สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2552 (อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 31, 2009 14:30 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีค่าดัชนีผลผลิต 103.1 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 ในส่วนของภาวะการผลิตกระดาษทุกประเภท ได้แก่ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก มีค่าดัชนีผลผลิต 122.0 119.8 120.6 และ 171.8 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับค่าดัชนีผลผลิตเยื่อกระดาษ ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษทุกประเภทที่เพิ่มขึ้น(ตารางที่ 1 และตารางที่ 2) โดยมีสาเหตุมาจาก ช่วงต้นไตรมาสมีการจัดพิมพ์สมุด หนังสือ ตำรา แบบเรียนต่าง ๆ เพื่อเตรียมรองรับการเปิดภาคเรียนของนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศ ประกอบกับมีการจัดพิมพ์ไปรษณียบัตรตั้งชื่อลูกหมีแพนด้า ชิงรางวัล แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2551 และช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 กับครึ่งปีแรกของปีก่อนลดลง สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษลดลงด้วยเช่นกัน เป็นผลจาก กำลังซื้อของผู้บริโภคได้ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก แม้ว่าราคาเยื่อกระดาษ และกระดาษจะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนก็ตาม

2. การนำเข้าและการส่งออก

2.1 การนำเข้า

ภาวะการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีมูลค่า 83.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 (ตารางที่ 3) เนื่องจาก มีปัจจัยสนับสนุนในประเทศ คือ การเตรียมรองรับการเปิดภาคเรียนของนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งต้องมีการจัดพิมพ์สมุด หนังสือ ตำรา แบบเรียนต่าง ๆ และการจัดพิมพ์ไปรษณียบัตรตั้งชื่อลูกหมีแพนด้าชิงรางวัล โดยมีการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษจากแคนาดา สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2551 และช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 กับครึ่งปีแรกของปีก่อนลดลง ร้อยละ 56.6 และ 55.3 ตามลำดับ ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงสวนทางกับมูลค่าการนำเข้าเนื่องจากราคาเยื่อกระดาษและเศษกระดาษในบางช่วงปรับตัวสูงขึ้น และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2551 และครึ่งปีแรกของปี 2552 กับครึ่งปีแรกของปีก่อนลดลงเช่นเดียวกัน (ตารางที่ 4) เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศชะลอตัว ทำให้การนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษ และสิ่งพิมพ์ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ

ภาวะการนำเข้ากระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีมูลค่า 245.8 และ 40.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง ร้อยละ 8.5 และ 41.6 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2551 และครึ่งปีแรกของปี 2552 กับครึ่งปีแรกของปีก่อนลดลงเช่นเดียวกัน (ตารางที่ 3) ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการนำเข้ากระดาษ และสิ่งพิมพ์ ลดลงในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการนำเข้า (ตารางที่ 4) เนื่องจากการนำเข้ากระดาษที่มีคุณภาพหรือกระดาษพิเศษจากประเทศต่าง ๆ อาทิ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมามีการขยายตัวของสิ่งพิมพ์ประเภทโฆษณาทางการค้า ภาพพิมพ์ ภาพถ่ายจากเกาหลีใต้ ตามกระแสนิยมภาพยนตร์ ละคร รวมทั้งศิลปิน แต่ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคจะระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและเห็นว่าสิ่งพิมพ์ดังกล่าวเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง

2.2 การส่งออก

ภาวะการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีมูลค่า 309.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8 และหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2551 และครึ่งปีแรกของปี 2552 กับครึ่งปีแรกของปีก่อนลดลง ร้อยละ 11.7 และ 18.2 ตามลำดับ(ตารางที่ 5)

ในส่วนปริมาณการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ในไตรมาสนี้เทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.6 เช่นเดียวกันกับมูลค่าการส่งออก (ตารางที่ 6) เป็นผลจากการส่งออกกระดาษที่สำคัญขยายตัว ได้แก่ กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษคราฟท์ส่งไปตลาดญี่ปุ่น กระดาษแข็งส่งไปซาอุดิอาระเบีย และอินเดีย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ปริมาณกลับสวนทางกับมูลค่าการส่งออก เป็นเพราะราคากระดาษโลกลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2552 กับครึ่งปีแรกของปีก่อนลดลงในทิศทางเดียวกัน ส่วนหนึ่งเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญชะลอตัว อาทิ เวียดนาม และมาเลเซีย

ภาวะการส่งออกเยื่อกระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีมูลค่า 14.7 และ 287.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 43.7 และ 24.9 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2551 และครึ่งปีแรกของปี 2552 กับครึ่งปีแรกของปีก่อนลดลงเช่นเดียวกันกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 5) ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการส่งออกเยื่อกระดาษ และสิ่งพิมพ์ มีทิศทางลดลงเช่นเดียวกันกับมูลค่าการส่งออก (ตารางที่ 6) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก คู่ค้าเยื่อกระดาษ และสิ่งพิมพ์ที่สำคัญ ชะลอการนำเข้าลง อาทิ จีน ฮ่องกง โดยไทยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกเยื่อกระดาษไปจีนประมาณร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออกเยื่อกระดาษทั้งหมด และมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสิ่งพิมพ์ไปฮ่องกงประมาณร้อยละ 85 ของมูลค่าการส่งออกสิ่งพิมพ์ทั้งหมด

3. สรุปและแนวโน้ม

ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และกระดาษ ในไตรมาสนี้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเป็นผลมาจาก ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญในประเทศ คือ การเตรียมรองรับการเปิดภาคเรียนของนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งต้องมีการจัดพิมพ์สมุด หนังสือ ตำรา แบบเรียนต่าง ๆ และการจัดพิมพ์

ไปรษณียบัตรตั้งชื่อลูกหมีแพนด้าชิงรางวัลแต่หากพิจารณาด้านภาวะการนำเข้าและการส่งออกในไตรมาสนี้ โดยรวมกลับปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน และเทียบครึ่งปีแรกของ ปี 2552 กับช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งภาวะการผลิต การนำเข้าและการส่งออกอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์โดยรวมปรับตัวลดลงเช่นกันเนื่องจาก ภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศชะลอตัวทั่วโลก ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง

สำหรับแนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสหน้าคาดว่า จะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยคาดว่า จะมีคำสั่งซื้อจากในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ประกอบกับแนวโน้มมูลค่าสินค้าลดลง เนื่องจาก ราคาวัตถุดิบ ได้แก่ เยื่อกระดาษ กระดาษ และเชื้อเพลิง ลดลง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ