สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 (มกราคม — มีนาคม) พ.ศ. 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 9, 2009 13:44 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 1 ปี 2552 เศรษฐกิจหลาย ๆ ประเทศยังคงอยู่ในภาวะถดถอยต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ปัญหาการว่างงานของประเทศต่าง ๆ ยังคงมีอยู่และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 1 ปี 2552 อยู่ที่ 43.47 USD/Barrel ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 ที่อยู่ที่ 91.03 USD/Barrel เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงหดตัว ทำให้ความต้องการน้ำมันลดลง นอกจากนี้ตลาดยังกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ระบาดอยู่ในขณะนี้อาจจะส่งผลต่อการใช้น้ำมัน โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน จากการท่องเที่ยวและการเดินทางของสายการบินที่น่าจะลดลง สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันยังคงแกว่งตัวขึ้นลง โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมิถุนายน ลดลง 2.50 USD/Barrel โดยมีราคาอยู่ที่ 56.34 USD/Barrel

สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ที่ผ่านมา หดตัวร้อยละ 4.3 โดยหดตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 และหดตัวจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการขยายตัวหดตัวลง คือ อุปสงค์จากต่างประเทศที่ลดลง เนื่องจากการส่งออกลดลงทั้งสินค้าและบริการ การลงทุนลดลงทั้งในภาครัฐและเอกชน ประกอบกับการใช้จ่ายของครัวเรือนที่ชะลอตัวลง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2552 จะหดตัวร้อยละ 1 ถึง 0

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมไทย ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ตัวชี้วัดต่าง ๆ ส่วนใหญ่มีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2551 เช่น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 146.1 ปรับตัวลดลงลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (165.9) ร้อยละ 12.0 และปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (187.4) ร้อยละ 22.1 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ผ่านมา โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีการปรับตัวลดลงในเกือบทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลักที่มีการส่งออกมาก นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมมีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2551 เช่นกัน

          ขณะที่สถานการณ์การค้าในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 มีมูลค่าลดลงจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2551ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปี 2551 โดยในไตรมาสที่ 1 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 60,519.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 33,787.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 26,732.5  ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 12.79 และมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 33.42  และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 20.55  สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นลดลงร้อยละ 37.63  ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ดุลการค้าขาดดุล 7,054.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้          การส่งออกในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่าในเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคมมูลค่าการส่งออกมีทิศทางขยายตัวขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม และมูลค่าการส่งออกเกิน 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทุกเดือน โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่าการส่งออก 11,735.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 การลงทุนสุทธิในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ซึ่งมีมูลค่ารวม 45,248.23 ล้านบาท โดยมูลค่าลดลงร้อยละ 28.28 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในปี 2552 เดือนมกราคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 21,213.87 ล้านบาท และเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่า 24,034.36 ล้านบาท สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 213 โครงการ ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.26 โดยมีเงินลงทุน 32,400 ล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 26.36 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 87 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 10,800 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 60 โครงการ เป็นเงินลงทุน 8,300 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาในหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 10,700 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 7,200 ล้านบาท และหมวดเกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตรมีเงินลงทุน 4,800 ล้านบาท สำหรับแหล่งลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 58 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 9,497 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศเนเธอร์แลนด์จำนวน 6 โครงการ มีเงินลงทุน 1,544 ล้านบาท ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จำนวน 2 โครงการ เป็นเงินลงทุน 998 ล้านบาท และประเทศเยอรมัน 11 โครงการ เป็นเงินลงทุน 682 ล้านบาท

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 มีดัชนีผลผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 86.10 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 10.72 หากเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงเช่นกันร้อยละ 40.04 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับลดลงทุกรายการ สำหรับภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 พบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 1 ปรับตัวลดลงร้อยละ 20.88 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงถึงร้อยละ 23.49 โดยสินค้าที่มีการปรับตัวลดลงมากเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คือ Monolithic IC และ Semiconductor ลดลงร้อยละ 53.31 และ 47.10

แนวโน้มภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วงไตรมาสที่ 2 ระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2552 โดยดูจากดัชนีการส่งสินค้าของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ประมาณการว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 22.65 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศปรับตัวลดลงร้อยละ 25.84 ส่วนภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ประมาณการว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 19.99 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากตัวแปรดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐส่งสัญญาณชะลอลง

เคมีภัณฑ์ ไตรมาส 1 ปี 2552 การส่งออกเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.89 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และลดลงร้อยละ 11.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่าส่งออกลดลง ร้อยละ 26.37 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และลดลงร้อยละ 10.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมสีมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.18 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และลดลงร้อยละ 13.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนเครื่องสำอางหรือสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกายมีมูลค่าส่งออก ลดลงร้อยละ 23.92 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.09 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 45.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์โดยรวมในปี 2552 น่าจะชะลอตัวลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ดังนั้นผู้ประกอบการเคมีภัณฑ์ต้องปรับธุรกิจให้สามารถอยู่รอด โดยผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต การตลาด การจัดการ รวมทั้งเทคโนโลยีต่าง ๆ และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวให้เข้ากับกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ประกาศออกมาใช้เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของมนุษย์ และคุณภาพของสิ่งแวดล้อมที่ดี

ปิโตรเคมี ในไตรมาส 1 ปี 2552 การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 10.11 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 32.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.95 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 14.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 9.62 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และลดลงถึงร้อยละ 29.75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดการณ์ว่า จากสถานการณ์สภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่อยู่ในภาวะถดถอย ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะอยู่ในช่วงที่ซบเซาต่อไป อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปี 2552 จะมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันด้านการตลาด นอกจากนี้ ปัญหาด้านความมั่นคงทางการเมืองในประเทศเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ที่ส่งผลต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศ

เหล็กและเหล็กกล้า สถานการณ์เหล็กโดยรวมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตโดยรวมลดลงร้อยละ 36.89 ความต้องการใช้ในประเทศ ลดลง ร้อยละ 43.57 สำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้า ลดลง ร้อยละ 38.89 และ 50.68 ตามลำดับ โดยเป็นผลมาจากการลดลงของการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ ลดลง ร้อยละ 84.18 เหล็กแท่งแบน ลดลง ร้อยละ 78.15 เนื่องจากผู้ผลิตในกลุ่มเหล็กแผ่นรีดร้อนซึ่งใช้เหล็กชนิดนี้เป็นวัตถุดิบมีการผลิตที่ลดลงอันเป็นผลจากความต้องการใช้ในประเทศจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ชะลอตัวลง จึงทำให้การนำเข้าเหล็กแท่งแบนลดลงตามไปด้วย

แนวโน้มสถานการณ์เหล็กโดยรวมในประเทศของไตรมาสที่ 2 ปี 2552 เหล็กทรงยาว คาดการณ์ว่าการผลิตจะทรงตัวเนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กทรงยาวที่สำคัญมีสถานการณ์ที่ชะลอตัวอยู่ จึงทำให้ปริมาณสินค้าคงคลังที่ทั้งผู้ผลิตและพ่อค้าคนกลางสะสมไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงกลางปี 2551 ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ผู้ผลิตต้องลดการผลิตลงตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2551 จนถึงช่วงปัจจุบัน สำหรับเหล็กทรงแบน คาดการณ์ว่าการผลิตจะทรงตัวเนื่องจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญในประเทศลดลง เช่น จากข้อมูลการประกาศลดการผลิตของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ค่ายใหญ่ของโลกและการชะลอตัวของการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่งผลให้การผลิตเหล็กทรงแบนลดลง ประกอบกับปริมาณสินค้า คงคลังที่ยังคงมีอยู่ทั้งผู้ผลิตและพ่อค้าคนกลาง

ยานยนต์ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 (ม.ค.-มี.ค.) มีจำนวน 198,972 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการผลิตรถยนต์ 365,623 คัน ร้อยละ 45.58 โดยเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 55,380 คัน รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน 140,108 คัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 3,484 คัน ลดลงร้อยละ 45.66, 45.82 และ 31.75ตามลำดับ ตามสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่มีการชะลอตัว อันเป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับการอุปโภคบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชนที่ชะลอตัว และความเข้มงวดของสถาบันการเงินต่างๆ ต่อการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์

แนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 คาดว่าการผลิตจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง จากข้อมูลที่ได้จากการสอบถามผู้ประกอบการ คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ในไตรมาสที่สอง ประมาณ 2.08 แสนคัน โดยเป็นการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศประมาณร้อยละ 47 และผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 53

พลาสติก ความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกเพิ่มจากไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 นั้นถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ผู้บริโภคกังวลกับวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก ปรับตัวไม่ทัน จึงทำให้ความต้องการลดลงไปอย่างมาก ในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ความมั่นใจของผู้บริโภคเริ่มดีขึ้น การส่งออกเริ่มกลับมา แต่ถึงแม้ว่าในช่วงเดือนมกราคมการส่งออกจะลดลงไปมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมก็มีการส่งออกเพิ่มขึ้น และเทศกาลตรุษจีน และสงกรานต์ ถือเป็นเทศกาลที่ต้องการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ผลิตสินค้าได้มีการเตรียมสินค้าที่จะขายมากขึ้น

แนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกน่าจะคงดีขึ้น ด้วยปัจจัยหลายๆอย่างดังนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลยังคงดำเนินอยู่ เช่น ลดการเก็บค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถเดินทาง ขสมก. การแจกเช็คช่วยชาติ จะทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น และความต้องการพื้นฐานของผู้บริโภคทุกคนยังมีอยู่ ทำให้สินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 รองเท้าและชิ้นส่วนมีมูลค่าการส่งออก 205.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 มีมูลค่าการส่งออก 236.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 13.0 ผลิตภัณฑ์ที่ลดลง คือ รองเท้ากีฬา รองเท้าหนัง และส่วนประกอบรองเท้า ลดลงร้อยละ 18.4, 18.5 และ 23.5 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น คือ รองเท้าแตะ และรองเท้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.0 และ 7.9 ตามลำดับ

แนวโน้มการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน คาดว่าจะลดลงในทุกผลิตภัณฑ์ โดยในปี 2552 ทั้งปีคาดว่าอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังจะทรงตัวหรือลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เพราะปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมผลิตภัณฑ์ น้ำตาลทราย) ลดลงร้อยละ 5.7 จากไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 เนื่องจากปริมาณการผลิตในกลุ่มผักผลไม้ ประมง อาหารสัตว์ และปศุสัตว์ ลดลงร้อยละ 23.6 8.1 7.1 และ 5.7 ตามลำดับ (ตารางที่ 1) เป็นผลจากการปรับราคาสินค้าอาหารขึ้นอย่างต่อเนื่องจากช่วงไตรมาสที่ 3 ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคในประเทศปรับตัวลดลง ประกอบกับความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ และผลสืบเนื่องจากวิกฤตการเงินที่ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวและถดถอยทางเศรษฐกิจในประเทศผู้นำเข้าหลัก

แนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวม ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 คาดว่าจะปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 และจากไตรมาสก่อน แม้ว่าระดับราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกจะปรับลดลง และค่าเงินบาทได้อ่อนค่าลง ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการส่งออก แต่เนื่องจากไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงที่อุตสาหกรรมอาหารมีการผลิตและการส่งออกน้อยเป็นปกติ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในตลาดหลักยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน และเกิดปัญหาการระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ อาจส่งผลทางจิตวิทยาในเรื่องการบริโภคที่จะเพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดทั้งผลดีและผลกระทบสำหรับสินค้าอาหารโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ของไทยที่จะส่งออกด้วย

          ไม้และเครื่องเรือน ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2552         มีปริมาณการผลิตเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 6.46 และ 3.91 ตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณการผลิตที่ลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อลดลง ภาวะซบเซาโดยรวมของภาคอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพ ทำให้ผู้ประกอบการปรับลดปริมาณการผลิตลง

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 คาดว่าจะทรงตัว เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศ และโดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศที่คงภาวะซบเซา สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพ และราคาน้ำมันที่ยังแปรปรวน ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการผลิตและผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอยออกไป

ยางและผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนการผลิตยางแผ่นและยางแท่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.56 และ 6.38 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนการผลิตยางแผ่นและยางแท่งลดลงร้อยละ 23.34 และ 23.05 ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลกระทบให้ยอดการจำหน่ายรถยนต์ในตลาดหลักของโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีนลดลง และกระทบต่อความต้องการยางล้อรถยนต์ในประเทศดังกล่าวลดลง ซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้ยางพารารายใหญ่ของโลกและเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย มีความต้องการลดลงตามไปด้วย

แนวโน้มอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 คาดว่าจะชะลอตัว แต่จะไม่รุนแรงเท่าไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ทั้งนี้ เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้ต้องลดกำลังผลิตและปลดคนงานบางส่วน ส่งผลให้ปริมาณความต้องการยางล้อและยางพาราลดลง สำหรับแนวโน้มราคายางคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากบริษัทร่วมทุนระหว่างประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งผลิตยางพารารวมกันมากถึงร้อยละ 70 ของปริมาณการผลิตยางพาราทั่วโลก ได้ประกาศร่วมกันในการลดกำลังการผลิตและปริมาณส่งออกยางลง ร้อยละ 10 ในปี 2552 เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 มีค่าดัชนีผลผลิต 96.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษที่เพิ่มขึ้น ส่วนภาวะ การผลิตกระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษคราฟท์ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีค่าดัชนีผลผลิตเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 และ 8.4 ตามลำดับ เนื่องจากการเตรียมรองรับการเปิด ภาคเรียนของนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศ สำหรับภาวะการผลิตกระดาษแข็ง และกระดาษลูกฟูก ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตบรรจุภัณฑ์ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตของกระดาษทั้ง 2 ประเภทที่ลดลงด้วยเช่นกัน เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศชะลอตัว

          แนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์  ในไตรมาสที่ 2 ปี 2552      คาดว่าจะลดลง เนื่องจากความต้องการเยื่อกระดาษ  กระดาษ และสิ่งพิมพ์ในตลาดโลกและตลาด      ในประเทศลดลง  ด้วยสาเหตุจากปัจจัยเสี่ยงในประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และสถานการณ์ทางการเมือง  ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนลดลง ส่วนปัจจัยเสี่ยง                ในต่างประเทศ  ได้แก่  ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กำลังซื้อลดลง  ส่งผลต่อการสั่งซื้อเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์  มีแนวโน้มลดลงด้วย

ยา การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสแรกของปี 2552 มีปริมาณ 7,264.9 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ร้อยละ 10.9 และ 0.7 ตามลำดับ โดย ยาน้ำ เป็นยาที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากมีความต้องการมากขึ้น ประกอบกับผู้ผลิตทำการวางแผนการผลิตที่แตกต่างไปจากปีก่อน โดยเปลี่ยนมาทำการผลิตสินค้าแต่ละประเภทในแต่ละครั้งเป็นปริมาณมาก ก่อนเปลี่ยนไปผลิตสินค้าประเภทอื่นแทน ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนในกระบวนการผลิต

แนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 คาดว่าการผลิต และการจำหน่ายยาในประเทศ จะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก เนื่องจากยาเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากนัก นอกจากนี้โครงการหลักประกันสุขภาพยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาครัฐให้ความสำคัญกับการควบคุมการเบิกค่าใช้จ่ายด้านยา โดยเฉพาะยานำเข้า และสนับสนุนให้มีการใช้ยาที่ผลิตในประเทศ แทนยานำเข้ามากขึ้น

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอ (ISIC 1711) การผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งหรือโครเชท์ (ISIC 1730) และการผลิตเครื่องแต่งกายยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (ISIC 1810) ในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม การผลิตปรับตัวลดลงทั้ง 3 กลุ่ม ร้อยละ 8.7 , 32.4 และ 11.5 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 23.3 , 28.8 และ 14.6 ตาม ลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสาเหตุหลักจากปัญหาการเมืองภายในประเทศรวมทั้งผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ทำให้ลูกค้าทั้งภายในประเทศและส่งออกลดการซื้อสินค้าลง

แนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 คาดว่าภาคการผลิต การส่งออกจะยังชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก คาดว่าคำสั่งซื้ออาจจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 3

ปูนซีเมนต์ การผลิตปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 1 ปี 2552 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 8.93 ล้านตัน ส่วนการผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีจำนวน 8.58 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตปูนเม็ดและการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.17 และ 12.75 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ด และการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงร้อยละ 14.55 และ 14.03 ตามลำดับ

สำหรับการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศไตรมาสที่ 2 ปี 2552 คาดว่าจะยังทรงตัว เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะที่ชะลอตัว แต่อย่างไรก็ตามธุรกิจการก่อสร้างยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ และถึงแม้การลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของภาครัฐจะยังล่าช้า แต่ยังมีงานโครงสร้างการก่อสร้างขนาดเล็ก เช่น การปรับปรุงหรือก่อสร้างถนนภายในหมู่บ้านตามจังหวัดต่างๆ สำหรับโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ที่รัฐบาลมีแผนการดำเนินการส่วนใหญ่อาจเริ่มก่อสร้างได้จริงประมาณต้นปี 2553

เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาสที่ 1 ปี 2552 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 30.26 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.33 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.07 และลดลง ร้อยละ 23.29 ตามลำดับ ซึ่งการผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง จะอิงกับตลาดซ่อมแซมบ้านเก่าจึงยัง มีการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับตลาดในช่วงฤดูกาลขาย ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์จะอิงกับตลาดบ้านใหม่ที่ปัจจุบันอยู่ในภาวะซบเซาทำให้การผลิตลดลง แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน การผลิตเซรามิก ลดลงอย่างต่อเนื่องจากภาวะซบเซาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ โดยกระเบื้อง ปูพื้น บุผนังและเครื่องสุขภัณฑ์ ลดลง ร้อยละ 17.87 และ 39.75 ตามลำดับ

สำหรับการผลิตและจำหน่ายเซรามิก ในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว และเป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ประกอบกับได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซบเซาอย่างหนัก เป็นผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง

อัญมณีและเครื่องประดับ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ด้านการผลิตหดตัวลดลงร้อยละ 11.46 และการจำหน่ายหดตัวลดลงร้อยละ 12.70 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ด้านการส่งออกมีการขยายตัวสูงขึ้นคือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 70.71 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากสินค้าในกลุ่มอัญมณี ได้แก่ พลอย เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีผลต่อมูลค่าการส่งออกในทางบวก คือ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.07 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

แนวโน้มภาพรวมการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 จากการที่ภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว การบริโภคสินค้าอัญมณีซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยในทางเศรษฐศาสตร์นี้ จึงได้รับผลกระทบในตลาดระดับกลาง แต่ในตลาดระดับบนยังมีศักยภาพดีอยู่ นอกจากนี้ราคาทองคำในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงต่ำกว่าระดับ 900 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ จะเป็นสาเหตุให้เกิดการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้นอย่างมากและส่งออกลดลง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ