ภาคอุตฯ ซึมหนัก อุตฯ หลักกอดคอร่วง ส่งผลกำลังการผลิต ม.ค. วูบเหลือ 51% ขณะที่ดัชนีผลผลิตไม่น้อยหน้า ติดลบเฉียด 26%
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นับจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างชัดเจนตั้งแต่เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยมีสัญญาณจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากเดือนสิงหาคม 2551 ที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิต 61.80% จนถึง ณ ขณะนี้เดือนมกราคม 2552 อัตราการใช้กำลังการผลิตเหลือเพียง 51.65% ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (ดัชนีอุตฯ) ติดลบ -25.60% เช่นกัน ซึ่งถือเป็นภาวะถดถอยอย่างชัดเจนสำหรับภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งหลายฝ่ายต่างเร่งหามาตรการรับมือกันอย่างแข็งขันทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมที่มีผลต่อการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญจะเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การผลิต Hard Disk Drive และน้ำมันปิโตรเลียม
การผลิตรถยนต์ ภาวะการผลิตและการจำหน่าย เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลง -35.6% และ -39.0% สาเหตุมาจากตลาดรถปิกอัพ 1 ตัน เป็นหลัก โดยการจำหน่ายปรับลดลงจากปีก่อนถึง -44.9% เนื่องจากภาวะการส่งออกชะลอลงอย่างหนักจากผลพวงวิกฤตเศรษฐกิจโลก อีกทั้งราคาน้ำมันดีเซลมีราคาสูง ผู้บริโภคจึงหันไปใช้รถยนต์นั่งแทน เนื่องจากประหยัดน้ำมัน ส่งผลให้ยอดขายรถปิกอัพภายในประเทศปรับลดลงอย่างมาก เช่นเดียวกับปริมาณการส่งออกก็ปรับลดลงในทิศทางเดียวกัน สืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นสินค้าในกลุ่มการผลิตเพื่อการส่งออกที่สำคัญ ผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกจึงทำให้การส่งออกหดลดลง -50% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี
ก่อน ซึ่งตลาดส่งออกที่หดตัวมากที่สุดได้แก่ จีน ไต้หวัน และในกลุ่มอาเซียน อย่างไรก็ตาม ยอดขายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั้งโลก สำหรับปี 2551 เทียบกับปี 2550 พบว่าลดลง -2.8% คิดเป็นมูลค่าที่หายไป 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ
การผลิต Hard Disk Drive เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่า ทั้งการผลิตและการจำหน่ายติดลบลงไปอย่างมากคิดเป็น -31%และ -29% ตามลำดับ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากประเทศผู้นำเข้าหลักได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้มีคำสั่งซื้อลดลงส่งผลต่อการผลิตและจำหน่ายดังกล่าว แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกที่สำคัญของโลกและเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศมากที่สุดในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา เมื่อภาพรวมของตลาดชะลอลงจึงส่งผลกระทบค่อนข้างชัดเจน อุตสาหกรรมนี้จึงได้รับผลกระทบมากเช่นกัน ซึ่งส่งผลต่ออัตราการจ้างงานโดยเริ่มมีการปรับลดคนงานในกลุ่มนี้
การผลิตน้ำมันปิโตรเลียม เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ภาวะการผลิตโดยรวมและการจำหน่ายปรับตัวลดลง 10.25% และ 9.34% โดยปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัว เนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว ภาคการผลิตที่ปรับตัวลดลงรวมถึงประชาชนมีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการเดินทางลดลง ทำให้ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับการคมนาคมขนส่งและใช้ในภาคการผลิตลดลงตามไปด้วย
โดยสรุปดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2551 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 138.97 ลดลง -25.60% จากระดับ 186.78 ดัชนีผลผลิต (มูลค่าผลผลิต) อยู่ที่ระดับ 140.46 ลดลง -25.41 จากระดับ 188.31 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 133.53 ลดลง -25.80% จากระดับ 179.95 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 108.97 ลดลง -8.24% จากระดับ 118.76 ดัชนีผลิตภาพแรงงานอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 130.13 ลดลง -19.98% จากระดับ 162.63 ขณะที่ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 195.45 เพิ่มขึ้น 12.06% จากระดับ 174.42 ดัชนีอัตราส่วนสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 214.46 เพิ่มขึ้น 1.43% จากระดับ 211.45 ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 51.65
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--