สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2552 (อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 28, 2009 15:48 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

หลังจากได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำตามข่าวที่รายงานในหลายๆประเทศในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2551 ส่งผลให้ความมั่นใจของผู้บริโภคลดต่ำลง ซื้อสินค้าน้อยลง คำสั่งซื้อจากต่างประเทศหดตัว แล้วส่งผลกระทบมายังผู้ผลิตในที่สุด พอเริ่มเข้าสู่ปี 2552 ปัจจัยทางด้านสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มที่จะมีการส่งสัญญาณดีขึ้น กลับมาซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ในช่วงไตรมาสแรกความมั่นใจอาจจะยังไม่ฟื้นกลับมาเต็มที่ แต่ก็มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าไตรมาส 4 ปี 2551 ถือเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจถดถอยน่าจะกำลังผ่านพ้นไปและการฟื้นตัวกำลังเริ่มต้น

อุตสาหกรรมพลาสติกถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น รถยนต์ อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอุตสาหกรรมดังกล่าวมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมพลาสติกก็จะได้รับอานิสงค์ตามไปด้วย โดยในส่วนของการจ้างงานเริ่มปรับตัวดีขึ้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ชะลอการเลิกจ้างงาน และเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเพิ่มproductivity ดัชนีการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก

ดัชนีผลผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2552 การผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยการผลิตในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ สรุปได้ดังนี้

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.83 แต่ลดลงร้อยละ 7.33 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยพลาสติกแผ่น แผ่นฟิล์มพลาสติก มีดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 2.4 และ12.11 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว สำหรับกระสอบพลาสติก ถุงพลาสติก และเครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.09 4.23 และ 3.6 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจาก

อุตสาหกรรมพลาสติกเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น รถยนต์ อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 2 อุตสาหกรรมเหล่านี้ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้อุตสาหกรรมพลาสติกจะขยายตัวเพิ่มตาม ประกอบกับมาตรการของภาครัฐที่ออกมากระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน เช่น เช็คช่วยชาติ ธงฟ้าราคาประหยัด หรือเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ เป็นต้น

การค้า

ในไตรมาสนี้มีมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 มีมูลค่านำเข้าประมาณ จาก 16,241 ล้านบาท มาที่ 18,084 ล้านบาท หากเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2552 มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 21 และปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 74,523 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 และลดลงร้อยละ 20 เมื่อเทียบไตรมาส 2 ของปี 2552 โดยสินค้าของไทยที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุดยังคงเป็นสินค้าอยู่ที่หมวด 3926 คือผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ

ส่วนมูลค่าส่งออกทรงตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว มูลค่าส่งออกเท่ากับ 16,214 ล้านบาท แต่ลดลงร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

และปริมาณส่งออกเท่ากับ 215,860 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วแต่ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้ม

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 น่าจะได้รับผลต่อเนื่องมาจากครึ่งปีแรกของปี ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จากการประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจออกมาในหลาย ๆ ประเทศ ที่มีแนวโน้มดีขึ้น อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือนโยบายต่าง ๆ ที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ จึงน่าจะส่งผลทำให้อัตราการขยายตัวทั้งภาคการส่งออกและการบริโภคในประเทศเพิ่มมากขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ