อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพไทยหัวรบใหม่สู่ญี่ปุ่นรับอานิสงส์ JTEPA

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 18, 2009 15:28 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในยุคเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อุตสาหกรรมต่างๆได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า แต่อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 ที่ประกอบด้วย ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และอาหาร ยังคงสามารถเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่หวือหวาอย่างที่เคยเป็นแต่ก็สามารถประคองตัวได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานแห่งการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม สำหรับในปี 2551 ที่ผ่านมาสามารถส่งออกได้ถึง 7 แสนล้านบาท

ดังนั้น เพื่อเป็นแรงหนุนสำคัญให้เกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการศูนย์สารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์อุตสาหกรรมอาหาร (Food Intelligence Center) ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการร่วมกับสถาบันอาหาร เพื่อศึกษาเจาะลึกและนำข้อมูลจากการสำรวจมาจัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจ จึงได้ทำการสำรวจข้อมูลเชิงลึก ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์การผลิต การตลาด และแนวโน้มของอุตสาหกรรมส่วนผสมอาหารและตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งผลจากการสำรวจข้อมูล ได้ค้นพบข้อมูลสำคัญ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการปรับตัวของผู้ประกอบการ เพื่อผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการ และยังถือเป็นการขยายช่องทางการตลาดจากข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA

-โอกาสของอุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพไทยไปญี่ปุ่น และตลาดโลก

ประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการเติบโตในผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภค และยอดขายของแต่ละผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากชาวญี่ปุ่นมีความใส่ใจในสุขภาพเป็นอย่างมาก และให้ความสำคัญกับความปลอดภัยอาหาร โดยแนวโน้มการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพในญี่ปุ่นจะอยู่บนพื้นฐานการนำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ แล้วนำมาวิจัยเพื่อให้ได้สิ่งสกัด ที่จะเอื้อคุณประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ และพัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในประเทศ โดยวัตถุดิบจากธรรมชาติที่นำมาสกัดเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น ส้ม สาหร่าย กระเทียม ขมิ้น ข้าวเจ้า มัน เผือก กะหล่ำ โกจิเบอรี่ ถั่วเหลือง ใบหม่อน และใบชา ซึ่งถูกนำมาวิจัยและพัฒนาโดยนักวิจัยชั้นนำของญี่ปุ่นและต่างประเทศ จนเป็นที่ยอมรับในสรรพคุณว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างแท้จริง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

จากประเด็นการใส่ใจในเรื่องสุขภาพของชาวญี่ปุ่นนี้เอง ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเข้าไปเปิดตลาดยังประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากไทยมีจุดแข็งในเรื่องของพืชพรรณจากธรรมชาติที่สมบูรณ์ สามารถพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพให้เป็นที่ยอมรับในญี่ปุ่นได้ จะเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการไทยครั้งสำคัญ โดยผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญกับ “ข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการที่เชื่อถือได้” เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มาก จึงควรมีหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับในการรับรองสรรพคุณต่างๆ รวมถึงงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่จะสนับสนุนผลิตภัณฑ์ โดยผู้ประกอบการไทยอาจจะยื่นเรื่อง ขอรับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากทางญี่ปุ่น เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบกระบวนการผลิตตลอดจนการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ควบคู่กันไปเพื่อให้เกิดความมั่นใจ

นอกจากนี้ จากกระแสความนิยมบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพของโลก ส่งผลให้เกิดความคึกคักในการวิจัยพัฒนา เพื่อผลิตสารสกัดจากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติดูแลสุขภาพ ทั้งในการป้องกันและการรักษาโรค ประเทศไทยจึงนับว่ามีความได้เปรียบจากการมีวัตถุดิบ เครื่องเทศและสมุนไพรที่หลากหลาย ผนวกกับมีภูมิปัญญาชาวบ้านที่ค้นพบสารสกัดจากพืชและสัตว์ในท้องถิ่นเพื่อนำมาใช้บำบัดรักษาโรค จึงมีความเป็นไปได้ในการส่งเสริมด้านการผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและคุณค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร สร้างภูมิคุ้มกันและสุขภาพดีให้กับคนไทย และสร้างรายได้จากการส่งออกวัตถุดิบและสารสกัดจากธรรมชาติ ซึ่งผลจากการสำรวจข้อมูลเพื่อศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและการวิเคราะห์ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเข้าใจและแนวทางในการกำหนดบทบาทด้านการส่งเสริม การวิจัยพัฒนา การผลิต และกำหนดตำแหน่งทางการตลาดในผลิตภัณฑ์อาหารของไทยได้อย่างเหมาะสมต่อไป

  • การสร้างคุณค่าเพิ่ม (Value Creation)

ประเทศญี่ปุ่นมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ จำแนกตามคุณประโยชน์ของอาหารได้หลากหลาย เช่น ผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร (Anti-Oxidation) ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้เป็นโรคภูมิแพ้ (Anti-Allergy) ผลิตภัณฑ์บำรุงกระดูก (Bone & Joint Health) ผลิตภัณฑ์เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด (Anti-Stress) ผลิตภัณฑ์สำหรับระบบลำไส้ (Intestinal Disorder) ผลิตภัณฑ์เพื่อการขับสารพิษออกจากร่างกาย (Detoxification) ผลิตภัณฑ์บำรุงตับ (Liver Function) ผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักและการเผาผลาญอาหารในร่างกาย (Diet & Metabolic Syndrome) ผลิตภัณฑ์บำรุงสายตา (Eye Care) ผลิตภัณฑ์เพื่อการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ (Anti-Inflammation) ผลิตภัณฑ์บำรุงสมอง (Brain Function) และผลิตภัณฑ์บำรุงความงาม (Beauty) ทั้งนี้ การรับรองมาตรฐานอาหารเพื่อสุขภาพในญี่ปุ่น จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มที่มีมาตรฐานรับรอง คือ

1) Health Foods ตามมาตรฐานของสมาคม Japan Health Food & Nutrition Food Association (JHNFA) กำหนดว่า อาหารในกลุ่มนี้จะเป็นอาหารที่มีคุณประโยชน์ที่มีส่วนประกอบสำคัญจากธรรมชาติ โดยไม่เติมส่วนผสมอาหารใดๆ ได้แก่ Fermented protein , EPA , DHA , กลูโคซามีน , ไคโตซาน , Rice germ oil , วิตามินอี , แคลเซียม , แลคโตบาซิลัส ,ยีสต์ , สาหร่ายสไปรูลิน่า , โสม , กระเทียม , เห็ดชิตาเกะ , Royal jelly และ Gluconic acids เป็นต้น

2) Food for Specified Health Use (FOSHU) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการเติมส่วนประกอบอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายเพิ่มเติม เพื่อให้มีคุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการป้องกันมิใช่เพื่อการรักษาโรค ผลิตภัณฑ์ที่สำคัญในกลุ่มนี้ เช่น ผลิตภัณฑ์เพื่อควบคุมระดับน้ำตาล และคลอเรสเตอรอลในเลือด

3) Food for Specified Dietary Uses เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการเติมส่วนประกอบอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายเฉพาะกลุ่ม เช่น อาหารที่มีสรรพคุณทางยา อาหารสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ อาหารสำหรับทารก อาหารสำหรับผู้สูงอายุ ในส่วนการรับรองผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ กลุ่มที่ 1) สามารถขอรับรองได้จากสมาคม JHNFA ส่วนกลุ่มที่ 2) และ 3) ขอรับการรับรองได้จากกระทรวงสาธารณสุข โดยผ่านทางสมาคม JHNFA ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองแล้ว จะได้รับเครื่องหมายรับรองเพื่อแสดงในบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ทั้งนี้ ในปี 2551 มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองว่าเป็นอาหาร FOSHU กว่า 700 รายการ ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีสรรพคุณในการบำรุงรักษาท้อง ร้อยละ 51 ผลิตภัณฑ์ควบคุมไขมันร้อยละ 24 ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพฟัน ร้อยละ 14 โดยมีผู้ผลิตรายใหญ่ ได้แก่ บริษัท Toyo Shinyaku ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง จำนวน 136 ผลิตภัณฑ์ บริษัท ยาคูลท์ (40 ผลิตภัณฑ์) บริษัท อายิโนะโมโตะ (29 ผลิตภัณฑ์) บริษัท คาไลน์ (28 ผลิตภัณฑ์) บริษัท ลอตเต้ (26 ผลิตภัณฑ์) บริษัท คาโอ (22 ผลิตภัณฑ์) บริษัท นิชชิน (22 ผลิตภัณฑ์) และบริษัท แดนโคบาดี้ (22 ผลิตภัณฑ์) เป็นต้น

การจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพของญี่ปุ่น จะผ่านช่องทางการค้าในซูเปอร์มาเก็ตมากเป็นอันดับ 1 โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 42.5 รองลงมา คือ การขายโดยส่งตรงตามบ้าน ร้อยละ 33.2 ร้านสะดวกซื้อ ร้อยละ 16 ร้านขายยา/สถานพยาบาล ร้อยละ 2.7 การขายผ่านทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และอื่นๆ ร้อยละ 5.6 ตามลำดับ แม้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจะมีราคาสูงกว่าสินค้าอาหารทั่วไป แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ความนิยมในผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์ และอาหารที่ได้จากธรรมชาติยังเพิ่มมากขึ้นด้วย

สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลก และสินค้าเกษตรหลายชนิดกลายเป็นวัตถุดิบชั้นยอดในการพัฒนาการผลิตไปสู่ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพได้ แต่ยังขาดความพร้อมในเรื่องของเทคโนโลยี การวิจัยพัฒนา การถ่ายทอดความรู้และงานวิจัยในเชิงพาณิชย์ ทำให้วัตถุดิบสินค้าเกษตรของไทยยังไม่ได้ถูกนำมาใช้เพิ่มมูลค่ามากนัก อย่างไรก็ตาม จากการที่ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับแหล่งผลิต และ Supplier ที่ผลิตสินค้าคุณภาพดีจะเป็นการเพิ่มโอกาสของสินค้าอาหารและวัตถุดิบทางการเกษตรของไทยที่จะได้รับประโยชน์มากขึ้น ประกอบกับผลของ JTEPA ที่ส่งผลให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทยหลายรายการมีภาษีนำเข้าลดเหลือ ร้อยละ 0 ก็จะเป็นข้อได้เปรียบสำคัญของสินค้าไทยในตลาดญี่ปุ่นในระยะต่อไป

ข้อมูลจากผลการสำรวจ ภายใต้โครงการศูนย์สารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์อุตสาหกรรมอาหาร (Food Intelligence Center) นับเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง สำหรับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ใช้ประกอบในการพิจารณาในหลายด้าน โดยหน่วยงานภาครัฐจะได้นำไปประกอบในการวางแนวนโยบายการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่ได้รับทราบข้อมูลจะได้นำไปประกอบการพิจารณาแผนการผลิตทั้งเชิงรับ และเชิงรุกในทุกๆด้าน ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดข้อมูลดังกล่าวได้ที่ www.oie.go.th

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ