สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2551 (เศรษฐกิจโลก)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 3, 2009 15:56 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจโลก

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 4 ปี 2551 เศรษฐกิจหลาย ๆ ประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย จากปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินที่รุนแรงมากขึ้น หลังจากที่เลห์แมน บราเธอร์ วาณิชธนกิจขนาดใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐฯ ยื่นฟ้องล้มละลายต่อศาล หรือบริษัทประกัน AIG ของสหรัฐฯ ประสบปัญหาด้านการเงิน รวมถึงประเทศฮังการี ยูเครน ได้ขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และกลุ่มสหภาพยุโรป และในหลาย ๆ ประเทศ เศรษฐกิจได้ชะลอตัวอย่างรุนแรง ภาคการค้าและภาคอุตสาหกรรมซบเซาทั่วโลก ขณะที่บางประเทศก็เผชิญภาวะตกต่ำในตลาดที่อยู่อาศัย ภาคการผลิตปรับลดการผลิตและลดการจ้างงาน และในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 เกิดปัญหาการว่างงานรุนแรงไปทั่วโลก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคบริการ มีหลาย ๆ บริษัทปิดกิจการ รวมถึงลดกำลังการผลิต เช่น บริษัทสตาร์บัคส์ โตโยต้า ไมโครซอฟท์ และธนาคารยูบีเอส อีกทั้ง International Labour Organization หรือ ILO ประเมินว่า ณ สิ้นปี 2551 จะมีผู้ว่างงานจำนวน 210 ล้านคน

วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงมากขึ้นในไตรมาส 4 ปี 2551 ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานของประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีแนวโน้มที่รุนแรงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ทั่วโลกอาจประสบกับปัญหาเงินฝืดเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 4 ปี 2551 อยู่ที่ 55.64 USD/Barrel ลดลงจากต้นปี สาเหตุหลักมาจากความต้องการที่ลดลง สถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันยังคงแกว่งตัวขึ้นลง โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมีนาคม ลดลง 2.01 USD/Barrel ราคาอยู่ที่ 37.55 USD/Barrel เนื่องจาก Energy Information Administration (EIA) คาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกปี 2552 จะลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่หดตัว การที่เศรษฐกิจโลกหดตัวจะเป็นแรงกดดันให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นได้ไม่มากนัก ถึงแม้กลุ่ม OPEC ลดกำลังการผลิตก็ตาม

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา

ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาส 4 ปี 2551 GDP หดตัวร้อยละ 0.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.3 เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคชะลอตัวลง ขณะที่การลงทุนของภาคธุรกิจก็ลดลงด้วย การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน หดตัวร้อยละ 1.0 และ 0.89 ตามลำดับ เนื่องจากตัวเลขผู้ว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 4 ปี 2551 อยู่ที่ 40.7 จุด ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ 91.2 จุด อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 4 ปี 2551 หดตัวร้อยละ 9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.1

การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2551 หดตัวร้อยละ 23.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 10.0 การส่งออกสินค้าโดยเฉพาะรถยนต์ลดลงอย่างมาก การนำเข้าไตรมาส 4 ปี 2551 หดตัวร้อยละ 9.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 11.4 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง รวมทั้งอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลงด้วย

อัตราเงินเฟ้อไตรมาส 4 ปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.0 อันเนื่องมาจากราคาสินค้าในหมวดพลังงานที่ลดลง อัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยไตรมาส 4 ปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 6.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.8 เป็นผลมาจากการลดลงของการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม และภาคการเงิน

ทางด้านสถานการณ์การเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 ให้คงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 0.25 เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยอย่างรุนแรง นอกจากนี้ Fed ได้จัดเตรียมใช้นโยบายการเงินอื่น ๆ เช่น การซื้อหนี้เสียในระยะยาวพร้อมขยายปริมาณการซื้อสินทรัพย์เสียดังกล่าว เพื่อให้สถานการณ์อันเกิดจากวิกฤตสินเชื่อดีขึ้น ซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ ทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ มุ่งเน้นที่มาตรการอัดฉีดเงินฉุกเฉินแทนการใช้เครื่องมือดอกเบี้ยในการต่อสู้กับวิกฤต

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 4 ปี 2551 เข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น จะเห็นได้จากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังตกต่ำอย่างรุนแรง ภาคการผลิตมีการลดกำลังการผลิต รวมถึงภาคแรงงานที่มีการเลิกจ้าง

เศรษฐกิจจีน

เศรษฐกิจประเทศจีนในไตรมาส 4 ปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 6.8 ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 12.0 เนื่องมาจากภาคการส่งออกที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้มีการนำเข้าสินค้าจากจีนลดลง มูลค่าการค้าปลีกในไตรมาส 4 ปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 20.6 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ซึ่งมีการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 19.0 อันเป็นผลจากการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคในประเทศในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2551 อยู่ที่ 92.4 และ 90.2 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในไตรมาส 4 ปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 25.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 24.9

การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2551 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.3 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 22.3 การส่งออกลดลงเนื่องจากฐานในไตรมาส 4 ปีก่อนหน้าสูง เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว และปัญหาสินค้าส่งออกของจีนปนเปื้อนสารเมลามีน ส่งผลให้โรงงานในประเทศจีนหลายพันแห่งปิดกิจการ การนำเข้าไตรมาส 4 ปี 2551 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ 8.9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 25.4 สะท้อนถึงเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว รวมถึงอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลงอย่างมาก

ภาวะเงินเฟ้อของประเทศจีนในไตรมาส 4 ปี 2551 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -3.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.5 เป็นผลมาจากราคาสินค้าในหมวดอาหาร และสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง อัตราการว่างงานในไตรมาส 4 ปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 4.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4 อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นสืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัว

ทางด้านสถานการณ์การเงิน ธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 5.58 เหลือร้อยละ 5.31 (ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2551)

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 4 ปี 2551 เกิดการชะลอตัวอย่างมาก เนื่องจากการค้าที่ชะลอตัว จีนเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อหวังจะกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ และรองรับแรงกระแทกจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น

เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ปี 2551 GDP หดตัวร้อยละ 0.3 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3 ปี 2551 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2550 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไตรมาส 4 ปี 2551 อยู่ที่ 26.7จุด ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ 38.8 จุด การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคครัวเรือนในไตรมาส 3 ปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.4 เนื่องจากประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายถึงแม้ราคาน้ำมันจะลดลงก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนไตรมาส 3 ปี 2551 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2550 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.3 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก จากภาวะที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น การลงทุนในภาคก่อสร้างไตรมาส 3 ปี 2551 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.8 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2550 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ 11 ได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเนื่องจากขาดสภาพคล่อง ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 4 ปี 2551 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ 14.38 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 อยู่ที่ร้อยละ 2.76

การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2551 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ 23.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 10.0 การส่งออกสินค้าหลักโดยเฉพาะรถยนต์และชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ลดลงอย่างมาก เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดประเทศคู่ค้าลดลง การนำเข้าไตรมาส 4 ปี 2551 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ 9.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 11.4 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง

ภาวะเงินเฟ้อของประเทศญี่ปุ่นในไตรมาส 4 ปี 2551 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.5 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 ที่มีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.2 เป็นผลมาจากราคาสินค้าในหมวดอาหาร และพลังงานที่ลดลง อัตราการว่างงานในไตรมาส 4 ปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.7 เป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ภาคเอกชนลดกำลังการผลิต

ทางด้านสถานการณ์การเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2551 ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 0.3 เหลือร้อยละ 0.1 เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจ ลดการแข็งค่าของเงินเยน และบรรเทาแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนัก การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นอาจไม่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นมากนัก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว นอกจากนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังมีมาตรการเพิ่มสภาพคล่องของบริษัทเอกชนโดยการเข้าซื้อหุ้นกู้ระยะสั้น และเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 4 ปี 2551 เข้าสู่ภาวะถดถอยที่รุนแรงขึ้น การส่งออกและอุปสงค์ทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศที่ลดลง ส่งผลให้หลาย ๆ อุตสาหกรรม ปรับลดกำลังการผลิตและการจ้างงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ ทั้งนี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้เพิ่มงบประมาณฉุกเฉินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ การลดค่าประกันการว่างงาน การลดภาษีเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย รวมถึงการจ่ายเงินให้แต่ละครัวเรือน

เศรษฐกิจสหภาพยุโรป

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยุโรปในไตรมาส 3 ปี 2551 GDP ขยายตัวร้อยละ 0.5 ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2550 GDP อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ในส่วนของ GDP ภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 3 ปี 2551 หดตัวร้อยละ 1.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 เนื่องจากการหดตัวของการบริโภคภาคครัวเรือน และการลงทุน ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2551 อยู่ที่ร้อยละ -5.6 และ -7.7 ตามลำดับ

การส่งออกไตรมาส 3 ปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 7.48 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2550 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 9.58 สำหรับการส่งออกในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน อยู่ที่ร้อยละ 3.28 และ -10.7 ตามลำดับ การนำเข้าไตรมาส 3 ปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 13.51 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 7.1 สำหรับการนำเข้าในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน อยู่ที่ร้อยละ 4.35 และ -4.05 ตามลำดับ

ภาวะเงินเฟ้อทั่วไปของกลุ่มประเทศยุโรปในไตรมาส 4 ปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.1 สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อลดลงเป็นผลจากราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง อัตราการว่างงานในไตรมาส 4 ปี2551 อยู่ที่ร้อยละ 7.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.2 สะท้อนถึงผลกระทบของวิกฤตการเงินโลกที่ส่งผลต่อภาคการผลิตและการจ้างงานของยุโรป

ทางด้านสถานการณ์การเงิน ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 2.5 เหลือร้อยละ 2.0 (เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2552) เพื่อพยุงเศรษฐกิจยุโรปไม่ให้ถูกกระทบจากภาวะถดถอย

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหภาพยุโรปในไตรมาส 4 ปี 2551 เข้าสู่ภาวะถดถอยที่รุนแรง อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และการขาดดุลการค้าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้รัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน และสเปน ได้ออกมาตรการช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์ และแผนการกระตุ้นทางการเงินเพื่อพยุงให้เศรษฐกิจอยู่รอดได้

เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในเอเซีย

เศรษฐกิจฮ่องกง

ภาวะเศรษฐกิจของฮ่องกง ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 GDP ขยายตัวที่ร้อยละ 1.73 ซึ่งลดลงจาก ร้อยละ 4.2 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 สาเหตุจากทั่วโลกเกิดสภาวะการณ์ตลาดการเงินมีความรุนแรงทำให้เกิดความปันป่วนและมีผลกับเศรษฐกิจฮ่องกง โดยในครึ่งปีแรกอัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 3.4

การส่งออกของฮ่องกงในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 มีการส่งออกลดลง โดยอัตราการขยายตัวการส่งออกหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.70 ในขณะที่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.36 โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 มีมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 94,451 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกประเภท Electrical Machinery, Etc. ที่มีมูลค่าการส่งออกถึง 40,538 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ Machinery; Reactors, Boilers, Precious Stones, Toys and Sports และ Knit Apparel ตามลำดับ ซึ่งการส่งออกกว่าร้อยละ 50 ของการส่งออกทั้งหมด ส่งไปยังประเทศจีน โดยมีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 45,641 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและเยอรมัน ในขณะที่ฮ่องกงมีมูลค่าการนำเข้าจากทั่วโลกทั้งหมด 98,057 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 3.5 การนำเข้าส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน 46,984 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่าร้อยละ 48 ของการนำเข้าทั้งหมด และการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าประเภท Electrical Machinery, Etc. ที่มีมูลค่าการนำเข้าถึง 40,417 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 41.22 ของการนำเข้าทั้งหมด รองลงมาคือ Machinery; Reactors, Boilers, Precious Stones และ Toys and Sports ตามลำดับ

อัตราเงินเฟ้อของฮ่องกงลดลงจากร้อยละ 3 ในเดือนกันยายน 2551 เหลือร้อยละ 1.8 ในเดือนตุลาคม 2551 ตามราคาอาหารและราคาพลังงานในตลาดโลกที่ลดลง

ด้านการเงินการคลัง ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืน(seven-day repo rate) ลงร้อยละ 0.5 จากระดับเดิมร้อยละ 3 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 5 ตั่งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2551 โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากภาคการส่งออกได้รับความเสียหายอย่างมากจากความต้องการสินค้าทั่วโลกลดลง

ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายน 2551 อยู่ที่ระดับ 111.7 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 105.9 เนื่องจากดัชนีราคาของสินค้ากลุ่มต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 สินค้ากลุ่มเครื่องแต่งกายเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 การขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 สาธารณูปโภคพื้นฐานและเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ค่าดูแลรักษาสุขภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3

เกาหลีใต้

เศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้ในไตรมาส 3 ของปี 2551 GDP ขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยขยายตัวลดลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ที่มี GDP ขยายตัวร้อยละ 4.8 เป็นการขยายตัวต่ำที่สุดตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 โดยการขยายตัวที่ลดลงในไตรมาสที่ 3 นี้เป็นผลกระทบมาจากภาวะที่ตกต่ำของเศรษฐกิจโลกและปัญหาวิกฤติการเงินที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม และส่งผลให้การส่งออกลดลงโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำและคอมพิวเตอร์

ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนธันวาคม ปี 2551 คงที่จากเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 110.7 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่อยู่ที่ระดับ 106.3 จุด เนื่องจากดัชนีราคาของสินค้ากลุ่มต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม(ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สินค้ากลุ่มเครื่องแต่งกายเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 สาธารณูปโภคพื้นฐานและเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ขณะที่สินค้าเบ็ดเตล็ดและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 ส่วนดัชนีราคาที่ปรับตัวลดลงคือ ค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสารและการขนส่งที่ลดลงร้อยละ 1.6 และ 1.3 ตามลำดับ โดยดัชนีราคาผู้บริโภคประจำปี 2551 อยู่ที่ระดับ 109.7 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 จากปี 2550

การส่งออกของเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 27.03 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 23.13 โดยไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 มีมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 115,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกสินค้าประภเท Electrical Machinery, Etc. ที่มีมูลค่าการส่งออกถึง 26,463 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ อุตสาหกรรมประเภท Mineral Fuel, Oil, Machinery; Reactors, Boilers และ Ships and Boats ตามลำดับ ซึ่งมีการส่งออกไปยังประเทศจีนกว่า 25,603 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 22.26 รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและฮ่องกง ตามลำดับ ขณะที่การนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 42.93 โดยมีมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ทั้งสิ้น 123,008 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการนำเข้าสินค้าประเภท Mineral Fuel, Oil ที่มีมูลค่าการนำเข้า 42,309 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 34.40 ของการนำเข้าทั้งหมด รองลงมาคือสินค้าประเภท Electrical Machinery, Etc., Iron and Steel และ Machinery; Reactors, Boilers ตามลำดับ ในขณะที่การนำเข้าส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศ จีน ร้อยละ 17.87 และ ญี่ปุ่น ร้อยละ 13.28

อัตราการว่างงานเดือนพฤศจิกายน 2551 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 จากปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.0 ในเดือนกันยายน โดยในเดือนพฤศจิกายนมีจำนวนผู้ว่างงาน 750,000 คน เพิ่มขึ้น 17,000 คน

เศรษฐกิจอาเซียน

สิงค์โปร์

เศรษฐกิจประเทศสิงค์โปร์ในไตรมาส 4 ของปี 2551 หดตัวลงร้อยละ 16.9 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 5.1 ทั้งนี้เป็นผลมาจากปริมาณความต้องการสินค้าที่ลดลงจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป รวมทั้งการหดตัวของอุตสาหกรรมทางด้านเคมีชีวภาพ นับเป็นการหดตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสิงคโปร์ปี 2552 หดตัวร้อยละ 2-5 และอัตราเงินเฟ้อติดลบร้อยละ 1

ด้านการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 หดตัวลงที่ร้อยละ 11.5 ขณะที่ภาคการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 7.8 และภาคบริการขยายตัวร้อยละ 6.1 โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน ของปี 2551 ลดลงร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยผลผลิตของสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไปหดตัวลงร้อยละ 1.7 กลุ่มเคมีภัณฑ์ลดลงร้อยละ 20.1 กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 19.4 กลุ่มวิศวกรรมลดลงร้อยละ 19.1 ในขณะที่กลุ่มไบโอเมดิคอลขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 และกลุ่มยานพาหนะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 ส่งผลให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมใน 11 เดือนแรกของปี 2551 ลดลงร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ได้ปรับตัวลดลงจากร้อยละ 7.5 ในไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 6.5 ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายน ปี 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 112.0 ราคาที่สูงส่วนใหญ่จะเป็นราคาค่าอาหาร ค่าบ้าน ค่าขนส่งและเครื่องแต่งกายที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยราคาค่าบ้านซึ่งคิดเป็นร้อยละ 21 ของดัชนี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 15.7 ส่วนราคาอาหารซึ่งคิดเป็นร้อยละ 23 ของดัชนีเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 ในส่วนค่าดูแลรักษาสุขภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 และราคาเครื่องแต่งกายเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ขณะที่ค่าขนส่งและการสื่อสารซึ่งคิดเป็นร้อยละ 22 ของดัชนี ลดลงร้อยละ 1.9 ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภค 11 เดือนแรกของปี 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยเมื่อเดือนมกราคม 2552 รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 20.5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (13.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสิงคโปร์ซึ่งเผชิญภาวะถดถอยรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยมาตรการดังกล่าว อาทิ การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ การช่วยเหลือด้านการจ้างงาน การลงทุนในระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 18 เหลือร้อยละ 17 (มีผลบังคับใช้ในปีงบประมาณ 2553) รวมทั้งจะนำทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาใช้เป็นครั้งแรกด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์คาดว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์ปี 2552 จะหดตัวร้อยละ 2-5 และอาจไม่ฟื้นตัวภายในปี 2553

การส่งออกของสิงค์โปร์ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 20.98 มีมูลค่าการส่งออก 93,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกสินค้าประเภท Electrical Machinery, Etc. ที่มีมูลค่าการส่งออกถึง 29,429 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 31.57 รองลงมาคือ สินค้าประเภท Mineral Fuel, Oil และ Machinery; Reactors, Boilers ที่มีมูลค่าการส่งออก 19,025 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 14,536 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย โดยมีมูลค่าการส่งออก 11,245 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 12.06 ของการส่งออกทั้งหมด ส่งออกไปยังประเทศอินโดนีเซีย 10,253 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 11 รองลงมาคือ ฮ่องกงและจีน ขณะที่การนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ขยายตัวที่ร้อยละ 32.69 โดยมีมูลค่าการนำเข้า 87,646 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในเดือนตุลาคม ปี 2551 มีมูลค่าการส่งออก 26,483 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนดัชนีราคาการนำเข้าเดือนตุลาคม ปี 2551 อยู่ที่ 104.1 จุด ขยายตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่หดตัวร้อยละ 2.5 จากเดือนที่ผ่านมา โดยในเดือนตุลาคม ของปี 2551 การส่งออกขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 17.73 ส่งผลให้การส่งออก 10 เดือนแรก(มกราคม — ตุลาคม) ของปี 2551 มีมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 268,838 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 22.86 เมื่อเทียบกับ 10 เดือนแรกของปี 2550

อินโดนีเซีย

เศรษฐกิจอินโดนีเซียในไตรมาส 3 ของปี 2551 GDP ขยายตัวร้อยละ 6.11 ขยายตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัวที่ร้อยละ 6.44 โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งภาคการส่งออกที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง

ด้านอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.05 โดยในเดือนธันวาคม 2551 อยู่ที่ร้อยละ 11.06 เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงจากร้อยละ 11.68 ของเดือนที่ผ่านมา โดยเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 4 จากเดือนกันยายนที่ผ่านมาที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 12.14

การส่งออกของอินโดนีเซียในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ถือว่ายังคงส่งออกได้อย่างต่อเนื่องแต่มีการขยายตัวลดลง โดยการส่งออกขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 27.86 ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 29.61 โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 มีมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 37,271 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งการส่งออกส่วนใหญ่ยังคงเป็นการส่งออกของอุตสาหกรรม Mineral Fuel, Oil , Fats and Oils, Electrical Machinery, Etc. และ Rubber โดยมีมูลค่าการส่งออก 11,341 , 3,100, 2,311 และ 2,159 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ โดยมีตลาดส่งออกหลักคือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สิงค์โปร์ และ จีน ในขณะที่การนำเข้ายังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ผ่านมา โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ขยายตัวถึงร้อยละ 81.84 และไตรมาสที่ 2 ขยายตัวร้อยละ 95.55 โดยมีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 36,492 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่นำเข้าสินค้าประเภท Mineral Fuel, Oil, Machinery; Reactors, Boilers, Electrical Machinery, Etc. และ Iron and Steel ตามลำดับ และเป็นการนำเข้าจากประเทศ สิงค์โปร์ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และ เกาหลีใต้ ตามลำดับ โดยมูลค่าส่งออกเดือนธันวาคม 2551 ขยายตัวลดลงร้อยละ 20.6 จากปีก่อน นับเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 7 ปี เนื่องจากราคาและความต้องการสินค้าส่งออกสำคัญของอินโดนีเซีย คือ ปาล์มน้ำมันและยางพาราในตลาดโลกลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจอินโดนีเซียพึ่งพาภาคการส่งออกไม่มากนัก โดยมูลค่าส่งออกมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 33 ของ GDP ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคการส่งออกน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

มาเลเซีย

ภาวะเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซียในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 4.74 ขยายตัวลดลงจากร้อยละ 6.67 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ซึ่งเป็นผลมาจากการภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง

ทางด้านการเงินการคลัง เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2552 ธนาคารกลางมาเลเซียประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 3.25 เหลือร้อยละ 2.5 (มีผลบังคับใช้ทันที) และปรับลดอัตราดำรงเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์จากร้อยละ 3.5 เหลือร้อยละ 2 (มีผลบังคับใช้วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งชะลอตัวจากปัญหาวิกฤติการเงินโลก

การส่งออกในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 21.28 ขายตัวลดลงจากร้อยละ 28.94 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 มีมูลค่าการส่งออก 55,502 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกในกลุ่มของ Electrical Machinery, Etc. ที่มีมูลค่าการส่งออก 15,038 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 27.10 ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมาคือสินค้าประเภท Mineral Fuel, Oil และ Machinery; Reactors, Boilers โดยมีมูลค่าการส่งออก 9,714 และ 8,634 ตามลำดับ ในขณะที่ประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้แก่ สิงคโปร์ ที่มีมูลค่าการส่งออก 8,139 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 14.66 ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา จีน และ ญี่ปุ่น ส่วนการนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 14.33 ขยายตัวลดลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 17.33 และมีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 42,995 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศ จีน ร้อยละ 12.69 รองลงมาคือ ญี่ปุ่น สิงค์โปร์และสหรัฐอเมริกา

ด้านยอดขายของภาคอุตสาหกรรมการผลิตในเดือนตุลาคม 2551 อยู่ที่ 45.9 พันล้านริงกิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เนื่องจากได้รับปัจจัยเกื้อหนุนจากมูลค่ายอดขายของภาคอุตสาหกรรมการผลิตรายใหญ่ 5 กลุ่มที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตปิโตรเลียมที่ขยายตัวร้อยละ 15.9 คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ขยายตัวร้อยละ 12.1 เครื่องรับสัญญาณวิทยุโทรทัศน์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องขยายตัวร้อยละ 22.2 ปุ๋ยเคมีและสารประกอบไนโตรเจนขยายตัวร้อยละ 68.1 และอุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 19.1

ด้านดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2551 ลดลงร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการลดลงของดัชนีผลผลิตกลุ่มอุตสาหกรรม 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ลดลงร้อยละ 5.4 กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตที่ลดลงร้อยละ 2.5 และกลุ่มไฟฟ้าที่ลดลงร้อยละ 1.6 และเมื่อเทียบกับเดือนกันยายนดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงร้อยละ 3.1 โดยใน 10 เดือนแรกของปี 2551 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยผลผลิตในอุตสาหกรรม 3 กลุ่มคือ เหมืองแร่ ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5, 2.4 และ 3.3 ตามลำดับ

ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายน ของปี 2551 อยู่ที่ระดับ 112.9 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 จากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากดัชนีราคาของสินค้ากลุ่มต่างๆเพิ่มขึ้น โดยราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 31.4 ของดัชนีเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 สินค้าที่ไม่ใช่อาหารซึ่งคิดเป็นร้อยละ 68.6 ของดัชนีเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 สินค้าไม่คงทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 การขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 สาธารณูปโภคพื้นฐานและเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ค่าดูแลรักษาสุขภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 และค่าใช้จ่ายด้านบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 โดยดัชนีราคาผู้บริโภค 11 เดือนแรกของปี 2551 อยู่ที่ระดับ 111.4 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ฟิลิปปินส์

เศรษฐกิจของประเทศฟิลิปปินส์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 4.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวลดลงจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.98 และลดลงจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 ที่อัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.45 โดยการขยายตัวที่ลดลงเป็นผลมาจากการเติบโตของการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและภาคเอกชนที่ชะลอตัวลง

ด้านอัตราเงินเฟ้อ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนตุลาคม 2551 อยู่ที่ร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายนที่อยู่ระดับร้อยละ 11.9

โดยดัชนีราคาผู้บริโภคที่ไม่รวมราคาอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ เดือนธันวาคม 2551 ในเขตเมืองหลวง(National Capital Region: NCR) อยู่ที่ระดับ 147.8 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 147.7 ในเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากปริมาณความต้องการเนื้อสัตว์และปลาของผู้บริโภคที่สูงขึ้นในช่วงวันหยุดเทศกาล ส่งผลให้อาหารสดเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีในพื้นที่นอกเขตเมืองหลวงปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 160.2 ในเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 160.6

ด้านการเงินการคลัง ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ฟิลิปปินส์ขาดดุล 53.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขาดดุลเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 จากช่วงเดียวกันของปี 2550 ที่ขาดดุล 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากรายได้ของรัฐบาลที่ลดลง โดยในเดือนพฤศจิกายนธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.5 เป็นการลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน และจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทข้ามคืน(Overnight Deposits) ลดลงจากร้อยละ 6 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.5

ทางด้านการส่งออกของฟิลิปปินส์ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 4.77 ขยายตัวลดลงจากร้อยละ 5.72 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 โดยมีมูลค่าการส่งออก 13,268 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้าที่ส่งออกมาก ได้แก่สินค้าประเภท Special Classification Provisions, Nesoi ที่มีมูลค่าการส่งออก 4,021 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 30.31 รองลงมาคือสินค้าประเภท Electrical Machinery, Etc. และ Machinery; Reactors, Boilers โดยการส่งออก Special Classification Provisions, Nesoi หดตัวลงร้อยละ 6.36 และการส่งออกส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา 2,157 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 16.26 ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมาคือ ญี่ปุ่น จีน และ ฮ่องกง ส่วนทางด้านการนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 6.66 โดยขยายตัวลดลงจากร้อยละ 11.84 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ซึ่งในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 มีมูลค่าการนำเข้า 15,753 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา 1,784 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 11.33 รองลงมาคือ ซาอุดิอาระเบีย และญี่ปุ่น ที่มีการนำเข้าร้อยละ 11.14 และ 11.13 ตามลำดับ โดยสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภท Mineral Fuel, Oil มีมูลค่าการนำเข้า 3,762 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 23.89 ของการนำเข้าทั้งหมด รองลงมาคือสินค้าประเภท Special Classification Provisions, Nesoi และ Electrical Machinery, Etc. ตามลำดับ

เศรษฐกิจอินเดีย

เศรษฐกิจของประเทศอินเดียในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวลดลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 และเป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2547 ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสนี้ ส่งผลให้ธนาคารกลางอินเดียต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวและช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายโจมตีโรงแรมและภัตตาคารในเมืองมุมไบ ศูนย์กลางทางการเงินของอินเดียเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ด้านอัตราเงินเฟ้อ ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2551 อัตราเงินเฟ้อลดลงจากร้อยละ 6.84 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ร้อยละ 6.61 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 9 เดือน โดยดัชนีราคาผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหมดลดลงจากสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.2 โดยอัตราเงินเฟ้อของอินเดียปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ และราคาน้ำมันปรับตัวลง

ด้านการเงินการคลัง เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2552 ธนาคารกลางอินเดีย (Reserve Bank of India : RBI) ประกาศปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีงบประมาณ 2551/2552 จากร้อยละ 7.5 เหลือร้อยละ 7 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2546 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การลงทุนและการส่งออกชะลอตัวลง นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน RBI ยังประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repurchase Rate) ไว้ที่ร้อยละ 5.5 พร้อมทั้งคง Reverse Repurchase Rate ไว้ที่ร้อยละ 4

ทางด้านการส่งออกของประเทศอินเดียในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 37.10 ขยายตัวลดลงจากร้อยละ 37.21 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 โดยไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าการส่งออก 48,238 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้าที่ส่งออกมาก ได้แก่สินค้าประเภท Mineral Fuel, Oil ที่มีมูลค่าการส่งออก 9,486 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 19.67 ซึ่งการส่งออกสินค้าประเภทนี้ขยายตัวร้อยละ 45.3 รองลงมาคือสินค้าประเภท Precious Stones และ Iron and Steel ที่การส่งออกขยายตัวร้อยละ 4.28 และ 56.61 ตามลำดับ โดยในไตรมาสที่ 2 การส่งออกส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา 5,033 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 10.44 ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมาคือ สหรัฐอาหรับฯ สิงค์โปร์ และ จีน ส่วนทางด้านการนำเข้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 36.37 โดยขยายตัวลดลงจากร้อยละ 48.53 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 ซึ่งในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 มีมูลค่าการนำเข้า 77,388 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากประเทศจีน 8,670 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 11.20 รองลงมาคือ สหรัฐอาหรับฯ ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอเมริกา ที่มีการนำเข้าร้อยละ 7.40, 7.07 และ 5.12 ตามลำดับ โดยสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภท Mineral Fuel, Oil มีมูลค่าการนำเข้า 32,148 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 41.54 ของการนำเข้าทั้งหมด รองลงมาคือสินค้าประเภท Machinery; Reactors, Boilers และ Precious Stones ตามลำดับ โดยในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2552 รัฐบาลอินเดียประกาศห้ามนำเข้าของเล่นจากจีนเป็นเวลา 6 เดือน หลังสมาคมสวัสดิภาพผู้บริโภคของอินเดียยื่นฟ้องของเล่นนำเข้าจากจีนว่ามีส่วนประกอบของสารตะกั่วและสารเคมีอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อของเล่นนำเข้าจากจีนซึ่งปัจจุบันครองส่วนแบ่งตลาดในอินเดียสูงกว่า 60% และคาดว่าจะทำให้ยอดจำหน่ายของเล่นของผู้ผลิตอินเดียปรับเพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ