สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่1 (มกราคม—มีนาคม) พ.ศ.2552 (เศรษฐกิจไทย)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 9, 2009 14:15 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจไทย

จากการประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประชาชาติรายไตรมาสของสำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 หดตัวร้อยละ 4.3 โดยหดตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 นับเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจหดตัว คือ อุปสงค์จากต่างประเทศที่ลดลง เนื่องจากการส่งออกลดลงทั้งสินค้าและบริการ ในขณะที่การนำเข้าทั้งสินค้าและบริการยังคงขยายตัว การลงทุนลดลงทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบกับการใช้จ่ายของครัวเรือนที่ชะลอตัวลง

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 หดตัวร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 ในขณะที่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 6.1 เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลงมากตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และภาวะความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ โดยการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลงในเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าในปี 2552 เศรษฐกิจไทยจะหดตัวร้อยละ 1 ถึง 0 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยมากกว่าที่คาดไว้ และส่งผลกระทบให้การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยหดตัวมากและรวดเร็วกว่าที่คาดไว้เดิม

สำหรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 พบว่า มีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตยานยนต์ Hard Disk Drive อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อัตราการหดตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเริ่มชะลอตัวโดยติดลบลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2552 โดยเฉพาะ Hard Disk Drive ที่ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในเดือนดังกล่าว จึงอาจเป็นสัญญาณฟื้นตัวเบื้องต้นของอุตสาหกรรม สำหรับมูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลงร้อยละ 20.55 (ม.ค.-มี.ค.52) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคของภาคเอกชน ปรับตัวลดลงจาก ไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2551 โดยเครื่องชี้ของการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคของภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงจากไตรมาส ที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคและผู้ประกอบการยังคงไม่มั่นใจในสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและต่างประเทศ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นปรับตัวลดลง

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม)

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) ที่จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ 146.1 ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา (165.9) ร้อยละ 12.0 และปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (187.4) ร้อยละ 22.1 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีการปรับตัวลดลงในเกือบทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลักที่มีการส่งออกมาก

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ กุ้งแช่แข็ง ปลาแช่แข็ง ปลาซาร์ดีนกระป๋อง ผ้าทอ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ ผ้าทอ เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า

ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการขนส่งสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 142.7 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (165.1) ร้อยละ 13.5 และปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (184.9) ร้อยละ 22.8 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ผ่านมาแล้ว

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive กุ้งแช่แข็ง ปลาแช่แข็ง ปลาหมึกแช่แข็ง อิเล็กทรอนิกส์ โทรทัศน์สี เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive อิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก โทรทัศน์สี เป็นต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ดัชนีสินค้าคงคลังสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทาง หรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 198.9 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (201.7) ร้อยละ 1.4 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (177.1) ร้อยละ 12.3

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ Hard Disk Drive น้ำมันปิโตรเลียม ผงซักฟอก ยาสระผม น้ำยาล้างจาน อิเล็กทรอนิกส์ ลวดเชื่อมไฟฟ้า สกรู น๊อต และตะปู เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ เบียร์ ยานยนต์ ปลาทูน่ากระป๋อง ปลาซาร์ดีนกระป๋อง เหล็กเส้นกลม กล่องกระดาษลูกฟูก เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตที่ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 52.1 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 56.5) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (ร้อยละ67.5) โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตได้ปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 แล้ว

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive ปลาซาร์ดีนกระป๋อง กุ้งแช่แข็ง ปลาแช่แข็ง ด้ายฝ้ายบริสุทธิ์ ด้ายฝ้ายผสม โทรทัศน์สี เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive ด้ายฝ้ายบริสุทธิ์ โพลีเอสเตอร์บริสุทธิ์ เหล็กเส้นกลม เหล็กเส้นข้ออ้อย เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เหล็กแผ่นรีดเย็น โทรทัศน์สี เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมเฉลี่ย มีค่า 74.0 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (74.9) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (79.4) โดยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่า ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ทั้ง 3 ดัชนี ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2551 สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเฉลี่ยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองในอนาคต รวมถึงการชุมนุมขับไล่รัฐบาลและปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลของกลุ่ม นปช. ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ซึ่งการส่งออกมีการหดตัวอย่างต่อเนื่อง การปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของหลายสำนักฯ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง เป็นต้น โดยปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 มีค่า 67.17 การที่ดัชนีปรับตัวอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภคขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภควิตกกังวล

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 มีค่า 66.47 การที่ดัชนีปรับตัวอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะการจ้างงานโดยรวมของไทย โดยเห็นว่าโอกาสในการหางานทำยังไม่ดีมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังปรับตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับปกติ ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการว่างงาน และเร่งสร้างงานให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 มีค่า 88.5 การที่ดัชนีปรับตัวอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่ารายได้ของคนในอนาคตยังไม่ดีเท่าที่ควร

จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) พบว่าใน ไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 มีค่าเท่ากับ 37.9 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (36.5) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551(45.9) โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ดัชนีโดยรวมยังคงมีค่าต่ำกว่า 50 แสดงว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังไม่ดี ผู้ประกอบการยังคงมองว่าภาวะการณ์ด้านธุรกิจในอนาคตยังมีแนวโน้มไม่ดีขึ้น สำหรับดัชนีที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา คือ ผลประกอบการของบริษัท คำสั่งซื้อทั้งหมด และการผลิตของบริษัท

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TISI)

จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (ตารางที่ 4) พบว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 65.5 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (70.1) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (84.1) การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวะการณ์ด้านอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก โดยในเดือนมีนาคม 2552 ดัชนีมีค่า 69.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 (63.0) เนื่องจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น หลังจากสินค้าคงคลังของลูกค้าเริ่มลดลง ประกอบกับการเร่งผลิตมากขึ้นเพื่อชดเชยในช่วงเดือนเมษายนที่จะมีวันหยุดต่อเนื่องหลายวันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้ผลประกอบการปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ขณะเดียวกันผู้ประกอบการทุกกลุ่มอุตสาหกรรมได้มีการปรับตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในการควบคุมต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย และปรับปรุงการบริหารจัดการภายในให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ยังไม่มีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกันข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐ ได้แก่ สร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในการลงทุน สนับสนุนให้สถาบันทางการเงินปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น และควรผ่อนคลายกฎระเบียบในการกู้เงินลดลง เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับภาคอุตสาหกรรม ช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านภาษีต่าง ๆ เช่น การลดอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบ การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม 2552 อยู่ที่ระดับ 118.0 ลดลงร้อยละ 0.1 จากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 118.1 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง และมูลค่าการส่งออก ณ ราคาคงที่

สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 มีค่าเฉลี่ย 117.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่า 115.9

ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ

ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนมีนาคม 2552 อยู่ที่ระดับ 111.8 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 111.2 ตามการเพิ่มขึ้นของเครื่องชี้วัด ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ มูลค่าการนำเข้า ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ (รถยนต์นั่งและรถยนต์เชิงพาณิชย์)

สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 มีค่าเฉลี่ย 111.5 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ที่มีค่า 115.8

การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 มีค่า 123.3 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (130.3) ซึ่งเครื่องชี้ที่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ (ตารางที่ 5)

การลงทุนภาคเอกชน

การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ พบว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนโดยรวม มีค่า 150.1 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (171.6) และไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (178.0)

หากแยกตามรายการสินค้า พบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2551

การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2551

(สำหรับข้อมูลปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักร และอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่นั้น ณ ขณะจัดทำรายงานนี้ ข้อมูลล่าสุดมีถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เท่านั้น)

ภาวะราคาสินค้า

จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเท่ากับ 102.93 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (103.67) และไตรมาสเดียวกันของปี 2551(103.17) การที่ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาเป็นผลจากการลดลงของราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามราคาข้าว ไข่ ผักและผลไม้ ผักสด หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารตามราคาค่าโดยสารสาธารณะ หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มอาหารสดและพลังงาน

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 มีค่าเท่ากับ 144.40 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา(147.9) และไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (149.67) โดยราคาในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์จากเหมืองปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2551 สำหรับราคาในหมวดผลผลิตเกษตรกรรมปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551

แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2552 (ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 37.58 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 36.67 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 97.58 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.714 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.90)

สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมไตรมาสที่หนึ่งของปี 2552 (ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์) มีจำนวน 6.022 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 16.42 ของผู้มีงานทำทั้งหมด

การค้าต่างประเทศ

สถานการณ์การค้าในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 หดตัวลงจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2551ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปี 2551 โดยในไตรมาสที่ 1 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 60,519.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 33,787.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 26,732.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 12.79 และมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 33.42 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 20.55 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นลดลงร้อยละ 37.63 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ดุลการค้าขาดดุล 7,054.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การส่งออกในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่าในเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคมมูลค่าการส่งออกมีทิศทางขยายตัวขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม และมูลค่าการส่งออกเกิน 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทุกเดือน โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่าการส่งออก 11,735.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

  • โครงสร้างการส่งออก

การส่งออกใน 3 เดือนแรกของปี 2552 ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม 26,486.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 78.39) สินค้าเกษตรกรรม 3,493.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 10.34) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 2,483.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 7.35) และสินค้าแร่และเชื้อเพลิง 1,324.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.92)

เมื่อเทียบมูลค่าการส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จะพบว่ามูลค่าการส่งออกของสินค้าทั้งหมดลดลง โดยเฉพาะสินค้าอื่นๆ ที่มีมูลค่าลดลงถึงร้อยละ 98.23 สำหรับสินค้าเกษตรมูลค่าลดลงร้อยละ 26.44 สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าลดลงร้อยละ 2.77 สินค้าอุตสาหกรรมมูลค่าลดลงร้อยละ 18.71 และสินค้าแร่และเชื้อเพลิงมูลค่าลดลงร้อยละ 49.85

สินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 รายการหลักในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 3,947.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 3,177.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2,415.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 1,168.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แผงวงจรไฟฟ้า 1,150.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ข้าว 1,140.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยางพารา 955.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลิตภัณฑ์ยาง 919.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เม็ดพลาสติก 914.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเคมีภัณฑ์มีมูลค่าการส่งออก 852.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออก 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 16,642.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 49.26 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

  • ตลาดส่งออก

การส่งออกไปยังตลาดหลักของไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ซึ่งได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) ญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็นร้อยละ 52.12 ของการส่งออกทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการส่งออกมูลค่าลดลงในทุกตลาด โดยมูลค่าการส่งออกในตลาดอาเซียนมีลดลงร้อยละ 31.54 ตลาดสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 30.77 ตลาดญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 26.05 และตลาดสหรัฐอเมริกาลดลงร้อยละ 27.0

  • โครงสร้างการนำเข้า

การนำเข้าในระยะ 3 เดือนแรกของปี 2552 ประกอบด้วย สินค้าวัตถุดิบซึ่งมีมูลค่าสูงสุด 9,946.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 37.21) รองลงมาเป็นนำเข้าสินค้าทุน 8,427.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 31.52) สินค้าเชื้อเพลิง 4,448.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 16.64) สินค้าอุปโภคบริโภค 2,965.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 11.09) สินค้าหมวดยานพาหนะ 867.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.24) และสินค้าอื่นๆ 78.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 0.29)

โดยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าการนำเข้าสินค้าอื่นๆ เท่านั้นที่มีการขยายตัวถึงร้อยละ 344 สำหรับสินค้าในหมวดอื่นๆ มีมูลค่าการนำเข้าลดลงทั้งหมด โดยสินค้าเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 50.07 สินค้าวัตถุดิบลดลงร้อยละ 44.54 สินค้าหมวดยานพาหนะลดลงร้อยละ 34.24 สินค้าทุนลดลงร้อยละ 24.12 และสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ 17.13

  • แหล่งนำเข้า

แหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 มีสัดส่วนนำเข้ารวมคิดเป็นร้อยละ 55.79 ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 แต่เมื่อพิจารณามูลค่านำเข้าแล้วมีมูลค่านำเข้าลดลงจากแหล่งนำเข้าทั้ง 4 โดยมูลค่าการนำเข้าจากกลุ่มอาเซียนลดลงร้อยละ 30.76 กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 20.26 ญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 38.7 และสหรัฐอเมริกาลดลงร้อยละ 36.32

การลงทุนจากต่างประเทศ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ซึ่งมีมูลค่ารวม 45,248.23 ล้านบาท โดยมูลค่าลดลงร้อยละ 28.28 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในปี 2552 เดือนมกราคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 21,213.87 ล้านบาท และเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่า 24,034.36 ล้านบาท

ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 สาขาอุตสาหกรรมเป็นสาขาที่มีการลงทุนมากที่สุดเป็นเงินลงทุน 23,581.11 ล้านบาท โดยหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีการลงทุนสุทธิมากที่สุดโดยเป็นเงินลงทุน 7,738.54 ล้านบาท รองลงมาคือหมวดอื่นๆ ซึ่งมีเงินลงทุน 3,871.54 ล้านบาท และหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 3,209.04 ล้านบาท

ประเทศที่เข้ามาลงทุนสุทธิในประเทศไทยมากที่สุดในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์คือ ประเทศญี่ปุ่นมีเงินลงทุนสุทธิ 13,480.88 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสิงคโปร์และเนเธอร์แลนด์มีเงินลงทุนสุทธิ 5,682.77 ล้านบาท และ 3,238.7 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 213 โครงการ ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.26 โดยมีเงินลงทุน 32,400 ล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 26.36 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 87 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 10,800 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 60 โครงการ เป็นเงินลงทุน 8,300 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาในหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 10,700 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 7,200 ล้านบาท และหมวดเกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตรมีเงินลงทุน 4,800 ล้านบาท

สำหรับแหล่งลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 58 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 9,497 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศเนเธอร์แลนด์จำนวน 6 โครงการ มีเงินลงทุน 1,544 ล้านบาท ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จำนวน 2 โครงการ เป็นเงินลงทุน 998 ล้านบาท และประเทศเยอรมัน 11 โครงการ เป็นเงินลงทุน 682 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ