รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนเมษายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 19, 2009 15:30 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนมีนาคม 2552
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนมีนาคม 2552 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 อย่างไรก็ตามดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 นับจากเดือนตุลาคม 2551 เป็นต้นมา คือ หดตัวร้อยละ -17.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2551 โดยดัชนีผลผลิตมีการหดตัวในเกือบทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลักที่มีการส่งออกมาก ได้แก่ การผลิต อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ Hard Disk Drive ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ — 51.5, -35.4 และ -7.5 ตามลำดับ จึงทำให้ดัชนีผลผลิตรวมหดตัวมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนดังกล่าว
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนมีนาคม 2552 อยู่ที่ระดับร้อยละ 54.5 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ แต่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกหลังจากลดลงมาตลอดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 หากพิจารณาเป็นรายสาขาอุตสาหกรรมจะพบว่า อุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 50

ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนเมษายน 2552

อุตสาหกรรมอาหาร

  • การผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารในเดือนเมษายน คาดว่าจะชะลอตัวจากเดือนก่อน จากสถานการณ์การส่งออกในผลิตภัณฑ์หลักๆ ที่อิงตลาดสหรัฐอเมริกาอาจยังไม่ฟื้นตัวจากการถดถอยของเศรษฐกิจ และการชะลอตัวของตลาดอื่นๆ ทั่วโลก สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศจะมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากประชาชนได้รับเช็คช่วยชาติจากรัฐบาลเป็นการกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้น

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

  • แนวโน้มการผลิตในระยะ 2-3 เดือนถัดไปจะยังคงทรงตัวหรือเพิ่มเพียงเล็กน้อย รวมถึงการส่งออกสิ่งทอที่เป็นผ้าผืนอาจจะติดลบ เนื่องจากผลกระทบต่อเนื่องจากเครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่มีคำสั่งซื้อลดลง สำหรับการจำหน่ายโดยเฉพาะกลุ่มผลิตเสื้อยืด และการจำหน่ายในประเทศ ยังมีศักยภาพอยู่และยังต้องการแรงงานเพิ่ม ประกอบกับผลจากการทำความตกลงความร่วมมือภายใต้กรอบ JTEPA ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2550 เป็นส่วนหนึ่งทำให้สิ่งทอไทยขยายตัวได้ในตลาดญี่ปุ่น และการทำความตกลงภายใต้กรอบ AJCEP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดหวังจากฝ่ายญี่ปุ่นและไทยว่าจะทำให้มูลค่าการค้าของทั้ง 2 ฝ่ายขยายตัวมากขึ้น

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

  • แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนเมษายน 2552 พบว่า สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวมปรับตัวลดลงร้อยละ 30.05 โดยการปรับตัวลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงเช่นกัน จากการปรับตัวลดลงของอุตสาหกรรม HDD และชิ้นส่วน IC ซึ่งประมาณการว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 8.73 และ 34.20 เป็นต้น ซึ่งเป็นการปรับลดลงที่น้อยกว่าในเดือนก่อนหน้านี้ เนื่องจากเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาและมีสัญญาณที่ดีในการจ้างงานที่อาจมีปรับเพิ่มขึ้น

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2552

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ 146.1 หดตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (165.9) ร้อยละ -12.0 และหดตัวจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (187.4) ร้อยละ -22.1 ซึ่งเป็นการ หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ผ่านมาแล้ว โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีการหดตัวในเกือบทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลักที่มีการส่งออกมาก

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ กุ้งแช่แข็ง ปลาแช่แข็ง ปลาซาร์ดีนกระป๋อง ผ้าทอ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ ผ้าทอ เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตที่ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 52.1 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (56.5) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (67.5) โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตได้ปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 แล้ว

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive ปลาซาร์ดีนกระป๋อง กุ้งแช่แข็ง ปลาแช่แข็ง ด้ายฝ้ายบริสุทธิ์ ด้ายฝ้ายผสม โทรทัศน์สี เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive ด้ายฝ้ายบริสุทธิ์ โพลีเอสเตอร์บริสุทธิ์ เหล็กเส้นกลม เหล็กเส้นข้ออ้อย เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนเหล็กแผ่นรีดเย็น โทรทัศน์สี เป็นต้น

แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2552

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคอุตสาหกรรมปี 2552 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ (-10.0) — (-8.0) จาก ปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.9

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปี 2552 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ (-12.0) — (-10.0) จากปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.9

แนวโน้มภาคอุตสาหกรรมในช่วงที่เหลือของปี 2552 เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น จากข้อมูลรายเดือนในไตรมาสที่ 1 ที่การหดตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีแนวโน้มหดตัวลดน้อยลง สอดคล้องกับยอดคำสั่งซื้อในหลายอุตสาหกรรมที่เริ่มมีกลับเข้ามา อาทิ การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรว์ ส่งผลต่อการจ้างแรงงานเพิ่ม ทั้งนี้คาดว่าภาคการผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 ยังมีโอกาสที่จะลดลงในอัตราน้อยกว่าในช่วงไตรมาสแรก และหากปัญหาความสงบในประเทศคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นส่งผลให้นโยบายการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลขับเคลื่อนไปได้ จะช่วยให้การใช้จ่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้น และส่งผลให้อุตสาหกรรมฟื้นตัวเร็วขึ้น

สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม

  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

ก.พ. 52 = 139.8

มี.ค. 52 = 159.2

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีขยายตัวได้แก่

  • Hard Disk Drive
  • เบียร์
  • น้ำมันปิโตรเลียม
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

ก.พ. 52 = 50.0

มี.ค. 52 = 54.5

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • น้ำมันปิโตรเลียม
  • Hard Disk Drive
  • ยานยนต์
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารเดือนมีนาคม แม้จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากเป็นการผลิตสต็อกไว้ แต่คาดว่าจะชะลอตัวลงในเดือนเมษายนตามฤดูกาล สำหรับการจำหน่ายในประเทศจะยังขยายตัวได้เพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเช็คช่วยชาติของรัฐบาล ทำให้ประชาชนเพิ่มปริมาณการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

1. การผลิต

ภาวะการผลิตโดยรวม (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนมีนาคม ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.0 แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 3.7 แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออกเป็นหลัก เช่น กุ้งแช่เย็นแช่แข็ง และสับปะรดกระป๋อง และข้าวโพดฝักอ่อนกระป๋อง มีปริมาณการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 13.0 55.8 และ 80.3 จากวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง ส่วนทูน่ากระป๋อง มีการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.3 จากการผลิตเพื่อสำรองไว้เพิ่มขึ้นก่อนจะมีวันหยุดเทศกาลในเดือนหน้า

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีปริมาณการกลั่นลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 14.2 และ 11.7 เนื่องจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง ส่วนน้ำมันถั่วเหลืองมีการผลิตเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 32.6 และ 20.5 เนื่องจากราคาถั่วเหลืองในตลาดโลกลดลง ประกอบกับผลิตเพื่อทดแทนสต็อกที่ลดลงในเดือนก่อน

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนมีนาคม สินค้าอาหารและเกษตร มีปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 8.3 เนื่องจากผู้บริโภคไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจึงลดปริมาณการอุปโภคและบริโภคลง

2) ตลาดต่างประเทศ เดือนมีนาคม มูลค่าการส่งออกโดยรวมของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 6.9 เนื่องจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก แต่หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนมูลค่าการส่งออกรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารในเดือนเมษายน คาดว่าจะชะลอตัวจากเดือนก่อน จากสถานการณ์การส่งออกในผลิตภัณฑ์หลักๆ ที่อิงตลาดสหรัฐอเมริกาอาจยังไม่ฟื้นตัวจากการถดถอยของเศรษฐกิจ และการชะลอตัวของตลาดอื่นๆ ทั่วโลก สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศจะมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากประชาชนได้รับเช็คช่วยชาติจากรัฐบาลเป็นการกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้น

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

...แนวโน้มการผลิตในระยะ 2-3 เดือนถัดไปของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะยังคงทรงตัวหรือเพิ่มเพียงเล็กน้อย...

1. การผลิต

ภาวะการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอในเดือนมีนาคม 2552 ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น (+5.9%) ผ้าผืน(+1.4%) เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถัก(+11.2%) และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ (+8.9%) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์สิ่งทอปรับตัวลดลงในทุกผลิตภัณฑ์ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ (-22.0%), ผ้าทอ (-30.2%) เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถัก (-34.0%) เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ (-11.2%) สาเหตุหลักที่ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอปรับตัวลดลง เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักและภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้ลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อ ประกอบกับเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศของไทย ทำให้ลูกค้าต่างประเทศไม่กล้าที่จะเดินทางมาเจรจาซื้อขาย

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ เดือนมีนาคม 2552 ส่วนใหญ่ยังขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าผู้บริโภคจะประหยัดรายจ่ายแต่สินค้าแฟชั่นในกลุ่มสตรียังมีความต้องการเพิ่มขึ้น

การส่งออก เดือนมีนาคม 2552 ผลิตภัณฑ์สิ่งทอปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.3 ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ต้นน้ำและกลางน้ำ ได้แก่ ด้ายฝ้าย (+26.1%) ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ (+15.9%) เคหะสิ่งทอ (+13.7%)เส้นใยประดิษฐ์ (+9.3) และสิ่งทออื่นๆ (+13.0%) ในขณะที่เสื้อผ้าสำเร็จรูป(-6.4%) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการส่งออกสิ่งทอปรับตัวลดลงร้อยละ 15.9 ซึ่งปรับลดลงในทุกตลาดส่งออกหลักทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอาเซียน ยกเว้นเพียงตลาดญี่ปุ่น ที่ส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

3. แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตในระยะ 2-3 เดือนถัดไปจะยังคงทรงตัวหรือเพิ่มเพียงเล็กน้อย รวมถึงการส่งออกสิ่งทอที่เป็นผ้าผืนอาจจะติดลบ เนื่องจากผลกระทบต่อเนื่องจากเครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่มีคำสั่งซื้อลดลง สำหรับการจำหน่ายโดยเฉพาะกลุ่มผลิตเสื้อยืด และการจำหน่ายในประเทศ ยังมีศักยภาพอยู่และยังต้องการแรงงานเพิ่ม ประกอบกับผลจากการทำความตกลงความร่วมมือภายใต้กรอบ JTEPA ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2550 เป็นส่วนหนึ่งทำให้สิ่งทอไทยขยายตัวได้ในตลาดญี่ปุ่น และการทำความตกลงภายใต้กรอบ AJCEP ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดหวังจากฝ่ายญี่ปุ่นและไทยว่าจะทำให้มูลค่าการค้าของทั้ง 2 ฝ่ายขยายตัวมากขึ้น

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

กระทรวงการคลังอินเดียได้ประกาศเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดซึ่งจะเรียกเก็บจากเหล็กกล้าไร้สนิมรีดเย็นที่นำเข้าจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย อัฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปเป็นเวลา 6 เดือนตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน-21 ตุลาคม 2008

1.การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนมีนาคม 2552 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ขยายตัวขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.99 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 90.67 เมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว พบว่า ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.42 โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของลวดเหล็ก ร้อยละ 26.23 รองลงมาคือ เหล็กลวดและเหล็กเส้นกลม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.73 และ 15.69 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากคำสั่งซื้อพิเศษของลูกค้าบางรายที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ สำหรับเหล็กทรงแบน พบว่า ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 3.34 โดยเป็นผลมาจากการลดลงของเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ที่ลดลง ร้อยละ 27.88 เนื่องจากในช่วงเดือนมกราคม — กุมภาพันธ์ ผู้ผลิตได้เร่งการผลิตเพื่อส่งมอบสินค้าไปในเดือนกุมภาพันธ์ จึงทำให้เดือนมีนาคมการผลิตจึงปรับเข้าสู่ภาวะปกติ รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 2.08 ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลงถึง ร้อยละ 44.35 โดยเหล็กทรงยาว มีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 38.58 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด ได้แก่ ลวดเหล็กแรงดึงสูง ลดลง ร้อยละ 48.72 และเหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ 47.24 สำหรับเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 47.20 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลง ร้อยละ 51.80 และเหล็กแผ่นรีดเย็น มีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 51.56

2.ราคาเหล็ก

การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนเมษายน 2552 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ราคาโดยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เหล็กที่สำคัญเกือบทุกตัวมีการเปลี่ยนแปลงที่ลดลงดังนี้ เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง จาก 470 เป็น 420 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ 10.64 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง จาก 390 เป็น 349 เหรียญสหรัฐต่อตันลดลง ร้อยละ 10.47 เหล็กแท่งแบน ลดลง จาก 320 เป็น 310 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 3.13 ในขณะที่เหล็กเส้น มีราคาที่ทรงตัว คือ 398 เหรียญสหรัฐต่อตัน และเหล็กแท่งเหล็กบิลเล็ต เพิ่มขึ้นจาก 304 เป็น 350 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.23

3. แนวโน้ม

สถานการณ์เหล็กในเดือนเมษายน 2552 คาดว่าในส่วนของการผลิตในกลุ่มเหล็กทรงยาวจะยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจึงทำให้ความต้องการของผู้ใช้ในธุรกิจก่อสร้างลดลง ประกอบกับผู้ผลิตยังคงสต๊อกเก่าอยู่ ในขณะที่เหล็กทรงแบนเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนคาดว่าการผลิตจะทรงตัวเนื่องจากสถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องยังคงชะลอตัวอยู่

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมีนาคม 2552 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 เนื่องจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจชะลอตัว โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมีนาคม ดังนี้

  • การผลิตรถยนต์ จำนวน 65,449 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งมีการผลิต 133,943 คัน ร้อยละ 51.14 แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ร้อยละ 7.18
  • การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 41,328 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งมีการจำหน่าย 66,107 คัน ร้อยละ 37.48 โดยขณะนี้สถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มากขึ้น แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ร้อยละ 20.28 ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมีการจัดงานมอเตอร์โชว์ 2552
  • การส่งออกรถยนต์ จำนวน 44,742 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งมีการส่งออก 72,972 คัน ร้อยละ 38.69 ตามสภาพเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นการลดลงในทุกตลาดส่งออก ยกเว้นตลาดตะวันออกกลางที่มีการขยายตัวร้อยละ 27 แต่มีปริมาณการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ร้อยละ 0.30
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนเมษายน 2552 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2552 เนื่องจากมีวันหยุดนักขัตฤกษ์หลายวัน สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนเมษายน 2552 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 47 และส่งออกร้อยละ 53

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมีนาคม 2552 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมีนาคม ดังนี้

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 126,184 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งมีการผลิต 158,601 คัน ร้อยละ 20.44 แต่มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ร้อยละ 4.92
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 126,875 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งมีการจำหน่าย 144,797 คัน ร้อยละ 12.38 แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ร้อยละ 6.19
  • การส่งออกรถจักรยานยนต์ จำนวน 17,367 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งมีการส่งออก 15,511 คัน ร้อยละ 11.97 และมีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ร้อยละ 23.21
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนเมษายน 2552 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2552 เนื่องจากมีวันหยุดนักขัตฤกษ์หลายวัน สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนเมษายน 2552 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 89 และส่งออกร้อยละ 11
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงซบเซา สาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สำหรับการส่งออกมีแนวโน้มทรงตัว แต่มีปัจจัยลบที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อการส่งออกคือ ปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย เช่น ประเทศในแถบอาเซียน ด้วย ”

1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเดือนมีนาคม 2552 เทียบกับเดือนก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.87 และ 7.05 ตามลำดับ เนื่องจากอยู่ในช่วงของฤดูกาลก่อสร้าง และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงร้อยละ 14.33 และ 9.67ตามลำดับ ตามภาวะของธุรกิจการก่อสร้างที่ยังคงซบเซา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกกำลังถดถอยส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชน อาจทำให้ชะลอการลงทุนออกไป ทั้งทางด้านผู้บริโภคเองเมื่อต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ก็ทำให้ระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นส่วนการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคของภาครัฐยังคงไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากปัญหาสถียรภาพทางการเมือง อาจทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนและการผลักดันโครงการลงทุนใหม่ๆมีความล่าช้าออกไปอีก

2.การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เดือนมีนาคม 2552 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.35 และ 25.11 ตามลำดับ ตามความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ที่เพิ่มขึ้นของตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ บังคลาเทศ กัมพูชา พม่า และเวียดนามซึ่งประเทศเหล่านี้ยังมีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์เนื่องจากมีกิจกรรมการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

3.แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในเดือนเมษายน และเดือนพฤษภาคม 2552 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากในเดือนเมษายนมีช่วงหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์และเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ขณะที่การลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคของภาครัฐก็ยังไม่มีโครงการใหม่เกิดขึ้น

สำหรับการส่งออกยังมีแนวโน้มทรงตัว แต่ในปี 2552 มีปัจจัยลบที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อการส่งออกคือ ปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งกระทบไปถึงภูมิภาคที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย เช่น ประเทศในแถบอาเซียน ด้วย

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนเมษายน 2552 พบว่า สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวมปรับตัวลดลงร้อยละ 30.05 โดยการปรับตัวลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงเช่นกัน จากการปรับตัวลดลงของอุตสาหกรรม HDD และชิ้นส่วน IC ซึ่งประมาณการว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 8.73 และ 34.20 เป็นต้น ซึ่งเป็นการปรับลดลงที่น้อยกว่าในเดือนก่อนหน้านี้ เนื่องจากเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาและมีสัญญาณที่ดีในการจ้างงานที่อาจมีปรับเพิ่มขึ้น

ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน มี.ค. 2552

          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์             มูลค่า      %MoM     %YoY
          อุปกรณ์คอมพิวเตอร์                 1,168.86     17.09   -25.49
          IC                               499.77     37.62   -25.72
          เครื่องปรับอากาศ                    235.90     45.02   -38.62
          เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า                   117.69     31.51   -24.25
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์    3,772.89      4.02   -30.81

ที่มา กรมศุลกากร

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนมีนาคม 2552 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 278.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 17.49 เนื่องจากการปรับตัวลดลงทุกผลิตภัณฑ์ตามกำลังซื้อที่หดตัวในตลาดส่งออก ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.07 ซึ่งมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามาในระยะสั้นทำให้การผลิตมีแนวโน้มมากกว่าเมื่อเดือนก่อน

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 42.38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 90.42 และเมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.35 สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.47โดยมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 385.60 และเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.58 ซึ่งเริ่มมีภาวะการผลิตปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงไตรมาสที่4/2551 ที่มีการผลิตและส่งออกที่เป็นลบ ต่อเนื่องถึง 2 เดือนแรกของปีนี้

2. การตลาด

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนมีนาคม 2552 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 21.13 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลง ร้อยละ 27.96 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 3,162.05 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สูงที่สุดได้แก่เครื่องปรับอากาศสำหรับที่พักอาศัย โรงงาน มีมูลค่าการส่งออก 235.90 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูงที่สุดคือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่า 1,168.86 ล้านเหรียญสหรัฐ

3. แนวโน้ม

แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนเมษายน 2552 พบว่า สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวมปรับตัวลดลงร้อยละ 30.05 โดยการปรับตัวลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงเช่นกัน จากการปรับตัวลดลงของอุตสาหกรรม HDD และชิ้นส่วน IC ซึ่งประมาณการว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 8.73 และ 34.20 เป็นต้น ซึ่งเป็นการปรับลดลงที่น้อยกว่าในเดือนก่อนหน้านี้ เนื่องจากเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาและมีสัญญาณที่ดีในการจ้างงานที่อาจมีปรับเพิ่มขึ้น

  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนมีนาคม 2552 มีค่า 159.2 ขยายตัวจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 (139.8) ร้อยละ 13.9 แต่หดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (193.6) ร้อยละ -17.7
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ได้แก่ Hard Disk Drive เบียร์ น้ำมันปิโตรเลียม อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ Hard Disk Drive เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์สี
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนมีนาคม 2552 อยู่ที่ระดับร้อยละ 54.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 (ร้อยละ 50.0) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (ร้อยละ 68.3)
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม Hard Disk Drive ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน เบียร์ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ ด้ายฝ้ายบริสุทธิ์ โพลีเอสเตอร์ เหล็กเส้นกลม เหล็กเส้นข้ออ้อย เหล็กลวดเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เหล็กแผ่นรีดเย็น Hard Disk Drive ลวดเชื่อมไฟฟ้า สกรู น๊อต ตะปู สปริง เป็นต้น

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2552

  • ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 288 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 223 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 29.15 การจ้างงานรวมมีจำนวน 7,070 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 5,870 คน ร้อยละ 20.44 และมียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 9,104.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งมีการลงทุน 7,262.88 ล้านบาท ร้อยละ 25.36
  • ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 350 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ -17.71 มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งมีการลงทุน 8,186.47 ล้านบาท ร้อยละ 11.21 และมีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2551 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 6,851 คน ร้อยละ 3.20
  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนมีนาคม 2552 คืออุตสาหกรรมขุดตักดิน 24 โรงงาน และอุตสาหกรรมผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ จำนวน 23 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนมีนาคม 2552 คืออุตสาหกรรม ผลิตแผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลาง เงินทุน 2,111.10 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์อิเลคทรอนิคส์ต่างๆ เช่นแผงวงจรพิมพ์ เงินลงทุน 1,791.12 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนมีนาคม 2552 คืออุตสาหกรรม ผลิตถุงพลาสติก จำนวนคนงาน 1,544 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อิเลคทรอนิคส์ต่างๆ เช่นแผงวงจรพิมพ์ จำนวนคนงาน 1,268 คน
  • ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 145 ราย มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 107 ราย คิดเป็นร้อยละ 35.51 มีการเลิกจ้างงานจำนวน 3,977 คน มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งเลิกจ้างงานจำนวน 2,262 คน แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการจำนวน 2,614.79 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 2,682.56 ล้านบาท
  • ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการน้อยกว่าเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 216 ราย คิดเป็นร้อยละ -32.87 มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนมีนาคม 2551 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 2,828.67 ล้านบาท แต่มีการเลิกจ้างงานมากกว่าเดือนมีนาคม 2551 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 3,771 คน
  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนมีนาคม 2552 คืออุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนจากไม้ ยาง อโลหะอื่น ซึ่งมิได้ทำจากพลาสติกอัดเข้ารูปและอุตสาหกรรมซ่อมยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์หรือส่วนประกอบ ทั้งสองอุตสาหกรรมเท่ากัน จำนวน 13 ราย รองลงมาคือ อุตสาหกรรมขุดหรือลอก กรวดทรายหรือดิน จำนวน 9 ราย
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนมีนาคม 2552 คืออุตสาหกรรมผลิตแก้ว เส้นใยแก้ว ผลิตภัณฑ์แก้ว เงินทุน 800 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมทำชิ้นส่วนพิเศษสำหรับรถยนต์หรือรถพ่วง เงินทุน 551 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนมีนาคม 2552 คือ อุตสาหกรรมผลิต ซ่อมเครื่องคำนวณ เครื่องทำบัญชี เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ คนงาน 539 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำชิ้นส่วนพิเศษสำหรับรถยนต์หรือรถพ่วง คนงาน 462 คน
  • ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมีนาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 112 โครงการ มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่มีจำนวน 53 โครงการ ร้อยละ 111.32 และมีเงินลงทุน 26,900 ล้านบาท มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่มีเงินลงทุน 2,700 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 896.30
  • ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมีนาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท.มากกว่าเดือนมีนาคม 2551 ที่มีจำนวน 101 โครงการ ร้อยละ 10.89 และมีเงินลงทุนมากกว่าเดือนมีนาคม 2551 ที่มีเงินลงทุน 6,000 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 348.34
  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม- มีนาคม 2552
          การร่วมทุน                        จำนวน(โครงการ)    มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%                  66                  13,300
          2.โครงการต่างชาติ 100%                 87                  10,800
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ           60                   8,300
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม - มีนาคม 2552 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 10,700 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 7,200 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ