ดัชนีอุตฯ ซึมยาว 5 เดือนติดต่อกัน ก.พ. ดิ่ง -23.07% รถยนต์อ่วม -50.64%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 31, 2009 14:10 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สศอ. เผย ก.พ. 52 ดัชนีอุตฯ ติดลบ 23.07% หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 นับแต่ ต.ค. 51 ยานยนต์ทรุดหนัก ไฟฟ้าและอิเล็ค ทรอนิกส์ทุเลาแต่ยังเหนื่อย ร้องรัฐเร่งอนุมัติงบชะลอการเลิกจ้าง

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผล ผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 52 ยังคงติดลบ -23.07% แม้ว่าจะส่งสัญญาณดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ -25.6% ในเดือน ม.ค.แต่อุตสาหกรรมหลัก ๆ ยังคงหดตัวในแดนลบเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือน ก.พ. ลดลงเหลือเพียง 50.0% ต่ำกว่าเดือน ม.ค. ซึ่งอยู่ในระดับ 51.7%

อุตสาหกรรมยานยนต์ทรุดหนัก โดยการผลิตรถยนต์ติดลบมากถึง -50.64% ขณะที่เดือน ม.ค. ติดลบเพียง -35.59% สาเหตุสำคัญ เนื่องจากยอดส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ยอดขายในประเทศชะงัก เพราะผู้ซื้อรอดูความชัดเจนของรัฐในการพิจารณาลดภาษีสรรพสามิตตาม ข้อเรียกร้องของภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการจำหน่ายรถยนต์ในเดือน ก.พ. จึงติดลบ -45.6% และอัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์ ในเดือน ก.พ. ลดลงเหลือเพียง 41.75% กรณีรถจักรยานยนต์ ดัชนีผลผลิตฯ ก็มีแนวโน้มติดลบมากขึ้นจาก -40.80% เมื่อดือน ม.ค. เป็น - 51.35% ในเดือน ก.พ. ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม SMEs และมีความเป็นไปได้สูงต่อการลดและปลด พนักงานอีกระลอกหนึ่ง

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในส่วนของเครื่องปรับอากาศ การผลิตติดลบ -57.62% มากกว่าเดือน ม.ค. ที่ติดลบ -39.33% ขณะที่ Hard Disk Drive ติดลบ -19.65% ปรับตัวดีขึ้นกว่าเดือน ม.ค. ซึ่งติดลบ -31.03% เช่นเดียวกัน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ติดลบ - 40.65% ดีกว่าเดือน ม.ค. ซึ่งติดลบ -58.02% แม้ว่าตัวเลขติดลบจะลดลงเล็กน้อย แต่สถานการณ์ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ ต้องดูแนวโน้มคำสั่งซื้อ เดือน มี.ค. และ เม.ย. จึงจะชัดเจนว่าถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง

เครื่องแต่งกาย ก็มีแนวโน้มการผลิตติดลบมากขึ้น โดยเครื่องแต่งกายที่ทำจากผ้าถักติดลบ -36.15% เครื่องแต่งกายที่ทำจากผ้าทอ ติดลบน้อยกว่าคือ -22.32% ขณะที่เคหะสิ่งทอก็ติดลบสูงถึง -38.75% ซึ่งเป็นผลมาจากผู้บริโภคระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น อย่างไร ก็ตาม ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและสินค้าอุปโภคบางชนิด เริ่มมีสัญญาณบวกอยู่บ้าง เช่น การแปรรูปและถนอมสัตว์น้ำ ไก่แช่แข็งแช่เย็น น้ำตาล สบู่และผงซักฟอก ซึ่งดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น 14.21%, 7.03%, 8.80%, และ 12.51% ตามลำดับ

นายอาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากการที่ภาคอุตสาหกรรมตกต่ำติดลบต่อเนื่องมาถึง 5 เดือน และคาดว่าสถานการณ์ยังคงจะเปราะ บางไปถึงสิ้นไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยในช่วงที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมได้พยายามประคับประคองธุรกิจ ปรับลดชั่วโมงการทำงาน ลดวันทำงาน จนกระทั่งต้องปลดและให้พนักงานออกจากงาน แรงงานที่มีทักษะมีฝีมือกลายเป็นคนตกงาน เป็นการสูญเสียโอกาส สูญเสียทรัพยากรบุคคล รัฐจึงน่าที่ จะเร่งรัดอนุมัติงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นทาง คือรักษาสภาพการจ้างงานไว้ที่โรงงาน โดยสนับสนุนการฝึกอบรมเพิ่มทักษะในระดับที่สูงขึ้นให้กับ พนักงานกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผลที่ได้ก็คือ ลดอัตราการว่างงานไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้น อุตสาหกรรมไทยจะได้มีขีดความสามารถที่จะแข่งขัน และสร้างรายได้ให้กับประเทศต่อไป

โดยสรุปดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2551 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนอยู่ในภาวะถดถอยทั้งสิ้น ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 139.97 ลดลง -23.07% จากระดับ 181.96 ดัชนีผลผลิต (มูลค่าผลผลิต) อยู่ที่ระดับ 139.18 ลดลง -25.17 จากระดับ 186.00 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 139.85 ลดลง -21.67% จากระดับ 178.54 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 107.07 ลดลง -8.40% จากระดับ 116.88 ดัชนีผลิตภาพแรงงานอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 133.30 ลดลง -8.07% จากระดับ 145.01 ขณะที่ดัชนี สินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 199.35 เพิ่มขึ้น 8.19% จากระดับ 184.25 ดัชนีอัตราส่วนสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 238.03 เพิ่มขึ้น 8.69% จากระดับ 219.00 ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 50.0 %

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต

        Index             -----------------   2551   ---------------------------        ---- 2552 ------
                           ก.ค.      ส.ค.      ก.ย.      ต.ค.      พ.ย.       ธ.ค.       ม.ค.       ก.พ.
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม        184.42    185.36    184.79    181.11    167.73     148.97     138.97     139.97
อัตราการเปลี่ยนแปลง (YoY)   10.20%     5.40%     2.20%    -0.40%    -8.70%    -19.70%    -25.60%    -23.07%
อัตราการใช้กำลังการผลิต      65.20%    61.80%    61.10%    60.80%    55.80%     53.00%     51.70%     50.00%

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมบางผลิตภัณฑ์

     ผลิตภัณฑ์                     ----- %การเปลี่ยนแปลง (YoY)-------
                               ธ.ค. 51        ม.ค. 52    ก.พ. 52
รถยนต์                           -23.95         -35.59     -50.64
รถจักรยานยนต์                     -38.69          -40.8     -51.35
เครื่องแต่งกายจากผ้าถัก              -18.96         -21.34     -36.15
เครื่องแต่งกายจากผ้าทอ               -9.06         -10.16     -22.32
เคหะสิ่งทอ                         -8.26         -14.55     -38.75
เครื่องปรับอากาศ                   -24.89         -39.33     -57.62
Hard Disk Drive                 -31.92         -31.03     -19.65
ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์                 -25.72         -58.02     -40.65
แปรรูปและถนอมสัตว์น้ำ                -6.09         -15.95      14.21
ไก่แช่แข็งแช่เย็น                      4.64           4.34       7.03
น้ำตาล                             7.81          -1.36        8.8
สบู่และผงซักฟอก                     -2.18          -1.76      12.51

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ