สศอ. ดึงเซียนญี่ปุ่นแนะเทคนิคยกระดับชิ้นส่วนอิเล็กฯใช้ในเรือ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 20, 2009 15:51 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สศอ.หนุนเต็มสูบ จับคู่ผู้ประกอบการชิ้นส่วนไฟฟ้าอิเล็กฯ กับอุตฯต่อเรือ เร่งยกระดับผลิตภัณฑ์ใช้ในเรือ หวังสร้างช่องทางกระจายสินค้า ลดนำเข้าขยายสู่ส่งออกทั่วโลก ดึงเซียนสถาบันจัดชั้นเรือจากญี่ปุ่น ให้ความรู้เข้มข้น มั่นใจเกิดรูปธรรมในสิ้นปี

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สศอ.ได้ร่วมกับบริษัทจัดชั้นเรือ Nippon Kaiji Kyokai (Class NK) ในการจัดผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้ความรู้เข้มข้นด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ โดยผู้ประกอบการในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนเข้าร่วมกว่า 30 ราย ซึ่งเป็นรายใหญ่ที่สามารถยกระดับการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในเรือได้ เนื่องจากมีความพร้อม ในการปรับปรุงเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิต พร้อมทั้งด้านกำลังคน การที่ได้รับทราบข้อมูลและเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเตรียมเปิดสายการผลิตได้เร็วขึ้น สามารถรับคำสั่งซื้อจากกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือได้ทันที และช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้ใช้สินค้าที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าชิ้นส่วนที่ใช้ในเรือจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง ดังนั้น หากผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองโดย Class NK นอกจากจะช่วยสนับสนุนให้กลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือไทยเป็นที่ยอมรับของลูกค้าแล้ว ยังเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สามารถมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เสริมสร้างความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นด้วย

“แม้ว่ากลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่เกิดขึ้น จากการได้รับคำสั่งซื้อจากฐานลูกค้าเดิม หลังจากประสบภาวะซบเซามาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 เป็นต้นมา แต่ขณะเดียวกันการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่อเรือนั้นจะเสริมความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีก อย่างน้อยในเบื้องต้นการรับทราบสัญญาการจ้างต่อเรือล่วงหน้าถึงปี 2553 นับหมื่นล้านบาท ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่ผู้ประกอบการทั้ง 2 กลุ่มจะจับมือกันและก้าวไปอย่างแข็งแกร่งพร้อมๆกัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อเรือที่มีฐานลูกค้าในมือ โดยเฉพาะการต่อเรือเฉพาะกิจ เช่น เรือตรวจการชายฝั่งทะเล เรือสำหรับใช้ในการขุดเจาะน้ำมัน เป็นต้น”

นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า หลังจากที่ สศอ.ได้เป็นตัวกลางประสานให้เกิดความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ กับ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยได้ประชุมหารืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะเกิดรูปธรรมอย่างช้าไม่เกินสิ้นปี 2552 นี้ และ สศอ.จะได้ขยายความร่วมมือไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆที่มีศักยภาพต่อไป สำหรับอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ ถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่รัฐบาลควรให้ความสนับสนุนผลักดันให้เกิดความข็งแกร่ง เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเรือสามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆมากมาย ขณะเดียวกัน สศอ.ได้เตรียมศึกษาเจาะลึกในเรื่องโครงสร้างภาษีนำเข้าวัตถุดิบและอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้กับอุตสาหกรรมต่อเรือที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศไทย ให้มีอัตราภาษีที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ ทั้งนี้เนื่องจากในประเทศที่ให้การสนับสนุน อุตสาหกรรมต่อเรือ อัตราภาษีนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับต่อเรือและซ่อมเรือจะยกเว้นอัตราภาษีให้ ซึ่งหากการดำเนินการด้านโครงสร้างภาษีมีรูปธรรม จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือให้เกิดความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และสามารถเป็นศูนย์กลางการต่อเรือและซ่อมเรืออย่างครบวงจรในอนาคต ต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ