สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2552 (เศรษฐกิจไทย)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 26, 2009 12:46 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

จาการประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประชาชาติรายไตรมาสของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ใน ไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 หดตัวร้อยละ -7.1 ซึ่งหดตัวมากขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ -4.2 และหดตัวจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.0 โดยปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้อัตราการขยายตัวหดตัวรุนแรงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา คือ วิกฤติเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ทั้งการส่งออกและนำเข้าสินค้าลดลง แม้ว่าการส่งออกสินค้าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่การนำเข้าสินค้าลดลงมากกว่า ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลในไตรมาสนี้ จากการลดลงดังกล่าวส่งผลกระทบมายังอุปสงค์ในประเทศ โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือน และการลงทุนรวมลดลง

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 หดตัวร้อยละ -14.9 ซึ่งหดตัวมากขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ -6.7 และหดตัวจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.5 โดยเป็นผลจากอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกมีผลผลิตลดลงมากตามความต้องการในตลาดโลกที่ลดลงจากวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศอุตสาหกรรมสำคัญ โดยในไตรมาสนี้อุตสาหกรรมการผลิตลดลงทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าทุนและเทคโนโลยี อุตสาหกรรมเบา และอุตสาหกรรมวัตถุดิบ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่า ทั้งปี 2552 เศรษฐกิจจะหดตัวร้อยละ -3.5 ถึงร้อยละ -2.5 โดยที่เฉลี่ยในครึ่งแรกของปีเศรษฐกิจหดตัวมากแต่จะฟื้นตัวดีขึ้นและมีโอกาสกลับมาขยายตัวในครึ่งหลัง ทั้งนี้การขยายตัวในครึ่งปีหลังนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ คือ การดำเนินมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ และการฟื้นตัวที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจโลกสำหรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 พบว่ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ Hard Disk Drive อิเล็กทรอนิกส์ อาหารทะเลอาหารกระป๋อง เป็นต้น โดยจะเห็นว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรายเดือนในภาพรวมเริ่มมีอัตราการขยายตัวเป็นบวกเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงเรื่อยมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 จึงอาจเป็นสัญญาณฟื้นตัวเบื้องต้นของอุตสาหกรรม สำหรับมูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลงร้อยละ 23.5 (ม.ค.-มิ.ย.)เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

ในส่วนของการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคของภาคเอกชน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ สำหรับการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551

นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมและดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2551

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม)

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Product Index : MPI) ที่จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ 158.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (146.2) ร้อยละ 8.4 แต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (177.5) ร้อยละ 10.7

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ Hard Disk Drive อิเล็กทรอนิกส์ อาหารทะเล อาหารกระป๋อง เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องแต่งกาย เบียร์ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 16.5 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องแต่งกาย เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า

ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการขนส่งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่มพบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 154.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (143.1) ร้อยละ 7.6 แต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (182.5) ร้อยละ 15.6

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ Hard Disk Drive อิเล็กทรอนิกส์ อาหารทะเล อาหารกระป๋อง เส้นใยสิ่งทอ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ ยานยนต์ เหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ โทรทัศน์ เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 ดัชนีการส่งสินค้าปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 19.1 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าลดลง ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive อิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก โทรทัศน์ เป็นต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 187.3 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (198.1) ร้อยละ 5.5 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (174.3) ร้อยละ 7.5

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ เบียร์ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เส้นใยสิ่งทอ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ เบียร์ อาหารทะเล อาหารกระป๋อง เหล็ก กระดาษลูกฟูก เครื่องแต่งกาย เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 9.7 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ เบียร์ อาหารทะเล อาหารกระป๋อง เหล็ก ยานยนต์ กระดาษลูกฟูก เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตเต็มที่ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 53.9 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 52.2) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551(ร้อยละ 63.7)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ Hard Disk Drive อาหารทะเล อาหารกระป๋อง เส้นใยสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันปิโตรเลียม เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ ยายนต์ Hard Disk Drive เหล็ก เส้นใยสิ่งทอ เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive เส้นใยสิ่งทอ เหล็ก เป็นต้น

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมเฉลี่ย มีค่า 72.0 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (74.0) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (78.9) โดยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ทั้ง 3 ดัชนีปรับตัวลดลงจาก ไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2551 สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเฉลี่ยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและการจ้างงานในอนาคต ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมทั้งสถานการณ์ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่กำลังระบาดทั่วโลก รวมทั้งการแพร่ระบาดในไทย โดยปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตามในเดือนมิถุนายน 2552 ทั้ง 3 ดัชนี มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนพฤษภาคม 2552 แต่ยังคงปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้บริโภคมีความหวังว่าสถานการณ์ต่าง ๆ ในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่รัฐสภาได้ผ่าน พรก. กู้เงิน 4 แสนล้านบาท และพรบ. กู้เงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อให้อำนาจแก่รัฐบาลในการกู้ยืมเงินเพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 2 ในปี 2553-2554 แต่ก็ยังคงมีความวิตกกังวลในหลาย ๆ ปัจจัยดังที่กล่าวข้างต้น ส่งผลให้ทั้ง 3 ดัชนี ยังคงมีค่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ

เมื่อแยกพิจารณาในแต่ละดัชนี พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 มีค่า 64.9 การที่ดัชนีปรับตัวอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภควิตกกังวล

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 มีค่า 64.3 การที่ดัชนีปรับตัวอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะการจ้างงานโดยรวมของไทย โดยเห็นว่าโอกาสในการหางานทำยังไม่ดีมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังปรับตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับปกติ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 มีค่า 86.8 การที่ดัชนีปรับตัวอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่ารายได้ของคนในอนาคตยังไม่ดีเท่าที่ควร

จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 มีค่าเท่ากับ 43.6 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (37.9) และเพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (42.6) โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ดัชนีโดยรวมยังคงมีค่าต่ำกว่า 50 แสดงว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังไม่ดี ผู้ประกอบการยังคงมองว่าภาวการณ์ด้านธุรกิจในอนาคตยังมีแนวโน้มไม่ดีขึ้น สำหรับดัชนีที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา คือ ผลประกอบการของบริษัท คำสั่งซื้อทั้งหมด การลงทุน การจ้างงาน และการผลิตของบริษัท

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 ดัชนีโดยรวมปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยดัชนีที่ปรับตัวลดลง คือ ผลประกอบการของบริษัท คำสั่งซื้อทั้งหมด การลงทุน การจ้างงาน และการผลิตของบริษัท

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TISI)

จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (ตารางที่ 4) พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 79.4 เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสที่ผ่านมา (65.5) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (74.6) การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวการณ์ด้านอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ไม่ดีนักโดยในเดือนมิถุนายน 2552 ดัชนีมีค่า 83.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2552 (78.5) เนื่องจากได้รับผลดีจากปริมาณคำสั่งซื้อ และยอดขายโดยรวมที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการผลิตและผลประกอบการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งยังคงเป็นผลมาจากนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจในหลายประเทศเริ่มสัญญาณฟื้นตัว ตลอดจนสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้เป็นแรงกดดันในระดับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับที่ไม่สูงมากนักนอกจากนี้ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ สร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งกระตุ้นการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานและโครงการขนาดใหญ่ กระตุ้นธนาคารพาณิชย์พิจารณาปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อในระดับสูง ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ เพื่อไม่ให้กระทบต่อ ขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ดูแลเรื่องราคาน้ำมัน และราคาวัตถุดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมได้ และมีมาตรการส่งเสริมการส่งออก

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 ดัชนีปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายน 2552 อยู่ที่ระดับ 117.5 ลดลงร้อยละ 0.6 จากเดือนพฤษภาคม 2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 118.2 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ปริมาณเงินความหมายกว้าง จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และดัชนีส่วนกลับราคาน้ำมันดิบตลาดโอมาน

สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 มีค่าเฉลี่ย 118.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่า 117.7

ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ

ค่าประมาณการเบื้องต้น ของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนมิถุนายน 2552 อยู่ที่ระดับ 114.3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 จากเดือนพฤษภาคม 2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 112.8 ตามการเพิ่มขึ้นของเครื่องชี้วัด ได้แก่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ มูลค่าการนำเข้า ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ (รถยนต์นั่งและรถยนต์เชิงพาณิชย์)

การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 มีค่า 124.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (123.3) แต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (130.2) ซึ่งเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและจักรยานยนต์ (ตารางที่ 5)

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนโดยรวมลดลงจากช่วงเดียวกันของปี2551 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและจักรยานยนต์

การลงทุนภาคเอกชน

การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศณ ราคาคงที่ พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนโดยรวม มีค่า 149.4 ทรงตัวจากไตรมาสที่ผ่านมา (149.4) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (176.7)

หากแยกตามรายการสินค้า พบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 2ของปี 2552 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551

การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551

ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 2 ของปี2552 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551ตามการลดลงของปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่

ภาวะราคาสินค้า

จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเท่ากับ 104.5ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (102.9) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (107.5) การที่ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามราคาข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ และหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มอาหารสดและพลังงาน

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 มีค่าเท่ากับ 151.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (144.4) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (163.0) โดยราคาในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์จากเหมืองปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงจาก ไตรมาสเดียวกันของปี 2551 สำหรับราคาในหมวดผลผลิตเกษตรกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2551

แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในไตรมาสที่สองของปี 2552 (ข้อมูลเดือนพฤษภาคม)โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.41 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 37.51 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 97.66 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.655 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ1.71)

สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมไตรมาสที่สองของปี 2552 (ข้อมูลเดือนพฤษภาคม) มีจำนวน 5.785 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 15.42 ของผู้มีงานทำทั้งหมด

การค้าต่างประเทศ

สถานการณ์การค้าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ขยายตัวขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 1 ของปี2552 โดยในไตรมาสที่ 2 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 64,903.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 34,419.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 30,483.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 1.87 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.03 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ดุลการค้าเกินดุล 3,936.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 26.20 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นลดลงร้อยละ 33.33

การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่ามูลค่าการส่งออกทั้ง 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน) ยังคงติดลบในระดับสูงอยู่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งในเดือนพฤษภาคมมูลค่าการส่งออกยังติดลบสูงสุดในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 ด้วย โดยมูลค่าการส่งออก 11,656.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนลดลงถึงร้อยละ 26.6

โครงสร้างการส่งออก

การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม 25,889.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 75.22) สินค้าเกษตรกรรม 3,683.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 10.70) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 2,803.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 8.15) และสินค้าแร่และเชื้อเพลิง 2,043.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 5.94)

เมื่อเทียบมูลค่าการส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จะพบว่ามูลค่าการส่งออกของสินค้าทั้งหมดลดลง โดยสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 25.56 สินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 31.64 สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรลดลงร้อยละ 9.73 และสินค้าแร่และเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 39.30 ส่วนสินค้าหมวดอื่นๆ นั้นมูลค่าการส่งออกยังคงอยู่ในระดับเดิม

ในช่วงเวลา 6 เดือนแรกของปี 2552 สินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 รายการหลักได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 6,864.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัญมณีและเครื่องประดับ 5,236.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 4,622.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แผงวงจรไฟฟ้า 2,704.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ข้าว 2,442.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 2,335.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ น้ำมันสำเร็จรูป 2,105.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เม็ดพลาสติก 2,004.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เคมีภัณฑ์ 1,982.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และผลิตภัณฑ์ยางมีมูลค่าการส่งออก 1,915.6ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออก 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 32,214.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 47.23 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

ตลาดส่งออก

การส่งออกไปยังตลาดหลักของไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ซึ่งได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) ญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็นร้อยละ 55.60 ของการส่งออกทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการส่งออกมูลค่าลดลงในทุกตลาด โดยมูลค่าการส่งออกในตลาดอาเซียนลดลงร้อยละ 33.03 ตลาดสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 32.20 ตลาดญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 31.14 และตลาดสหรัฐอเมริกาลดลงร้อยละ 27.09

โครงสร้างการนำเข้า

การนำเข้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 โดยการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่าการนำเข้ามากที่สุดคือ 12,508.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 41.03) รองลงมาเป็นการนำเข้าสินค้าทุนโดยมีมูลค่า 8,140.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 26.70) สินค้าเชื้อเพลิง 5,753.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 18.87) สินค้าอุปโภคบริโภค 3,152.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 10.34)สินค้าหมวดยานพาหนะ 845.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 2.77) และสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่นๆ 83.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 0.27) ตามลำดับ

โดยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าการนำเข้าสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่นๆ เท่านั้นที่มีมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้น โดยอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ364.41 สำหรับสินค้าในหมวดอื่นมีมูลค่าการนำเข้าลดลงทั้งหมด โดยสินค้าเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 40.11 สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่งลดลงร้อยละ 39.49 สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 37.32 สินค้าทุนลดลงร้อยละ 24.80 และสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ 19.64

แหล่งนำเข้า

แหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 มีสัดส่วนนำเข้ารวมคิดเป็นร้อยละ 51.19 ซึ่งสัดส่วนการนำเข้าของแหล่งนำเข้าสำคัญนั้นเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 แต่เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าแล้วจะพบว่ามีมูลค่าลดลงทั้ง 4 แหล่งนำเข้า โดยมูลค่าการนำเข้าจากกลุ่มอาเซียนลดลงร้อยละ 27.85 กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 23.38 ญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 39.72 และสหรัฐอเมริกาลดลงร้อยละ 27.16

การลงทุนจากต่างประเทศ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนเมษายนและพฤษภาคมซึ่งมีมูลค่ารวม 44,425.74 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการลงทุนลดลงร้อยละ 10.32 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนเมษายนมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 20,608.90 ล้านบาท และเดือนพฤษภาคมมีมูลค่า 23,816.84 ล้านบาท เมื่อพิจารณาตลอดทั้ง 5 เดือนในปี 2552 พบว่าในเดือนมีนาคมมีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุด

ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 สาขาอุตสาหกรรมเป็นสาขาที่มีการลงทุนมากที่สุดเป็นเงินลงทุน 24,564.17 ล้านบาท โดยหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีการลงทุนสุทธิมากที่สุด โดยมีมูลค่าเงินลงทุน 8,974.20 ล้านบาท รองลงมาคือหมวดอื่นๆ ซึ่งมีเงินลงทุน 5,301.18 ล้านบาท และหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 3,539.87 ล้านบาท

ประเทศที่เข้ามาลงทุนสุทธิในประเทศไทยมากที่สุดในเดือนเมษายนและพฤษภาคมคือประเทศญี่ปุ่นมีเงินลงทุนสุทธิ 14,705.19 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสิงคโปร์และเนเธอร์แลนด์โดยมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 7,780.90 ล้านบาท และ 5,371.26 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOIมีจำนวนทั้งสิ้น 210 โครงการ ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 25.80 โดยมีเงินลงทุน 64,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 54.96 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยโครงการลงทุนประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 83 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 11,800 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 61 โครงการ เป็นเงินลงทุน 27,600 ล้านบาท

เมื่อพิจารณามูลค่าการลงทุนในหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 25,800 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดเกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตรมีเงินลงทุน 15,400 ล้านบาท และหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 10,800 ล้านบาท

สำหรับแหล่งลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 52 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 21,003 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศเนเธอร์แลนด์จำนวน 6 โครงการ มีเงินลงทุน 2,024 ล้านบาท ประเทศอิตาลีจำนวน 1 โครงการ เป็นเงินลงทุน 2,000 ล้านบาท และประเทศสวิสเซอร์แลนด์ 3 โครงการ เป็นเงินลงทุน 1,443 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ