สศอ. อัดฉีด 80 ล้านบาท หนุนอุตฯ ยานยนต์ฝ่าวิกฤต

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 19, 2009 15:56 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สศอ. อัดฉีดงบ 80 ล้านบาท หนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ สร้างบุคลากรคุณภาพและพัฒนาระบบบริหารการผลิต หวังกระตุ้นผู้ประกอบการ ขยายการจ้างงาน สร้างแหล่งรายได้ พลิกฟื้นเศรษฐกิจ

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และทวีความรุนแรงมากขึ้น ได้ส่งผลกระทบไปยังผู้ประกอบการในทุกสาขาอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ที่เป็นดาวเด่นตลอดกาลหลังไทยฝ่าวิกฤตต้มยำกุ้งมาได้ ซึ่งสถานการณ์ในตอนนี้ ในปี 2551 อุตสาหกรรมรถยนต์สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 8 อย่างไรก็ตามในปี 2552 มีแนวโน้มชะลอตัวกว่าร้อยละ 20 ตามสภาวะเศรษฐกิจโลก ดังนั้น เพื่อความอยู่รอดและเติบโตได้ผู้ประกอบการ จึงต้องมีการปรับตัวกันขนานใหญ่ โดยในส่วนของ สศอ. ได้จัดสรรงบประมาณการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน จำนวน 80 ล้านบาท โดยร่วมกับสถาบันยานยนต์ จัดทำโครงการพัฒนาระบบบริหารการผลิต ระยะที่ 2 งบประมาณ 50 ล้านบาท และโครงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ งบประมาณ 30 ล้านบาท

“ที่ผ่านมา สศอ. ได้ให้การสนับสนุนและผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน โดยได้มีการวางรากฐานความพร้อมของการพัฒนาให้สามารถดำเนินการไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการพัฒนาระบบบริหารการผลิต ระยะที่ 2 นี้จะเป็นการต่อยอดจากปีที่แล้ว โดยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 200 ราย ซึ่งจะเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการบริหารการผลิตและบุคลากร เพื่อให้เกิดการฝังตัวในโรงงาน ให้มีขีดความสามารถในการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง และเกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบุคคลที่มากด้วยประสบการณ์ในอุตสาหกรรม และสานต่อการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ให้ประเทศ

ส่วนโครงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยมีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทำงานร่วมกันในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะฝีมือ รวมทั้งพัฒนาความสามารถของแรงงานให้มีทักษะฝีมือสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก ซึ่งปัจจุบันตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังประสบปัญหาทั้งด้านปริมาณและ

คุณภาพ คือ แรงงานฝีมือและหัวหน้างานมีไม่เพียงพอ เนื่องจากค่านิยมในการเรียนสายอาชีวะน้อยลง โดยหันไปเรียนต่อระดับปริญญามากขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของวิศวกรการผลิตและวิศวกรวิจัยและพัฒนาขาดทักษะในการเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพราะส่วนใหญ่เลือกเดินในสายบริหาร”

นายอาทิตย์ ยังกล่าวอีกว่า ทั้ง 2 โครงการจะเป็นการเข้าไปให้ความช่วยเหลือและกระตุ้นผู้ประกอบการในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ซึ่งเช่นเดียวกับนโยบายทางด้านเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมของรัฐบาลที่จะให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งสร้างมูลค่าให้กับสินค้าอุตสาหกรรมด้วยการยกระดับความสามารถ ทักษะแรงงาน การบริหารจัดการของผู้ประกอบการ และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร ระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการภายในกลุ่มอุตสาหกรรม บนพื้นฐานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา รวมถึงการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบและมีศักยภาพสูง ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ