สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 26, 2009 11:40 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 2 ปี 2552 เศรษฐกิจหลาย ๆ ประเทศยังคงอยู่ในภาวะถดถอยต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ยกเว้นประเทศจีนที่เศรษฐกิจยังคงขยายตัว และปัญหาการว่างงานของหลาย ๆ ประเทศมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 2 ปี 2552 อยู่ที่ 58.09 USD/Barrel ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2551 อยู่ที่ 119.45 USD/Barrel เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงหดตัว ทำให้ความต้องการน้ำมันลดลง สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันยังคงแกว่งตัวขึ้นลง โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนกันยายน มีราคาอยู่ที่ 71.94 USD/Barrel ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการแข็งค่าของเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักและราคาน้ำมัน heating oil ที่ลดลงมีส่วนกดดันราคาน้ำมันดิบลดลง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันให้ปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น ในไตรมาสที่1 ของปี 2552 ที่ผ่านมา หดตัวร้อยละ -7.1 ซึ่งหดตัวมากขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ -4.2 และหดตัวจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.0 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวหดตัวรุนแรงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา คือ วิกฤติเศรษฐกิจโลกส่งผลให้การส่งออกและนำเข้าสินค้าลดลง การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมลดลง โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี2552 จะหดตัวร้อยละ -3.5 ถึงร้อยละ -2.5 ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมไทย ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ตัวชี้วัดต่าง ๆ ส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา เช่น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(Manufacturing Production Index : MPI) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยเฉพาะ Hard Disk Drive อิเล็กทรอนิกส์ อาหารทะเล อาหารกระป๋อง เป็นต้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมและดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2551

สถานการณ์การค้าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ขยายตัวขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 1 ของปี2552 โดยในไตรมาสที่ 2 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 64,903.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 34,419.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 30,483.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 1.87 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.03 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ดุลการค้าเกินดุล 3,936.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 26.20 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นลดลงร้อยละ 33.33 โดยการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่ามูลค่าการส่งออกทั้ง 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน) ยังคงติดลบในระดับสูงอยู่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งในเดือนพฤษภาคมมูลค่าการส่งออกยังติดลบสูงสุดในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 ด้วย โดยมูลค่าการส่งออก 11,656.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนลดลงถึงร้อยละ 26.6 แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า หลายอุตสาหกรรมมีสัญญาณการฟื้นตัว อาทิ อิเล็กทรอนิกส์(แผงวงจรไฟฟ้า Hard Disk Drive) สิ่งทอต้นน้ำ เป็นต้น

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนเมษายนและพฤษภาคมซึ่งมีมูลค่ารวม 44,425.74 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการลงทุนลดลงร้อยละ 10.32 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนเมษายนมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 20,608.90 ล้านบาท และเดือนพฤษภาคมมีมูลค่า 23,816.84 ล้านบาท เมื่อพิจารณาตลอดทั้ง 5 เดือนในปี 2552 พบว่าในเดือนมีนาคมมีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุด สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 210 โครงการซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 25.80 โดยมีเงินลงทุน 64,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 54.96 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยโครงการลงทุนประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 83 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 11,800 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 61 โครงการ เป็นเงินลงทุน 27,600 ล้านบาท

เมื่อพิจารณามูลค่าการลงทุนในหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 25,800 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดเกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตรมีเงินลงทุน 15,400 ล้านบาท และหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 10,800 ล้านบาท สำหรับแหล่งลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 52 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 21,003 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศเนเธอร์แลนด์จำนวน 6 โครงการ มีเงินลงทุน 2,024 ล้านบาท ประเทศอิตาลีจำนวน 1 โครงการ เป็นเงินลงทุน 2,000 ล้านบาท และประเทศสวิสเซอร์แลนด์ 3 โครงการ เป็นเงินลงทุน 1,443 ล้านบาท

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีดัชนีผลผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 103.83 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 20.53 หากเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 23.36 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 จากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.58 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนอยู่ในภาวะทรงตัว โดยสินค้าที่มีการปรับตัวลดลงมากเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คือ Other IC และ Monolithic IC ลดลงร้อยละ 23.68 และ 17.87 เป็นต้น

แนวโน้มภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วงไตรมาสที่ 3 ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2552 โดยดูจากดัชนีการส่งสินค้าของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ประมาณการว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ -14.60 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ประมาณการว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 3.72 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

เนื่องจากส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ HDD มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.16% สำหรับสถานการณ์การจ้างงานของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เริ่มดีขึ้น เนื่องจากมีคำสั่งซื้อทะยอยเข้ามา แต่ยังคงประสบปัญหาแรงงานที่เลิกจ้างงานแล้วก่อนหน้านี้ได้รับเงินชดเชยค่อนข้างมากและมาตรการส่งเสริมที่ดีทำให้การเรียกตัวแรงงานกลับมาทำงานในช่วงนี้เป็นไปได้ยาก

เคมีภัณฑ์ ไตรมาส 2 ปี 2552 การส่งออกเคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่า 3,168 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.04 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 7.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าส่งออก 8,482 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.98 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ทั้งการผลิต การจำหน่าย นำเข้าและส่งออกน่าจะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐในเรื่องของเช็คช่วยชาติ และการยืดระยะเวลาในการช่วยเหลือค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าออกไปอีก 6 เดือนทำให้ประชาชนมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ อีกทั้งตัวเลขการว่างงานลดลง เศรษฐกิจของโลกปรับตัวดีขึ้นคำสั่งซื้อจากต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ปิโตรเคมี ไตรมาส 2 ปี 2552 การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออก 7,868.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 94.98 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออก 11,036.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.33 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 14.96 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออก 35,131.45 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.18 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 24.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ในช่วงชะลอตัวลง การแข่งขันด้านการตลาดจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการขยายตัว ได้แก่ ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวโดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศจีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลจากการเลื่อนเปิดดำเนินการโครงการผลิตปิโตรเคมีหลายโครงการในประเทศจีน อย่างไรก็ตามยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงด้านอุปสงค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีภายในประเทศที่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ และอุปสงค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตลาดโลกเกิดการชะลอตัวลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะถดถอยลง และความผกผันของราคาน้ำมันในตลาดโลก

เหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีประมาณ 1,524,467 เมตริกตัน (ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ) ลดลง ร้อยละ 34.62 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนและเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กส่วนใหญ่มีการผลิตที่ลดลง โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 51.95 รองลงมาคือ เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 45.77 และผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 43.88 โดยเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวส่งผลให้ความต้องการใช้ในประเทศของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ลดลง

แนวโน้มสถานการณ์เหล็กโดยรวมในประเทศในไตรมาสที่ 3 ของ ปี 2552 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของ ปี 2552 คาดการณ์ว่า ทั้งเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบนจะมีการผลิตและความต้องการใช้ในประเทศขยายตัวขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากการเร่งใช้งบประมาณและแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จึงมีผลทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กทรงยาวที่สำคัญมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กทรงแบนที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเริ่มมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นแล้ว

ยานยนต์ ไตรมาสที่ 2 เทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงร้อยละ 4.45 โดยมีการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ และรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน ลดลงร้อยละ 16.53 และ 14.69 ตามลำดับ แต่มีการผลิตรถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.21

แนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ในครึ่งปีหลังของปี 2552 คาดว่าการผลิตรถยนต์มีการขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2552 ซึ่งกว่าร้อยละ 60 เป็นการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออก ในขณะที่ตลาดภายในประเทศยังชะลอตัวตามสภาพเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็มีแนวโน้มการชะลอตัวน้อยลง ทั้งนี้คาดว่าผู้ประกอบการจะมีการกระตุ้นตลาดภายในประเทศด้วยการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาด สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งปี 2552 คาดว่าชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยทางผู้ประกอบการได้มีการปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์เหลือ 940,000 คัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศ 430,000 คัน และการผลิตเพื่อการส่งออก 510,000 คัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46 และ 54ตามลำดับ

พลาสติก ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.83 แต่ลดลงร้อยละ 7.33 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากอุตสาหกรรมพลาสติกเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น รถยนต์ อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 2อุตสาหกรรมเหล่านี้ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้อุตสาหกรรมพลาสติกจะขยายตัวเพิ่มตามประกอบกับมาตรการของภาครัฐที่ออกมากระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน เช่น เช็คช่วยชาติ ธงฟ้าราคาประหยัด หรือเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ เป็นต้น

แนวโน้มในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 น่าจะได้รับผลต่อเนื่องมาจากครึ่งปีแรกของปี ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จากการประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจออกมาในหลาย ๆ ประเทศ ที่มีแนวโน้มดีขึ้น อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือนโยบายต่าง ๆ ที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ จึงน่าจะส่งผลทำให้อัตราการขยายตัวทั้งภาคการส่งออกและการบริโภคในประเทศเพิ่มมากขึ้น

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง การผลิตและการส่งออกโดยรวมของรองเท้าและชิ้นส่วน เครื่องใช้สำหรับเดินทาง หนังและผลิตภัณฑ์หนัง ฟอกและหนังอัด ในไตรมาส 2 ปี 2552 มีมูลค่าลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและประเทศในกลุ่ม EU ที่เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจทำให้การบริโภคลดลง

แนวโน้มการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังในครึ่งปีหลังของปี2552 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน คาดว่าจะลดลงในทุกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากฐานการผลิตและการส่งออกปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูง ทำให้ 6 เดือนแรกติดลบ และสำหรับช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะฟื้นตัวในทิศทางที่เป็นบวก เป็นผลมาจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยสินค้า

อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาลทราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 จากไตรมาสที่ 1 ปี 2552 เนื่องจากการผลิตในกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปและกระป๋อง และน้ำมันพืช เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 และ 8.4 เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจโลกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากเดิมที่ชะลอตัว และจากการประกาศยกเลิกเก็บภาษี AD สินค้ากุ้งจากไทยของสหรัฐอเมริกา รวมถึงการลดลงของราคาวัตถุดิบหลายรายการ เช่น ปลาทูน่าถั่วเหลือง และนมผง

แนวโน้มการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 คาดว่า จะยังคงมีทิศทางการผลิต และส่งออกที่ชะลอตัว ตามฤดูกาลของอุตสาหกรรมอาหาร โดยมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวนจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนทางการเมืองและภาวะสงครามในตะวันออกกลาง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่เป็นตัวชี้นำราคาน้ำมันในตลาดโลก และการใช้นโยบายแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าโดยการกดค่าเงินดอลลาร์ให้อ่อนตัวเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆนอกจากนี้สินค้าอาหารมักถูกกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ

ไม้และเครื่องเรือน ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีปริมาณการผลิต 2.95 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.43 และ 27.71 ตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะตลาดระดับกลางและตลาดระดับบน ตลอดจนโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ เช่น คอนโดมิเนียม ส่งผลต่อความต้องการไม้และเครื่องเรือน รวมทั้งปัจจัยเสริมของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลง

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 คาดว่าจะทรงตัว เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว แต่ยังไม่ชัดเจน อีกทั้งการเมืองภายในประเทศยังไม่มีเสถียรภาพมากนัก ประกอบกับผู้ผลิตประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง ผู้บริโภคระมัดระวังเรื่องค่าใช้จ่าย และราคาน้ำมันที่ผันผวน อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกได้แก่ มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลที่ต่ออายุไปจนถึงปีหน้า และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาลง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังหันมาให้ความสนใจและเจาะตลาดภายในประเทศมากขึ้น

ยางและผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 36.51 และ 40.97 ตามลำดับ โดยลดลงทั้งในยางแผ่นและยางแท่งเนื่องจากเป็นช่วงฝนตกบ่อย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง ทำให้ได้ผลผลิตน้อยลง

แนวโน้มอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 คาดว่าจะฟื้นตัว ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว มาตรการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น เริ่มเห็นผล ปริมาณสต๊อกสินค้าของลูกค้าเริ่มลดลง ทำให้มีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการถามซื้อยางพาราจากจีน เนื่องจากจีนมีการเร่งรัดพัฒนาการก่อสร้างทางหลวงและอุตสาหกรรมขนส่งเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน รวมทั้งการที่จีนออกมาตรการจูงใจให้คนซื้อรถยนต์

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีค่าดัชนีผลผลิต 103.1 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 ในส่วนของภาวะการผลิตกระดาษทุกประเภท ได้แก่ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก มีค่าดัชนีผลผลิต 122.0 119.8 120.6 และ 171.8 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับค่าดัชนีผลผลิตเยื่อกระดาษ ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษทุกประเภทที่เพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุมาจาก ช่วงต้นไตรมาสมีการจัดพิมพ์สมุด หนังสือ ตำรา แบบเรียนต่าง ๆ เพื่อเตรียมรองรับการเปิดภาคเรียนของนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศ ประกอบกับมีการจัดพิมพ์ไปรษณียบัตรตั้งชื่อลูกหมีแพนด้าชิงรางวัล

แนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสหน้าคาดว่า จะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยคาดว่า จะมีคำสั่งซื้อจากในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ประกอบกับแนวโน้มมูลค่าสินค้าลดลง เนื่องจาก ราคาวัตถุดิบได้แก่ เยื่อกระดาษ กระดาษ และเชื้อเพลิง ลดลง

ยา การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 มีปริมาณ 6,324.6 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.3 และในครึ่งแรกของปี 2552 มีปริมาณการผลิต 13,589 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.6 ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นมาก คือ ยาน้ำ เนื่องจากผู้ผลิตทำการวางแผนการผลิตที่แตกต่างไปจากปีก่อน โดยเปลี่ยนมาทำการผลิตสินค้าแต่ละประเภทในแต่ละครั้งเป็นปริมาณมาก ก่อนเปลี่ยนไปผลิตสินค้าประเภทอื่นแทน ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนในกระบวนการผลิต อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปริมาณการผลิตลดลง ร้อยละ 12.9 โดย ยาน้ำ เป็นประเภทยาที่ลดลงมากเนื่องจากความต้องการในตลาดลดลง ประกอบกับมีการผลิตไว้ปริมาณมากตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนและในไตรมาสแรกของปีนี้แล้ว จึงลดปริมาณการผลิตลง เพราะยามีอายุการใช้งาน

แนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 คาดว่าการผลิต และการจำหน่ายยาในประเทศ จะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก เนื่องจากยาเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากนัก นอกจากนี้โครงการหลักประกันสุขภาพยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาครัฐให้ความสำคัญกับการควบคุมการเบิกค่าใช้จ่ายด้านยา โดยเฉพาะยานำเข้า และสนับสนุนให้มีการใช้ยาที่ผลิตในประเทศ แทนยานำเข้ามากขึ้น

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 การส่งออกเริ่มฟื้นตัวตามภาคการผลิตแม้ว่าทุกประเทศจะประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจก็ตาม สิ่งทอไทยยังขยายตัวในตลาดอาเซียน ร้อยละ 22.3 ตลาดสหภาพยุโรป ร้อยละ 8.3 และตลาดอื่นๆ อีกร้อยละ 10.4

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 คาดว่าภาคการผลิต การส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการผลิตผ้าผืน ผู้ประกอบการสิ่งทอปลายน้ำควรใช้ผ้าผืนที่ผลิตในประเทศให้มากขึ้น เพื่อลดการนำเข้าเนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตที่มีศักยภาพและมีครบวงจรมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยผ้าผืนของไทยสามารถส่งออกไปลาว เวียดนาม กัมพูชาและบังคลาเทศ ซึ่งมีแนวโน้มบริโภคสูงขึ้น เนื่องจากประเทศเหล่านี้ขาดสิ่งทอต้นน้ำ ทำให้ต้องมีการนำเข้าผ้าผืนจากไทยไปตัดเย็บเพื่อการส่งออกมากขึ้น

ปูนซีเมนต์ การผลิตปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 9.70 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.73 และ 3.63 ตามลำดับ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังอยู่ในภาวะซบเซา เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัวลง ตามความต้องการของตลาดที่ลดลง โดยเป็นผลจากอุปสงค์ในประเทศชะลอตัว เนื่องจากความไม่แน่นอนจากภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้งความกังวลในเสถียรภาพทางการเมืองยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนขยายธุรกิจต่างๆ ของภาคเอกชน และความคืบหน้าในการดำเนินโครงการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐยังไม่มีความชัดเจน

แนวโน้มการผลิตและการจำ หน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 คาดว่าจะทรงตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะที่ชะลอตัว ทำให้ภาคเอกชนยังชะลอการลงทุน และการลงทุนในสาธารณูปโภคของรัฐยังไม่มีความชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้การลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของภาครัฐจะยังล่าช้า แต่ยังมีงานโครงสร้างขนาดเล็ก เช่น การปรับปรุงหรือก่อสร้างถนนภายในหมู่บ้านตามจังหวัดต่างๆ และหากรัฐบาลมีการเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น

เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณผลิต 37.69 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณผลิต 1.48 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.69และ 10.90 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.79 และ 30.32 ตามลำดับ ซึ่งการผลิตเซรามิกยังคงได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ แต่การผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ในไตรมาสนี้ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก

แนวโน้มการผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส ที่ 3 ปี 2552 คาดว่าจะอยู่ในภาวะทรงตัวเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศยังไม่ดีขึ้น จึงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก

อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ด้านการผลิตลดลงร้อยละ 9.38 และการจำหน่ายลดลงร้อยละ 12.50 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ด้านการส่งออกภาพรวมมีการหดตัวลง คือ ลดลงร้อยละ 67.33 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกอัญมณี เครื่องประดับแท้ และทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป ลดลงคิดเป็นร้อยละ 15.89 16.81 และ 84.81 ตามลำดับ เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงส่งผลให้ผู้ประกอบการนำเข้ามากกว่าการส่งออก

แนวโน้มภาพรวมการส่งออกในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ปัจจัยด้านบวก ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจึงปรับตัวเพิ่มขึ้น และแนวโน้มราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ระดับ 950 เหรียญสหรัฐฯต่อออนซ์ จะเป็นสาเหตุให้การส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ