สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2552 (อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 31, 2009 14:53 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

การผลิตเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอ (ISIC 1711) การผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งหรือโครเชท์ (ISIC 1730) เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 และ 7.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในขณะที่ดัชนีการส่งสินค้า(การจำหน่าย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 และ 6.3 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตและการจำหน่ายเส้นใยสิ่งทอฯ ยังปรับลดลงที่ร้อยละ 13.5 และ 4.3 ในขณะที่การผลิตผ้าฯ ลดลงร้อยละ 16.1 และการจำหน่ายปรับลดลงร้อยละ 17.2 แสดงให้เห็นว่าภาคการผลิตเริ่มจะฟื้นตัวและเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนเพิ่มขึ้นและคาดว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้นทั้งการผลิต การจำหน่ายและการส่งออกในไตรมาสที่ 3

สำหรับการผลิตเครื่องแต่งกายยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (ISIC 1810) ในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 การผลิตและการจำหน่ายยังปรับตัวลดลงร้อยละ 3.6 และ 4.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่าย ลดลงร้อยละ 15.3 และ 18.7 ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 87.0 เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งคาดว่าการผลิต การจำหน่ายในประเทศและการส่งออก จะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 3

2. การส่งออก

การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 1,553.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออก 1,504.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ลดลงร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยจำแนกผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ๆ ดังนี้

2.1 เสื้อผ้าสำเร็จรูป ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 620.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 675.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลดลงร้อยละ 19.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากฝ้ายมีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดถึงร้อยละ 40.0 ของการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด

2.2 ผ้าผืน ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 278.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

2.3 ด้ายและด้ายเส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 190.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 211.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

2.4 เส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 124.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการส่งออก 146.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

3. ตลาดส่งออก

ตลาดส่งออกที่สำคัญหลักๆ ของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย มีดังนี้

สหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นตลาดส่งออกสิ่งทอหลักของไทย ซึ่งการส่งออกสิ่งทอของไทยไปสหรัฐอเมริกา ในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีมูลค่า 325.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 13.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 31.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสัดส่วนการส่งออกสิ่งทอและ เครื่องนุ่งห่มของไทยส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.0 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมดของไทย สินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่ เป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องยกทรง รัดทรง และส่วนประกอบ เคหะสิ่งทอ และผ้าผืน ตามลำดับ

สหภาพยุโรป ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 317.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 12.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.4 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน เครื่องยกทรง รัดทรงและส่วนประกอบ เป็นต้น

อาเซียน ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 246.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.8 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผ้าผืน เส้นใยประดิษฐ์ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ และสิ่งทออื่นๆ เป็นต้น

ญี่ปุ่น ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 101.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 19.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และร้อยละ 12.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.5 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของเสื้อผ้าสำเร็จรูป ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ และสิ่งทออื่นๆ เป็นต้น

4. การนำเข้า

การนำเข้าสิ่งทอในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 (วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เช่น เส้นใยฯ เส้นด้ายฯ ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ) ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในขณะที่เสื้อผ้าสำเร็จรูปในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีการนำเข้าลดลง ผลิตภัณฑ์สำคัญที่นำเข้า ได้แก่

4.1 สิ่งทอ มีมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอ (เส้นใยฯ เส้นด้ายฯ ผ้าผืน และ ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ) รวมทั้งสิ้น 877.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 34.6

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 92.2 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวม ผลิตภัณฑ์สำคัญที่นำเข้ามี ดังนี้

4.1.1 เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่านำเข้า 133.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 136.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลดลงร้อยละ 45.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และจีน สัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 38.2, 12.5 และ 6.0 ตามลำดับ

4.1.2 ด้ายทอผ้าฯ มีมูลค่านำเข้า 96.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 88.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ลดลงร้อยละ 38.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน สัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 24.1, 16.5 และ 13.2 ตามลำดับ

4.1.3 ผ้าผืน มีมูลค่านำเข้า 293.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 275.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ลดลงร้อยละ 29.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น สัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 43.8,18.3 และ 7.2 ตามลำดับ

4.1.4 วัตถุทออื่นๆ มีมูลค่านำเข้า 32.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 30.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น และจีน สัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 21.7, 11.9 และ 11.1 ตามลำดับ

4.2 เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่านำเข้าทั้งสิ้น 55.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 20.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 70.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลดลงร้อยละ 20.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.8 ของการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ตลาดนำเข้าหลักคือ จีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น สัดส่วนร้อยละ 48.4, 10.0 และ 4.1 ตามลำดับ

5. สรุปและแนวโน้ม

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 การส่งออกเริ่มฟื้นตัวตามภาคการผลิตแม้ว่าทุกประเทศจะประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจก็ตาม สิ่งทอไทยยังขยายตัวในตลาดอาเซียน ร้อยละ 22.3 ตลาดสหภาพยุโรป ร้อยละ 8.3 และตลาดอื่นๆ อีกร้อยละ 10.4 ทั้งนี้ปี 2552 (มกราคม-มิถุนายน ) มีกิจการเปิดกิจการใหม่ 48 แห่ง และปิดกิจการเพียง 32 แห่งเท่านั้น* ส่วนใหญ่ที่ปิดกิจการเพื่อต้องการขายเครื่องจักรเก่า รวมถึงหาผู้ร่วมทุนเพื่อ เปิดกิจการใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้อุตสาหกรรมสิ่งทออยู่รอดต่อไป

  • ข้อมูลจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 คาดว่าภาคการผลิต การส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการผลิตผ้าผืน ผู้ประกอบการสิ่งทอปลายน้ำควรใช้ผ้าผืนที่ผลิตในประเทศให้มากขึ้น เพื่อลดการนำเข้า เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตที่มีศักยภาพและมีครบวงจรมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยผ้าผืนของไทยสามารถส่งออกไปลาว เวียดนาม กัมพูชาและบังคลาเทศ ซึ่งมีแนวโน้มบริโภคสูงขึ้น เนื่องจากประเทศเหล่านี้ขาดสิ่งทอต้นน้ำ ทำให้ต้องมีการนำเข้าผ้าผืนจากไทยไปตัดเย็บเพื่อการส่งออกมากขึ้น และจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่มีความสามารถในการปรับตัว และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในสภาวะการณ์เช่นนี้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ