กระทรวงอุตฯ ทุ่ม 600 ล. เพิ่มขีดความสามารถ บุกอียู

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 27, 2009 15:39 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อัดฉีดงบ 600 ล้านบาท ยกระดับห้อง Lab ไทยอย่างเหนือชั้น ฝ่าด่านอรหันต์มาตรการสิ่งแวดล้อม ทัพหน้าบุกตลาด EU ของอาเซียน ตั้งเป้าไทยเป็นผู้นำสินค้ารักษาสิ่งแวดล้อมแห่งอาเซียนภายใน 10 ปี หนุนอุตฯ หลัก ยานยนต์-ไฟฟ้าฯ-สิ่งทอ ขยายตัวต่อเนื่องใน EU

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดในช่วง 3-4 ปี ก่อนจะเข้าสู่ภาวะวิกฤตในปัจจุบัน โดยตลาดส่งออกที่สำคัญคือ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (อียู) สำหรับในส่วนตลาดอียู สินค้าส่งออกที่สำคัญประกอบด้วย อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และสิ่งทอ เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกสูงกว่าสินค้าอื่นๆ ซึ่งมูลค่าการส่งออกเมื่อปี 2551 ไทยมีมูลค่าการส่งออกไป EU ประมาณ 700,000 ล้านบาท เป็นอันดับ 2 รองจากประเทศในกลุ่มอาเซียน นับเป็นตลาดที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับเศรษฐกิจไทย เพราะนอกจากการเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้จากการส่งออกแล้ว ยังสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม การจ้างงาน รวมไปถึงการสร้างความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศอีกเป็นจำนวนมาก และยังมีประโยชน์ทางด้านการพัฒนาองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี และความสามารถของบุคลากรของประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการจะส่งออกสินค้าเข้าไปจำหน่ายในสหภาพยุโรปนั้น รูปแบบและลักษณะสินค้าได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยต้องมีการผลิตให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฏระเบียบต่างๆ ของสหภาพยุโรป ได้แก่ กฏระเบียบ ELV/WEEE/RoHS, กฏระเบียบ EuP และกฏระเบียบ REACH ซึ่งสาระสำคัญส่วนใหญ่ภายใต้กฏระเบียบทั้งหมดได้ให้ความสำคัญกับการใส่ใจและรักษาสิ่งแวดล้อม

“ในส่วนของ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการจัดสรรงบประมาณภายในกรอบปี 2551 — 2553 ประมาณ 600 ล้านบาท เพื่อทำการยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการทดสอบและวิเคราะห์สารอันตราย เป็นจำนวน 200 ล้านบาท และในส่วนที่เหลือนำไปพัฒนาฐานข้อมูลและองค์ความรู้

รวมทั้งการติดตามกฏระเบียบมาตรการต่างๆ ทั้งที่มีผลบังคับใช้แล้วและมาตรการใหม่ๆ ที่จะมีการประกาศออกมาในอนาคต ภายใต้มาตรการเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทย ในการแข่งขันภายใต้กฏระเบียบของสหภาพยุโรป ซึ่งจะสอดคล้องกับที่ประเทศไทยได้ตั้งเป้าในการเป็นศูนย์การผลิตสินค้ารักษาสิ่งแวดล้อมในกลุ่มประเทศอาเซียน นอกจากนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพยุโรป และ UNIDO มาทำการฝึกอบรมให้ความรู้แก่บุคลากร และการพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบ รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลกันโดยตรงจากผู้ที่มีประสบการณ์และมีความชำนาญ อย่างไรก็ตาม หากเรามีความพร้อมในส่วนนี้จะทำให้เราสามารถใช้สิทธิประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสในการรุกตลาดอียูให้มากขึ้นอีกด้วย ”

นายอาทิตย์ ยังกล่าวอีกว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการต้องตระหนักถึงการปรับตัวให้ได้ตามกฏระเบียบดังกล่าว ซึ่งจะเป็นโอกาสทางการแข่งขันครั้งสำคัญที่จะทำให้ไทยสามารถส่งออกและขยายตลาดไปยังประเทศสมาชิกในยุโรปและประเทศต่างๆ ได้เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนสามารถยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศให้เป็นศูนย์กลางของอาเซียนในการผลิตสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม โดยใช้จุดเด่นด้านนี้มาเป็นกลยุทธ์ในการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันที่กำลังหันมาให้ความสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ