สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2551 และแนวโน้มปี 2552(อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 13, 2009 15:28 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์ทั่วไป

ในปี 2551 อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกสูงอยู่ใน 5 อันดับแรกของมูลค่าสินค้าส่งออกสำคัญ ของไทยในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการพัฒนาของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน ตั้งแต่การทำเหมือง การเจียระไน การออกแบบ การทำและ ประกอบตัวเรือน การผลิตเครื่องมือเครื่องจักรในการเจียระไนพลอย และการทำวัสดุหีบห่อ เป็นต้น ก่อให้เกิดการจ้างงานสูงถึงประมาณ 8 แสน ถึง 1.3 ล้านคน มีโรงงานที่จดทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 939 โรง ด้วยจำนวนเงินลงทุน 17,633 ล้านบาท อุตสาหกรรมอัญมณีและ เครื่องประดับจึงเป็นอุตสาหกรรมหลักประเภทหนึ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

การผลิต

จากตัวเลขประมาณการภาพรวมในปี 2551 ดัชนีผลผลิต เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณและของที่เกี่ยวข้องกัน (ดูตารางที่ 1 ประกอบ) จะอยู่ที่ 55.86 ลดลงจากปี 2550 คิดเป็นร้อยละ 21.54 เนื่องจากเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอันเกิดจากปัญหาซับไพร์มและลุกลามเป็น ปัญหาวิกฤติการณ์สถาบันการเงินของสหรัฐอเมริกา ดัชนีส่งสินค้า (ดัชนีการจำหน่าย) อยู่ที่ 57.40 ลดลงจากปี 2550 คิดเป็นร้อยละ 22.16 ทั้งนี้การ ที่ดัชนีส่งสินค้าลดลง แต่มูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าต่อหน่วยนั้นเพิ่มสูงขึ้นทำให้มูลค่าการส่งออกโดยรวมสูงขึ้น ในขณะที่ดัชนีสินค้า สำเร็จรูปคงคลัง เพิ่มขึ้นจากปี 2550 เล็กน้อยคิดเป็นร้อยละ 2.01

การตลาด

การส่งออก

จากตัวเลขประมาณการภาพรวมในปี 2551 อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับจะมีมูลค่าการส่งออก (ดูตารางที่ 2 ประกอบ) คิดเป็น มูลค่า 7,454.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 38.49 ซึ่งปี 2550 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 5,382.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การ ส่งออกเครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทองมีมูลค่า 1,736.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.90 อันดับถัดมา ได้แก่ เพชรมีมูลค่า 1,059.85 ล้าน เหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.49 เครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยเงินมีมูลค่า 818.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.00 และพลอยมีมูลค่า 520.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.14 เป็นต้น

ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.42, 17.90, 14.05 และ 11.97 ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญในตลาดฮ่องกง ได้แก่ ทองคำยังไม่ขึ้นรูป เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง เพชร และพลอย สินค้าส่งออก ที่สำคัญในตลาดออสเตรเลีย ได้แก่ ทองคำยังไม่ขึ้นรูป เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง และเครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน สินค้าส่งออกที่สำคัญในตลาดสหรัฐ อเมริกา ได้แก่ เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน และพลอย ส่วนสินค้าที่สำคัญในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ ได้แก่ ทองคำยังไม่ขึ้น รูป เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง เพชร และพลอย

การนำเข้า

จากตัวเลขประมาณการภาพรวมในปี 2551 ไทยจะมีการนำเข้าสินค้าเครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ (ดูตารางที่ 3 ประกอบ) คิดเป็นมูลค่า 8,493.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 106.27 ซึ่งมีมูลค่า 4,117.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สาเหตุที่ มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นสูงมากเป็นผลจากการนำเข้าทองคำ โดยราคาทองคำในตลาดโลกโดยเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีก่อน คือ ในปี 2551 ราคาทองคำโดยเฉลี่ยประมาณ 900 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ ซึ่งในปี 2550 ราคาทองคำโดยเฉลี่ยประมาณ 700 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ ซึ่งทำให้ มูลค่าการนำเข้าทองคำโดยรวมสูงเป็น 5,779.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 253.22 โดยการนำเข้าเพชรมีมูลค่า 1,547.63 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.43 อันดับถัดมา ได้แก่ เงิน พลอย และโลหะมีค่า และโลหะอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่นับเป็นสินค้าวัตถุดิบ

แหล่งนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของไทย ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น อินเดีย อิสราเอล จีน และ เบลเยี่ยม ทั้งนี้การนำเข้าที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น เพราะส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ไทยนำเข้าวัตถุดิบจาก ต่างประเทศ

สรุปและแนวโน้ม

โดยสรุปภาพรวมการผลิตของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2551 เมื่อเทียบกับปี 2550 จะหดตัวลงร้อยละ 21.54

การขยายตัวของการส่งออกจะมีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 38.49 เนื่องจากมูลค่าการส่งออกโดยรวมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก อันเป็น ผลจากราคาสินค้าต่อหน่วยนั้นเพิ่มสูงขึ้น โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ฮ่องกง ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งนี้การส่งออกไปสหรัฐ อเมริกาได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติการณ์สถาบันการเงิน และจากการประกาศห้ามการนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ใช้วัตถุดิบหยกและทับทิมจากพม่ามา ผลิตสินค้าเครื่องประดับสำหรับส่งออกไปสหรัฐฯ [Tom Lantos Block Burmese JADE (Junta’s Anti-Democratic Efforts) Act of 2008] เพื่อกดดันให้รัฐบาลทหารพม่าเร่งฟื้นฟูประชาธิปไตย และปรับปรุงด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่เก็บทับทิมพม่า ไว้เป็นจำนวนมาก และมีตลาดส่งออกหลักเป็นสหรัฐฯ ต้องเร่งหาตลาดใหม่ ด้านการนำเข้า คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 106.27 โดยตลาดนำเข้าที่ สำคัญ คือ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น อินเดีย อิสราเอล จีน และเบลเยี่ยม ซึ่งสินค้านำเข้าส่วนใหญ่จะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต

จากการประมาณการมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าในปี 2551 พบว่าไทยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกน้อยกว่ามูลค่าการนำเข้า

สำหรับแนวโน้มการผลิต ในปี 2552 ปัจจัยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปีก่อน แนวโน้มราคาน้ำมันที่ต่ำกว่า 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาเรล จะ เป็นปัจจัยสนับสนุนให้การผลิตขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2 - 5

สำหรับแนวโน้มด้านการส่งออก ในปี 2552 ปัจจัยสนับสนุน สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก ผู้ ประกอบการได้ลดสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาซึ่งกำลังซื้อลดลงจากวิกฤติการณ์สถาบันการเงิน โดยมุ่งไปที่ตลาดจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และ รัสเซีย ค่าเงินบาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มอ่อนค่ากว่าปี 2551 และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ออกประกาศที่ 3/2551 เมื่อวัน ที่ 28 พ.ย. 2551 เรื่อง การให้การส่งเสริมแก่กิจการที่ประกอบการอยู่เดิมให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 36 (1) และ (2) เกี่ยวกับการ ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อใช้ ผลิต ผสม หรือประกอบผลิตภัณฑ์ หรือผลิตผลเฉพาะที่ใช้ใน การส่งออกซึ่งอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับได้รับสิทธินี้ด้วย อันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการเดิมที่ผลิตเพื่อส่งออก โดยมีขนาดการลงทุนไม่ รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท ปัจจัยลบ การเลื่อนการชำระเงินของผู้นำเข้าอันเนื่องจากวิกฤติการณ์การเงินโลก การเลื่อนคำสั่ง ซื้อออกไป การปรับตัวของสหรัฐอเมริกาที่ประสบปัญหาวิกฤติการณ์สถาบันการเงินด้วยการลดการนำเข้าและเน้นการบริโภคเป็นหลัก รวมทั้งประเทศที่ได้ รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์สถาบันการเงินสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากปัจจัยทั้งหลายดังกล่าว คาดว่ามูลค่าการส่งออกโดยรวมจะขยายตัวได้แต่จะน้อยกว่าปี ก่อน โดยจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5 — 8

ด้านการนำเข้า จากนโยบายของสำนักงานคณะกรรมส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว จะกระตุ้นให้ผู้ผลิตมีการนำเข้าวัตถุในระดับที่ใกล้เคียง จากปีก่อน แต่เนื่องจากปัจจัยราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลงจะทำให้ราคาวัตถุดิบที่นำเข้าลดลงได้ การที่ราคาวัตถุดิบลดลงส่งผลให้ผู้ผลิตที่มีเงินทุนพร้อม นำเข้าวัตถุดิบซึ่งคาดว่าอยู่ในระดับทรงตัวจากปีก่อนได้ ดังนั้นคาดว่ามูลค่าการนำเข้าจะขยายตัวไม่มาก โดยอัตราการเติบโตจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 8 — 10

ตารางที่ 1 ดัชนีการผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้องกัน
           ดัชนี             2547    2548    2549    2550    2551*          %D
       (ISIC 3691)                                                   ปี51 เทียบ ปี50
          ผลผลิต            78.6    68.5    70.1    71.2    55.9         -21.54
         ส่งสินค้า            85.3    72.9    72.4    73.7    57.4         -22.16
    สินค้าสำเร็จรูปคงคลัง       86.2    96.2    92.3    96.8    98.7          2.01

ที่มา : ศูนย์สารสนเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

หมายเหตุ ฐานเฉลี่ย ปี 2543 และเป็นดัชนีที่ยังไม่ได้ปรับผลกระทบของฤดูกาล

  • เป็นตัวเลขประมาณการ
ตารางที่ 2 การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ

หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐฯ

                    รายการ                    2547        2548        2549        2550       2551*    ปี51 เทียบ ปี50
          อัญมณีและเครื่องประดับ               2,645.61    3,232.66    3,668.28    5,382.50    7,454.22       38.49
          1 อัญมณี                            998.31    1,115.46    1,145.20    1,335.87    1,596.58       19.52
   (1) เพชร                                 763.16      862.84      861.47      950.65    1,059.85       11.49
   (2) พลอย                                 224.35      230.89      268.05      371.37      520.45       40.14
   (3) ไข่มุก                                   10.8       21.73       15.68       13.85        16.3       17.69
          2 เครื่องประดับแท้                  1,275.33    1,691.00    1,738.55    2,107.66    2,696.59       27.94
   (1) ทำด้วยเงิน                             461.45      505.74      569.56      786.82      818.33           4
   (2) ทำด้วยทอง                             797.44    1,140.16    1,127.42    1,214.83    1,736.04       42.9
   (3) ทำด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ                      16.44        45.1       41.57      106.01      142.22       34.16
          3 เครื่องประดับอัญมณีเทียม              119.25      119.74      159.99      179.34      185.07         3.2
          4 อัญมณีสังเคราะห์                     18.11       17.19       41.99      104.56       68.66      -34.33
          5 ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป                 145.22      224.76      508.27    1,513.31    2,795.87       84.75
          6 โลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ   89.39       64.51       74.28      141.76      111.47      -21.37

ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

  • เป็นตัวเลขประมาณการ
ตารางที่ 3 การนำเข้าเครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ

หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐฯ

                  รายการ                           2547        2548        2549        2550       2551        %

ปี51 เทียบ ปี50

เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ              2,863.48    3,924.65    3,890.83    4,117.65    8,493.64        106.27
   1 เพชร                                      1,137.84    1,303.13    1,275.73    1,401.43    1,547.63         10.43
   2 พลอย                                        133.91      145.32      168.84      225.25      344.28         52.84
   3 อัญมณีสังเคราะห์                                 37.55       38.99       36.43       61.71       73.06         18.39
   4 ไข่มุก                                         23.75       25.38       15.32       19.84        20.8          4.84
   5 ทองคำ                                     1,146.07    1,970.18    1,876.54    1,636.30    5,779.74        253.22
   6 เงิน                                         286.07      332.03      375.29      509.41       509.7          0.06
   7 แพลทินัม                                       19.35       23.38       23.73       23.05       22.43         -2.69
   8 โลหะมีค่า และโลหะอื่น ๆ                          78.95       86.25      118.95      240.66         196        -18.56
เครื่องประดับอัญมณี                                   170.68      199.42      224.14      255.15       650.3        154.87
  1 เครื่องประดับอัญมณีแท้                             159.67       186.4      206.45      233.46      627.99        168.99
  2 เครื่องประดับอัญมณีเทียม                            11.02       13.02       17.69       21.69       22.29          2.77

ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

  • เป็นตัวเลขประมาณการ

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ