สศอ. ร่วมหารือเอเปคหนุนอุตฯ ยานยนต์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 7, 2009 13:56 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สศอ.ร่วมประชุมกลุ่มเอเปค จับตาความเคลื่อนไหวอุตฯ ยานยนต์ หลังพิษเศรษฐกิจทำอุตฯ ยานยนต์ทรุด เร่งศึกษาแนวทางมาตรการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา หวังพร้อมปรับตัวรับได้ทุกสถานการณ์

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สศอ. มีกำหนดเดินทางไปกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อร่วมการประชุม “ APAC Automotive Dialogue (AD) ” ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม — 1 เมษายน 2552 ซึ่งการประชุม APEC AD เป็นเวทีสำหรับการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อวางแผนร่วมกันในการเปิดเสรีทางการค้า รวมทั้งเพิ่มความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้มีการเจริญเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะมีการจัดเสวนาในเรื่อง ”Global Economic Crisis’ Impact on APEC Auto Industry” ด้วย จึงนับเป็นโอกาสอันดี ที่ สศอ. จะได้รับทราบปัญหาผลกระทบของเศรษฐกิจโลกต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ รวมทั้ง ได้เรียนรู้แนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวของประเทศสมาชิกเอเปค ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของ สศอ. ต่อไปในอนาคต

“การประชุมของ APEC AD ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกที่เข้าร่วมกลุ่ม นอกจากการจัดเสวนาเพื่อรับทราบปัญหาผลกระทบของเศรษฐกิจโลกต่ออุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว ยังได้มีการพูดคุยกันถึงประเด็นการเปิดเสรีทางการค้า การกำจัดข้อกีดกันทางการค้าและเงื่อนไขต่างๆ การพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ (หรือ SMEs) การจัดการด้านคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ข้อกำหนดยานยนต์ด้านเทคนิคเพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงความร่วมมือในการจัดการปัญหาการจราจรและสภาวะแวดล้อม เช่น การควบคุมสภาพของเครื่องยนต์ คุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งการนำระบบ ITS (Intelligent Traffic System) มาใช้งาน ทั้งนี้ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เห็นพ้องต้องกันที่จะเพิ่มการศึกษาในเรื่อง Alternative Fuel เพื่อจัดทำมาตรฐานของเชื้อเพลิงทดแทนในอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เป็นไปในทิศทางที่คล้ายคลึงกัน นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว ประเทศสมาชิกจะได้นำข้อมูลเชิงลึกมาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เพื่อหาแนวทางความร่วมมือในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ในกลุ่ม APEC ในส่วนของประเทศไทยก็จะได้เตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต่อไป”

สำหรับโครงการความร่วมมือภายใต้ APEC AD ในอดีตที่ผ่านมานั้นประกอบด้วย การจัดงานสัมมนา The 1st APEC Automotive Dialogue IPR Seminar “Best Practices of Intellectual Property Rights Protection in the Automotive Sector” ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2550 โดย สศอ. ได้ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และคณะทำงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของ APEC AD ได้จัดงานสัมมนาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาอันเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และเพื่อประสานข้อมูลในด้านการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการดำเนินงานป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศสมาชิกเอเปค

นอกจากนี้ สถาบันยานยนต์ได้ดำเนินโครงการ Eco Tech , ระยะที่ 2 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าใจถึงหลักการตรวจติดตามระบบการบริหารคุณภาพ ISO/TS 16949 อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปพัฒนาหรือประยุกต์ใช้การบริหารคุณภาพในองค์ให้ดียิ่งขึ้น โดยผลการดำเนินโครงการ Eco Tech , ระยะที่ 2 ขณะนี้ได้มีบริษัทที่ผ่านการรับรอง ISO/TS 16949:2002 จำนวน 4 บริษัท และมีบริษัทที่อยู่ในระหว่างการยื่นรับการรับรอง อีกจำนวน 5 บริษัท” นายอุดม กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ