สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2552 (อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 31, 2009 14:46 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

1.1 การผลิต

การผลิตปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 9.70 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.73 และ 3.63 ตามลำดับ ส่วนการผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีจำนวน 8.55 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.47 และ1.72 ตามลำดับ และในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2552 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 18.53 ล้านตัน ส่วนการผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีจำนวน 17.15 ล้านตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 6.46 และ 8.19 ตามลำดับ

1.2 การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีปริมาณการจำหน่ายรวม 6.65 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.24 ล้านตัน และซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 6.41 ล้านตัน โดยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการจำหน่ายในประเทศรวม ลดลงร้อยละ 7.64 และ 0.45 ตามลำดับ สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 มีปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ 13.85 ล้านตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.95

การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่ลดลงนี้ เนื่องจากในไตรมาสที่ 2 อยู่ในช่วงฤดูฝน เป็นอุปสรรคในก่อสร้าง ประกอบกับ ภาวะของธุรกิจการก่อสร้างที่ยังคงซบเซา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกกำลังถดถอย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชน อาจทำให้ชะลอการลงทุนออกไปอีก ทั้งทางด้านผู้บริโภคเองเมื่อต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ก็ระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ส่วนการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคของภาครัฐยังคงไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนและการผลักดันโครงการลงทุนใหม่ๆ มีความล่าช้าออกไปอีก

2. การส่งออกและการนำเข้า

2.1 การส่งออก

การส่งออกปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีปริมาณรวม 4.35 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 6,015.54 ล้านบาท แบ่งออกเป็นการส่งออกปูนเม็ด จำนวน 2.97 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 3,511.52 ล้านบาท และซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 1.38 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 2,504.02 ล้านบาท โดยเมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.09 และ 30.14 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.62 และ 13.65 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 มีปริมาณการส่งออกรวม 7.57 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 10,637.83 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปริมาณการส่งออกรวมลดลงร้อยละ 3.57 ซึ่งเป็นการลดลงในส่วนของปูน แต่มูลค่าการส่งออกรวมยังเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 5.84 เนื่องจากผู้ประกอบการก็สามารถขายปูนซีเมนต์ได้ในราคาที่สูงขึ้น และแม้ว่าปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวแต่ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในตลาดส่งออกปูนซีเมนต์หลักของไทย คือ ประเทศในแถบอาเซียนก็ยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนามีกิจกรรมการก่อสร้างสูงเพื่อรองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยยังมีโอกาสขยายตลาดใหม่ๆ เช่น ประเทศในแถบตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้นอีกด้วย

2.2 การนำเข้า

การนำเข้าปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีปริมาณรวม 1,628.24 ตัน คิดเป็นมูลค่า 21.22 ล้านบาท โดยเป็นการนำเข้าปูนเม็ด จำนวน 141.90 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2.79 ล้านบาท ปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 1,486.34 ตัน คิดเป็นมูลค่า 18.43 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณ และมูลค่าการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.23 และ 64.11 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมลดลง ร้อยละ 13.20 และ 37.81 ตามลำดับ

สำหรับการนำเข้าปูนซีเมนต์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 มีปริมาณการนำเข้ารวม 2,590.36 ตัน คิดเป็นมูลค่า 34.16 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมลดลงร้อยละ 32.94 และ 46.62 ตามลำดับ ทั้งนี้การนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นอะลูมินัสซีเมนต์ ซึ่งไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ และบางส่วนเป็นการนำเข้าซีเมนต์ปอร์ตแลนด์คุณภาพสูงเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ระบุคุณสมบัติของวัสดุที่นำมาก่อสร้างตลาดนำเข้าที่สำคัญ คือ เนเธอร์แลนด์ จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้

3. สรุป

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังอยู่ในภาวะซบเซา เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัวลง ตามความต้องการของตลาดที่ลดลง โดยเป็นผลจากอุปสงค์ในประเทศชะลอตัว เนื่องจากความไม่แน่นอนจากภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้งความกังวลในเสถียรภาพทางการเมืองยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ในการลงทุนขยายธุรกิจต่างๆ ของภาคเอกชน และความคืบหน้าในการดำเนินโครงการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐยังไม่มีความชัดเจน

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 คาดว่าจะทรงตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะที่ชะลอตัว ทำให้

ภาคเอกชนยังชะลอการลงทุน และการลงทุนในสาธารณูปโภคของรัฐยังไม่มีความชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้การลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของภาครัฐจะยังล่าช้า แต่ยังมีงานโครงสร้างขนาดเล็ก เช่น การปรับปรุงหรือก่อสร้างถนนภายในหมู่บ้านตามจังหวัดต่างๆ และหากรัฐบาลมีการเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น

สำหรับตลาดต่างประเทศในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 และ การส่งออกเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ในไตรมาส ที่ 3 ปี 2552 เนื่องจากผู้ประกอบการวางแผนขยายการส่งออกเพื่อทดแทนตลาดในประเทศที่หดตัวลง และถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะยังคงชะลอตัว แต่ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในตลาดส่งออกปูนซีเมนต์หลักของไทย คือ ประเทศในแถบอาเซียนก็ยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนามีกิจกรรมการก่อสร้างสูงเพื่อรองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยยังมีโอกาสขยายตลาดใหม่ๆ เช่น ประเทศในแถบตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้นด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ