สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 3, 2009 15:49 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 4 ปี 2551 เศรษฐกิจหลาย ๆ ประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย จากปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินที่รุนแรงมากขึ้น หลังจากที่เลห์แมน บราเธอร์ วาณิชธนกิจขนาดใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐฯ ยื่นฟ้องล้มละลายต่อศาล หรือบริษัทประกัน AIG ของสหรัฐฯ ประสบปัญหาด้านการเงิน รวมถึงประเทศฮังการี ยูเครน ได้ขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น รวมถึงในประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และกลุ่มสหภาพยุโรป และในหลาย ๆ ประเทศ เศรษฐกิจได้ชะลอตัวอย่างรุนแรง ภาคการค้าและภาคอุตสาหกรรมซบเซาทั่วโลก ขณะที่บางประเทศก็เผชิญภาวะตกต่ำในตลาดที่อยู่อาศัย ภาคการผลิตปรับลดการผลิตและลดการจ้างงาน และในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 เกิดปัญหาการว่างงานรุนแรงไปทั่วโลก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคบริการ มีหลาย ๆ บริษัทปิดกิจการ รวมถึงลดกำลังการผลิต เช่น บริษัทสตาร์บัคส์ โตโยต้า ไมโครซอฟท์ และธนาคารยูบีเอส อีกทั้ง International Labour Organization หรือ ILO ประเมินว่า ณ สิ้นปี 2551 จะมีผู้ว่างงานจำนวน 210 ล้านคน

สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 4.0 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 5.3) และไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 (ร้อยละ 5.1) โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ได้แก่ การบริโภคภายในประเทศที่ชะลอลงเล็กน้อย โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนทรงตัว ส่วนรายจ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลลดลง การลงทุนชะลอตัวลง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2551 จะขยายตัวร้อยละ 4.5

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมไทย ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ตัวชี้วัดต่าง ๆ ส่วนใหญ่มีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2550 เช่น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(Manufacturing Production Index : MPI) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 166.0 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (184.9) ร้อยละ 10.2 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2550 (183.7) ร้อยละ 9.7 โดยมีการผลิตลดลงในเกือบทุกอุตสาหกรรมนอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมมีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2550 เช่นกัน

สถานการณ์การค้าในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 มีทิศทางลดลงจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2551เนื่องจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจโลก โดยในไตรมาสที่ 4 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 78,893.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 38,741.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 40,152.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 22.42 และการนำเข้าลดลงร้อยละ 20.32 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 10.58 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.05 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ดุลการค้าขาดดุล 1,410.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ การส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่ามีมูลค่าการส่งออกลดลงโดยตลอดตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงเดือนธันวาคม โดยเฉพาะในเดือนธันวาคม 2551 ซึ่งมูลค่าการส่งออกลดลงถึงร้อยละ 14.55 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออก 11,604.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน มีมูลค่ารวม 49,203.16 ล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 11.59 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในปี 2551 เดือนตุลาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 26,572.53 ล้านบาท และเดือนพฤศจิกายน 22,630.63 ล้านบาท สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 454 โครงการ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.69 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีเงินลงทุน 230,900 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.06 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 156 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 71,200 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 141 โครงการ เป็นเงินลงทุน 103,600 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาในหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีเงินลงทุน 80,600 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 50,700 ล้านบาท และหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีเงินลงทุน 31,500 ล้านบาท

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 มีดัชนีผลผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 96.40 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 20.85 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงเช่นกันร้อยละ 22.79 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับลดลงทุกรายการยกเว้นหม้อหุงข้าวไฟฟ้าที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 พบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 4 ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.59 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงถึงร้อยละ 7.76 โดยสินค้าที่มีการปรับตัวลดลงมากเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คือ Other IC และ Hard Disk Drive ลดลงร้อยละ 8.02 และ ร้อยละ 5.93 ตามลำดับ

จากการประมาณการดัชนีการส่งสินค้าประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ของแบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมรายสาขาของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า แนวโน้มภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2552 โดยดูจากดัชนีการส่งสินค้าของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ประมาณการว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 22.04 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศที่คาดว่าการส่งสินค้าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 42.27 และการปรับตัวลดลงของอุตสาหกรรมเครื่องรับโทรทัศน์ (ไม่รวม LCD/Plasma) โดยประมาณการว่าการส่งสินค้าจะชะลอตัวโดยปรับตัวลดลง 34.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

เคมีภัณฑ์ ไตรมาส 4 ปี 2551 การส่งออกเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าลดลงร้อยละ 31.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เคมีภัณฑ์ อนินทรีย์มีมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 17.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มในไตรมาสที่1 ปี 2552 น่าจะอยู่ในภาวะชะลอตัวลง ทั้งนี้เนื่องจากเคมีภัณฑ์โดยส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบเบื้องต้นในการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งจากวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา กับสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอน น่าจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจหดตัว รวมทั้งอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ด้วย

ปิโตรเคมี ในไตรมาส 4 ปี 2551 การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออกลดลงถึงร้อยละ 41.55 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และลดลงร้อยละ 25.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 29.26 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และลดลงถึงร้อยละ 37.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออกลดลงถึงร้อยละ 33.85 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และลดลงร้อยละ 29.96 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดการณ์ว่า วัฏจักรธุรกิจปิโตรเคมีจะเข้าสู่วงจรขาลงยาวนานกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ จากเดิมที่น่าจะไม่เกินปี 2553-2555 และจากการที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอยอย่างรุนแรง ในขณะที่ปริมาณการผลิตของโลกยังคงเข้าสู่ตลาดมากขึ้นตามแผนการผลิตเดิม โดยเฉพาะสินค้าจากตะวันออกกลางและจีน ได้สร้างแรงกดดันในการแข่งขันให้ทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับตัวเพื่อรักษาตลาดเดิมไว้โดยประสานความร่วมมือกันระหว่างผู้ผลิตกับกลุ่มลูกค้าในการคิดค้น พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของตลาดให้ได้มากที่สุด

เหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 มีประมาณ 985,881เมตริกตัน (ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ชะลอตัวลดลง ร้อยละ 49.26 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนและเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่สำคัญทุกตัวมีการผลิตที่ลดลง โดยเหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่นๆ ลดลงมากที่สุด ร้อยละ 67.63 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 54.12 และเหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 53.76 เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว มีผลให้ความต้องการของผู้ใช้ที่สำคัญ ได้แก่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ลดลงด้วย จึงทำให้ไม่มีคำสั่งซื้อจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องในช่วงนี้เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องเองก็ยังคงมีสต๊อกอยู่ในปริมาณที่มาก ส่งผลให้ผู้ผลิตลดการผลิตลง สำหรับเหล็กทรงยาวซึ่งผู้ใช้ส่วนใหญ่คืออุตสาหกรรมก่อสร้างมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 45 เนื่องจากการชะลอตัวของธุรกิจก่อสร้างประกอบกับยังคงมีสต๊อกอยู่ทั้งผู้ผลิตและพ่อค้าคนกลาง

แนวโน้มสถานการณ์เหล็กโดยรวมในประเทศของไตรมาสที่ 1 ปี 2552 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดการณ์ว่าทั้งการผลิตในกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบนจะลดลงเนื่องจากปัญหาสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบนชะลอตัวอยู่ประกอบกับทั้งผู้ผลิตและพ่อค้าคนกลางยังคงมีสต๊อกอยู่ และเมื่อพิจารณาในเรื่องการส่งออก พบว่า จากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจของหลายประเทศ เช่น ตะวันออกกลาง อาเซียน ทำให้คาดการณ์ว่าการส่งออกของเหล็กทั้ง 2 กลุ่มในตลาดดังกล่าวจะลดลงด้วย

ยานยนต์ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 มีการผลิตรถยนต์ จำนวน 325,299 คัน เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 8.09 โดยรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ และรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน ลดลงร้อยละ 40.49 และ 13.84 ตามลำดับ แต่การผลิตรถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.78 หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่สามของปี 2551 ปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงร้อยละ 6.86 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ และรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน ลดลงร้อยละ 11.31, 6.84 และ 4.91 ตามลำดับ สำหรับไตรมาสที่สี่ ของปี 2551 มีผู้ประกอบการรายหนึ่งหยุดกิจการชั่วคราว อันเป็นผลจากปัญหาด้านแรงงานที่มีการประท้วงของสหภาพแรงงาน

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ประมาณการว่า ในปี 2552 จะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 1.08 ล้านคัน โดยเป็นการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศประมาณร้อยละ 45 และผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 55

พลาสติก ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว ลดลงร้อยละ 12.10 และลดลงร้อยละ 11.42 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศชะลอตัวลงอย่างมาก สาเหตุจากภาวะวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งทำให้ยอดการส่งออกของไทยลดลง

แนวโน้มในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 คาดว่าความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกจะชะลอตัวลง เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวลต่อปัญหาทางเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิตจะมีราคาลดลงก็ตาม แต่ข่าวที่หลายบริษัทมีผลประกอบการลดลง ยอดการสั่งซื้อที่ลดลง จนต้องลดต้นทุนการผลิตด้วยการปรับลดพนักงาน ยิ่งทำให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจในเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้น

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง มูลค่าการส่งออกรวมรองเท้าและชิ้นส่วน และเครื่องใช้สำหรับเดินทาง ในปี 2551 (ม.ค.-ธ.ค.) เทียบกับปีที่แล้ว ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.2 และ 0.5 ตามลำดับ แต่มูลค่าการส่งออกของหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอก มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.3 ตลาดส่งออกหลักของสินค้ารองเท้าในปี 2551 คือ สหรัฐอเมริกา เบลเยียม และเดนมาร์ก ส่วนตลาดส่งออกสำคัญของสินค้าหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอก คือ ฮ่องกง เวียดนาม และจีน

แนวโน้มของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง ในปี 2552 คาดว่าอุตสาหกรรมรองเท้าและ เครื่องหนังจะทรงตัวหรือขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน เพราะปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่จากการเปิดตลาดกับประเทศใหม่ๆ มากขึ้น และประเทศไทยมีศักยภาพในด้านการออกแบบและเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าในเรื่องของคุณภาพมากขึ้น

อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมผลิตภัณฑ์ น้ำตาลทราย) ลดลงร้อยละ 1.0 จากไตรมาสที่ 3 เนื่องจากการผลิตในกลุ่มน้ำมันพืช ผลิตภัณฑ์นม อาหารสัตว์ และประมง ลดลง เป็นผลจากการปรับราคาสินค้าอาหารขึ้นอย่างต่อเนื่องจากช่วงไตรมาสที่ 3 ทำให้ความต้องการของประชาชนในประเทศปรับตัวลดลง ประกอบกับความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ และผลสืบเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศผู้นำเข้าหลัก แต่หากพิจารณารวมการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายจะทำให้ภาพรวมของภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7 จากการเปิดฤดูหีบอ้อยประจำปี 2552

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 คาดว่าจะยังคงมีทิศทางการผลิต การจำหน่ายในประเทศและส่งออกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่ส่งผลต่อเนื่องกับตลาดต่างประเทศ และยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ราคาน้ำมันที่ยังไม่มีเสถียรภาพ จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณตกต่ำจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและการก่อการร้ายในหลายประเทศ ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคที่ยังชะลอการจับจ่ายใช้สอย การแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนก ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ และมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบต่างๆ ที่ประเทศผู้นำเข้าจะประกาศใช้ในอนาคต

ไม้และเครื่องเรือน ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2551 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.38 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 21.96 ทั้งนี้ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากต้นทุนราคาน้ำมันที่ลดลง และเป็นช่วงฤดูขายปลายปี อย่างไรก็ตาม การผลิตมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ยังชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะของประเทศคู่ค้าหลักของไทย ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 คาดว่าจะทรงตัว เนื่องจากสภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและทั่วโลก ความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ ความผันผวนของราคาน้ำมัน และค่าครองชีพที่สูง จะทำให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคระมัดระวังการลงทุนและการจับจ่ายใช้สอย

ยางและผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนการผลิตยางแท่งและยางแผ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.59 และ 33.21 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนการผลิตยางแท่งและยางแผ่นลดลงร้อยละ 17.46 และ 19.35 ตามลำดับ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ราคายางพาราตกต่ำอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทั้งนี้เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินของสหรัฐอเมริกาส่งผลกระทบต่อความต้องการยางพาราจากไทยลดลง อุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาซบเซา ยอดการจำหน่ายลดลงต่ำกว่าร้อยละ 30 ส่งผลกระทบถึงอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ซึ่งใช้ยางพาราในการผลิต โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ผลิตยางล้อรถยนต์รายใหญ่ และมีผลให้สหรัฐอเมริกาชะลอการซื้อยางรถยนต์จากจีนและญี่ปุ่น จึงทำให้จีนและญี่ปุ่นต้องชะลอการสั่งซื้อวัตถุดิบยางพาราจากไทย

แนวโน้มอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 คาดว่าจะทรงตัวหรือชะลอตัว เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้ต้องลดกำลังผลิตและปลดคนงาน ส่งผลให้ปริมาณความต้องการยางล้อและยางพาราลดลง

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 มีค่าดัชนีผลผลิต 85.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 39.3 และ 40.0 ตามลำดับ สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษที่ลดลง ส่วนภาวะการผลิตกระดาษทุกประเภท ได้แก่ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก มีค่าดัชนีผลผลิตเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนการผลิตลดลงเช่นเดียวกันกับไตรมาสก่อน

สำหรับแนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสหน้าคาดว่าการผลิตและการจำหน่ายจะลดลง เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อลดลง ส่งผลให้ผู้ผลิตอาจลดกำลังการผลิตลงตามไปด้วย แม้ว่าต้นทุนการผลิตในเรื่องพลังงานจะเริ่มถูกลง แล้วก็ตาม

ยา การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ร้อยละ 10.7 และ 12.6 ตามลำดับ แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัว เพราะยาเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต โดยยาที่มีการผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาก คือ ยาน้ำ ประเภทยาแก้ไข้ แก้ไอ และแก้หวัด เนื่องจากเป็นยาที่มีความต้องการมากตามสภาพอากาศ และฤดูกาล ด้านการนำเข้าโดยส่วนใหญ่เป็นยาสิทธิบัตร มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการดำเนินกิจกรรมด้านการตลาดของผู้นำเข้า รวมถึงการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชน สำหรับการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยตลาดหลัก คือ อาเซียน

สำหรับในไตรมาสแรกของปี 2552 คาดว่าการผลิต และการจำหน่ายยาในประเทศ จะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตในประเทศมีแนวโน้มที่จะจัดกิจกรรมด้านตลาด รวมถึงเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ และทำการประชาสัมพันธ์ถี่ขึ้น เพื่อกระตุ้นตลาด

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอ การผลิตเครื่องแต่งกายยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม การผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 11.1 และ 8.1 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 15.5 และ 2.0 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสาเหตุหลักจากปัญหาการเมืองภายในประเทศรวมทั้งผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ทำให้ลูกค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศลดการซื้อสินค้าลง ซึ่งคาดว่าการผลิตเส้นใยฯ จะปรับตัวดีขึ้นประมาณปลายไตรมาสแรกปี 2552 สำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูปสถานการณ์ยังคงผันผวน ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์แนวโน้มได้ ทั้งนี้ขึ้นกับตลาดส่งออกหลักและตลาดในประเทศ รวมถึงคำสั่งซื้อ (order) จากลูกค้าที่จะมีเข้ามา

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ภาวะวิกฤตการเงินยังส่งผลกระทบทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มประเทศนี้มีกำลังการผลิตสิ่งทอรวมกันร้อยละ 75 ของโลก แต่ทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินในครั้งนี้ค่อนข้างมาก ส่งผลให้ต้องมีการนำเข้าสิ่งทอจากเอเซียรวมทั้งไทยมากขึ้น อีกทั้งจีนเองได้ลดการผลิตสิ่งทอเพื่อการส่งออกและเน้นทำตลาดในประเทศมากขึ้น นอกจากนี้โรงงานเป็นจำนวนมากได้ทยอยปิดตัวลงเพื่อลดต้นทุนการผลิตจากที่ค่าแรงงานเพิ่มสูงขึ้น จากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้อาจเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการปรับตัว และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้นต่อไป และคงต้องหาตลาดใหม่ๆ ด้วย

ปูนซีเมนต์ การผลิตปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 4 ปี 2551 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 8.67 ล้านตัน การผลิตซีเมนต์ 7.42 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตปูนเม็ดและการผลิตซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 9.69 และ 8.51 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ด และการผลิตซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 15.25 และ 14.32 ตามลำดับ เนื่องจากภาคการก่อสร้างและภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซา ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนขยายธุรกิจต่างๆ ของภาคเอกชน และโครงการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐยังไม่มีความคืบหน้า

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 มีแนวโน้มที่จะยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย บรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชนยังคงซบเซา ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินโครงการสาธารณูปโภคของภาครัฐยังคงไม่มีความคืบหน้า

เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาสที่ 4 ปี 2551 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 20.16 และ 10.49 ตามลำดับ สำหรับการผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 22.63 และ 15.67 ตามลำดับ ซึ่งการผลิตเซรามิกลดลงจากผลกระทบของปัญหาเศรษฐกิจ และภาวะซบเซาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ

แนวโน้มการผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาสที่ 1 ปี 2552 แม้ว่าในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ตลาดเข้าสู่ฤดูการขายแล้วก็ตาม แต่การผลิตและจำหน่ายเซรามิกในประเทศจะอยู่ในภาวะทรงตัว จนกว่าปัญหาเศรษฐกิจในประเทศจะคลี่คลายไปในทางที่ดี จึงจะทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในการตัดสินใจซื้อเพิ่มขึ้น

อัญมณีและเครื่องประดับ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.24 ดัชนีส่งสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.98 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ด้านมูลค่าการส่งออกมีการขยายตัวร้อยละ 0.97 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปที่ได้รับความนิยมเพื่อการลงทุน และการเก็งกำไรจากส่วนต่างของราคาทองคำที่ผันผวนในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

แนวโน้มภาพรวมการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ปัจจัยด้านลบ คือ ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกทำให้คู่ค้ารายสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ชะลอการซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ อย่างไรก็ดี ประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจได้มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เพิ่งเริ่มดำเนินการ ซึ่งคาดว่ายังไม่ปรากฏผลชัดเจนในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ปัจจัยด้านบวก คือ แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ต่ำกว่า 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จะส่งผลบวกให้เศรษฐกิจโลกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น และแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาทจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 จากปัจจัยทั้งหลายดังกล่าว คาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2551

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ