สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่1 (มกราคม—มีนาคม) พ.ศ.2552 (เศรษฐกิจโลก)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 9, 2009 14:05 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจโลก

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 1 ปี 2552 เศรษฐกิจหลาย ๆ ประเทศยังคงอยู่ในภาวะถดถอยต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ปัญหาการว่างงานของประเทศต่าง ๆ ยังคงมีอยู่และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 1 ปี 2552 อยู่ที่ 43.47 USD/Barrel ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 อยู่ที่ 91.03 USD/Barrel เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงหดตัว ทำให้ความต้องการน้ำมันลดลง นอกจากนี้ตลาดยังกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ระบาดอยู่ในขณะนี้อาจจะส่งผลต่อการใช้น้ำมัน โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน จากการท่องเที่ยวและการเดินทางของสายการบินที่น่าจะลดลง สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันยังคงแกว่งตัวขึ้นลง โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมิถุนายน ลดลง 2.50 USD/Barrel โดยมีราคาอยู่ที่ 56.34 USD/Barrel ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ และสต๊อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดการณ์

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา

ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาส 1 ปี 2552 GDP หดตัวร้อยละ 2.6 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.5 การบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 1 ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 0.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 ซึ่งขยายตัว ร้อยละ 4.6 การลงทุนภาคเอกชนไตรมาส 1 ปี 2552 หดตัวร้อยละ 26.0 เป็นการหดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 ที่หดตัวอยู่ร้อยละ 9.8 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 1 ปี 2552 อยู่ที่ระดับ 29.9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 อยู่ที่ระดับ 76.5 อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 1 ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 70.3 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส1 ปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 80.1 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 1 ปี 2552 อยู่ที่ระดับ 97.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 อยู่ที่ระดับ 112.0

การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2552 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 15.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.4 การส่งออกสินค้าโดยเฉพาะรถยนต์ลดลงอย่างมาก การนำเข้าไตรมาส 1 ปี 2552 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 19.0 เป็นการลดลงเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 ที่ลดลงร้อยละ 1.6 เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลง

อัตราเงินเฟ้อไตรมาส 1 ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ -0.04 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.1 อันเนื่องมาจากราคาพลังงานและอาหารอยู่ในระดับต่ำ อัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยไตรมาส 1 ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 8.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.9 เป็นผลมาจากการลดลงของการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม และภาคการเงิน

ทางด้านสถานการณ์การเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2552 ให้คงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 0.25 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอย

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 1 ปี 2552 ยังอยู่ในภาวะถดถอย ปัญหาการว่างงานและระบบการเงินยังคงมีอยู่ แต่มีสัญญาณที่ชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวในระดับหนึ่ง เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาวะตึงตัวในตลาดการเงินเริ่มบรรเทาลงบ้างแล้ว

เศรษฐกิจจีน

เศรษฐกิจประเทศจีนในไตรมาส 1 ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 6.1 ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 10.6 สาเหตุหลักมาจากการส่งออกที่หดตัวลงอย่างรุนแรง มูลค่าการค้าปลีกในไตรมาส 1 ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 14.9 ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 20.6 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 1 ปี 2552 อยู่ที่ระดับ 86.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 อยู่ที่ระดับ 94.8 ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในไตรมาส 1 ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 27.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 24.8 เนื่องมาจากรัฐบาลเพิ่มเงินลงทุนในโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ท่อน้ำมัน และโครงการที่อยู่อาศัยต้นทุนต่ำ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 1 ปี 2552 อยู่ที่ระดับ 51.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 อยู่ที่ระดับ 58.5

การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2552 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 20.12 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 21.21 การส่งออกที่หดตัวอย่างรุนแรงเนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหดตัวการนำเข้าไตรมาส 1 ปี 2552 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 30.6 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 29.1 สะท้อนถึงเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว

ภาวะเงินเฟ้อของประเทศจีนในไตรมาส 1 ปี 2552 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ-0.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.6 เป็นผลมาจากราคาสินค้าในหมวดอาหาร และสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับต่ำ อัตราการว่างงานในไตรมาส 1 ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 4.3 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.0 อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นสืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจการค้าโลกที่ซบเซาทำให้แรงงานจีนต้องตกงานเป็นจำนวนหลายล้านคน นอกจากนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนยังอยู่ในระดับต่ำอีกด้วย

ทางด้านสถานการณ์การเงิน ธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 5.31

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 1 ปี 2552 ยังคงขยายตัวแต่ในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากการส่งออกที่หดตัวอย่างรุนแรง ถึงแม้จีนจะมีปัญหาดังกล่าวแต่จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน ทำให้ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ปี 2552 ปรับตัวดีขึ้น เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร

เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น

เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นในไตรมาส 4 ปี 2551 GDP หดตัวร้อยละ 4.3 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 4 ปี 2551 หดตัวร้อยละ 0.3 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไตรมาส 1 ปี 2552 อยู่ที่ระดับ 28.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 36.1 การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคครัวเรือนในไตรมาส 4 ปี 2551 หดตัวร้อยละ 0.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 เนื่องจากประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายเกี่ยวกับรถยนต์และสังคมที่ลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกยังคงถดถอยอย่างต่อเนื่อง การลงทุนในภาคก่อสร้าง ไตรมาส 4 ปี 2551 หดตัวร้อยละ 12.8 เป็นการหดตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ที่หดตัวร้อยละ 21.4 ได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเนื่องจากขาดสภาพคล่อง ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 1 ปี 2552 อยู่ที่ระดับ 72.23 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 อยู่ที่ระดับ 109.43

การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2552 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 46.9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 เป็นการลดลงในตลาดส่งออกหลัก เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป การนำเข้าไตรมาส 1 ปี 2552 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 37.0 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 10.5

ภาวะเงินเฟ้อของประเทศญี่ปุ่นในไตรมาส 1 ปี 2552 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.0 เป็นผลมาจากราคาน้ำมัน heating oil และราคาสินค้าอาหารปรับตัวลดลง อัตราการว่างงานในไตรมาส 1 ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 4.6 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.0 เป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ภาคเอกชนลดกำลังการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เป็นอุตสาหกรรมหลักได้ลดกำลังการผลิตและระงับการผลิต

ทางด้านสถานการณ์การเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2552 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.1 และรอดูสถานการณ์หลังจากที่รัฐบาลได้ใช้มาตรการกระตุ้นทางการเงิน รวมถึงการเสริมสภาพคล่องและสนับสนุนด้านการเงินภาคบริษัทเอกชน

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 1 ปี 2552 คาดว่ายังคงอยู่ในภาวะถดถอย โดยมีการส่งออกที่ลดลง อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ยังคงลดลง ซึ่งตัวชี้วัดเหล่านี้ยังไม่ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัว

เศรษฐกิจสหภาพยุโรป

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยุโรปในไตรมาส 4 ปี 2551 GDP หดตัวร้อยละ 1.7 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 ในส่วนของ GDP ภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 4 ปี 2551 หดตัวร้อยละ 7.6 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 เนื่องจากการส่งออกที่หดตัวอย่างรุนแรง การบริโภคไตรมาส 4 ปี 2551 หดตัวร้อยละ 1.0 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 อุปสงค์ภายในประเทศในไตรมาส 4 ปี 2551 หดตัวร้อยละ 2.0 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 4 ปี 2551 อยู่ที่ระดับ 98.6 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 อยู่ที่ระดับ 109.3 และใน 2 เดือนแรกของปี 2552 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 93

การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2551 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.6 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 สำหรับมูลค่าการส่งออกใน 2 เดือนแรกของปี 2552 ลดลงร้อยละ 23.4 การส่งออกที่ลดลงอย่างรุนแรงเป็นผลมาจากความต้องการของโลกหดตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ และเครื่องจักร การนำเข้าไตรมาส 4 ปี 2551 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 1.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.8 สำหรับมูลค่าการนำเข้าใน 2 เดือนแรกของปี 2552 ลดลงร้อยละ 21.7

ภาวะเงินเฟ้อทั่วไปของกลุ่มประเทศยุโรปในไตรมาส 1 ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.4 สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อลดลงเป็นผลจากราคาพลังงานและราคาอาหารที่อยู่ในระดับต่ำ อัตราการว่างงานในไตรมาส 1 ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 8.3 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6.8 เนื่องจากบริษัทหลาย ๆ บริษัท ลดกำลังการผลิตและปลดพนักงานเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ทางด้านสถานการณ์การเงิน ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 1.25 เหลือร้อยละ 1.0 (เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2552)

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหภาพยุโรปในไตรมาส 1 ปี 2552 คาดว่ายังคงอยู่ในภาวะถดถอยที่รุนแรง จากตัวเลขการส่งออกที่หดตัวอย่างรุนแรง และอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และยังไม่มีสัญญาณใดที่จะบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหภาพยุโรปจะฟื้นตัว

เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมในเอเซีย

เศรษฐกิจฮ่องกง

ภาวะเศรษฐกิจของฮ่องกง ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 GDP หดตัวที่ร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 เนื่องจากสภาวะวิกฤติทางตลาดการเงินทั่วโลกส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจฮ่องกงให้การลงทุนและอุปสงค์ภายในประเทศหดตัวลงมาก โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ส่งผลให้ในปี 2551 เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 2.5

การส่งออกของฮ่องกงในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 18.29 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 โดยมีมูลค่าการส่งออก 69,644 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกประเภท Electrical Machinery, ที่มีมูลค่าการส่งออกถึง 27,866 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ Machinery(Reactors, Boilers), Precious Stones, Toys and Sports และ Woven Apparel ตามลำดับ ซึ่งการส่งออกกว่าร้อยละ 45 ของการส่งออกทั้งหมด ส่งออกไปยังจีน โดยมีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 31,262 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่นและเยอรมัน ซึ่งตลาดส่งออกหลักส่วนใหญ่ลดลงมาก ในขณะที่การส่งออกของฮ่องกงไปยังอังกฤษในไตรมาสนี้มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 57.78 ในขณะที่ฮ่องกงมีมูลค่าการนำเข้าจากทั่วโลกทั้งหมด 71,320 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 21.22 การนำเข้าของฮ่องกงส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน 32,733 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่าร้อยละ 45.9 ของการนำเข้าทั้งหมด และการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าประเภท Electrical Machinery ที่มีมูลค่าการนำเข้าถึง 27,602 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 38.70 ของการนำเข้าทั้งหมด รองลงมาคือ Machinery(Reactors, Boilers), Precious Stones และ Toys and Sports ตามลำดับ

ดัชนีราคาผู้บริโภคในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 108.0 โดยทางการฮ่องกงได้ออกมาตรการอุดหนุนค่าไฟฟ้า ประกอบกับราคาพลังงานและค่าอาหารที่ลดลง

ด้านการเงินการคลัง เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2551 ธนาคารกลางฮ่องกงประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากร้อยละ 1.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.5 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากภาคการส่งออกได้รับความเสียหายอย่างมากจากความต้องการสินค้าทั่วโลกลดลง

เกาหลีใต้

เศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้ในไตรมาส 4 ของปี 2551 GDP หดตัวร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 เป็นการขยายตัวต่ำที่สุดตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 โดยการขยายตัวที่ลดลงในไตรมาสที่ 4 นี้เป็นผลกระทบมาจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนรวมทั้งการส่งออกที่หดตัวลงค่อนข้างมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ทั้งปี 2551 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ซึ่งขยายตัวชะลอลงจากร้อยละ 5.0 ในปี 2550

ดัชนีราคาผู้บริโภคของเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 111.6 เป็นการปรับตัวลดลงตามราคาค่าขนส่งและคมนาคมที่ลดลง

การส่งออกของเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 มูลค่าการส่งออกลดลงอยู่ที่ร้อยละ 24.87 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 โดยมีมูลค่าการส่งออก 74,712 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกสินค้าประเภท Electrical Machinery ที่มีมูลค่าการส่งออก 17,811 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทนี้ลดลงร้อยละ 29.45 รองลงมาคือ อุตสาหกรรมประเภท Ships and Boats ที่มูลค่าการส่งออกในไตรมาสนี้ขยายตัวถึงร้อยละ 43.49 แต่สินค้าส่งออกหลักอื่นๆ ลดลงมากแทบทุกสินค้า เช่น สินค้าประเภท Machinery, Vehicles, Optical ที่มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 29.52, 45.86 และ 23.89 ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกหลักยังคงเป็นประเทศจีนกว่า 16,518 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 22.11 รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและฮ่องกง ที่มีการส่งออกร้อยละ 11.18, 6.21 และ 5.41 ตามลำดับ ซึ่งตลาดส่งออกหลักมีมูลค่าการส่งออกลดลงเช่นกัน เช่น จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและฮ่องกง โดยมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 25.07, 24.79, 33.74 และ 7.50 ตามลำดับ โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ปรับลดการคาดการณ์มูลค่าการส่งออกปี 2552 เป็นลดลงร้อยละ 13.5 ถือเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 51 ปี เนื่องจากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก ขณะที่มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 32.88 โดยมีมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ทั้งสิ้น 71,182 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการนำเข้าสินค้าประเภท Mineral Fuel, Oil ที่มีมูลค่าการนำเข้า 22,604 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 31.76 ของการนำเข้าทั้งหมด รองลงมาคือสินค้าประเภท Electrical Machinery, Machinery(Reactors, Boilers) และ Iron and Steel ตามลำดับ ที่มีสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 15.51, 10.70 และ 6.58 ตามลำดับ ในขณะที่การนำเข้าส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศ จีน ร้อยละ 17.19, ญี่ปุ่น ร้อยละ 14.91 และ สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 8.01

ด้านการเงินการคลังของเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.5 จากร้อยละ 2.5 มาเป็นร้อยละ 2.0 เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอลงอย่างรวดเร็ว โดยการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศชะลอลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาวะการส่งออกที่หดตัวอย่างรุนแรง ในขณะที่อัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 3.8

สิงค์โปร์

เศรษฐกิจประเทศสิงค์โปร์ในไตรมาส 4 ของปี 2551 หดตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 ทั้งนี้เป็นผลมาจากภาคการผลิตโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการหดตัวลงของภาคบริการที่เริ่มเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจสิงค์โปร์ในปี 2551 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ซึ่งชะลอตัวลงจากปี 2550 โดยทางการสิงค์โปร์ได้ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2552 ลงเป็นหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ถึง 5.0

ดัชนีราคาผู้บริโภคของสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 110.6 โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและที่พักอาศัยที่สูงขึ้นมาก รวมทั้งการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550

การส่งออกของสิงค์โปร์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 โดยมีมูลค่าการส่งออก 69,308 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกสินค้าประเภท Electrical Machinery ที่มีมูลค่าการส่งออกถึง 23,030 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 33.23 รองลงมาคือ สินค้าประเภท Machinery (Reactors, Boilers) และ Mineral Fuel ที่มีมูลค่าการส่งออก 13,053 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 10,108 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย โดยมีมูลค่าการส่งออก 8,261 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 11.92 ของการส่งออกทั้งหมด โดยมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียลดลงร้อยละ 21.75 รองลงมาคือการส่งออกไปยังประเทศอินโดนีเซีย 7,469 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 13.57 รองลงมาคือ อินโดนีเซียและจีน ขณะที่การนำเข้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ที่มูลค่าการนำเข้าลดลงที่ร้อยละ 9.19 โดยมีมูลค่าการนำเข้า 67,265 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าประเภท Electrical Machinery ที่มีมูลค่าการนำเข้า 17,641 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือสินค้าประเภท Mineral Fuel และ Machinery (Reactors, Boiler) ตามลำดับ

อินโดนีเซีย

เศรษฐกิจอินโดนีเซียในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 GDP ขยายตัวร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 โดยขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนที่ชะลอลง ประกอบกับภาคการส่งออกที่ชะลอลงในขณะที่การนำเข้าหดตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งปี 2551 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.9 ลดลงจากร้อยละ 6.1 ในปี 2550

ดัชนีราคาผู้บริโภคในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 114.0 โดยเป็นระดับที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันกับปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นตามราคาของสินค้าไนทุกหมวดโดยเฉพาะราคาค่าอาหารและเสื้อผ้า

การส่งออกของอินโดนีเซียในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 5.59 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 โดยมีมูลค่าการส่งออก 29,352 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งการส่งออกส่วนใหญ่ยังคงเป็นการส่งออกของอุตสาหกรรม Mineral Fuel, Fats and Oils, Electrical Machinery และ Machinery(Reactors, Boilers) โดยมีมูลค่าการส่งออก 7,834, 3,355, 2,221 และ 1,460 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ โดยมีตลาดส่งออกหลักคือ ญี่ปุ่น ที่มีมูลค่าการส่งออก 5,860 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา สิงค์โปร์ และ จีน ในขณะที่มูลค่าการนำเข้ายังคงเพิ่มขึ้นมาก โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.13 โดยมีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 27,556 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่นำเข้าสินค้าประเภท Machinery (Reactors, Boilers), Mineral Fuel, Electrical Machinery และ Iron and Steel ตามลำดับ และเป็นการนำเข้าจากประเทศ ญี่ปุ่น สิงค์โปร์ จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และประเทศไทย ตามลำดับ

ด้านการเงินการคลังของประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย BI Rate ลงร้อยละ 0.5 จากร้อยละ 8.75 มาเหลือร้อยละ 8.25 ซึ่งถือว่าเป็นการปรับลดเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดย BI ประเมินว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ด้านเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มที่จะชะลอลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

มาเลเซีย

ภาวะเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซียในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 0.07 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 โดยขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 4.6 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ซึ่งเป็นผลมาจากการภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดย Malaysian Institute of Economic Research (MIER) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยชั้นนำของมาเลเซียคาดการณ์เศรษฐกิจมาเลเซียในปี 2552 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.3 เนื่องจากการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัวลงจากปัญหาวิกฤติการเงินโลก โดยเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 รัฐบาลมาเลเซียประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 60 พันล้านริงกิต (ประมาณ 16.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 9 ของ GDP) ซึ่งมีแผนจะใช้จ่ายในช่วงปี 2552-2553 โดยจะส่งผลให้ยอดขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ของมาเลเซียเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.8 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 7.6 ในปี 2552 ทั้งนี้ รัฐบาลมาเลเซียคาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียจะหดตัวร้อยละ 1 ในปี 2552 และคาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.7 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 4.5 ในปี 2552

ทางด้านการเงินการคลัง เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 ธนาคารกลางมาเลเซียประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.5 จากร้อยละ 2.5 เหลือร้อยละ 2.0 ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งที่ 3 ติดต่อกัน นอกจากนี้ ธนาคารกลางมาเลเซียยังได้ปรับลดอัตราส่วนการดำรงเงินสดสำรองทางการของธนาคารพาณิชย์ลงร้อยละ 1.0 จากร้อยละ 2.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.0 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ตกต่ำ

การส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 12.58 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 มีมูลค่าการส่งออก 42,603 ล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกในกลุ่มของ Electrical Machinery ที่มีมูลค่าการส่งออก 10,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 25.47 ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมาคือสินค้าประเภท Mineral Fuel และ Machinery (Reactors, Boilers) โดยมีมูลค่าการส่งออก 8,252 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 6,944 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ โดยส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นมากที่สุด ที่มีมูลค่าการส่งออก 6,015 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 14.12 ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมาคือ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา จีน และ ไทย ส่วนการนำเข้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 มีมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 17.02 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 โดยใน ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 33,413 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน ร้อยละ 13.85 รองลงมาคือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและสิงค์โปร์

ดัชนีราคาผู้บริโภคของมาเลเซียในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 อยู่ที่ระดับ 111.8 โดยเป็นระดับที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 เป็นการเพิ่มขึ้นตามราคาค่าอาหารและการขนส่งที่เพิ่มขึ้น

ฟิลิปปินส์

เศรษฐกิจของประเทศฟิลิปปินส์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 โดยเป็นขยายตัวในอัตราที่ลดลง ทั้งนี้เนื่องจากจากการเติบโตของการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและภาคเอกชนที่ชะลอตัวลง แต่ถือว่ายังคงขับเคลื่อนไปได้เนื่องจากราคาสินค้าที่ลดลงทำให้เกิดการซื้อเพิ่มขึ้น โดยส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งปี ขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 ซึ่งลดลงจากร้อยละ 6.9 ในปีก่อน

ดัชนีราคาผู้บริโภคของฟิลิปปินส์ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 อยู่ที่ระดับ 157.8 เป็นระดับที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในทุกหมวด ยกเว้นราคาของพลังงานที่ลดลง

ด้านการเงินการคลัง ในเดือนมกราคม ปี 2552 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.5 เป็นร้อยละ 5.0 เนื่องจากความเสี่ยงทางด้านราคาได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อุปสงค์ภายในประเทศและอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่ลดลง

ทางด้านการส่งออกของฟิลิปปินส์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 22.27 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 มีมูลค่าการส่งออก 10,158 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้าที่ส่งออกมาก ได้แก่สินค้าประเภท Special Classification Provisions, Nesoi ที่มีมูลค่าการส่งออก 3,021 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 29.75 รองลงมาคือสินค้าประเภท Electrical Machinery และ Machinery (Reactors, Boilers) โดยการส่งออก Special Classification Provisions, Nesoi มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 27.31 และการส่งออกส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา 1,866 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 18.37 ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมาคือ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และ จีน ส่วนทางด้านการนำเข้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 มีมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 25.43 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 ซึ่งในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 มีมูลค่าการนำเข้า 11,359 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา 1,616 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 14.23 รองลงมาคือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีนและไต้หวัน ที่มีการนำเข้าร้อยละ 13.06, 9.12, 8.66 และ 6.52 ตามลำดับ โดยสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภท Mineral Fuel มีมูลค่าการนำเข้า 2,109 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 18.57 ของการนำเข้าทั้งหมด รองลงมาคือสินค้าประเภท Special Classification Provisions, Nesoi และ Electrical Machinery ตามลำดับ

ด้านแรงงาน ประธานาธิบดี Gloria Arroyo เรียกร้องให้แรงงานฟิลิปปินส์ออกไปหางานทำนอกประเทศมากขึ้น เนื่องจากแรงงานในประเทศมีความเสี่ยงที่จะตกงานมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง โดยกระทรวงแรงงานฟิลิปปินส์ระบุว่าในช่วงเดือนธันวาคม 2551-มกราคม 2552 มีแรงงานฟิลิปปินส์ประมาณ 15,000 คน ถูกเลิกจ้าง และแรงงานอีกประมาณ 19,000 คน ถูกลดวันทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ พร้อมทั้งคาดว่าในปี 2552 จะมีแรงงานฟิลิปปินส์ตกงานถึง 800,000 คน ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแรงงานฟิลิปปินส์กว่า 9 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ออกไปทำงานในต่างประเทศ โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2551 มีรายได้ส่งกลับจากแรงงานในต่างประเทศสูงถึง 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 10 ของ GDP

อินเดีย

เศรษฐกิจของประเทศอินเดียในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 โดยภาคการผลิตหดตัวร้อยละ 0.2 และภาคเกษตรกรรมหดตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2550

ดัชนีราคาผู้บริโภคของอินเดียในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 อยู่ที่ระดับ 148.0 เป็นระดับที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นมากของราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และพลังงาน

ด้านการเงินการคลัง เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2552 ธนาคารกลางอินเดีย (Reserve Bank of India : RBI) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repurchase Rate) จากร้อยละ 5.0 เหลือร้อยละ 4.75 พร้อมกับลด Reverse Repurchase Rate จากร้อยละ 3.5 เหลือร้อยละ 3.25 เพื่อเป็นแนวทางให้ธนาคารพาณิชย์ในอินเดียลดอัตราดอกเบี้ยและช่วยกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ

ทางด้านการส่งออกของประเทศอินเดียในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 25.25 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 เป็นการขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 37.1 โดยไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 47,172 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าที่ส่งออกมาก ได้แก่สินค้าประเภท Mineral Fuel ที่มีมูลค่าการส่งออก 9,745 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 20.66 ซึ่งการส่งออกสินค้าประเภทนี้ขยายตัวร้อยละ 50.82 รองลงมาคือสินค้าประเภท Precious Stones และ Iron and Steel ที่การส่งออกขยายตัวร้อยละ 9.0 และ 82.04 ตามลำดับ โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 การส่งออกส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา 5,717 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 12.12 ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมาคือ สหรัฐอาหรับฯ สิงค์โปร์ และ จีน ส่วนทางด้านการนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 52.89 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 ซึ่งในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 มีมูลค่าการนำเข้า 84,632 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากประเทศจีน 8,161 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 25.73 ของการนำเข้าทั้งหมด รองลงมาคือ ซาอุดิอาระเบีย และอิหร่าน ที่มีสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 9.08 และ 5.83 ของการนำเข้าทั้งหมด ตามลำดับ โดยสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภท Mineral Fuel มีมูลค่าการนำเข้า 36,825 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 43.51 ของการนำเข้าทั้งหมด รองลงมาคือสินค้าประเภท Precious Stones และ Machinery(Reactors, Boilers) ตามลำดับ

สรุปเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ

  ประเทศ             ปี 2550    ------------------------ ปี 2551 ----------------------       ปี 2552
                               ไตรมาส 1    ไตรมาส 2    ไตรมาส 3    ไตรมาส 4       ทั้งปี      ไตรมาส 1
GDP (%yoy)
สหรัฐอเมริกา                2         2.5         2.1         0.7        -0.8       1.1        -2.6
สหภาพยุโรป               2.7         2.2         1.5         0.4        -1.7       0.6         n.a.
ญี่ปุ่น                     2.4         1.5         0.7        -0.2        -4.3      -0.6         n.a.
จีน                     13.2        10.6        10.4         9.9           9        10         6.1
ฮ่องกง                   6.2           7         4.2         1.7        -2.5       2.5         n.a.
เกาหลีใต้                   5         5.8         4.8         3.1        -3.5       2.5        -4.4
สิงค์โปร์                  7.5         6.5         2.5        0.04        -4.3       1.1         n.a.
อินโดนีเซีย                6.1         6.1         6.2         6.2         5.1       5.9         n.a.
มาเลเซีย                 6.2         7.2         6.5         4.6         0.1       4.5         n.a.
ฟิลิปปินส์                  6.9         4.5         4.3         4.8         4.4       4.5         n.a.
อินเดีย                   9.3         8.7         7.8         7.4         4.3       7.1         n.a.

  MPI  (YoY%)        ปี 2550     -----------------------  ปี 2551 ---------------------      ปี 2552
                               ไตรมาส 1    ไตรมาส 2    ไตรมาส 3    ไตรมาส 4       ทั้งปี     ไตรมาส 1
สหรัฐอเมริกา              1.5         1.4        -0.4        -3.2        -6.6      -2.2       -11.8
สหภาพยุโรป               3.7         2.8           0        -3.7        -9.8      -2.7         n.a.
ญี่ปุ่น                       3         3.5         1.6        -3.3         -15      -3.3        -3.4
จีน                        2        -1.2        -5.4       -13.7       -31.3       -13       -12.6
ฮ่องกง                  -1.5        -4.5        -4.3        -6.9        -6.8       -11         n.a.
เกาหลีใต้                 6.7        10.4         8.5         5.4         -12         3       -16.9
สิงค์โปร์                  5.7        11.6        -5.7       -11.6       -11.4      -4.2       -30.3
อินโดนีเซีย                5.4         5.7         3.2         1.6         1.5       2.9         0.2
มาเลเซีย                 2.3         6.9         3.1         1.4        -9.5       0.5       -17.8
ฟิลิปปินส์                 -3.4        -0.3         7.4         9.9         1.4       4.7         n.a.
อินเดีย                   9.4         6.7         5.2         4.6         0.7       4.3        -0.9

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ