สศอ. รับลูกรัฐบาล เร่งอัดฉีดงบเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) 243 ล้านบาท ผ่าน 17 โครงการ 6 เดือนคืบหน้า เพิ่มทักษะ 5,000 คน เติมประสิทธิภาพ 400 โรงงาน
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สศอ. ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยกำกับและประสานการดำเนินโครงการภายใต้แผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม (Productivity) พ.ศ. 2551-2555 โดยในปีงบประมาณ 2552 สศอ. ได้อุดหนุนงบประมาณให้กับสถาบันอิสระภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม 6 สถาบัน จำนวน 17 โครงการ วงเงิน 243 ล้านบาท แยกเป็นสถาบันอาหาร 5 โครงการ 56 ล้านบาท สถาบันยานยนต์ 2 โครงการ 80 ล้านบาท สถาบันไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ 3 โครงการ 45 ล้านบาท สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ 3 โครงการ 23 ล้านบาท สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทสไทย 3 โครงการ 35 ล้านบาท และสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 1 โครงการ 3.5 ล้านบาท ผลการดำเนินงานในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมาถือว่ามีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก ซึ่งทั้งในส่วนของการพัฒนาบุคลากร และการปรึกษาแนะนำเพิ่มประสิทธิภาพในโรงงาน
“สามารถเพิ่มทักษะบุคลากร รวม 5,011 คน อุตสาหกรรมอาหาร ได้จัดการอบรมด้านระบบคุณภาพและการเพิ่มผลผลิต 1,000 คน มีการฝึกอบรมนักวิเคราะห์อาหารมืออาชีพไปแล้ว 3 หลักสูตร ผู้เข้าอบรม 176 คน โดยมีผู้ผ่านการอบรมเป็นนักวิเคราะห์ขั้นต้นแล้ว 35 คน บุคลากรสถาบันอาหารได้รับการอบรมวิธีทดสอบตามมาตรฐานญี่ปุ่น และขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำวิธีทดสอบและดำเนินการทดสอบตัวอย่างตามที่ได้รับอบรม 40 ตัวอย่าง อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อบรมในระดับช่างเทคนิค แรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรม นักศึกษาจบใหม่/แรงงานอื่นที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรม ไฟฟ้าฯ รวมทั้งบุคลากรที่จะเป็นวิทยากร เพื่อขยายผลการอบรมในโรงงานต้นแบบ รวม 2,000 คน อุตสาหกรรมยานยนต์ อบรมบุคลากรที่มีอยู่เดิมที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรม และวิทยากร จำนวน 500 คน และด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม มีการอบรมทางเทคโนโลยีสิ่งทอ 1,300 คน”
สำหรับการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ พัฒนากระบวนการผลิต/ยกระดับคุณภาพมาตรฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของอุตสาหกรรม ดำเนินการแล้ว 401 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นการให้คำปรึกษา วินิจฉัย ตรวจประเมินโรงงาน โดยผู้เชี่ยวชาญร่วมกับผู้ประกอบการในแต่ละสาขาอุตสาหกรรม โดย ยานยนต์และชิ้นส่วน มีการพัฒนาระบบริหารการผลิต ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญให้แก่โรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมสนับสนุนไปแล้ว 70 โรงงาน
อุตสาหกรรมอาหาร ได้มีการพัฒนาระบบ HACCP เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิต การเพิ่มศักยภาพการผลิตโดยใช้หลักการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice on Green Productivity) 140 โรงงาน การยกระดับความปลอดภัยในการผลิตอาหารที่ฆ่าเชื้อด้วยความร้อน 30 โรงงาน และอาหารสุกแช่แข็ง 40 โรงงาน นอกจากนี้ยังเพิ่มผลิตภาพสถานประกอบการ SMEs ในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ด้วยการปรับปรุงกระบวนการอย่างต่อเนื่อง (Continuous Process Improvement) จำนวน 25 โรงงาน
ขณะที่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ได้ดำเนินการปรับปรุง/พัฒนาระบบการผลิตแบบลีน (Lean Manufacturing) ในโรงงานอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มเห้าหมาย จำนวน 11 โรงงาน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีการให้คำปรึกษาด้านการเพิ่มผลผลิตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จำนวน 60 โรงงาน อุตสาหกรรมเหล็ก ปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตชิ้นส่วน 12 โรงงาน และกระบวนการใช้พลังงาน 7 โรงงาน
นายอาทิตย์ กล่าวว่า ในภาพรวมหลังดำเนินโครงการมาได้ 6 เดือน พบว่า อุปสรรคสำคัญ คือ ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความลังเล/ชะลอการตัดสินใจในการเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายประสบปัญหาทางธุรกิจ ยอดสั่งซื้อลดลง ทำให้ต้องชะลอการผลิต ตลอดจนปรับลดเวลาทำงานของพนักงาน ลดค่าใช้จ่ายในทุกด้าน และให้ความสนใจในการแก้ปัญหาธุรกิจเฉพาะหน้ามากกว่าการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาว
อย่างไรก็ตามในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น สศอ. ได้เร่งกำกับ ติดตาม และประสานงานกับสถาบันอิสระที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการให้ปรับวิธีดำเนินการต่างๆ เช่น การขยายเวลารับสมัคร ปรับแผนการอบรม/สัมมนาให้ตรงกับความต้องการของผู้เข้าร่วม ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เช่น การจัดอบรมเพื่อเพิ่มความรู้และทักษะให้กับพนักงานที่มีเวลาว่างจากการปรับลดเวลาทำงาน การฝึกอบรมเพิ่มทักษะในลักษณะ
รักษาสภาพการจ้างงาน เป็นต้น ในส่วนกิจกรรมปรึกษาแนะนำก็ให้ปรับแนวทางการให้คำปรึกษาโดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเร่งด่วนด้านธุรกิจที่โรงงานเป้าหมายกำลังประสบหรือได้รับผลกระทบจากวิกฤต
“การปรับปรุงประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิต เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าในช่วงเศรษฐกิจจะตกต่ำหรือรุ่งเรือง เพื่อสร้างความแข็งแรง และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่ง ในปีงบประมาณ 2553 สศอ.จะได้รับการจัดสรรงบประมาณภายในแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพ ภาคอุตสาหกรรม จำนวน 249.7 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการต่างๆให้เกิดความต่อเนื่อง” นายอาทิตย์ กล่าวย้ำ
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--