สศอ.เร่งผนึกกระทรวงวิทย์ปั้นอุตฯไบโอพลาสติกให้เกิด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 13, 2009 15:05 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สศอ.-กระทรวงวิทย์ ผนึกกำลังสร้างอุตฯไบโอพลาสติกให้เกิดจริง หวังบูมตลาดพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ลดนำเข้าหนุนส่งออก ชวนเอกชนร่วมสร้างโรงงานต้นแบบ เชื่อเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ตลาดในประเทศขยายตัวไม่ต่ำกว่า 50% ต่อปี

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ สศอ.ได้ร่วมมือกันกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) เร่งดำเนินโครงการนำร่องจัดตั้งโรงงานเม็ดพลาสติกชีวภาพในประเทศไทย เพื่อวางรากฐานอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ หรือ ไบโอพลาสติกให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นแต่ไทยยังไม่มีแหล่งผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพในเชิงพาณิชย์ จึงยังคงพึ่งพาการนำเข้า อีกทั้งทั่วโลกมีทิศทางการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นจากไบโอพลาสติกจำนวนมหาศาล โดยทิศทางการบริโภคและการขยายตัวพบว่ายักษ์ใหญ่สหรัฐอเมริกามีปริมาณการใช้ประมาณ 80,000 ตันต่อปี ขยายตัว 16% ยุโรปใช้ประมาณ 40,000- 50,000 ตันต่อปี ขยายตัว 20% ญี่ปุ่นใช้ประมาณ 15,000 ตันต่อปี ขยายตัวได้สูงถึง 100% ขณะที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้ 10 ตันต่อปี ขยายตัว 50% ซึ่งจากตัวเลขประมาณการนี้ถือว่ายังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไบโอพลาสติกมีคุณสมมบัติสามารถย่อยสลายได้ ไม่เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อม

“ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบที่สำคัญในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ซึ่งสามารถสะกัดออกมาเป็นกรดแรกติก เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ โดยไทยมีศักยภาพการผลิตสูงถึง 25% ของความต้องการใช้ทั่วโลก แต่ในประเทศไทยยังขาดโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพในเชิงพาณิชย์ จึงเท่ากับว่าห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมพลาสติกยังไม่เกิดความครบวงจร หากมีโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งได้อีกมาก โดยเฉพาะด้านการบรรจุภัณฑ์ เช่น ถุงใส่ขนมปังเพื่อรักษาความสดใหม่ให้นานขึ้น เส้นใยทอผ้าและสิ่งทอ ด้ายเย็บแผล วัสดุจับยึดกระดูก หน้ากากหุ้มเครื่องซีดี แผ่นดีวีดี ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะใช้เม็ดพลาสติกชีวภาพทั้งสิ้น เพื่อทดแทนพลาสติกรุ่นเดิมที่ได้จากกระบวนการทางปิโตรเคมี ถือว่าเป็นช่องทางที่สามารถสร้างตลาดในเชิงพาณิชย์ได้ไม่ยาก เนื่องจากมีกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดพร้อมแล้ว แต่ยังไม่มีการลงมือผลิตอย่างจริงจัง”

นายอุดม กล่าวอีกว่า โดย สศอ.จะทำหน้าที่ประสานความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ และวท.จะเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยเบื้องต้นจะสนับสนุนให้มีการสร้างโรงงานต้นแบบผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพเพื่อศึกษาทดลองและพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใช้จริง รวมทั้งชักชวนผู้ประกอบการที่มีความสมัครใจร่วมศึกษาทดลอง เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตสู่การผลิตจริง ซึ่งจะเป็นการปูทางให้กับอุตสาหกรรมไบโอพลาสติกให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สศอ.และ วท.ได้เล็งเห็นความสำคัญถึงการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากทั่วโลกต่างมีการกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด ซึ่งหากไม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการได้ ย่อมสูญเสียโอกาสในการแข่งขันอย่างน่าเสียดาย อีกประการหนึ่งหากมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำ ซึ่งเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขัน และเป็นผู้นำในทุกๆด้านของกลุ่มประเทศอาเซียนต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ