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์และแจ้งราย ละเอียดเกี่ยวกับสารเคมีในผลิตภัณฑ์นั้นๆ พร้อมกับการยื่นจดทะเบียนในสหภาพยุโรป ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการในประเทศไทยจะต้องเตรี ยมความพร้อมสำหรับกฎระเบียบดังกล่าวเพื่อรักษาส่วนแบ่งในตลาดโลกด้วยเช่นกัน

อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี : ภาพรวมการนำเข้าและส่งออกปุ๋ยเคมีในปี 2551 มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นมาก ทั้งนี้เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่ม สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลให้ราคานำเข้าปุ๋ยเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากแม่ปุ๋ยไนโตรเจนเป็น By product ที่ได้จากการกลั่นน้ำมัน อีกทั้งค่าขนส่ง ปุ๋ยที่แพงขึ้นตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้นด้วย แต่แนวโน้มน่าจะมีการนำเข้าลดลง เนื่องจากภาครัฐจะมีการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดปริมาณการใช้ปุ๋ย เคมี ทั้งนี้ควรส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ควบคู่ไปกับการใช้ปุ๋ยเคมี และให้ความรู้ที่ถูกต้องกับเกษตรกร เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์มีข้อดีในการปรับโครงสร้าง ของดิน ทำให้ดินร่วนซุย และพืชสามารถนำธาตุอาหารสำคัญในปุ๋ยเคมีไปใช้ได้ดีขึ้น ทำให้ปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลดลง โดยเงื่อนไขที่สำคัญคือ ต้องมีการ วิเคราะห์ดินเพื่อการใช้ปุ๋ยเคมีที่ถูกต้อง และไม่ควรสิ้นเปลืองที่จะใส่ธาตุปุ๋ยในดินที่มีธาตุอาหารนั้นอยู่แล้ว

อุตสาหกรรมสีทาอาคาร: ภาพรวมของการนำเข้าและส่งออกอุตสาหกรรมสีในปี 2551 ยังคงทรงตัวอยู่ เนื่องจากภาพรวมของตลาด อสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัว แต่ทั้งนี้ภาครัฐได้ออกมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนบ้านและที่ดิน ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่กระตุ้นความต้องการของผู้ บริโภคที่กำลังหาซื้อบ้านและที่ดินอยู่ ให้สามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการบ้านจัดสรรต่างเร่งก่อสร้างงานเพื่อให้เสร็จ ทันโอนภายในปีนี้ และภาครัฐได้ขยายระยะเวลามาตรการดังกล่าวออกไปอีก 1ปี ดังนั้นอุตสาหกรรมสีน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในปี 2552

อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง : ภาพรวมของการนำเข้าและส่งออกในปี 2551 ยังคงทรงตัวอยู่ แต่เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2551 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปโดย DG Enterprise and Industry ได้ประกาศปรับปรุงกฎระเบียบเครื่องสำอาง (Cosmetic Directive) ที่บังคับใช้ มาตั้งแต่ปี 2519 และข้อแก้ไขต่อระเบียบนี้กว่า 50 ฉบับที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้จัดทำข้อเสนอระเบียบเครื่องสำอางขึ้นใหม่เพื่อ ให้ผู้ประกอบการเข้าใจและปฏิบัติให้สอดคล้องกับระเบียบที่มีอยู่ได้ง่ายขึ้น คาดว่ากฎระเบียบดังกล่าว จะมีการเร่งรัดและผลักดันให้มีผลบังคับใช้ใน เร็วๆ นี้ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าเครื่องสำอางไปจำหน่ายในตลาดสหภาพยุโรป ควรมีการติดตามข้อมูลรายละเอียดต่างๆ อย่างใกล้ ชิด เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมและปรับตัวในการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับระเบียบเครื่องสำอางใหม่ที่สหภาพยุโรปจะนำมาบังคับใช้

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ