สศอ. เผยดัชนีอุตฯ เม.ย.-12.84% แต่หลายอุตฯ เริ่มมีสัญญาณฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 9, 2009 13:24 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีอุตฯ เดือน เม.ย.52 ติดลบ -12.84% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 3 เดือน ชี้มังกรจีนสั่งนำเข้าสินค้า IC เพิ่มขึ้น ขณะที่ ยานยนต์-Hard disk เริ่มฟื้น ผู้ประกอบการรับคนเพิ่ม

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน เม.ย.52 ยังติดลบ -12.84% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งต้องยอมรับว่าในช่วงนั้นภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวค่อนข้างสูง เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกในหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น การผลิตและส่งออกจึงเดินหน้าได้ดี ก่อนที่จะเริ่มประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกหลังจากกลางปี 2551 เป็นต้นมา ส่งผลให้การขยายตัวภาคอุตสาหกรรมเริ่มติดลบตั้งแต่เดือนตุลาคม เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตามหากมองอัตราการขยายตัวเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน คือ เดือน ม.ค.ที่ติดลบ -25.6% เดือนก.พ.-23.07% และเดือนมี.ค -17.74% ซึ่งตัวเลขอัตราการติดลบที่น้อยลงนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดี โดยหลายอุตสาหกรรมเริ่มมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามา ซึ่งส่งผลต่อการจ้างงานหลังจากแรงงานภาคอุตสาหกรรมมีปัญหาการเลิกจ้าง ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 เป็นต้นมา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขณะนี้ประเทศจีนมีคำสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากจีนเร่งพัฒนาประเทศอย่างมโหฬาร จึงต้องเร่งปูพื้นฐานของประเทศให้พร้อมในทุกๆด้าน นอกจากนี้อุตสาหกรรมหลักๆ เช่น การผลิตยานยนต์ Hard disk เริ่มมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามาจึงส่งผลให้ดัชนีผลผลิตเดือนเม.ย.เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าติดลบลดลง ดังกล่าว

การผลิต IC เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ในส่วนของ Monolithic IC การผลิตและการจำหน่ายลดลง -22.6%และ-28.4% Transistors การผลิตและจำหน่ายลดลง -5.8% และ -17.7% ขณะที่ Other IC มีการผลิตและจำหน่ายลดลง -28.9%และ-29.6% ตามลำดับ ซึ่งปัจจัยหลักที่มีผลต่อสัญญาณการฟื้นตัวครั้งนี้ เนื่องจากตลาดอาเซียนที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญมีการขยายตัว และบริโภคสินค้นในกลุ่ม IC มากขึ้น รวมทั้งปัจจัยจากประเทศจีนที่เข้ามาสั่งซื้อสินค้าจากไทยมากขึ้น เนื่องจากมีความมั่นใจในฝีมือของคนไทย ตลอดจนเห็นว่าเป็นสินค้าที่มีความคุ้มค่าต่อการใช้งาน

การผลิตยานยนต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนมีการหดตัวทั้งการผลิตและจำหน่ายคิดเป็น -43.7% และ -41.9% เนื่องจากผลพวงของวิกฤตเศรษฐกิจโลก และในช่วงเดียวกันนั้นอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยถือว่าเป็นช่วงที่มีอัตราการขยายตัวได้ดี จึงสร้างฐานข้อมูลทางสถิติไว้สูง โดยรถปิ๊กอัพขนาด 1 ตัน มีการจำหน่ายลดลง -46.2% รถยนต์นั่งขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1800 ซีซี จำหน่ายลดลง -27.5%

การผลิต Hard disk เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายลดลง -3.9%และ-4.7% โดย 4 เดือนแรกของปีการผลิตและจำหน่ายติดลบ -15.8% และ -14.6% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก จึงมีการชะลอคำสั่งซื้อออกไป อย่างไรก็ดีขณะนี้ได้มีคำสั่งซื้อกลับเข้ามาแล้ว แต่ก็คาดว่าทั้งปีภาวะการผลิตและจำหน่ายยังจะติดลบอยู่บ้าง

โดยสรุปดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2552 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 146.66 ลดลง -12.84% จากระดับ 168.27 ดัชนีผลผลิต (มูลค่าผลผลิต) อยู่ที่ระดับ 141.49 ลดลง -16.52% จากระดับ 169.49 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 140.69 ลดลง -16.69% จากระดับ 168.88 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 102.49 ลดลง -5% จากระดับ 107.88 ขณะที่ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 207.98 เพิ่มขึ้น 18.51% จากระดับ 175.49 ดัชนีอัตราส่วนสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 224.50 เพิ่มขึ้น 11.41% จากระดับ 201.50 ดัชนีผลิตภาพแรงงานอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 146.54 เพิ่มขึ้น 0.63% จากระดับ 145.62 ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 51.41 %

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ