สศอ. หนุนอุตฯ ต่อเรือซ่อมเรือจับมือไฟฟ้าอิเล็กฯ กู้วิกฤต

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 11, 2009 15:28 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สศอ. แนะทางออกสู้วิกฤต หนุนอุตฯ ต่อเรือซ่อมเรือ จับคู่ อุตฯ ไฟฟ้าอิเล็กฯ แลกเปลี่ยนเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ ลดการนำเข้า สร้างงาน สร้างเงินหมุนเวียนในประเทศ มั่นใจศักยภาพการผลิตไทยแกร่ง สู้ได้ทั่วโลก

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สศอ.จะเป็นตัวกลางให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ กับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้พบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างเปิดอกในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างน่าเป็นห่วงเช่นนี้ ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 ณ บริษัท อิตัลไทยมารีน จำกัด สมุทรปราการ เนื่องจากเมื่อพิจารณาดูโครงสร้างของอุตสาหกรรมแล้วมีความเชื่อมโยงกันสามารถสร้างความร่วมมือและก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล แต่ที่ผ่านมาเสมือนต่างฝ่ายต่างดำเนินการไปโดยไม่ได้มีการประสานความร่วมมือกัน ทำให้สูญเสียโอกาสบางอย่าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต่อเรือที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการต่อเรือเป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตามในส่วนของอุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบในเรือ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆ ยังคงพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการสูญเสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมที่มีในประเทศอย่างน่าเสียดาย

“อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เนื่องจากการปรับตัวลดลงของการส่งออกที่ก่อนหน้านั้นมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ตลาดอียู และญี่ปุ่น โดยคาดว่าภาวะการผลิตและจำหน่ายในปี 2552 จะลดลงจากปี 2551 ถึง 20-30% ขณะที่อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือของไทยยังคงมีการขยายตัวอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยมีการต่อเรือใหม่คิดเป็นมูลค่า 6,000 บาท ในปี 2548 และทะลุ 10,000 ล้านบาทในปี 2551 เนื่องจากต่างชาติเริ่มให้การยอมรับในฝีมือ

ผนวกกับช่วงดังกล่าว การคมนาคมขนส่งทางเรือได้รับความนิยมเนื่องจากสามารถขนส่งได้ปริมาณที่มากและมีความปลอดภัยสูง ศักยภาพการต่อเรือของไทยจึงถือว่ามีความพร้อม และขณะนี้ผู้ประกอบการยังมียอดคำสั่งต่อเรือค้างอีกถึงปี 2553 คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 10,000 ล้านบาท หากสามารถใช้วัตถุดิบที่ผลิตได้จากผู้ประกอบการในประเทศเอง จะช่วยบรรเทาภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่ซบเซาได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะประเด็นวิกฤตแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อีกหลายหมื่นอัตรา รวมทั้งถือเป็นแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรม ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถเชื่อมโยงกันได้ เพื่อใช้ในประเทศ และสามารถส่งออกได้ในที่สุด”

นายอาทิตย์ ยังได้กล่าวอีกว่า ในภาวะวิกฤตเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบูรณาการการทำงานกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ควรจะพัฒนาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเกิดการพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมในประเทศให้เทียบเท่าคู่แข่ง เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ สามารถจับคู่กับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ตลอดจนเป็นการช่วยบรรเทาวิกฤตแรงงานภาคอุตสาหกรรมได้อีกช่องทางหนึ่ง โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเองได้เร่งผลักดันแนวทางต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้แก้ไขวิกฤต ซึ่งขณะนี้ได้ขอรับการจัดสรรงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 6,900 ล้านบาท จากรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาไปในเบื้องต้น โดยแผนงานนี้จะช่วยรักษาและคงสภาพการจ้างงานได้ประมาณ 60,000 — 80,000 ราย โดยจะใช้งบประมาณ 1,000 -1,500 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ