สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2551 และแนวโน้มปี 2552(เศรษฐกิจไทย)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 14, 2009 13:31 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจไทย

จากการประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประชาชาติรายไตรมาสของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 4.0 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.3 และชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.1 โดยปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้อัตราการขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 คือ การบริโภคภายในประเทศที่ชะลอลงเล็กน้อย โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนทรงตัว ส่วนรายจ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลลดลง การลงทุนชะลอตัวลง ส่วนการส่งออกสินค้า และบริการชะลอลง ในขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งขยายตัวร้อยละ 7.7 และทรงตัวหรือเท่ากันกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.1 เช่นกัน โดยเป็นผลจากอุตสาหกรรมทุนและเทคโนโลยีชะลอตัว ตามภาวะการส่งออกที่เริ่มชะลอลงอุตสาหกรรมวัตถุดิบที่หดตัวลง โดยเฉพาะในกลุ่มของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ส่วนอุตสาหกรรมเบายังขยายตัวสูงขึ้น จากอุตสาหกรรมอาหารที่ส่งออกขยายตัวดี

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดว่าทั้งปี 2551 เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.5 เทียบกับร้อยละ 4.9 ในปี 2550 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มชะลอตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 เนื่องจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากจะมีผลให้การส่งออกชะลอลงชัดเจน

สำหรับตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2551 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 เนื่องจากในช่วงต้นปี 2551 ตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่มีค่าอยู่ในระดับสูง แต่เริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 เป็นต้นมา โดยจะเห็นว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชี และเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 และเมื่อพิจารณาตัวเลขการส่งออก มูลค่าการส่งออกในภาพรวมได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 21.68 (มูลค่าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ) และเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 14.89 (มูลค่าในรูปเงินบาท) โดยมีสินค้าที่ติดอันดับต้น ๆ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป

ในส่วนของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550 เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ เริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 โดยในปี 2552 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอลงจากปี 2551 โดยทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2552 คงต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

ปัจจัยสนับสนุนสำหรับเศรษฐกิจไทย

  • การดำเนินนโยบายการคลังขาดดุลและเร่งรัดการดำเนินโครงการของภาครัฐ เพื่อเร่งให้เกิดกิจกรรมและการเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้การจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีก 1 แสนล้านบาทก็จะสนับสนุนให้เกิดผลต่อเนื่องให้การใช้จ่ายและการลงทุนมีการขยายตัว
  • มาตรการภาครัฐเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายและการลงทุน รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคธุรกิจเอกชน
  • ปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ ที่จะสนับสนุนการใช้จ่ายและจูงใจต่อการลงทุน ได้แก่ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ราคาน้ำมันและราคาวัตถุดิบที่ลดลง และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง

ปัจจัยเสี่ยง

  • ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและผลกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 และตลอดช่วงปี 2552
  • การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวตลอดช่วงปี 2551 ในขณะที่การลงทุนภาครัฐลดลงส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในภาพรวม
  • ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจลดลงอันเนื่องมาจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก และความไม่แน่นอนด้านการเมืองภายในประเทศ

แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2552

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2552 จะขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0 ซึ่งชะลอตัวลงจากปี 2551 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจการเงินโลกชะลอตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น และทำให้การส่งออกชะลอตัวมาก ในขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศยังขยายตัวต่ำ อย่างไรก็ดีหลายหน่วยงานมีการคาดการณ์ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 อาจจะขยายตัวได้ไม่ถึงร้อยละ 3-4 เนื่องมาจากสถานการณ์ภายในของประเทศไทย ซึ่งปัจจัยในประเทศคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมือง ซึ่งถ้าปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลง ก็น่าจะเป็นพื้นฐานที่เอื้ออำนวยให้เกิดแรงขับเคลื่อนจากปัจจัยเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่จะช่วยผลักดันอุปสงค์ที่มีต่อสินค้าอุตสาหกรรมให้กลับมาขยายตัวดีขึ้น ทั้งนี้คาดว่าในปีหน้า แรงกดดันเงินเฟ้อน่าจะลดลงตามแนวโน้มการชะลอตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมทั้งนโยบายการเงินอาจจะสามารถผ่อนคลายลง ขณะที่ในด้านนโยบายการคลัง ถ้าการเมืองมีเสถียรภาพ รัฐบาลน่าจะสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเป้าหมาย และอาจจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเป็นระยะ รวมถึงการเริ่มดำเนินการโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นและผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม)

          จากรายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index :MPI) ที่จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในช่วง           เดือนมกราคม — ตุลาคม 2551 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ประมาณ ร้อยละ 7.8 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือน ในปี 2551 มีค่า 183.0 และในปี 2550 มีค่า 169.7 โดยมีอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2551 มีค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550

เมื่อเทียบปี 2551 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2550 สำหรับแนวโน้มปี 2552 คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะปรับตัวลดลงจากปี 2551 เนื่องจากในปี 2552 เศรษฐกิจไทยยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเผชิญอยู่ ทั้งปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของคู่ค้าที่สำคัญส่งผลให้การส่งออกมีแนวโน้มลดลง ปัญหาด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค การเมืองยังไม่มีเสถียรภาพ แม้ว่ามีปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำส่งผลให้เงินเฟ้อลดลง

ดัชนีการส่งสินค้า

ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการขนส่งสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2551 ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ประมาณร้อยละ 7.3 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือน ในช่วงปี 2551 มีค่า 182.9 และในปี 2550 มีค่า 170.4 โดยมีอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีแลเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2551 มีค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550

เมื่อเทียบปี 2551 ดัชนีการส่งสินค้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2550 สำหรับแนวโน้มปี 2552 คาดว่าดัชนีการส่งสินค้าจะปรับตัวลดลงจากปี 2550 ซึ่งจะสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมโดยการส่งออกมีแนวโน้มลดลง การบริโภคและการลงทุนภายในประเทศที่มีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกันจากการขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาด ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2551 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ประมาณร้อยละ 2.4 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือน ในปี 2551 มีค่า 187.5 และในปี 2550 มีค่า 183.1 โดยมีอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกายยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ทำจากขนสัตว์ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2551 มีค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550

เมื่อเทียบปี 2551 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2550 สำหรับแนวโน้มปี 2552 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังจะปรับตัวลดลงหรือทรงตัวจากปี 2551 เนื่องจากผู้ประกอบการได้ทราบถึงปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จึงมีการบริหารจัดการการสำรองสินค้าไว้เพื่อจำหน่ายให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนในการสต๊อกสินค้าและมีสินค้าเพียงพอในการจำหน่าย

อัตราการใช้กำลังการผลิต

          อัตราการใช้กำลังการผลิตเป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตที่ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2551 อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ซึ่งอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยทั้ง 10 เดือน ในปี 2551 มีค่า 64.3 และในปี 2550 มีค่า 65.9 โดยมีอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและกผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วง                     เดือนมกราคม — ตุลาคม 2551 มีค่าลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2550

เมื่อเทียบปี 2551 อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากปี 2550 สำหรับแนวโน้มปื 2552 คาดว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตจะปรับตัวลดลงจากปี 2551 เนื่องจากปรับตัวลดลงตามแนวโน้มของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะลดลง

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2551 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมเฉลี่ยมีค่า 78.4 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปี 2550 (77.2) โดยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2551 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำโดยรวมปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2550 การที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปี 2550 แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 เนื่องจากระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง การส่งออกมีการขยายตัวได้ดี แต่อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังคงมีความวิตกกังวลในปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้ เสถียรภาพทางการเมือง วิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐอเมริกา ปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ขณะที่รายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ในช่วงมกราคม-ตุลาคม 2551 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ประมาณร้อยละ 0.2 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2551 มีค่า 71.4 และในปี 2550 มีค่า 71.2 การที่ค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคมีความเห็นว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ดีและขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2551 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ประมาณร้อยละ 0.9 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2551 มีค่า 71.6 และในปี 2550 มีค่า 72.2 การที่ค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าโอกาสในการหางานทำอยู่ในระดับที่ไม่ดี ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2551 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ประมาณร้อยละ 4.9 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2551 มีค่า 92.3 และในปี 2550 มีค่า 88.0 การที่ค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตของตนเอง

จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) เดือนมกราคม-ตุลาคม 2551 ดัชนีปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ประมาณร้อยละ 0.7 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2551 มีค่า 42.7 และในปี 2550 มีค่า 43.0 การที่ค่าดัชนีโดยรวมมีค่าต่ำกว่าระดับ 50 แสดงว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังไม่ดี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นที่มีการปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2550 คือ ต้นทุนการประกอบการ

เมื่อเทียบกับปี 2551 ทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2550 สำหรับแนวโน้มปี 2552 คาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจมี จะปรับตัวลดลงจากปี 2551 เนื่องจากแนวโน้มของดัชนีในรายเดือนได้เริ่มปรับตัวลดลงแล้ว แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคและภาคธุรกิจมีความวิตกกังวลในปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญอยู่และจะยังคงอยู่ในปี 2552 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TISI)

จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (ตารางที่4) พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2551 ดัชนีเฉลี่ยมีค่า 79.3 ซึ่งปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันของปี 2550 ที่มีค่า 80.9 การที่ค่าดัชนีมีค่าอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เชื่อว่าสภาวะอุตสาหกรรมโดยรวมอยู่ในระดับที่ไม่ดี และในเดือนตุลาคม 2551 ดัชนีมีค่า 75.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนกันยายน 2551 (81.1) เป็นผลมาจากการได้รับผลกระทบจากตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศที่ชะลอตัว โดยตลาดต่างประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินโลกที่เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงของโลกที่ชะลอตัวมากขึ้น ส่วนตลาดในประเทศได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวมากขึ้น รวมทั้งปัญหาทางด้านการเมืองยังคงยืดเยื้อ ทั้งนี้ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้ เร่งแก้ปัญหาการเมืองโดยเร็วเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและนักลงทุน รัฐบาลควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2552 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว จัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับภาคอุตสาหกรรม และชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศ ช่วยสนับสนุนหาแหล่งตลาดใหม่ ๆ ที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ให้กับภาคอุตสาหกรรมส่งออก เพื่อทดแทนตลาดหลัก ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินสหรัฐฯ รวมทั้งการดูแลเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนอย่าให้มีความผันผวน โดยคงระดับไว้ที่ 33-35 บาท เพื่อช่วยอุตสาหกรรมส่งออก

คาดว่าในปี 2552 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2551 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจาก ปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลกยังคงส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการโดยส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยผ่านการส่งออก และส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจภายในประเทศมีการชะลอตัวตามไปด้วย นอกจากนี้สถานการณ์ทางการเมืองยังคงเป็นอีกปัจจัยที่กดดันความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ

          ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฎว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ              ในเดือนตุลาคม 2551 อยู่ที่ระดับ 115.4 ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2551 (114.1) ร้อยละ 1.1 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินตามความหมายกว้าง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดัชนีส่วนกลับ ราคาน้ำมันดิบ Oman และการส่งออก ณ ราคาคงที่ปรับเพิ่มขึ้น

ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ

ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนตุลาคม 2551 อยู่ที่ระดับ 118.7 ทรงตัวเท่ากับเดือนกันยายน 2551 (118.7)

การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) ในช่วงเดือนมกราคม— ตุลาคม 2551 ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ประมาณร้อยละ 4.4 (ตารางที่ 5)

ทั้งนี้ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้จากปี 2550 ซึ่งเครื่องชี้สำคัญที่เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปี 2550 คือ การใช้กระแสไฟฟ้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์

เมื่อเทียบในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2551 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550 อย่างไรก็ตามแนวโน้มในปี 2552 คาดว่า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะชะลอตัวลงจากปี 2551 เนื่องจาก ภาคเอกชนจะระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญอยู่และต่อเนื่องไปในปี 2552 ซึ่งจะสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจ

การลงทุนภาคเอกชน

การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2551 พิจารณาจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่ ยอดการขายซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศและยอดการนำเข้าสินค้าทุน และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ พบว่า การลงทุนภาคเอกชนในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2551 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ประมาณร้อยละ 4.5

หากแยกตามรายการสินค้า พบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2551 ลดลง จากช่วงเดียวกันของปี 2550 ประมาณร้อยละ 9.9

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2551 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ประมาณร้อยละ 10.9

ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2551 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ประมาณร้อยละ 17.1

ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ ในช่วงเดือนมกคาคม — ตุลาคม 2551 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ประมาณร้อยละ 8.4

สำหรับแนวโน้มปี 2552 การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะชะลอตัวลงจากปี 2551 เนื่องจากผู้บริโภคและธุรกิจยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน

ภาวะราคาสินค้า

จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2551 ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันของปี 2550 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2551 มีค่า 123.9 และในปี 2550 มีค่า 116.6 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามราคาข้าว เนื้อสัตว์ ไข่ ผักและผลไม้ สำหรับราคาสินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่รวมอาหารและเครื่องดื่ม หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร กลุ่มอาหารสดและพลังงานเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2551 ปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 15.0 จากช่วงเดียวกันของปี 2550 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2551 มีค่า 159.2 และในปี 2550 มีค่า 138.5 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ซึ่งราคาเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 21.6 , 14.2 และ 0.9 ตามลำดับ

สำหรับแนวโน้มปี 2552 ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตจะยังคงทรงตัวโดยจะลดลงเล็กน้อยจากปี 2551 เนื่องจากราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง จึงทำให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มชะลอลงจากปี 2551

แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

จากการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชาชนในปี 2551 (ตัวเลขเดือนตุลาคม) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 37.79 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 37.16 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.45 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 1.2)

สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมในปี 2551(ตัวเลขเดือนตุลาคม) มีจำนวน 5.88 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 15.82 ของผู้มีงานทำทั้งหมด

การค้าต่างประเทศ

สถานการณ์การค้าต่างประเทศของปี 2551 การค้าของไทยในเดือน ม.ค.-ต.ค. 2551 มีมูลค่าทั้งสิ้น 305,685.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.7 โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 151,192.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 154,493.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.2 ส่งผลให้ ดุลการค้าขาดดุล 3,301.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกในปี 2551จะขยายตัวร้อยละ 15-20 ด้วยมูลค่า 1.75-1.83 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

โครงสร้างการส่งออก

การส่งออกใน 10 เดือนแรกของปี 2551 (มกราคม—ตุลาคม) ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม 112,533.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 74.43) สินค้าเกษตรกรรม 17,850.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 11.81) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 9,958.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.59) สินค้าแร่และเชื้อเพลิง 10,849.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 7.18) และสินค้าอื่นๆ 0.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว มูลค่าการส่งออกของสินค้าส่วนใหญ่มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นโดยสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.63 สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรร้อยละ 26.86 สินค้าเกษตรร้อยละ 47.5 และสินค้าแร่ธาตุและเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 85.6 สำหรับสินค้าอื่นๆ มีมูลค่าการส่งออกที่ลดลงมากถึงร้อยละ 99.97

สินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 รายการหลักในช่วง 10 เดือนแรก ของปี 2551 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดคือ 15,641.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 12,121.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ น้ำมันสำเร็จรูป 7,165.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัญมณีและเครื่องประดับ 6,706.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยางพารา 6,136.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แผงวงจรไฟฟ้า 5,633.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ข้าว 5,607.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เม็ดพลาสติก 4,945.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 4,573.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และผลิตภัณฑ์ยาง 3,899.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออก 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 72,429.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 47.91 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

ตลาดส่งออก

ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2551 การส่งออกไปยังตลาดหลัก ซึ่งได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพ

ยุโรป ญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็นร้อยละ 57.25 ของการส่งออกของไทยไปยังทั่วโลก โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการส่งออกไปยังตลาดหลักทั้งหมดมีการขยายตัวที่เพิ่มขึ้น โดยการขยายตัวในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.59 ตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.57 ตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.72 ตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.53 และตลาดอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.01

โครงสร้างการนำเข้า

การนำเข้าในระยะ 10 เดือนแรกของปี 2551 ประกอบด้วย สินค้าวัตถุดิบมีมูลค่าสูงสุด 67,930.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 43.97) รองลงมาเป็นการนำเข้าสินค้าทุน 36,556.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 23.66) สินค้าเชื้อเพลิง 32,539.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 21.06) สินค้าอุปโภคบริโภค 12,735.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 8.24) สินค้าหมวดยานพาหนะ 4,630.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3) และสินค้าอื่นๆ 100.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 0.07)

เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่าสินค้าเชื้อเพลิงมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.2 สินค้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.34 สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.39 สินค้าหมวดยานพาหนะเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.17 และสินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.49 สำหรับการนำเข้าสินค้าหมวดอื่นๆ มีมูลค่าลดลงร้อยละ 91.31

แหล่งนำเข้า

การนำเข้าจากแหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น, อาเซียน, สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2551 มีสัดส่วนนำเข้ารวมร้อยละ 49.12 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2550 พบว่าการนำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.73 ประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.45 สหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.87 และสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 21.65

แนวโน้มการส่งออก

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการส่งออก ได้จัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมการส่งออกปี 2552 หลังเกิดวิกฤติการเงินโลก โดยมุ่งเน้นผลักดันส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร พร้อมหนุนส่งออกไปยังตลาดอาเซียน และตลาดใหม่ๆ ที่ได้รับผลกระทบน้อยจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งตามแผนกระตุ้นการส่งออกปีหน้าดังกล่าว ประกอบด้วย การผลักดันส่งออกสินค้า เกษตรและอาหาร ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในตลาดหลักและตลาดใหม่ๆ รวมทั้งมีมาตรการพัฒนาสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า และการจัดคณะผู้แทนการค้า ตลอดจนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า นอกจากนี้ ยังให้เร่งส่งเสริมการส่งออกเป็นกรณีพิเศษ ในตลาดที่จะได้รับผล กระทบน้อยจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ประกอบด้วย ในกลุ่มอาเซียน 9 ประเทศ และยังรวมถึง ในจีน อินเดีย แถบตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก และอาฟริกา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65.3 ของการส่งออกรวม และตามแผนการนี้ ยังสนับสนุนให้มีการลดต้นทุนสินค้า เช่น การสนับสนุนให้ภาคเอกชน ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และกระตุ้นการลงทุนด้านสาธารณูปโภค รวมถึงรัฐบาลยังจะมุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย ไปรุกธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น โดยได้ดำเนินการร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) ซึ่งขณะนี้ มีธุรกิจที่มีศักยภาพ เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ เกษตร อุตสาหกรรมเกษตร ก่อสร้าง พลังงาน และการทำคอนแทคฟาร์มมิ่ง โดยตลาดที่คาดว่าจะมีโอกาสขยายการส่งออก เช่น อาเซียน จีน และตะวันออกกลาง

การลงทุนจากต่างประเทศ

การลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในปี 2551 ข้อมูล 11 เดือนของปี 2551 มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 435,700 ล้านบาท ลดลงจากในปี 2550 ซึ่งมีมูลค่าการลงทุน 634,700 ล้านบาท

                                                          2549             2550            2551*
          มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน(ล้านบาท)          490,900          634,700          435,700
  • หมายเหตุ : ข้อมูลปี 2551 เป็นตัวเลข 11 เดือน

เมื่อพิจารณาในหมวดของการเข้ามาลงทุน พบว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2551 ประเภทกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดคือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีเงินลงทุน 135,000 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีเงินลงทุน 52,300 ล้านบาท หมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีเงินลงทุน 50,400 ล้านบาท หมวดเคมี กระดาษ และพลาสติก มีเงินลงทุน 43,300 ล้านบาท หมวดเกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตร มีเงินลงทุน 22,900 ล้านบาท หมวดเหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะ มีเงินลงทุน 17,000 ล้านบาท และอุตสาหกรรมเบา มีเงินลงทุน 10,800 ล้านบาท

การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI แยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม

                 อุตสาหกรรม                                       2551 (ม.ค.-ต.ค.)
                                                        จำนวนโครงการ         มูลค่าการลงทุน (ล้านบาท)
เกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตร                                    122                      22,900
เหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะ                                       37                      17,000
อุตสาหกรรมเบา                                                  70                      10,800
ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง                              204                      52,300
อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า                                     165                      50,400
เคมี กระดาษและพลาสติก                                          130                      43,300
บริการและสาธารณูปโภค                                           247                     135,000
                    รวม                                      975                     331,800

สำหรับแหล่งลงทุนในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2551 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น มีการลงทุนมากที่สุดโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 256 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 60,370 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศเนเธอร์แลนด์ จำนวน 23 โครงการ 26,209 ล้านบาท มาเลเซีย 28 โครงการ เป็นเงินลงทุน 17,986 ล้านบาท และสิงคโปร์ 52 โครงการ เป็นเงินลงทุน 10,456 ล้านบาท

ตารางที่ 17 : การลงทุนจากต่างประเทศในกิจการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน BOI จำแนกตามกลุ่มประเทศ

(ล้านบาท)

  ประเทศ                 2550            2550 (ม.ค.-ต.ค.)          2551 (ม.ค.-ต.ค.)

จำนวนโครงการ การลงทุน จำนวนโครงการ การลงทุน จำนวนโครงการ การลงทุน

ญี่ปุ่น                   330    164,323         274    109,204           256    60,370
ไต้หวัน                  49      8,552          40      7,616            38     4,709
ฮ่องกง                  19     10,125          15     10,103            16     4,378
เกาหลีใต้                46      5,985          44      5,899            43     3,306
สิงคโปร์                 78     34,466          65     30,501            52    10,456
มาเลเซีย                33     11,567          25     10,762            28    17,986
อินโดนีเซีย                5      4,086           4      4,031             1       200
ฟิลิปปินส์                  1         90           1         90             1         5
จีน                     26     15,856          20      5,274            24     3,343
สหรัฐอเมริกา             52    101,107          44     63,564            22     6,647
แคนาดา                  6     15,382           5     14,982             3       137
ออสเตรเลีย              21      1,557          20      1,554            20     2,469
สหราชอาณาจักร           22      2,305          19      1,923            25     4,258
เยอรมัน                 29      6,813          24      2,204            25     2,091
สวิสเซอร์แลนด์            10      8,959           8      8,131             8       560
ฝรั่งเศส                 15        620          15        620            21     2,004
เบลเยียม                 5      1,188           4      1,088             8       598
อิตาลี                   11      1,842          10      1,838             6       719
เนเธอร์แลนด์             20     10,629          17     10,388            23    26,209

ที่มา : กองการต่างประเทศ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

หมายเหตุ : สัดส่วนการถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ