อาหารเพื่อสุขภาพ (Functional Food) เป็นอุตสาหกรรมอาหารที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น เป็นผลมาจากโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การใส่ใจสุขภาพด้วยการบริโภคอย่างระมัดระวังจึงเป็นทิศทางในอนาคตของผู้บริโภคทั่วโลก โดยคาดว่า ในปี 2553 อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพทั่วโลก จะมีมูลค่ารวมกว่า 167 พันล้านเหรียญสหรัฐ
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหรรม (สศอ.) จึงได้ดำเนินโครงการศูนย์สารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์อุตสาหกรมอาหาร และได้ออกสำรวจข้อมูลเชิงลึกเพื่อรับทราบข้อมูล Functional Food โดยร่วมกับสถาบันอาหาร ณ แดนจิงโจ้ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ถือเป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพ และยังไม่ถูกปิดประตูโอกาสเสียทีเดียว สำหรับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ที่มีมูลค่าการตลาดอยู่ที่ 1% ของมูลค่าตลาดโลก โดยมีอัตราการขยายตัวสูง ซึ่งปัจจัยที่กำหนดอัตราการเติบโตของสินค้า คือ กระแสการบริโภคที่เกิดจากการบอกต่อของผู้บริโภค การโฆษณาและการกำหนดกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย เช่น อาหารสำหรับนักกีฬา อาหารสำหรับเด็ก วัยรุ่น และคนชรา รวมถึงช่องทางการกระจายสินค้า โดยเฉพาะการจำหน่ายในร้านค้าเฉพาะทางจะได้รับการตอบรับที่ดีกว่าร้านจำหน่ายสินค้าอาหารทั่วไป
ผลิตภัณฑ์ Functional Food ที่ได้รับความนิยมได้แก่ สาร Bioactive จากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และนมที่ได้จากการนำ Bioactive 2 ชนิด คือ สาร Dermatan-Sulfate จากเนื้อสัตว์ ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันการอักเสบ และสาร Glycomacropeptide (GMP) จากผลิตภัณฑ์นม มาผสมกัน แล้วนำสารผสมที่ได้ไปใส่ในอาหาร นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์นมเพื่อสุขภาพ สำหรับผู้บริโภคผลิตภัณฑ์นม แต่ต้องการลดไขมันอิ่มตัวและคลอเรสเตอรอล ซึ่งมีการคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการผสมสารโอเมก้า 3 และไขมันไม่อิ่มตัวที่ได้จากพืช จึงเป็นผลิตภัณฑ์นมที่บริโภคได้อย่างปลอดภัยจากโรคหัวใจ นอกจากนี้ยังมีส่วนผสมอาหารอื่นๆ ที่นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์นมเพื่อสุขภาพ เช่น Phytosterols อินนูลิน โฟรเลท และคอลลาเจน โดยเฉพาะโฟรเลทเป็นส่วนผสมเดียวที่กฎหมายของออสเตรเลียให้การรับรองว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพของสตรีมีครรภ์ และสมองของทารก
อย่างไรก็ตามสินค้า Functional Food ที่ได้รับความนิยมเหล่านี้มีทั้งการนำเข้าและการผลิตเองในประเทศ แต่ออสเตรเลียให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพมาเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากได้มีการตั้งหน่วยงานวิเคราะห์วิจัย เพื่อตรวจสอบตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดนี้เป็นการเฉพาะขึ้นมา เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค สำหรับการนำเข้าสินค้า ออสเตรเลียมีกฎระเบียบ/ข้อบังคับที่เข้มงวด ซึ่งจะต้องมีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน สามารถพิสูจน์ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ได้ว่าเป็นอาหารที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย และจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของการกล่าวอ้างสรรพคุณบนฉลากด้วย และการควบคุมการนำเข้าสินค้าอาหารนอกจากจะเป็นไปตามข้อกำหนดทางศุลกากรแล้ว การจำหน่ายอาหารในออสเตรเลียจะถูกควบคุมตามมาตรฐาน Food Standards Australia New Zealand (FSANZ) ด้วย โดยกฎหมายฉบับนี้จะแยกเป็นข้อกำหนดของแต่ละชนิดสินค้า สำหรับ Functional Food ปัจจุบัน ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในการควบคุม ซึ่งจะมีการตรวจสอบสินค้าโดยพิจารณาเป็นกรณีไป ตัวอย่างเช่น อาหารที่เติมวิตามิน หรือแร่ธาตุ จะพิจารณาตามกฎหมายด้าน Vitamin and Mineral เป็นต้น ในส่วนของการจำหน่ายสินค้า Functional Food ในออสเตรเลีย มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่สำคัญ คือ ร้านค้าปลีก เช่น ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เกต โดยมีลูกค้าหลัก คือ กลุ่มผู้บริโภคที่ชอบทดลองสินค้าใหม่ๆ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการ ส่วนผสมที่ได้รับการยอมรับ ความเข้าใจในประโยชน์ที่จะได้รับจากผลิตภัณฑ์ และตราสินค้าที่น่าเชื่อถือ ดังนั้น ตลาดขายปลีก สินค้า Functional Food จึงยังเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะกับผู้ผลิตที่ต้องการจะส่งออกสินค้าไปยังออสเตรเลีย
ประตูโอกาสยังเปิดรอ
ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านความหลากหลายของพืชสมุนไพร ที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย จนทั่วโลกต่างให้การยอมรับ และถือว่ามีโอกาสเป็นอย่างมากสำหรับการนำผลิตภัณฑ์ที่เป็นวัตถุดิบต่างๆ ไปสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพในรูปแบบต่างๆ เข้าสู่ตลาดออสเตรเลีย ซึ่งสินค้าที่ได้รับความนิยม คือ กลุ่มสินค้าสมุนไพร ทั้งในรูปของสมุนไพรสด และสำเร็จรูป เนื่องจากความนิยมในอาหารไทยที่มีส่วนผสมของสมุนไพรมีมากในออสเตรเลีย ประกอบกับร้านอาหารไทยที่ตั้งอยู่ในออสเตรเลียจำนวนมาก เป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับการสร้างฐานลูกค้า โดยเฉพาะการสร้างรูปแบบของผลิตภัณฑ์อาจประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป หรือส่วนผสมในอาหารประเภทต่างๆ นอกจากนี้ผลของความตกลงการค้าเสรีไทย — ออสเตรเลีย (TAFTA) ยังส่งผลให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทยหลายรายการมีภาษีนำเข้าที่ลดลง จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกสินค้าอาหารและสมุนไพรไทยมีโอกาสที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การสร้างความเข้มแข็งให้สินค้าไทยเข้าไปเจาะกลุ่มผู้บริโภคออสเตรเลียอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขการนำเข้าของออสเตรเลีย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนถึงประโยชน์และคุณค่าของสมุนไพรไทย รวมถึงข้อมูลปริมาณการบริโภคที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย ตลอดจนสรรพคุณของสมุนไพรที่จะส่งผลต่อสุขภาพในด้านใดบ้าง ซึ่งในเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับการแสดงสินค้าและการกล่าวอ้างกฎหมาย รวมทั้งการสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจคุณประโยชน์ของสมุนไพร หากไทยมีการศึกษาวิจัย/ทดลองทาง วิทยาศาสตร์โดยมีหลักฐานสนับสนุนแล้ว จะเป็นการสร้างความมั่นใจและศักยภาพให้สมุนไพรไทย สามารถเข้ามามีส่วนแบ่งตลาดในสินค้า Functional Food ของออสเตรเลียและตลาดโลกได้
เนื่องจากค่านิยมของผู้บริโภคชาวออสเตรเลียต้องการเลือกซื้อสินค้าอาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบในประเทศจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และต้องการให้สินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาด มีการระบุสัญลักษณ์ว่าเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศ (Australian Grown logo) ซึ่งปัจจุบันออสเตรเลียกำหนดให้นำสัญลักษณ์ดังกล่าวติดบนฉลากบรรจุภัณฑ์อาหารทุกชนิดที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบในประเทศ โดยเฉพาะการแสดงแหล่งที่มาของสินค้าอาหาร โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอาจพิจารณานำมาใช้เป็นรูปแบบปฏิบัติเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยหันมาใช้วัตถุดิบในประเทศผลิตสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะพืช ผัก ผลไม้ สมุนไพร ส่วนผสมและสารอาหารที่หลากหลาย เพื่อลดการพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจแหล่งที่มาของสินค้า รวมทั้งให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายระบุแหล่งที่มา และในอนาคตอาจส่งเสริมการใช้สัญลักษณ์ในลักษณะดังกล่าวกับสินค้าส่งออกได้ด้วย โดยเฉพาะสินค้า Functional Food ที่มีลักษณะเฉพาะของไทย ได้แก่ เครื่องดื่มประเภทน้ำข้าวกล้องงอก น้ำมังคุด และผลิตภัณฑ์นมที่มีสารเมลาโตนินสูง (Bed time milk) เป็นต้น
นอกจากนี้ผู้ผลิตสินค้า Functional Food ของออสเตรเลีย และประเทศผู้นำตลาดต่างสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์บนพื้นฐานการวิจัยและพัฒนาที่มีข้อมูล/หลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับ โดยตระหนักถึงความเป็นไปได้ การเข้ากันได้ หรือความคงตัวของสูตรที่เติมสารอาหารเข้าไป หรือลดสารอาหารบางชนิดลง รวมทั้งการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์เพื่อรักษาคุณภาพ ตลอดจนความพยายามที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้เกินกว่าสิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวัง เช่น บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม สะดวกใช้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะช่วยกระตุ้นการบริโภคสินค้าเพิ่มขึ้น และจะเป็นการสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และเป็นเอกลักษณ์ของสินค้าในธุรกิจต่อไป
ประเทศไทยมีจุดแข็งที่ความหลากหลายของพืชพรรณสมุนไพรนานาชนิด และได้รับความนิยมไปทั่วโลก เสมือนใบเบิกทางชั้นยอดในผลิตภัณฑ์สินค้า Functional Food เพียงแต่ต้องเร่งเติมเต็มคุณภาพด้านการวิจัยพัฒนาและแสดงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค และในตลาดประเทศออสเตรเลีย คู่ค้าที่สำคัญซึ่งกระแสแห่งการใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ถือเป็นโอกาสทองสำคัญที่ผู้ผลิตไทยจะต้องรีบคว้าอย่ารีรอ
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--