สศอ.ร่วมกับ มจพ.จัดสัมมนายกระดับเทคโนโลยีการเชื่อม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 30, 2009 15:33 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดสัมมนาให้ความรู้ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรม หวังสร้างความเป็นเลิศให้กับเทคโนโลยีการเชื่อม สนองรับความต้องการผู้ประกอบการ ยกระดับเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนปี 2552 จำนวน 15 ล้านบาท ภายใต้โครงการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันและการลงทุน ให้กับวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานโครงการเสริมสร้างความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีการเชื่อม เนื่องจากอุตสาหกรรมงานเชื่อมจัดเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญที่ภาครัฐควรให้การสนับสนุนและส่งเสริมอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ เกือบทุกประเภท เช่น อุตสาหกรรมงานโครงสร้างเหล็ก อุตสาหกรรมการต่อเรือ อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล และอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น

“อุตสาหกรรมการเชื่อมในขณะนี้กำลังเผชิญปัญหาที่สำคัญ คือ ขาดการพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ด้านงานเชื่อมอย่างเป็นระบบ และขาดการนำความรู้และเทคโนโลยีระดับสูงจากต่างประเทศเข้ามาปรับใช้ในกรรมวิธีการผลิต ขาดการบริหารจัดการความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศลดลง สูญเสียโอกาสในการสร้างงานและการส่งออกผลิตภัณฑ์ ที่ไม่อาจประเมินมูลค่าได้ อีกทั้งยังไม่มีหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ให้บริการทางวิชาการและเทคโนโลยีด้านการเชื่อมแบบครบวงจร” นายอาทิตย์กล่าว

นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า การดำเนินงานภายใต้โครงการเสริมสร้างความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีการเชื่อมดังกล่าวของวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งถือเป็นสถาบันการศึกษาหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมการเชื่อมและการตรวจสอบงานเชื่อม จะทำหน้าที่เสริมสร้างความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีการเชื่อม

โดยการให้บริการทางวิชาการและเทคโนโลยีแบบครบวงจรที่ทำหน้าที่ผลิตบุคลากรงานเชื่อมเพื่อสนองความต้องการของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรม และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาให้กับอุตสาหกรรมการเชื่อม เพื่อเป็นศูนย์กลางความรู้และเทคโนโลยี ทั้งที่มีอยู่แล้วและการ

สร้างความรู้ใหม่ที่ได้จากการสร้างนวัตกรรมและผลงานวิจัย ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีและวิศวกรรมการเชื่อมในกรรมวิธีการผลิต ซึ่งจะส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศเพิ่มสูงขึ้น อันจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและมีความเข้มแข็งในระยะยาวต่อไป”

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ