สศอ.เผยดัชนีอุตฯ ซึมหนัก 3 เดือนติด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 29, 2009 13:47 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจโลกแผ่ว ฉุดดัชนีอุตฯธ.ค.ติดลบเฉียด 20% เป็นเดือนที่ 3 ในรอบปี 2551 กลุ่ม Hard Disk Drive-ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์-รถยนต์ กอดคอกันร่วง รัฐเร่งปรับกระบวนยุทธ์รับมือ

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2551 ติดลบมากถึง -19.65% ถือเป็นการติดลบเป็นเดือนที่สามในรอบปี และทำสถิติติดลบมากที่สุดในรอบ 6 ปี 10 เดือน อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาตัวเลขทั้งปีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเฉลี่ยยังคงขยายตัวเพิ่ม 3.9%เมื่อเทียบกับปี 2550 เนื่องจากใน 3 ไตรมาสแรกดัชนีฯขยายตัวเป็นบวกมาโดยตลอดแต่มีทิศทางลดลง คือ 11.6% 9.4% 5.8% ตามลำดับ และติดลบ -9.7% ในไตรมาสสุดท้ายของปี ทั้งนี้อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการขยายตัวติดลบ ได้แก่ การผลิต Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ การผลิตรถยนต์

การผลิต Hard Disk Drive ในเดือนธันวาคม 2551 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่า ทั้งการผลิตและการจำหน่ายติดลบลงไปอย่างมากคิดเป็น -32%และ-23.6% ตามลำดับ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากประเทศผู้นำเข้าหลักได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้มีคำสั่งซื้อลดลงส่งผลต่อการผลิตและจำหน่ายดังกล่าว แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกที่สำคัญของโลกก็ตาม เมื่อภาพรวมของตลาดชะลอลงจึงส่งผลกระทบค่อนข้างชัดเจน อีกทั้งปัญหาการปิดสนามบินสุวรรณภูมิทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการส่งออก ตลอดจนความมั่นใจในการสั่งซื้อ

ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในเดือนธันวาคม 2551 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนทั้งการผลิตและจำหน่ายลดลงมากเช่นกัน คิดเป็น -24.2%และ-23.4% เนื่องจากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้เป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก เมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวค่อนข้างชัดเจนจึงส่งผลกระทบอย่างหนักทำให้ทั้งการผลิตและการจำหน่ายติดลบ โดยผลผลิตเริ่มติดลบอย่างชัดเจนเริ่มขึ้น

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมาเมื่อย่างเข้าเดือนธันวาคมจึงมีการปรับลดปริมาณการผลิตลง รวมทั้งบางแห่งมีการปรับลดจำนวนวันในการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณของคำสั่งซื้อ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินไปถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2552

ขณะที่ การผลิตรถยนต์ ในเดือนธันวาคม 2551 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนพบว่าการผลิตและจำหน่ายลดลง -23.5% และ -26.1% ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่เป็นการหดตัวอย่างชัดเจนของตลาดรถกะบะ ซึ่งมีการจำหน่ายลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนถึง -39.4% เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศลดลง อีกทั้งคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามภาวะการผลิตและจำหน่ายรถยนต์โดยรวมทั้งปี 2551 ยังคงขยายตัวได้จากปี 2550 โดยการผลิตเพิ่มขึ้น 9.1% การจำหน่ายเพิ่มขึ้น 8.1% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวของรถยนต์นั่งขนาดไม่เกิน 1800 ซีซี 37.2% เนื่องจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกกลุ่มรถยนต์นั่งจึงได้เปรียบในการเลือกใช้พลังงานทดแทนชนิดอื่นๆ อีกทั้งเป็นการประหยัดกว่าจึงส่งผลต่อการขยายตัวดังกล่าว ขณะที่รถกะบะขนาด 1 ตันซึ่งเคยเป็นแชมป์ยอดขายในปีก่อนๆหดตัวถึง -19.8% เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลมีราคาแพง สำหรับแนวโน้มในปี 2552 คาดว่ายังคงมีทิศทางการจำหน่ายปรับลดลงอีก -20%

โดยสรุปดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2551 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 149.07 ลดลง -19.65% จากระดับ 185.52 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 151.37 ลดลง -17.64% จากระดับ 183.79 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 110.99 ลดลง -4.72% จากระดับ 116.49 ดัชนีผลิตภาพแรงงานอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 136.41 ลดลง -6.10% จากระดับ 145.28 ขณะที่ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 197.60 เพิ่มขึ้น 18.13% จากระดับ 167.27 ดัชนีอัตราส่วนสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 234.23 เพิ่มขึ้น 32.10% จากระดับ 177.31 ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 53.02

นายอาทิตย์ ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ดัชนีชี้วัดต่างๆนั้น ชี้ให้เห็นถึงการถดถอยของภาคอุตสาหกรรม อันจะส่งผลต่อการจ้างงาน โดยในเรื่องนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆของสภาอุตฯ และสภาหอการค้าจัดทำแผนงาน โครงการที่จะช่วยรักษาสภาพการจ้างงาน เพื่อจะขอรับการจัดสรรงบประมาณกลางปี 6,900 ล้านบาท ซึ่งจัดไว้ที่สำนักนายกรัฐมนตรีสำหรับแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างงาน โดยมีรูปแบบการดำเนินงานใน 3 ลักษณะ คือ

1.พัฒนาฝีมือผู้ว่างงานไปสู่ทักษะแรงงานใหม่ในอุตสาหกรรมสาขาอื่นที่ยังมีความต้องการแรงงาน ซึ่งขณะนี้สาขางานที่แจ้งความต้องการแรงงานแล้วได้แก่ ช่างขัดแม่พิมพ์ในอุตสาหกรรม

แม่พิมพ์ ช่างแพทเทริน ช่างเย็บจักรอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ช่างในอุตสาหกรรมรองเท้า บุคลากรในธุรกิจอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ด้านซอฟแวร์และสมองกลฝังตัว เป็นต้น

2. เพิ่มทักษะและความรู้บุคลากรในอุตสาหกรรมที่กำลังจะลดหรือปลดแรงงานเพื่อให้ผู้ประกอบการยังคงสภาพการจ้างงานเอาไว้ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมกับการแข่งขันเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว อุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร สิ่งทอ ฯลฯ

3. อบรมบ่มเพาะผู้ว่างงานที่มีแววไปสู่ผู้ประกอบการใหม่ หรือผู้รับงานอิสระ เช่น อบรมบ่มเพาะผู้ว่างงานจากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ หรือไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อออกไปเป็นผู้ประกอบการรับช่วงการผลิตของอุตสาหกรรมดังกล่าว เมื่อเศรษฐกิจกิจฟื้นตัว โดยจะบูรณาการกับสถาบันการเงินของรัฐในการสนับสนุนสินเชื่อ

แผนงานนี้จะช่วยรักษาและคงสภาพการจ้างงานได้ประมาณ 60,000 — 80,000 ราย โดยจะใช้งบประมาณ 1,500-1,800 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ