ดัชนีอุตฯ ส่งสัญญาณฟื้นออเดอร์อุตฯ ฮาร์ดดิสก์เพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 12, 2009 14:14 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สศอ.เผยดัชนีอุตฯ เดือน มี.ค.52 ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่อัตราการลดลงเริ่มชะลอตัวโดยติดลบลดลงเหลือ -17.74% ทุเลาลง จากเดือนก่อนที่ติดลบถึง 23.07% อุตฯ ฮาร์ดดิสก์เริ่มสดใส จากยอดคำสั่งซื้อเพิ่มในไตรมาส 2 คาดปีนี้หากการเมืองคลี่คลายลงทุนน่าจะเพิ่ม

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผล ผลิตอุตสาหกรรมเดือน มี.ค.52 ถึงแม้จะยังคงติดลบ -17.74% แต่เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 เมื่อเทียบกับ เดือน ม.ค.ที่ติดลบถึง -25.6% และส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือน มี.ค.อยู่ที่ระดับ 54.46% เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ.ที่อยู่ในระดับ 50.0% ทั้งนี้สอดคล้องกับอุตสาหกรรม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในสินค้าฮาร์ดดิสก์ ที่ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศจีนมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้น จากการที่ลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อ สินค้าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากความกังวลในสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และปัจจัยหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาด ส่งผลให้ การจ้างงานในอุตสาหกรรมเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ สำหรับไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก เพราะลูกค้าเริ่มสั่งซื้อ สินค้าเข้ามาต่อเนื่อง รวมทั้งปริมาณสินค้าคงคลังในหลายอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ต่ำทำให้หลายอุตสาหกรรมเริ่มมีการผลิตเพื่อรักษาสภาพสินค้า คงคลังของตนเอง นอกจากนี้ นักลงทุนหลายรายเข้ามาดูพื้นที่ในเขตนวนคร โดยเฉพาะนักลงทุนจากอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน แต่ทั้งนี้ต้องรอการ ตัดสินใจ และดูสถานการณ์ครึ่งปีแรกก่อน หากปัญหาด้านการเมืองคลี่คลายลง คาดว่าในปีนี้จะมีการลงทุนใหม่ๆเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามถึงแม้อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นจากช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนภาวะ การผลิตและการจำหน่ายยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ากว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วกว่า -7.4% และ -8.7% สาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังส่งผล กระทบอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฐานการส่งออกในปีก่อนยังคงอยู่ในระดับสูงจากที่มีการขยายกำลังการผลิต เช่นเดียวกันในอุตสาหกรรมหลักๆ ที่ยังคง หดตัวติดลบอย่างต่อเนื่อง เช่น การผลิตยานยนต์ การผลิตเครื่องปรับอากาศ การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป

การผลิตยานยนต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ภาวะการผลิตและการจำหน่ายปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -51.5% และ -47.8% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองในประเทศฉุดการฟื้นตัวในประเทศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดรถยนต์ โดยมีตลาดรถปิกอัพ 1 ตัน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ มีการจำหน่ายปรับลดลงจากปีก่อนถึง -46.5% เช่นเดียวกับตลาดรถยนต์นั่งเครื่องยนต์ไม่เกิน 1800cc. การจำหน่ายปรับลดลงจากปีก่อน -34.9%

การผลิตเครื่องปรับอากาศ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยอดการผลิตและการจำหน่ายปรับตัวลดลง -45.5% และ -33.0% ตาม ลำดับ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจโลกในปีนี้ที่ตกต่ำ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง และระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งเครื่องปรับอากาศเป็นสินค้า ที่มีราคาค่อนข้างสูงจึงมียอดขายที่ลดลง โดยจะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกในไตรมาสแรกลดลงจากปีก่อนถึง -33.6% ในขณะที่ปี 2551 ขยายตัวได้ 1.4% อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตะวันออกกลางยังคงขยายตัว

การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ภาวะการผลิตและการจำหน่ายปรับตัวลดลง -11.5% และ -6.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัจจุบันการส่งออกปรับตัวลดลงตามเศรษฐกิจที่ถดถอยของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ โดยไตรมาสแรกของปี 2551 การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปลด ลง -3.9% ในขณะที่ปี 2551 ขยายตัวลดลง -2.3%

นายอาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ถึงแม้ภาคอุตสาหกรรมจะตกต่ำติดลบต่อเนื่องมาถึง 6 เดือน แต่เมื่อดูจากตัวเลขที่ติดลบ แต่เริ่มลด ความรุนแรงมากขึ้น หากมองแนวโน้มรายเดือนแล้วจะพบว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าภาวะอุตสาหกรรมเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น สอดคล้อง กับยอดคำสั่งซื้อเพิ่มของอุตฯ ฮาร์ดดิสก์ ที่ส่งผลต่อการจ้างแรงงานเพิ่ม ทั้งนี้คาดว่าภาคการผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 ยังมีโอกาสที่จะลดลงใน อัตราน้อยกว่าในช่วงไตรมาสแรก และหากปัญหาทางการเมืองคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นและนโยบายการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาล น่าจะช่วยให้การ ใช้จ่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้น และส่งผลให้อุตสาหกรรมฟื้นตัวเร็วขึ้น ส่วนการช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง กระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งหลักสูตรและแผน งานในการอบรมแรงงานให้กับรัฐเพื่อดำเนินการร่วมกับโครงการต้นกล้าอาชีพ และในขณะเดียวกัน เร่งหารือกับภาคเอกชนในการหาพันธมิตรเพื่อ ดำเนินมาตรการชะลอการเลิกจ้างงานต่อไป

โดยสรุปดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2551 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 159.23 ลดลง -17.74% จากระดับ 193.57 ดัชนีผลผลิต (มูลค่าผลผลิต) อยู่ที่ระดับ 154.60 ลดลง -22.88% จากระดับ 200.45 ดัชนีการ ส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 155.93 ลดลง -20.51% จากระดับ 196.18 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 111.62 ลดลง -6.41% จากระดับ 119.27 ดัชนีผลิตภาพแรงงานอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 142.93 ลดลง -9.22% จากระดับ 157.45 ขณะที่ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 201.43 เพิ่มขึ้น 16.73% จากระดับ 172.56 ดัชนีอัตราส่วนสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 195.42 เพิ่มขึ้น 17.92% จากระดับ 165.72 ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 54.46 %

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต

        Index           -------------------------2551 -------------------------      -------- 2552 ---------
                         ก.ค.      ส.ค.      ก.ย.      ต.ค.      พ.ย.      ธ.ค.       ม.ค.     ก.พ.     มี.ค.
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม      184.42    185.36    184.79    181.11    167.73    148.97     138.97   139.97   159.23
อัตราการเปลี่ยนแปลง (YoY) 10.20%     5.40%     2.20%    -0.40%    -8.70%   -19.70%    -25.60%  -23.07%  -17.74%
อัตราการใช้กำลังการผลิต    65.20%    61.80%    61.10%    60.80%    55.80%    53.00%     51.70%   50.00%   54.40%

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมบางผลิตภัณฑ์

          ผลิตภัณฑ์             ------------  %การเปลี่ยนแปลง (YoY) --------------
                            ธ.ค. 51       ม.ค. 52       ก.พ. 52       มี.ค. 52
รถยนต์                        -23.95        -35.59        -50.64        -51.53
รถจักรยานยนต์                  -38.69        -40.8         -51.35        -50.89
เครื่องแต่งกายจากผ้าถัก           -18.96        -21.34        -36.15        -28.6
เครื่องแต่งกายจากผ้าทอ           -9.06         -10.16        -22.32        -11.46
เคหะสิ่งทอ                     -8.26         -14.55        -38.75        -28.99
เครื่องปรับอากาศ               -24.89         -39.33        -57.62        -45.58
Hard Disk Drive             -31.92         -31.03        -19.65         -7.53
ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์             -25.72         -58.02        -40.65        -35.37
แปรรูปและถนอมสัตว์น้ำ            -6.09         -15.95         14.21         -5.27
ไก่แช่แข็งแช่เย็น                  3.87           3.30          4.41         -6.33
น้ำตาล                         7.81          -1.36          8.80         -8.37
สบู่และผงซักฟอก                 -2.18          -1.76         12.51         13.57
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ