สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2552 (ภาวะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 31, 2009 14:18 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาวะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (Petrochemical Industry)

ไตรมาส 2 ปี 2552 ราคาแนฟธาของตลาดเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดไตรมาส ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยหลัก ได้แก่ ความคาดหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่จะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น การอ่อนค่าลงของดอลล่าร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร รวมถึงความขัดแย้งและเหตุการก่อการร้ายในประเทศไนจีเรียซึ่งส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบ ส่วนราคาเอทิลีนโดยเฉลี่ยของตลาดเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ และราคาแนฟธา เนื่องจากอุปทานเอทิลีนในภูมิภาคค่อนข้างตึงตัวจากการปรับลดกำลังการผลิตและการปิดซ่อมบำรุงแครกเกอร์

สำหรับการซื้อขายเม็ดพลาสติกทั้ง PE และ PP ราคามีการปรับตัวสูงขึ้นตามราคาเอทิลีนแนฟธาและราคาน้ำมันดิบ ทำให้ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น และปริมาณสินค้าในภูมิภาคมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากผู้ผลิตหลายรายปรับลดกำลังการผลิตลง รวมถึงผู้ใช้ได้ชะลอการซื้อสินค้าเพื่อรอซื้อในช่วงที่ราคาลดลง

การผลิต

ไตรมาส 2 ปี 2552 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีภายในประเทศ มีแผนขยายกำลังการผลิต black-pipe grade HDPE compounding เพิมขึ้นอีก 100,000 - 200,000 ตัน/ปี เพื่อรองรับความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอีกสองถึงสามปีข้างหน้า นอกจากนั้นได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อขยายโอกาสในการผลิต ACN ในเชิงธุรกิจ ในขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงาน เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีกำลังการผลิต ACN 200,000 ตัน/ปี MMA 70,000 ตัน/ปี และammonia sulphate 160,000 ตัน/ปี

สำหรับการผลิตในภูมิภาคเอเชีย หลายประเทศมีการขยายกำลังการผลิต ดังนี้

  • ประเทศจีน วางแผนสร้างโรงงานผลิต PVC ขนาด 300,000 ตัน/ปี และใช้เอทิลีนเป็นวัตถุดิบ โดยมีแผนก่อสร้างโรงงานในเดือนมิถุนายน 2552 คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในปี 2554 นอกจากนั้น ได้เลื่อนแผนการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในหน่วยผลิต PE ขนาด 800,000 ตัน/ปี และหน่วยผลิต PP ขนาด 400,000 ตัน/ปี จากกลางไตรมาสที่2 เป็นต้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2552
  • ประเทศไต้หวัน มีแผนเปิดดำเนินการโรงงานผลิต PVC เพื่อการส่งออก ขนาด 170,000 ตัน/ปี คาดว่าจะเปิดดำเนินการในปลายไตรมาสที่ 4 ปี 2553 นอกจากนั้น มีโครงการก่อสร้างแนฟธาแครกเกอร์แห่งใหม่ขนาด 720,000 ตัน/ปี โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2555
  • ประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ integrated ethylene and polyethylene โดยคอมเพล็กซ์แห่งนี้ประกอบด้วยเอทิลีนแครกเกอร์ขนาด 1 ล้านตัน/ปี โพรพิลีนแครกเกอร์ขนาด 285,000 ตัน/ปี หน่วยผลิต LDPE ขนาด 400,000 ตัน/ปี และ หน่วยผลิต HDPE ขนาด 400,000 ตัน/ปี นอกจากนั้น ได้เริ่มเดินเครื่องสายการผลิต PP แห่งใหม่ขนาด 270,000 ตัน/ปี
  • ประเทศการ์ตา มีแผนจะเปิดดำเนินการโรงงาน LLDPE แห่งใหม่ ขนาด 450,000 ตัน/ ปี ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552

การตลาด

ราคาเม็ดพลาติก PE และ PP ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2552 ราคาจำหน่ายเม็ดพลาสติก(ราคาเฉลี่ย SE Asia CIF) ในเดือนมิถุนายน 2552 ของ LDPE, HDPE, และ PP อยู่ที่ระดับ 41.10, 41.03 และ 39.04 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้ LDPE, HDPE และ PP มีระดับราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ที่ระดับราคา 34.95, 33.75 และ 34.18 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ

การนำเข้า

ไตรมาส 2 ปี 2552 การนำเข้าปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่า 1,593.93 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.17 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และลดลงถึงร้อยละ 78.35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่านำเข้า 5,007.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.78 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 32.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่านำเข้า 13,947.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.67 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 38.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

   ปิโตรเคมี                 มูลค่านำเข้า (ล้านบาท)                เปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)
                   Q2/2551      Q1/2552    Q2/2552      เทียบกับไตรมาสที่   เทียบกับไตรมาส

ผ่านมา เดียวกันของปีก่อน

 ขั้นต้น             7,361.04     1,612.84   1,593.93          -1.17           -78.35
 ขั้นกลาง           7,463.71     3,687.75   5,007.07          35.78           -32.91
 ขั้นปลาย          22,689.32    11,369.63  13,947.04          22.67           -38.53

ที่มา : ข้อมูลจากกรมศุลกากร

เมื่อพิจารณาการนำเข้าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 พบว่า ปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลางและขั้นปลาย มีมูลค่าการนำเข้าลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

มูลค่านำเข้า (ล้านบาท)

   ปิโตรเคมี           มกราคม - มิถุนายน 2551     มกราคม - มิถุนายน 2552   เปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)
 ขั้นต้น                     12,947.74               3,206.76                -75.23
 ขั้นกลาง                   16,928.59               8,694.82                -48.64
 ขั้นปลาย                   43,828.37              25,316.67                -42.24
ที่มา : ข้อมูลจากกรมศุลกากร

การส่งออก

ไตรมาส 2 ปี 2552 การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออก 7,868.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 94.98 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออก 11,036.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.33 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 14.96 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออก 35,131.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.18 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 24.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

-------มูลค่าส่งออก (ล้านบาท)----- -------------เปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)-----------------

 ปิโตรเคมี      Q2/2551   Q1/2552     Q2/2552     เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา     เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
 ขั้นต้น        5,134.80   4,035.59   7,868.76            94.98                     53.24
 ขั้นกลาง     12,977.82   9,405.98  11,036.22           17.33                     -14.96
 ขั้นปลาย     46,749.64  29,725.85  35,131.45           18.18                     -24.85
ที่มา : ข้อมูลจากกรมศุลกากร

เมื่อพิจารณาการส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 พบว่า ปิโตรเคมีขั้นต้นมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่ปิโตรเคมีขั้นกลางและขั้นปลายมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

มูลค่าส่งออก (ล้านบาท)

 ปิโตรเคมี      มกราคม-มิถุนายน 2551    มกราคม-มิถุนายน 552      เปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)
 ขั้นต้น              8,178.83             11,904.35               45.55
 ขั้นกลาง           23,947.13             20,442.20              -14.64
 ขั้นปลาย           89,063.64             64,857.30              -27.18
ที่มา : ข้อมูลจากกรมศุลกากร

แนวโน้ม

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ในช่วงชะลอตัวลง การแข่งขันด้านการตลาดจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการขยายตัว ได้แก่ ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวโดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศจีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลจากการเลื่อนเปิดดำเนินการโครงการผลิตปิโตรเคมีหลายโครงการในประเทศจีน อย่างไรก็ตามยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงด้านอุปสงค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีภายในประเทศที่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ และอุปสงค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตลาดโลกเกิดการชะลอตัวลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะถดถอยลงและความผกผันของราคาน้ำมันในตลาดโลก นอกจากนี้อุปทานผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายกำลังการผลิตในระดับต่างๆ อย่างต่อเนื่องของแต่ละประเทศ รวมทั้งค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ส่งผลให้การแข่งขันมีความรุนแรงและยากลำบากมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรเร่งปรับตัว โดยการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์ต่างๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิตจากวัตถุดิบที่มีแนวโน้มราคาสูงขึ้น และการลดความเสี่ยงในแต่ละช่วงเวลาด้วยการเคลื่อนย้ายการผลิตไปยังผลิตภัณฑ์อื่นที่มีแนวโน้มราคาที่ดีกว่าได้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ