สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2551 และแนวโน้มปี 2552(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 12, 2009 15:36 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

การผลิตและการจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในปี 2551 คาดว่าจะมีปริมาณประมาณ 25,184.5 และ 24,480.5 ตัน ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 2.2 และ 1.1 ตามลำดับ สินค้าที่มีการผลิตและจำหน่ายลดลงมาก ได้แก่ ยาครีม และยาผง ทั้งนี้เนื่องจาก ผู้ผลิตยาครีมที่รับจ้างผลิตได้รับคำสั่งซื้อจากผู้ว่าจ้างลดลง โดยผู้ว่าจ้างได้ย้ายฐานการผลิตยาครีมบางชนิดไปยังประเทศอินโดนีเซีย ในส่วนของยาผง เนื่องจากมีผู้ผลิตยาผงรายใหญ่ต้องการขายธุรกิจ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าใครจะเป็นผู้ซื้อธุรกิจนี้ต่อ ส่งผลให้ลูกค้าไม่มั่นใจในสถานการณ์ จึงชะลอการสั่งซื้อลงมากในช่วงกลางปี นอกจากนี้การที่ต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งสูงขึ้น ทำให้มีการปรับราคายาบางรายการเพิ่มขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ชะลอตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน จากความวิตกเรื่องวิกฤติการเงินโลกและปัญหาการเมืองในประเทศ ซึ่งมีผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ส่งผลให้การผลิตและการจำหน่ายยาโดยรวมลดลงด้วย แต่เนื่องจากยาถือว่าเป็นปัจจัย 4 ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต จึงได้รับผลกระทบไม่มากนัก

2. การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคปี 2551 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 33,481 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 21.3 โดยตลาดนำเข้ายาที่สำคัญของไทย ได้แก่ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ากว่าร้อยละ 45 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

ยารักษาหรือป้องกันโรคที่นำเข้าจากประเทศผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลกเหล่านี้ส่วนใหญ่มีสิทธิบัตร ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ การนำเข้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทผู้นำเข้ายังให้ความสำคัญกับแผนการตลาด ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์เรื่องสุขภาพ การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ แพทย์ในโรงพยาบาลและคลินิก รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อกระตุ้นตลาดให้มีการใช้จ่ายและจดจำตราสินค้า นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเป็นตลาดหลักของยานำเข้า รวมถึงการที่ยานำเข้า ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักมากขึ้น

3. การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคในปี 2551 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 5,446.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 12.1 ตลาดส่งออกยาสำคัญของไทย ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา มาเลเซีย ฮ่องกง และฟิลิปปินส์ โดยการส่งออกไปประเทศดังกล่าวมีมูลค่ากว่าร้อยละ 70 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

ตลาดที่มูลค่าการส่งออกมีการเติบโตสูงมาก คือ ฟิลิปปินส์ เนื่องจากมีผู้ประกอบการไทยสามารถขอขึ้นทะเบียนยาในประเทศดังกล่าวได้ นอกจากนี้การที่ประเทศเมียนมาร์ ยังไม่มีปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองทำให้ตลาดนี้กลับมาสั่งซื้อสินค้าจากไทยมากขึ้น รวมถึงตลาดใหม่ ๆ เช่น รัสเซีย และบางประเทศในแอฟริกา มีแนวโน้มการส่งออกดี อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทย ต้องประสบกับการแข่งขันกับคู่แข่งอย่างมาเลเซีย และสิงคโปร์ ในตลาดหลัก เช่น ลาว และกัมพูชา ฉะนั้นผู้ผลิตเพื่อการส่งออกจะต้องสร้างความมั่นใจในสินค้าให้กับลูกค้า โดยต้องยกระดับมาตรฐานในการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้าที่ผลิตได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ และสามารถส่งออกสินค้าได้มากขึ้น

4. นโยบายภาครัฐ

ในปี 2551 มีนโยบายของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาที่สำคัญ ดังนี้

4.1 มาตรการบังคับใช้สิทธิ

กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศใช้นโยบายมาตรการบังคับใช้สิทธิ โดยอาศัยบทบัญญัติ มาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542 จำนวน 4 ฉบับ ต่อยาต้านโรคมะเร็งที่มีสิทธิบัตร การประกาศใช้มาตรการดังกล่าวเนื่องจากโรคมะเร็งเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยสูงมากในแต่ละปี และเสียค่าใช้จ่ายสูงมากในการรักษา ซึ่งมาตรการนี้ทำให้ราคายาถูกลง และทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นได้ทั่วถึงมากขึ้น โดยสรุปสาระสำคัญของประกาศทั้ง 4 ฉบับได้ ดังนี้

1) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การใช้สิทธิตามสิทธิบัตรด้านยาและเวชภัณฑ์ กรณียา Docetaxel ภายใต้ชื่อการค้าว่า Taxotere? เป็นยาใช้สำหรับรักษาโรคมะเร็งปอดและมะเร็งเต้านม ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2551 เป็นต้นไป จนกว่าจะหมดระยะเวลาของสิทธิบัตร หรือหมดความจำเป็นต้องใช้ยานี้ พร้อมทั้งให้องค์การเภสัชกรรมจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้ทรงสิทธิบัตร (บริษัท ซาโนฟี่ — อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด) จำนวน ร้อยละ 3 ของมูลค่าการจำหน่ายยาชื่อสามัญดังกล่าว และให้กระทรวงสาธารณสุขแจ้งผู้ทรงสิทธิ และกรมทรัพย์สินทางปัญญาทราบ

2) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การใช้สิทธิตามสิทธิบัตรด้านยาและเวชภัณฑ์ กรณียา Letrozole ภายใต้ชื่อการค้าว่า Femara ? เป็นยารักษาโรคมะเร็งเต้านม ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2551 เป็นต้นไป จนกว่าจะหมดระยะเวลาของสิทธิบัตรหรือหมดความจำเป็นต้องใช้ยานี้ พร้อมทั้งให้องค์การเภสัชกรรมจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้ทรงสิทธิบัตร (บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด) จำนวน ร้อยละ 3 ของมูลค่าการจำหน่ายยาชื่อสามัญดังกล่าว และให้กระทรวงสาธารณสุขแจ้งผู้ทรงสิทธิ และกรมทรัพย์สินทางปัญญาทราบ

3) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การใช้สิทธิตามสิทธิบัตรด้านยาและเวชภัณฑ์ กรณียา Erlotinib ภายใต้ชื่อการค้าว่า Tarceva? เป็นยาสำหรับรักษาโรคมะเร็งปอด ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2551 เป็นต้นไป จนกว่าจะหมดระยะเวลาของสิทธิบัตรหรือหมดความจำเป็นต้องใช้ยานี้ พร้อมทั้งให้องค์การเภสัชกรรมจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้ทรงสิทธิบัตร จำนวน (บริษัท โรช ไทยแลนด์ (ประเทศไทย) จำกัด) ร้อยละ 3 ของมูลค่าการจำหน่ายยาชื่อสามัญดังกล่าว และให้กระทรวงสาธารณสุขแจ้งผู้ทรงสิทธิ และกรมทรัพย์สินทางปัญญาทราบ

4) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 25 มกราคม 2551 เรื่อง การใช้สิทธิตามสิทธิบัตรด้านยาและเวชภัณฑ์ กรณียา Imatinib ภายใต้ชื่อการค้าว่า Gilvec? เป็นยาสำหรับรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง และมะเร็งทางเดินอาหารในชิ้นเนื้อเยื่อสโตรมอล โดยให้ดำเนินการตามประกาศนี้เมื่อโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยนานาชาติ (GIPAP) สิ้นสุดลงหรือการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว ไม่เป็นไปตามที่บริษัทอ้างอิง หรือการดำเนินไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เข้าถึงยาได้ทุกคน ทั้งนี้ให้ดำเนินการตามเงื่อนไขข้างต้นจนกว่าจะหมดระยะเวลาของสิทธิบัตรหรือหมดความจำเป็นต้องใช้ยานี้ พร้อมทั้งให้องค์การเภสัชกรรมจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้ทรงสิทธิบัตร (บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด) จำนวน ร้อยละ 5 ของมูลค่าการจำหน่ายยาชื่อสามัญดังกล่าว และให้กระทรวงสาธารณสุขแจ้งผู้ทรงสิทธิ และกรมทรัพย์สินทางปัญญาทราบ

4.2 การประกาศใช้บัญชียาหลักแห่งชาติฉบับใหม่

เพื่อให้บัญชียาหลักแห่งชาติมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขปัจจุบัน และเป็นแนวทางให้การบริหารระบบยาสำหรับการบริการสาธารณสุขของประเทศเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 11 มีนาคม 2551 และประกาศดังกล่าวได้มีการปรับปรุงแก้ไขอีก 2 ครั้ง คือ ประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้วันที่ 11 มีนาคม 2551 และประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้วันที่ 12 สิงหาคม 2551 ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของปัญหาสุขภาพ วิทยาการ และข้อมูลเกี่ยวกับยาที่เปลี่ยนไป

4.3 ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการขึ้นทะเบียนตำรับยา พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการขึ้นทะเบียนตำรับยา พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2551 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งการเสนอร่างกฎกระทรวงดังกล่าว เนื่องจากกฎกระทรวงฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้ ไม่ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีในการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเอกสารที่ใช้สำหรับประกอบคำขอขึ้นทะเบียนตำรับยา รวมทั้งแบบของคำขอขึ้นทะเบียนตำรับยา ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาประเภทต่าง ๆ หรือแบบอื่นที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนตำรับยาไม่ทันสมัย จึงเห็นควรให้ยกเลิกกฎกระทรวงดังกล่าว และออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ให้มีการควบคุมดูแลการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่ทันสมัย และสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งให้สอดคล้องกับข้อตกลงความร่วมมือด้านการค้าของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนตำรับยาตามแบบ Asean Common Technical Dossier (ACTD)

4.4 ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2551 ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยสาระสำคัญประการหนึ่งของร่างกฎหมายฯ ดังกล่าว คือ การกำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายแห่งชาติด้านยาและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ จัดทำบัญชียาหลักแห่งชาติและกำหนดราคากลางยาในการจัดซื้อของหน่วยงานของรัฐ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย โดยให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ

5. สรุปและแนวโน้ม

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมในปี 2551 ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากยาบางรายการปรับราคาสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบและค่าขนส่ง ประกอบกับมีการย้ายฐานการผลิตของผู้ว่าจ้างไปยังประเทศอื่น รวมถึงการชะตัวทางเศรษฐกิจ ด้านการนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการดำเนินกิจกรรมด้านการตลาดของผู้นำเข้า รวมถึงการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชน และการที่ยานำเข้าถูกบรรจุในบัญชียาหลักมากขึ้น ส่วนการส่งออกมีการขยายตัวเช่นกันทั้งในตลาดหลักและตลาดใหม่

สำหรับแนวโน้มในปี 2552 คาดว่าปริมาณการผลิตและการจำหน่ายยาในประเทศจะทรงตัวหรือขยายตัวจากปีก่อนเล็กน้อย แม้จะมีการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากความวิตกกับวิกฤติการเงินโลก ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค แต่เพราะยาเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ประกอบกับโครงการหลักประกันสุขภาพยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง และค่าเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งในปีงบประมาณ 2552 มีค่าเหมาจ่ายรายหัว 2,217 บาทต่อคน นอกจากนี้หากเศรษฐกิจมีการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องอาจจะเป็นโอกาสในการเติบโตของตลาด Generic Drugs เนื่องจากความต้องการยาราคาถูกจะมีมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาในประเทศ สำหรับการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวดี โดยตลาดหลักยังคงเป็นอาเซียน นอกจากนี้ตลาดใหม่ ๆ เช่น รัสเซีย และแอฟริกา ยังเติบโตดี ประกอบกับผู้ผลิตมีการทำการตลาดเชิงรุก โดยมีความสนใจที่จะทำการส่งออกมากขึ้น ในส่วนการนำเข้า คาดว่าการนำเข้ายาที่มีสิทธิบัตรยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการบริโภคยาประเภทดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ตารางที่ 1 ปริมาณการผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมในประเทศแยกตามรายผลิตภัณฑ์

หน่วย : ตัน

                    ประเภท                   2549         2550         2551e
          ยาเม็ด                          5,452.70     5,823.00     5,820.60
              %   เทียบกับปีก่อน                               6.8            0
          ยาน้ำ                          13,007.70    12,471.40    12,572.20
              %   เทียบกับปีก่อน                              -4.1          0.8
          ยาแคปซูล                           570.5        652.9        746.8
              %   เทียบกับปีก่อน                              14.4         14.4
          ยาฉีด                              409.5        431.6        506.3
              %   เทียบกับปีก่อน                               5.4         17.3
          ยาแดงทิงเจอร์ไอโอดีน                 122.5        117.7        108.8
              %   เทียบกับปีก่อน                              -3.9         -7.6
          ยาครีม                          2,082.80     2,343.40     2,076.00
              %   เทียบกับปีก่อน                              12.5        -11.4
          ยาผง                           3,821.30     3,906.60     3,353.80
              %   เทียบกับปีก่อน                               2.2        -14.1
          รวม                           25,467.00    25,746.60    25,184.50
              %   เทียบกับปีก่อน                               1.1         -2.2

ที่มา : ศูนย์สารสนเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

หมายเหตุ : จำนวนโรงงานที่สำรวจรวมทั้งสิ้น 31 โรงงาน (ยาเม็ด 28 โรงงาน ยาน้ำ 27 โรงงาน ยาแคปซูล 25 โรงงาน

ยาฉีด 8 โรงงาน ยาแดงทิงเจอร์ไอโอดีน 4 โรงงาน ยาครีม 16 โรงงาน และยาผง 15 โรงงาน)

: ปี 2551 เป็นตัวเลขประมาณการ

ตารางที่ 2 ปริมาณการจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมในประเทศแยกตามรายผลิตภัณฑ์

หน่วย : ตัน

                    ประเภท                   2549         2550         2551e
          ยาเม็ด                          5,256.50     5,617.40     5,735.20
              %   เทียบกับปีก่อน                               6.9          2.1
          ยาน้ำ                          14,927.40    15,348.70    15,319.30
              %   เทียบกับปีก่อน                               2.8         -0.2
          ยาแคปซูล                           668.9        771.2        782.4
              %   เทียบกับปีก่อน                              15.3          1.5
          ยาฉีด                              310.2        309.4        347.9
              %   เทียบกับปีก่อน                              -0.3         12.5
          ยาแดงทิงเจอร์ไอโอดีน                 122.9        115.5        108.6
              %   เทียบกับปีก่อน                                -6           -6
          ยาครีม                          2,140.50     2,071.50     1,707.40
              %   เทียบกับปีก่อน                              -3.2        -17.6
          ยาผง                                466        514.5        479.7
              %   เทียบกับปีก่อน                              10.4         -6.8
          รวม                           23,892.40    24,748.20    24,480.50
              %   เทียบกับปีก่อน                               3.6         -1.1

ที่มา : ศูนย์สารสนเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

หมายเหตุ : จำนวนโรงงานที่สำรวจรวมทั้งสิ้น 31 โรงงาน (ยาเม็ด 28 โรงงาน ยาน้ำ 27 โรงงาน ยาแคปซูล 25 โรงงาน

ยาฉีด 8 โรงงาน ยาแดงทิงเจอร์ไอโอดีน 4 โรงงาน ยาครีม 16 โรงงาน และยาผง 15 โรงงาน)

: ปี 2551 เป็นตัวเลขประมาณการ

ตารางที่ 3 มูลค่าการนำเข้า — ส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค
                มูลค่า (ล้านบาท)                2549         2550         2551e
          มูลค่าการนำเข้า                  26,239.70    27,604.50    33,481.00
              %   เทียบกับปีก่อน                               5.2         21.3
          มูลค่าการส่งออก                   4,340.70     4,860.10     5,446.80
              %   เทียบกับปีก่อน                                12         12.1

ที่มา : กรมศุลกากร

หมายเหตุ : รวบรวมจาก HS 3003 และ 3004

: ปี 2551 เป็นตัวเลขประมาณการ โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ