สศอ. ชี้อุตฯ ส่งสัญญาณฟื้นคาด Q2 - สิ้นปี ติดลบน้อยลง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 12, 2009 14:15 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สศอ. คาดดัชนีอุตฯ ปี 52 หดตัว -12 ถึง -10% จากวิกฤตเศรษฐกิจโลก จบไตรมาส 1 ติดลบ -20.8% ขณะที่ไตรมาส 2 จะติดลบ -14% ชี้หลายอุตฯ ส่งสัญญาณฟื้น จากมาตรการกระตุ้นหลายระรอก ย้ำต้องคอยประคองเกม

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ปี 2552 อยู่ที่ -4.0 ถึง -3.0% จากผลกระทบของวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลก และปัจจัยภายในประเทศ ซึ่งลดลงจากปี 2551 อยู่ที่ 2.6% โดย GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 2552 ในไตรมาสที่ 1 จะหดตัว -14.9% และไตรมาส 2 หดตัวลดลง -11.9% สำหรับทั้งปี 2552 ประมาณการว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -10.0% ถึง -8.0% ขณะที่ดัชนีอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2552 มีแนวโน้มหดตัวเป็นไปในทิศทางเดียวกับ GDP ภาคอุตสาหกรรม โดยจะหดตัวอยู่ที่ -12.0% ถึง -10.0% จากปี 2551 ที่มีการขยายตัว 3.9% ซึ่งในไตรมาสที่ 1 หดตัว -20.8%ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตไตรมาส 1 อยู่ที่ 50.86% ไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 56.60% ทั้งนี้เนื่องจากผลพวงของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจึงทำให้การบริโภคทั้งในประเทศและด้านการส่งออกได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

“การผลิตและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไตรมาส 1/2552 ยังคงมีการหดตัวติดลบในระดับสูง -20.8% และ -18.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2551 โดยระดับการผลิตและมูลค่าการส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องกันมา 5 เดือน จึงเริ่มมีการขยายตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 และมีสัณญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการผลิต Hard disk drive ที่มีการผลิตและการส่งออกขยายตัวเพิ่มสูงมาก 17.0% และ 15.08% ในเดือนมีนาคม 2552 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ แม้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วจะติดลบ -7.5% และ -26.3% ก็ตาม ทั้งนี้คาดว่าภาคการผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 ยังมีโอกาสที่จะลดลงในอัตราน้อยกว่าในช่วงไตรมาสแรก และหากปัญหาทางการเมืองคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นและนโยบายการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาล น่าจะช่วยให้การใช้จ่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้น และส่งผลให้อุตสาหกรรมฟื้นตัวเร็วขึ้น”

นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ไตรมาส 1/2552 การผลิตและการส่งออกสำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าติดลบ -40.04% และ-28.92% โดยมีแนวโน้มการผลิตและการส่งออกไตรมาสที่ 2/2552 ขยายตัวขึ้น คือ -22.56%และ -20.0% ซึ่งทั้งปี 2552 การผลิตและส่งออกจะหดตัวที่ -18.41% และ -15.0%

ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์การผลิตและการส่งออกหดตัว -23.49% และ -33.02% โดยมีแนวโน้มการผลิตจะขยายตัวไตรมาสที่ 2/2552 เนื่องจากคำสั่งซื้อที่มีกลับเข้ามาบ้างแล้วแม้จะยังเป็นตัวเลขที่ติดลบอยู่ คือ -19.99% และ -20.0% โดยทั้งปี 2552 คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะยังคงติดลบ -14.49% และ-15.0% อย่างไรก็ตามจากจำนวนคำสั่งซื้อที่กลับเข้ามาจึงมีส่วนช่วยให้สถานการณ์การจ้างงานดีขึ้น โดยผู้ประกอบการบางโรงงานสามารถรับสมัครงานเพิ่มเติมจากเดิมได้แล้วเนื่องจากมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามา เช่น อุตสาหกรรม HDD

อุตสาหกรรมยานยนต์ การผลิตในไตรมาสที่ 1/2552 หดตัว มีการผลิตจำนวน 3.6 แสนคัน เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ด้านการส่งออกยังคงหดตัวเนื่องจากตลาดส่งออกหลัก เช่น ออสเตรเลีย ยุโรป ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ การจำหน่ายในประเทศในปี 2552 ยังคงหดตัว อันมีสาเหตุมาจากสภาพเศรษฐกิจในประเทศที่หดตัว ประกอบกับความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สถานการณ์การจ้างงาน อุตสาหกรรมยานยนต์ในส่วนของโรงงานประกอบรถยนต์ และโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เริ่มปรับลดพนักงานที่เป็น Sub-contract เนื่องจากมีการปรับลดกำลังการผลิต

อุตสาหกรรมอาหาร แนวโน้มการผลิตในไตรมาส 1/2552 หดตัว -5.3% เนื่องจากความต้องการสินค้าบางรายการในตลาดลดลง แต่สินค้ากลุ่มปศุสัตว์ เช่น ไก่สดแช่แข็งและไก่แปรรูปมีอัตราการขยายตัวของการผลิต เนื่องจากได้รับผลดีจาก JTEPA ในตลาดญี่ปุ่น อีกทั้งสหภาพยุโรปยังคงนำเข้าตามโควตา เนื่องจากมีราคาต่ำกว่าสินค้าอื่น การส่งออก หดตัว 6.3% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของตลาดส่งออกหลัก เช่น สหรัฐ และสหภาพยุโรป สินค้าส่งออกที่มีการขยายตัว ได้แก่ ไก่แปรรูป และน้ำตาล การจำหน่ายหรือการบริโภคไตรมาส 1/2552 หดตัวร้อยละ 2 และในไตรมาส 2/2552 คาดว่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากเกิดความไม่สงบภายในประเทศ ส่งผลให้ยอดการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคลดลง สถานการณ์การจ้างงาน อุตสาหกรรมอาหารยังขาดแคลนแรงงานในบางกลุ่ม เช่น ประมง ขณะที่สาขาอื่น ๆ ไม่ปรับลดแรงงาน แต่ลดการทำงานล่วงเวลา

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปการผลิต การจำหน่ายในประเทศ และการส่งออก ในไตรมาส 1 ปรับลดลงต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก

และเศรษฐกิจโลก การส่งออกในไตรมาส 2 และทั้งปี 2552 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น จากแนวโน้มการส่งออกของจีนและบังคลาเทศลดลง การจ้างงานได้รับผลกระทบตามคำสั่งซื้อที่ลดลงโดยเฉพาะกลุ่ม Sub-contract แต่ผู้ผลิตบางรายยังต้องการแรงงานเพิ่ม กลุ่มผ้าผืนแนวโน้มการส่งออกไตรมาส 2 เริ่มปรับตัวดีขึ้นโดยติดลบลดลง -1.4% และปี 2552 ติดลบ -1.7% เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตที่มีศักยภาพและครบวงจรมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค สามารถส่งออกไปเวียดนาม ลาว กัมพูชา และบังคลาเทศ ซึ่งมีแนวโน้มบริโภคสูงขึ้น

อัญมณีและเครื่องประดับ การผลิตในไตรมาส 1 หดตัวน้อยกว่าไตรมาส 4 ปี 2551 คาดการณ์ในไตรมาส 2 การผลิตจะขยายตัว 20.5% และคาดว่าทั้งปี 2552 การผลิตจะหดตัวเพียง -2.5% การส่งออก ไตรมาส 1 ขยายตัวที่ 106.3% เนื่องจากผลของราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก สำหรับการส่งออกในไตรมาส 2 คาดว่าจะขยายตัวที่ 62.4% และปี 2552 จะขยายตัว 36.8% การจ้างงาน ในไตรมาส 1 ลดลง แต่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ตามการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ