ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีด้านสิ่งทอที่หาตัวจับได้ยากอีกประเทศหนึ่งของโลก ความเข้มแข็งที่เกิดขึ้นนั้น ใช่จะได้มาโดยง่าย แต่แลกมาด้วยการวิจัยและพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน และมีความต่อเนื่อง ดังนั้น Japan Textile Federation (JTF) ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลในเรื่องการพัฒนาสิ่งทอของประเทศญี่ปุ่นอย่างครบวงจร ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานร่วมตามกรอบความร่วมมือด้านสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภายใต้กรอบความร่วมมือหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผลจากการประชุมครั้งนี้ถือเป็นแนวทางหนึ่งสำหรับการติดหัวรบใหม่ของสิ่งทอไทย ให้สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง โดยผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รายงานผลจากการเข้าร่วมศึกษาดูงานและประชุมติดตามผลการดำเนินงาน ดังนี้
ตามดูให้รู้กึ๋น
ประเทศญี่ปุ่น โดยกระทรวงเศรษฐกิจและการค้า (METI) และ JTF ได้จัดให้คณะผู้แทนไทยเยี่ยมชมร้านค้าปลีก แหล่งผลิตสินค้า และร่วมชมงาน Japan Fashion Week (JFW) ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้ความแข็งแกร่งของโครงสร้างของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่มีความสามารถเชื่อมโยงเข้าหากัน เสมือนโครงข่ายใยแมงมุมหรือที่เรียกว่าระบบ Supply Chain ซึ่งมีการบริหารจัดการอย่างดี โดยแสดงให้เห็นถึงความร่วมมืออย่างแข็งขันของ METI และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้โตเกียวเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของโลกแฟชั่น
อย่างไรก็ตาม ประเทศญี่ปุ่นแม้จะมีความก้าวหน้าในโลกแฟชั่นมากเพียงไร แต่ต้นทุนการผลิตนั้นเป็นปัจจัยที่เป็นปัญหาอยู่เนื่องจากค่าแรงที่สูงจึงทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงหันมาให้ความมั่นใจถึงศักยภาพของประเทศไทยที่สามารถผลิตสินค้าตามต้องการได้ เนื่องจากมีความพร้อมเรื่องของกำลังการผลิต จึงมีการสั่งนำเข้าสินค้าเครื่องนุ่งห่มจากไทยในอัตราที่สูงขึ้นทุกปี ดังนั้น สิ่งสำคัญมากที่ผู้ประกอบการไทยต้องคำนึง คือ การควบคุมคุณภาพสินค้าและระยะเวลาส่งมอบสินค้าตามที่ได้ตกลงกัน ตลอดจนมีราคาที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ผลความร่วมมือภายใต้ JTEPA หลังจากเริ่มบังคับใช้เมื่อปลายปี 2550 ไทยและญี่ปุ่นได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอย่างเป็นระบบ ซึ่งจากการดำเนินงานร่วมกันถือว่าได้มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก โดยมีการวางแผนงานพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งทอจากญี่ปุ่นมาสู่ประเทศไทยอีกด้วย และผลการดำเนินงานที่ผ่านมามีประเด็นที่น่าสนใจและหยิบยกมาหารือในที่ประชุมหลายข้อที่สำคัญ คือ การจัดสัมมนาผู้แทนสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย (Thai Garment Manufacturer Association; TGMA) รายงานผลการจัดสัมมนาเรื่อง “Fabric Seminar and Work Shop in Bangkok” เมื่อไตรมาสที่ 1 ณ กรมส่งเสริมการส่งออก ซึ่งได้รับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นมาเป็นวิทยากร ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาผ้าผืน นักวิเคราะห์แนวโน้มแฟชั่น และด้าน Dyeing and Finishing Technology การสัมมนาได้รับความสนใจโดยมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วม 146 คน ซึ่งในภาพรวม ผู้เข้าร่วมสัมมนา 90% เห็นว่า สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดกลยุทธ์เพื่อเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น ตลอดจนได้รับทราบการทำธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของญี่ปุ่นตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงแนวโน้มแฟชั่นของตลาดญี่ปุ่น
เกาะติดข้อตกลงตามผลดำเนินงาน
สำหรับแผนความร่วมมือในอนาคตในที่ประชุมฯ ได้หารือในหลายประเด็น เช่น รูปแบบการประชุม ฝ่ายไทยเห็นชอบการปรับรูปแบบการประชุมจากแบบกลุ่มใหญ่เป็นกลุ่มย่อย เพื่อความคล่องตัวและสามารถหารือในรายละเอียดได้ เนื่องจากปัจจุบันทั้งสองฝ่ายเข้าใจโครงสร้างอุตสาหกรรมในภาพรวมแล้วเป็นอย่างดีจากการประชุมหลายครั้งที่ผ่านมา ฝ่ายไทยจะหารือเป็นการภายใน โดยสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย Thai Garment Manufacturers Association (TGMA) จะแจ้งให้ Japan Textile Federation ทราบถึงหัวข้อที่ต้องการให้ฝ่ายญี่ปุ่นให้การสนับสนุนต่อไป เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สูงขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ในส่วนของ งานแสดงสินค้า BIFF&BIL ฝ่ายไทยได้มีการเตรียมงานอย่างยิ่งใหญ่ทุกปี และฝ่ายไทยขอให้ญี่ปุ่นสนับสนุนการเดินทางมาชมงาน BIFF&BIL 2009 ซึ่งจัดในเดือนสิงหาคม เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายหลักของกลุ่มผู้ชมงาน คือ ญี่ปุ่นและอาเซียน ในการนี้ฝ่ายญี่ปุ่นให้ข้อสังเกตว่าสินค้าไทยเหมาะสำหรับ Spring/Summer Collection ซึ่งปกติเดือนมิถุนายนจะเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นต้องกำหนดรูปแบบสินค้าเสร็จแล้ว เพื่อทำการผลิตและจำหน่ายให้ทันฤดูกาลถัดไป ดังนั้น การจัดงานในเดือนสิงหาคมจึงล่าช้าไป นอกจากนี้ในช่วงเดือนสิงหาคม ผู้ซื้อญี่ปุ่นมักจะเดินทางไปเลือกสินค้าที่จีนและเวียดนามเป็นหลัก ดังนั้น หากต้องการเน้นให้ผู้ซื้อญี่ปุ่นรายใหญ่เดินทางเข้ามาชมงานในไทยควรเลื่อนมาจัดในเดือนเมษายนแทนสำหรับในปีถัดไป
ในส่วนโครงการพัฒนาร่วมเช่น โครงการพัฒนาเทคนิค Dyeing and Finishing ฝ่ายญี่ปุ่นยินดีสนับสนุน โดยจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาเป็นวิทยากร ซึ่งฝ่ายไทยจะทาบทามบริษัทเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 5-7 ราย โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มโครงการฯ ได้ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2552 ทั้งนี้ METI และสมาคมอุตสาหกรรมฟอกย้อม พิมพ์ และตกแต่งสิ่งทอไทย (Association of Thai Textile Bleaching, Dyeing, Printing and Finishing Industries) จะประสานงานในรายละเอียดต่อไป ขณะที่ โครงการ T 3 Project Japanese Market Version ของสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (Thailand Textile Institute :THTI) ซึ่งจะเป็นการช่วยพัฒนาผ้าผืนแก่ไทย ฝ่ายญี่ปุ่นพิจารณาแล้วเห็นควรกำหนดแผนดำเนินการประมาณ 1 ปี (มีนาคม 2552-เมษายน 2553) เพื่อให้ไทยสามารถผลิตผ้าผืนรองรับตลาดญี่ปุ่นได้ในช่วงที่มีความต้องการสูงและมีการปรับแนวแฟชั่นใหม่ หรือ Spring/Summer Collection ปี 2553 อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จำเป็นต้องใช้งบประมาณสูง ฝ่ายไทยอาจต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วย ในการนี้ ฝ่ายไทยเห็นชอบตามข้อเสนอของฝ่ายญี่ปุ่น
นอกจากนี้ โครงการ Technical Assistance on the Collaboration to Improve Infrastructure of THTI lab Testing Center ของสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อปรับปรุงระบบการทดสอบสินค้าของไทย ซึ่ง METI รับที่จะนำไปพิจารณาในรายละเอียด อย่างไรก็ดี METI เห็นว่าข้อเสนอใน Phase 3 ของโครงการที่ระบุให้มีการยอมรับผลการทดสอบสินค้าระหว่างกัน (Mutual Recognition) คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมาตรฐานของผู้ซื้อญี่ปุ่นในแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน และที่สำคัญ รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้กำหนดมาตรฐานกลางไว้ และเสนอว่าควรเป็นการทำความตกลงระหว่างภาคเอกชนที่เป็นผู้ตรวจสอบกันเองมากกว่า
สำหรับความร่วมมือในระดับภูมิภาคอาเซียนหรือ ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership (AJCEP) กระทรวง METI ของญี่ปุ่นเสนอให้ไทยเร่งรัดกระบวนการภายในเพื่อการบังคับใช้ตามข้อตกลง เนื่องจากความตกลงได้จัดทำแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 แต่ปัจจุบันมี 4 ประเทศที่ยังดำเนินการกระบวนการภายในประเทศไม่แล้วเสร็จ ประกอบด้วย ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และกัมพูชา ทั้งนี้ METI เห็นว่า ความล่าช้าทำให้การค้าระหว่างกันชะลอตัวเนื่องจากญี่ปุ่นมีแผนการลดการพึ่งพาจีนด้านสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มซึ่งปัจจุบันนำเข้าจากจีนถึง 70% โดยหันมาร่วมมือกับอาเซียนมากขึ้นซึ่งการที่ไทยและอินโดนีเซียเป็นฐานการผลิตผ้าผืน และใช้เวียดนามและกัมพูชาเป็นแหล่งตัดเย็บเสื้อผ้า จึงอาจจะขัดต่อความตกลง ซึ่งฝ่ายไทยจะเร่งให้เป็นไปตามข้อตกลงโดยด่วน โดยผลักดันผ่านคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันต่อไป
แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
จากผลการหารือครั้งนี้ถือว่าเป็นการจุดประกายการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกครั้งสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทย ซึ่งหลายโครงการดำเนินการรุดหน้าไปมาก ขณะที่บางโครงการกำลังอยู่ในช่วงหารือถึงความเป็นไปได้ ซึ่งจากการสังเกตการณ์จะพบว่า ความร่วมมือภายใต้คณะทำงานมีพัฒนาการที่ดีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยญี่ปุ่นได้สนองตามข้อเสนอของไทยในเรื่อง Capacity Building เนื่องจากญี่ปุ่นคาดหวังให้ไทยจะเป็นแหล่งผลิต OEM ที่สำคัญในอาเซียนเพื่อทดแทนการพึ่งพาจีน ในขณะที่ภาคเอกชนไทยมีท่าทีสอดรับในการเป็นฐาน OEM แก่ญี่ปุ่นเช่นกัน แต่ก็หวังให้ญี่ปุ่นช่วยสนับสนุนสินค้า Brand ที่มีการพัฒนาจาก OEM โดยฝ่ายไทย ซึ่งมี 8 สมาคมเป็นหัวหอกก็มีศักยภาพและมีความพร้อมเป็นอย่างยิ่ง และจากการศึกษาดูงาน ฝ่ายไทยมีความมั่นใจมากขึ้นในความพร้อมด้านการผลิต อย่างไรก็ดี การควบคุมคุณภาพสินค้า การกำหนดราคาที่เหมาะสม และระยะเวลาส่งมอบก็เป็นปัจจัยที่มีผลต่อความน่าเชื่อถือสำหรับฝ่ายญี่ปุ่น ซึ่งเอกชนไทยควรต้องบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนการเร่งรัดให้เกิดผลบังคับใช้ AJCEP จะเป็นการต่อยอด JTEPA และสร้างแรงจูงใจแก่ภาคเอกชนญี่ปุ่นในการทำการค้าและการลงทุนด้านสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มกับไทยมากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นมูลค่าธุรกิจระหว่างกัน ซึ่งขณะนี้ถือเป็นเรื่องน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการตามขั้นตอนแล้วเสร็จและคาดว่าความตกลง AJCEP จะเริ่มมีผลบังคับใช้ภายในเดือนมิถุนายน 2552 นี้ ส่วนการดำเนินโครงการร่วมกัน METI ญี่ปุ่นได้แสดงถึงความต้องการที่จะให้ฝ่ายไทยร่วมลงขันในส่วนของค่าใช้จ่าย เนื่องจากบางโครงการต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก แต่เมื่อผลสำเร็จของโครงการเกิดขึ้นย่อมเกิดอรรถประโยชน์แก่ประเทศไทยเป็นสำคัญ
นอกจากนี้การดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สิ่งทอ หรือ Textile Material Center เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลสิ่งทอ ตลอดจนเป็นศูนย์แสดงสินค้าและเก็บรวบรวมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มซึ่งประเทศไทยยังไม่มีนั้น สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (THTI) ควรเป็นผู้ดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยด่วนเนื่องจากประโยชน์จะตามมาอีกมหาศาล โดยเบื้องต้นควรมีการปรับปรุงงบประมาณจากโครงการศูนย์ข้อมูลสิ่งทอเชิงลึก (Textile Intelligence Unit) และโครงการ Productivity โดยปรับปรุงขอบข่ายการดำเนินการของศูนย์สร้างสรรองค์ความรู้แฟชั่นและห้องสมุดของ THTI ให้สอดคล้องกันต่อไป
แม้หลายฝ่ายยังคงมองว่าภาพรวมของเศรษฐกิจโลกจะมีการชะลอตัวอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะค่อยๆ ปรับตัวขึ้นมาตามมาตรการกระตุ้นที่แต่ละประเทศเร่งอัดฉีดเข้าไป แต่สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยยังคงได้รับความเชื่อถือต่อคู่ค้าจากทั่วโลกมาเป็นเวลายาวนาน เนื่องจากมีฝีมือเป็นที่ยอมรับ แต่การพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเท่านั้นจึงจะเป็นเครื่องยืนยันความพร้อมและศักยภาพของอุตสาหกรรมในประเทศ โดยการสร้างความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น ภายใต้กรอบ JTEPA จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะหนุนส่งให้ผู้ประกอบการไทยสามารถยืนหยัดในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืนต่อไป
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--