1. การผลิต
การผลิตเซรามิก ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณผลิต 37.69 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณผลิต 1.48 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.69 และ 10.90 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.79 และ 30.32 ตามลำดับ ซึ่งการผลิตเซรามิกยังคงได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ แต่การผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ในไตรมาสนี้ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก (ตารางที่ 1 และ 2)
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 การผลิตเซรามิกลดลงจากปัญหาผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้ธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์เกิดการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 68.91 ล้านตารางเมตร และการผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 2.81 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 9.35 และ 35.14 ตามลำดับ
2. การตลาด
2.1 ตลาดในประเทศ
การจำหน่ายเซรามิกในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณจำหน่าย 36.95 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณจำหน่าย 0.93 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง ร้อยละ 0.53 และ 4.21 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 8.70 และ 21.32 ตามลำดับ เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน และเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ตลอดจนภาวะอสังหาริมทรัพย์ในประเทศยังชะลอตัว ทำให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างในประเทศลดลง (ตารางที่ 1 และ 2)
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 การจำหน่ายเซรามิกลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการผลิตเซรามิก โดยการจำหน่ายกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 74.09 ล้านตารางเมตร และการจำหน่ายเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.91 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 10.84 และ 21.16 ตามลำดับ
2.2 การส่งออก
การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีมูลค่ารวม 128.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 5.08 และ 49.39 ตามลำดับ (ตารางที่ 3) โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกลดลงในตลาดหลักเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และลูกถ้วยไฟฟ้า ที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.37 และ 38.69 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐอเมริกา
การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกจะส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีนเยอรมนี สหราชอาณาจักร และประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 มีมูลค่ารวม 263.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ46.84 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ทุกผลิตภัณฑ์ลดลงในตลาดหลักทั้ง สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น
2.3 การนำเข้า
การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกส่วนใหญ่จะนำเข้าจากประเทศจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเยอรมนี โดยการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีมูลค่า 51.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.36 และเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 23.72 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีผลให้การนำเข้าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับจากไตรมาสก่อน คือ กระเบื้องปูพื้น บุผนัง ที่มีสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 70.76 ของการนำเข้าในหมวดผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่น
การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 มีมูลค่า 90.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 31.95 (ตารางที่ 4) ซึ่งการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกสำหรับใช้ตามห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่จะนำเข้าจากญี่ปุ่น และมาเลเซีย และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก อื่นจะนำเข้ากระเบื้องปูพื้น บุผนัง ที่มีราคาถูกจากจีน เป็นหลัก
3. สรุป
การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ ซึ่งใช้เป็นวัสดุก่อสร้างยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้เกิดการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับไตรมาสนี้เป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาวและเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้ความต้องการใช้ในประเทศลดลง สำหรับแนวโน้มการผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส ที่ 3 ปี 2552 คาดว่าจะอยู่ในภาวะทรงตัว เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศยังไม่ดีขึ้น จึงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก
การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกลดลงในตลาดหลักทั้ง สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น สำหรับการส่งออกเซรามิก ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ยังอยู่ในภาวะทรงตัว เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลก
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--